ธิติกรณ์ คนหาโลเคชัน The Serpent - Urban Creature

‘ตื่นเต้นว่ะ’

คำถามในสมุดที่จดไว้ตั้งแต่เมื่อคืน แบตสำรองชาร์จเต็มเพื่อกันเครื่องดับระหว่างอัดเสียง และความอิน The Serpent ซีรีส์ฆาตกรรมจากเรื่องจริง ว่าด้วยฆาตกรต่อเนื่องยุค 70 อย่าง ชาร์ล โสภราช aka อาแลง (แสดงโดย Tahar Rahim) และแฟนสาว มารี อังเดร aka โมนิค (แสดงโดย Jenna Coleman) คู่รักที่ฉาบหน้าเป็นเศรษฐีขายอัญมณี ช่วยเหลือชาวต่างชาติที่มาหาอิสระใน ‘ไทย’ แต่เบื้องหลังเป็นนักต้มตุ๋นซึ่งลงมือฆ่าพร้อมชิงทรัพย์อย่างเลือดเย็น

ทั้งหมด พาฉันมายืนอยู่ใน Kanit House หรือ บ้านคณิต อะพาร์ตเมนต์เลขที่ 77/5 สถานที่หลักที่ทั้งคู่หลอกเหยื่อมาสร้างเวทีฆาตกรรม ซึ่งดูได้ใน Netflix

ถ้าอิงเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นช่วงปี 1970 บ้านคณิตตั้งอยู่แถวศาลาแดง แต่หากอิงจากสถานที่ถ่ายทำของซีรีส์ปี 2021 สองเท้าที่กำลังสัมผัสพื้นบ้านเบลล่าวิน อะพาร์ตเมนต์เล็กๆ เกือบท้ายซอยสุขุมวิท 4 คือคำตอบ

สระว่ายน้ำคุ้นตากลางอะพาร์ตเมนต์ในซีรีส์ ตอนนี้ไม่มีน้ำสักหยด มันไม่ได้เปลี่ยนไปตามกาลเวลาหรอกนะ แค่กลับไปเป็นแบบเดิมก่อนถ่ายทำ เพราะสระนี้ร้างมานานแล้ว!

บอล ธิติกรณ์ 20 ปี 'คนหาโลเคชัน' ผู้พลิกเมืองกาญจน์เป็นอินเดีย เนปาล ใน The Serpent
บอล ธิติกรณ์ 20 ปี 'คนหาโลเคชัน' ผู้พลิกเมืองกาญจน์เป็นอินเดีย เนปาล ใน The Serpent
ภาพ : Netflix

บอล-ธิติกรณ์ ศรีบริสุทธิ์ คือผู้มอบชีวิตให้บ้านคณิตด้วยการพารถน้ำ 50 คันมาเติมสระให้เต็ม ปูผนังทำพื้นแดงพังๆ ให้กลับมาดี ยกสถานีตำรวจ บ้านเก่า ตลาด และถนนยุคนั้นมาไว้ยุคนี้ กระทั่งภูเขาสูงในเนปาล และทะเลสาบแคชเมียร์ในอินเดีย ก็ยกมาไว้ที่ ‘ไทย’ เนียนๆ จนโคนันจับผิดไม่ได้

อาชีพของเขาคือ ‘คนหาโลเคชัน’

ว่าแล้ว ‘บอล’ ก็เดินเข้ามาตามเวลานัดสัมภาษณ์ หัวข้อหลักที่คุยกันคือชีวิตและวิธีทำงานของคนหาโลเคชันอย่างเขาที่ฝากผลงานไว้ตามภาพยนตร์ไทยและต่างชาติมากมาย

เราตัดสินใจเพิ่มอรรถรสในการพูดคุยด้วยการนั่งข้างสระว่ายน้ำประหนึ่งอยู่ในซีรีส์กัน ทีนี้รู้แล้วหรือยังว่าทำไมฉันถึงตื่นเต้น (กรี๊ด)

บอล ธิติกรณ์ 20 ปี 'คนหาโลเคชัน' ผู้พลิกเมืองกาญจน์เป็นอินเดีย เนปาล ใน The Serpent

01 บอลเคชัน

มาทำอาชีพนี้เพราะชอบดูหนังป้ะพี่? ฉันเดาคำตอบในใจว่าคนตรงหน้าจะตอบว่าใช่ แต่กลับเป็น ‘ไม่’

บอลบอกว่า ตัวเองเป็นนักหาทำกิจกรรมนอกบ้าน ชอบแสวงหาประสบการณ์จากการเดินทางมากกว่าเป็นมนุษย์คลั่งไคล้หนัง (แต่ไม่ใช่ว่าไม่ดูเลยนะ) เขาเรียนด้านสื่อสารมวลชน อยู่ในแวดวงการจัดอีเวนต์ และ Backstage เพราะชอบพูดคุยและจัดระเบียบงานต่างๆ ให้เข้าที่ จะเรียกว่ามีความสุขทุกครั้งที่ได้ปิดดีลก็ได้ ส่วนจุดพลิกซึ่งทำให้เขาเต็มใจกระโจนลุยงานเส้นทางหาโลเคชันภาพยนตร์ ซีรีส์ และโฆษณา จนตอนนี้อยู่ยงมาแล้ว 20 ปี เขาบอกติดตลกว่า ‘โดนหลอกมา’ แต่จับใจความได้เป็นท่อนเพลง “ถึงเขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก” นะ

“ผมอยู่ในสายงานที่เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ทำให้รู้จักคนทำงานกองเยอะ เลยบังเอิญรู้จักอาชีพคนหาโลเคชันแบบงงๆ ตอนปีสาม รุ่นพี่สมัยเรียนมัธยมฯ ที่ทำโลเคชันชวนเราว่า เอ้ย นั่งรถไปเรื่อยๆ หาที่ถ่ายหนังกันมึง ไอ้เราก็แบบ มันคืออะไรวะ อาชีพหาโลเคชันคืออะไร คิดไปถึงการนั่งรถทัวร์ รถบัส ไปตามทาง ชอบตรงไหนก็หยุดดู และได้ไปต่างจังหวัดบ่อยๆ แหงเลย ด้วยความที่ชอบเดินทาง ชอบไปนู่นนี่อยู่แล้ว ก็เลยตกลงไป พอไปเจอ ปรากฏว่ามันมีมากกว่าที่เราคิด”

รุ่นพี่พารุ่นน้องขับรถยนต์ไปตามตึกรามบ้านช่องในกรุงเทพฯ สอดส่องสถานที่น่าสนใจ ชี้ตึกเก่าแล้วบอกบอลว่าต้องถ่ายรูปด้วยเทคนิคนู้น เทคนิคนี้ ที่ตรงกับภาพในหัวของผู้กำกับ ตอนแรกบอลก็ไม่เข้าใจ แต่เริ่มเข้าใจเมื่อรุ่นพี่อธิบายว่า รูปแต่ละแผ่นจะไปอยู่บนสตอรี่บอร์ดขายงาน

บอล ธิติกรณ์ 20 ปี 'คนหาโลเคชัน' ผู้พลิกเมืองกาญจน์เป็นอินเดีย เนปาล ใน The Serpent

“กองพวกนี้เขาต้องมีภาพในหัวมาแล้วว่าอยากได้อะไร แล้วคนหาโลเคชันต้องจินตนาการว่าสถานที่แบบนี้มันควรจะเกิดขึ้นที่ไหน ตรงไหน แล้วเอาไปขายให้ผู้กำกับดูอีกที ผมก็เลยเริ่มอยากรู้ว่าขายออกไปมันจะเป็นยังไงต่อ เอาไปถ่ายแล้วมันจะเป็นยังไง เอาไปตัดต่อในหนังจะเป็นยังไง การเดินทางครั้งนั้นเลยจุดประกายผมไปเรื่อยๆ ทำให้ศึกษาจริงจังว่างานนี้มันคืออะไรกันแน่ สงสัยปนท้าทายขึ้นมาว่าโลเคชันดีๆ ในหนังแบบนี้เขาถ่ายกันที่ไหน หายังไง 

“แล้วเราก็ตามรุ่นพี่ไปเป็นผู้ช่วย ดูว่าเขาทำงานกันแบบไหน สรุปว่าเซอร์ไพรส์เหมือนกัน เพราะคนหาโลเคชันต้องคิดไปถึงพื้นที่จอดรถยนต์ในกอง ทีมงานกินข้าวกันยังไง ห้องน้ำมีพอไหม บางวันต้องเซตไฟใหม่ ต้องดูว่าเสียบยังไงให้มันไม่ช็อกที่พื้น กลายเป็นว่าหลังจากเดินทาง และถ่ายรูปมาแล้ว ต้องมาจัดการเรื่องเหล่านี้ด้วย เราก็ปิ๊งเลย ชอบ (หัวเราะ) เพราะมันก็เหมือนงานอีเวนต์ที่เราทำมาตลอด”

เขาเห็นลู่ทางว่าคนหาโลเคชันเป็นอาชีพที่น่าลิ้มลอง จึงใช้เวลาเรียนรู้งานจากการเป็นผู้ช่วยคนหาโลเคชัน 1 ปีเต็ม ทั้งพกกล้องฟิล์มตะลอนถ่ายสถานที่ต่างๆ เพราะยุคนั้นยังไม่มีกล้องดิจิทัลดีๆ ให้เลือกซื้อ แถมกล้องโทรศัพท์สมัยก่อนก็นอยซ์เยอะจนแทบมองไม่เห็น ช่วยกองถ่ายจัดแจงสิ่งอำนวยความสะดวก และเข้าใจการเลือกมุมภาพไปแปะสตอรี่บอร์ดมากขึ้นตามการฝึกฝน ก่อนมีโอกาสได้ไปหาชายหาดงามๆ ที่สมุย เพื่อถ่ายโฆษณาแมคโดนัลด์ ฮ่องกง จับงานโฆษณาอยู่พักหนึ่ง ก็ได้จับหนังเรื่องแรกสักที กับเรื่อง Chok Dee: The Kickboxer ภาพยนตร์ฝรั่งเศสปี 2005 ที่ยกทีมงานบางส่วนมาจ้างคนไทยทั้งทีมไฟ และทีมโลเคชันกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ 

งานบางงานต้องการคนทำงานเยอะ เด็กหน้าใหม่ในวงการจึงใช้โอกาสนั้นแสดงฝีมือ จะว่าขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาก็ไม่ผิด บอลว่าแบบนั้น

บอล ธิติกรณ์ 20 ปี 'คนหาโลเคชัน' ผู้พลิกเมืองกาญจน์เป็นอินเดีย เนปาล ใน The Serpent

02 บอลเก๊าโล

ก่อนจะลงพื้นที่ไป Scout Location หรือการดูพื้นที่สำหรับการถ่ายทำ บอลต้องตกตะกอนความเข้าใจเกี่ยวกับหนังแต่ละเรื่องที่ได้รับมอบหมายเสียก่อน นักแสดงต้องอ่านบทก่อนถ่ายฉันใด คนหาโลเคชันก็ต้องอ่านบทก่อน ‘หาโล’ ฉันนั้นแหละ!

“เริ่มแรกผมต้องอ่านบทก่อนสักสองสามรอบ จนแยกออกว่าอันนี้มันเกิดที่ไหน มันควรจะเป็นอะไร เป็นทะเลไหม หรือเป็นบ้าน ถ้าบ้านต้องกี่หลังล่ะ แยกออกมาทีละตัวละคร ทำความเข้าใจคาแรกเตอร์ก่อนว่าคนแบบนี้มันควรจะอยู่บ้านแบบไหนวะ อาชีพนี้ไปโผล่ที่ไหนบ้างดีตามเนื้อเรื่อง ก็คือใช้จินตนาการล้วนๆ

“ถ้าเป็นโฆษณาเราจะขายกันเป็นเฟรม วางมาเลยว่ามันเกิดขึ้นแค่มุมนี้ เก้าอี้วางตรงนี้เป๊ะๆ นักแสดงยืนตรงนั้นห้ามเลยขีด แต่ภาพยนตร์มันขายกันเป็นโลเคชัน หนึ่งโลฯ ต้องถ่ายได้สามร้อยหกสิบองศา เพราะมีเรื่องอุปกรณ์ กล้อง หรือการดอลลี่เข้ามาเอี่ยว เราจึงต้องเคลียร์พื้นที่ให้ได้ทั้งหมด ซึ่งมันก็ยากเหมือนกันที่เราต้องร้อยเรื่องเอาในหัวว่าพระเอก นางเอก จะเกิดอะไรขึ้นบริเวณนั้น ถ้ามุมภาพที่ผู้กำกับอยากได้คือการมองลงมาชั้นล่าง เราก็ต้องขึ้นไปถ่ายมุมบนตึก หรือปรับแสงให้เขาเห็นภาพ” บอลเล่า

บอล ธิติกรณ์ 20 ปี 'คนหาโลเคชัน' ผู้พลิกเมืองกาญจน์เป็นอินเดีย เนปาล ใน The Serpent
ภาพ : ธิติกรณ์ ศรีบริสุทธิ์

แบบนี้ ช่วงแรกๆ ไปหาโลฯ ยังไง? ฉันถาม

“หว่านมั่วๆ ก่อนเลย สมัยก่อนต้องขับรถไปดูทีละบ้าน แล้วตัวเลือกไม่ได้มีเยอะ บ้านที่ถูกถ่ายก็จะถ่ายกันอยู่แค่นั้น แล้วการอัปโหลด สมมติไปหาโลเคชันต่างจังหวัดสามวัน กลับมาเพิ่งมาส่งรูป เพราะต้องเอารูปไปล้าง แล้วตัดบอร์ดมาคุย สมัยนี้เทคโนโลยีมันทำให้ทุกอย่างต้องเร็ว ส่งรูปวันต่อวัน บางที่ก็เฟล 

“แต่ความคาดหวังจากทีมงานสูงขึ้น บางบ้านเราต้องไปกดออดขอดูโลฯ ซึ่งใครแม่งจะอยากให้ดู (หัวเราะ) ก็เขาไม่รู้นี่ว่าเราเป็นคนทำหนังจริงไหม หรือมาหลอกเขาหรือเปล่า ขนาดมีค่าตอบแทนให้เขา บางคนก็สนใจ แต่บางคนก็ไม่ ผมเลยต้องใช้วาทศิลป์ประมาณหนึ่งเลยครับกว่าจะมาถึงวันนี้”

บอล ธิติกรณ์ 20 ปี 'คนหาโลเคชัน' ผู้พลิกเมืองกาญจน์เป็นอินเดีย เนปาล ใน The Serpent

03 บอลอีสดรีมเมอร์

นักล่าฝัน และนักพลิกฝันของคนอื่นให้เป็นจริง ล้วนเป็นคำนิยามที่บอลคิดว่า เฮ้ย! คนหาโลเคชันมันดูเป็นแบบนั้นว่ะ

ลูกค้าอยากถ่ายแม่กินข้าวกับลูกในบ้านคลีนๆ ฟุ้งๆ เหมือนฝัน ก็คนหาโลเคชันนี่แหละที่เป็นมือฉมังเอามาสานต่อว่ามันควรเป็นที่ไหน ใช้เทคนิคถ่ายภาพอย่างไร เลนส์กล้องไหนเวิร์ก จัดแสงให้ใกล้เคียงกับฝันของเขา วิวกลางคืนถ่ายทื่อๆ อาจน่าเบื่อ ลองขึ้นดาดฟ้าไปถ่ายให้อยู่ในระนาบสายตาเขาดูอาจจะดี ที่สำคัญ ‘บอล’ ยังเปลี่ยนไทยแลนด์เป็นอินเดีย ปากีสถาน และเนปาลอย่างน่าทึ่ง

บอล ธิติกรณ์ 20 ปี 'คนหาโลเคชัน' ผู้พลิกเมืองกาญจน์เป็นอินเดีย เนปาล ใน The Serpent
ภาพ : Netflix

ฉากพบรักของอาแลงและโมนิคที่ทะเลสาบในแคชเมียร์ แท้จริงแล้วคือเขื่อนวชิราลงกรณ 

ภูเขาสูงในเนปาล เส้นทางรถบัสใกล้เคียงปากีสถาน หรือบรรยากาศชุมชนในอินเดีย แท้จริงแล้ว โลเคชันหลักๆ อยู่เพียงกาญจนบุรี

“ครั้งแรกที่รู้ว่าต้องหาโลฯ แบบต่างประเทศในไทย เราบอกเขาก่อนเลยว่า มันไม่มีนะ (หัวเราะ) จะมีได้ไงอะ คือเรามีหน้าที่หาอะไรใกล้เคียง แล้วเขาจะคุยกับ CG และฝ่ายศิลป์ต่ออีกที เพราะผมคิดไม่ออกหรอกว่าพี่จะ CG ยังไง ตรงไหน เดือนแรกเขาก็ส่งไปหาหลายจังหวัดเลยให้มันดูทิเบต เนปาล ปากีสถาน

“อย่างประตูบ้านไทย ปัจจุบันเขาก็เป็นประตูเหล็กกันมากขึ้น แต่ปากีสถาน บางบ้านเป็นประตูเดี่ยว ยิ่งโปรดักชันดีไซน์เขาอาจจะหัวเราะตอนแรกเพราะเขาดูไม่ออก เราก็จิตตกเหมือนกันนะ หาอะไรมาก็ไม่ใช่สักที พอถ่ายรูปกลับมา เราถึงรู้ว่าเขาอยากจะทำอะไรกับมัน นั่นคือโครงสร้างการทำงานร่วมกัน การถกเถียงกันของคนทำหนัง พอมีฝ่ายอื่นเข้ามาคุยด้วยก็ทำให้เราเข้าใจงานมากขึ้น” 

บอล ธิติกรณ์ 20 ปี 'คนหาโลเคชัน' ผู้พลิกเมืองกาญจน์เป็นอินเดีย เนปาล ใน The Serpent
ภาพ : Netflix
บอล ธิติกรณ์ 20 ปี 'คนหาโลเคชัน' ผู้พลิกเมืองกาญจน์เป็นอินเดีย เนปาล ใน The Serpent
ภาพ : ธิติกรณ์ ศรีบริสุทธิ์

ฉันถามหนุ่มช่างฝันคนนี้ต่อว่า ตั้งแต่ทำงานมาชอบโลเคชันไหนเป็นพิเศษ เขานิ่งไปครู่ ก่อนบอกว่า เยอะเหมือนกันครับ

สำหรับ The Serpent บอลบอกว่า ชอบที่ทำให้คนดูจับไม่ได้ว่าเขาถ่ายที่ไหนกันแน่ อย่างโรงงานยาสูบย่านปุณณวิถี เขาก็เซตฉากใหม่ให้เป็นไปรษณีย์ ห้องขัง โรงพัก และฉากการจุดพลุที่ต่างประเทศ ใครจะไปคิดว่าจะอยู่ในโรงงานยาสูบนี้เหมือนกัน! เพราะถ้าอยากได้ความดาร์ก แบ่งชั้น แบ่งซอย โรงงานยาสูบนี่แหละที่เด้งขึ้นมาในหัวของเขาเหมือนเปิดโนติฯ รัวๆ

บอล ธิติกรณ์ 20 ปี 'คนหาโลเคชัน' ผู้พลิกเมืองกาญจน์เป็นอินเดีย เนปาล ใน The Serpent
ภาพ : Netflix

ตัวละครคนิปเปนเบิร์ก ทูตดัตช์ในไทย แทบจะเป็นพระเอกขี่ม้าขาว (และเป็นตัวละครในดวงใจฉัน) คอยสืบเสาะข้อมูลคดีฆาตกรรมปริศนาของอาแลงและโมนิคใน The Serpent เพราะตำรวจไทยแทบจะไม่สนใจพอเป็นเรื่องคนต่างชาติ ซึ่งบ้านไม้คลาสสิกทรงสวยของเขากับภรรยา บอลบอกว่า Reference ตอนแรกไม่ได้เป็นแบบนี้เลย

บอล ธิติกรณ์ 20 ปี 'คนหาโลเคชัน' ผู้พลิกเมืองกาญจน์เป็นอินเดีย เนปาล ใน The Serpent
ภาพ : Netflix

“เรฟบ้านของคนิปเปนเบิร์กดราฟต์แรกจากทีมงานจะเป็นบ้านปูนสีส้มๆ สไตล์ยุค 70 เราต้องหาความรู้ก่อนว่าบ้านทรงเก่าจริงๆ ในยุคนั้นหน้าตาเป็นยังไง และไปดูหมดทั้งสุทธิสาร ลาดพร้าว ซึ่งหายากมาก ทรงบ้านที่ลาดพร้าวมันไม่ได้ตรงตามเรฟ เลยกลับมาวิเคราะห์ว่าคนรวยสมัยก่อนที่เข้ามาขยายตัวจากสุขุมวิทออกไป เขาสร้างบ้านกันแบบไหน ทำไมเขาถึงเรียกบ้านแถวสุขุมวิทว่าบ้านสไตล์สุขุมวิท 

“ผมคิดบ้านสำรองไว้ประมาณเจ็ดหลัง แต่ละแบบก็แตกต่างกันไป ตอนแรกผู้กำกับก็เลือกบ้านปูนนั่นแหละ แต่พอเดินทางมาดูเอง เขาขอดูแบบไม้แทน ปรากฏว่าก็กลายเป็นบ้านไม้สวยๆ แบบในซีรีส์ ซึ่งข้อดีของการทำซีรีส์ เราจะได้เห็นว่าผู้กำกับแต่ละคนมีมุมมองใหม่ๆ เสมอที่ไม่ยึดกรอบเดิมๆ และรู้จักปรับเปลี่ยนหน้างานเพื่อให้ออกมาดีที่สุด”

ส่วนบ้านคณิตที่เรานั่งคุยกันอยู่ บอลเผยว่าเขารับบรีฟจากทีมงานเป็นรูปเก่าๆ 4 รูป คือทางเดิน ตัวอาคาร ประตู และคำบอกเล่าว่าบ้านคณิตจริงๆ (ปัจจุบันไม่มีอยู่แล้ว) ตรงศาลาแดงมันจะมีสระว่ายน้ำตรงกลางนะ ทำให้เขาต้องหาโครงสร้างอะพาร์ตเมนต์ให้ใกล้เคียงยุคนั้นมากที่สุด เพราะถ้าจะให้เหมือนเลยคงเป็นไปได้ยาก 

จนมาเจอบ้านเบลล่าวินแห่งนี้ที่โครงสร้างรอบๆ ไม่ใช่ยุค 70 แต่เป็นสไตล์เก่าไม่เกิน 40 ปีที่แล้ว ทว่ายังดูใช้ได้ มีสระว่ายน้ำร้าง กำแพงแตกหมด และเป็นพื้นปาร์เกต์ที่พอแอ๊บย้อนไปสมัยนั้นได้อยู่หากนำมารีโนเวตบานประตูห้องพักใหม่ให้ย้อนยุค เติมน้ำในสระให้เต็ม เปลี่ยนไฟ ฉาบกำแพง เติม Corner สำหรับฉากรับแขกต่างชาติข้างสระ 

บอล ธิติกรณ์ 20 ปี 'คนหาโลเคชัน' ผู้พลิกเมืองกาญจน์เป็นอินเดีย เนปาล ใน The Serpent
ภาพ : Netflix

นอกจากนี้ Triple Threat หนังบู๊สามโหดมหากาฬ ก็ยกกองไปวางระเบิดกันที่ปางช้าง ไทรโยค

Only God Forgives หนังอาชญากรรมโดย Nicolas Winding Refn ก็ไปถ่ายกันที่บ้านรถไฟ ตรอกชุมชนมักกะสัน

Target Number One (ชื่อเดิม Gut Instinct) หนังสัญชาติแคนาดาว่าด้วยคดียาเสพติด ที่โจทย์ของบอลคือการนำ Josh Hartnett ผู้รับบทนำไปเดินบนถนนสายหนึ่งในปี 1989 ซึ่งระยะทาง 50 เมตร แรกของซอยสุขุมวิท 11 แทบเป็น Hidden Place ที่ยังคงกลิ่นอายโบราณด้วยป้ายข้างถนนและกองทราย

และโกดังท่าดินแดงใน Bangkok Dangerous ที่นักแสดงมากฝีมืออย่าง Nicolas Cage เป็นพระเอก หรือ องค์บาก หนังฟอร์มยักษ์แจ้งเกิด จา พนม ที่ถ่ายทำกันที่กาญจนบุรี ก็ล้วนเป็นฝีมือของเขา

“โห ปัง” ฉันแอบอุทานเบาๆ

บอล ธิติกรณ์ 20 ปี 'คนหาโลเคชัน' ผู้พลิกเมืองกาญจน์เป็นอินเดีย เนปาล ใน The Serpent

04 บอลมูนิเคชัน

การผนวกความเป็น บอล กับ การสื่อสาร ให้รวมเป็น บอลมูนิเคชัน (Ball + Communication) บอลบอกว่า นี่เป็นหัวใจสำคัญของการหาโลเคชัน เพราะการขออนุญาตใช้โลเคชันจากเจ้าของ จำเป็นต้องใช้ทักษะการพูดเพื่อโน้มน้าวจิตใจ แหงแหละ วันหนึ่งกองถ่ายพาทีมงานหลักร้อยเข้าพื้นที่ ใครจะไม่กลัวบ้านพังบ้าง

ซึ่งสำหรับบอล มนุษย์ที่ชอบการปิดดีลยากๆ ให้ได้ นับว่าเข้าทางเขาเลยทีเดียว

“ผมมองว่ามันเหมือนเราเข้าไปจีบเขาอะครับ ทำให้เขาเชื่อใจเราให้ได้ก่อน บางทีไปครั้งแรกแล้วไม่สำเร็จก็มี แต่ถ้าเรายืนยันกับทีมว่าต้องเป็นที่นี่เท่านั้น เพราะมันสอดคล้องกับเนื้อเรื่องโคตรๆ เราก็จะพยายามแวะเวียนไปสวัสดีเขาบ่อยๆ 

“มีเคสหนึ่งคือตลาดแถวรังสิต พี่กับผู้ช่วยไปยกมือไหว้เฮียร้านโชห่วยเจ้าหนึ่ง เขาตะโกนไล่เราว่า ออกไป๊ ไม่เอากองถ่ายโว้ย ออกไปเดี๋ยวนี้ ไอ้เราก็หน้าชาเลยดิ คิดกันว่าเฮียไม่ฟังเลยว่ะ วันต่อไปก็โดนด่าอีก จนวันที่สามแกเริ่มคุยด้วย เราก็ถามแกว่ามันเกิดอะไรขึ้น แกก็เล่าว่า เคยมีกองหนึ่งมาถ่ายแล้วบังหน้าร้านแกหมด ขายของไม่ได้ แกกังวลเรื่องนี้เลยแอนตี้”

บอล ธิติกรณ์ 20 ปี 'คนหาโลเคชัน' ผู้พลิกเมืองกาญจน์เป็นอินเดีย เนปาล ใน The Serpent
ภาพ : ธิติกรณ์ ศรีบริสุทธิ์

“พอเราเข้าใจ Pain Point ของแกแล้ว เราก็ไปหาแกเป็นอาทิตย์ คุยกับแกดีๆ ว่า เราจะจ่ายค่าเสียเวลาให้ ไม่ต้องกังวลว่าจะขายของไม่ได้นะ ผมหาทางออกให้แล้ว คือถ้ามีลูกค้า ผมจะตั้งโต๊ะรับลูกค้าให้เฮียเลย เตรียมลูกน้องห้าคน กับหาที่จอดรถให้ลูกค้าขายส่ง-ปลีก และช่วยขนของกัน แกถึงแฮปปี้ เช่นเดียวกับการปิดครึ่งซอยเพื่อทำเป็นถนนใน The Serpent เราก็เยียวยาพ่อค้า แม่ค้า ด้วยวิธีนี้ มันคือใจแลกใจนั่นแหละ”

บอล ธิติกรณ์ 20 ปี 'คนหาโลเคชัน' ผู้พลิกเมืองกาญจน์เป็นอินเดีย เนปาล ใน The Serpent
ภาพ : ธิติกรณ์ ศรีบริสุทธิ์

มากไปกว่านั้น บอลยังบอกว่า ไม่ใช่แค่เจ้าของสถานที่อย่างเดียวที่มีปัญหา เพื่อนบ้านเขาก็มีปัญหาแน่นอน เพราะกองถ่ายต้องใช้เสียง อย่างอะพาร์ตเมนต์ บ้านเบลล่าวินแห่งนี้ บางห้องอยู่กันมา 10 – 15 ปี และมีชาวต่างชาติอาศัยราว 7 – 8 ปี ด้วยความอยู่กันมานาน เจ้าของอะพาร์ตเมนต์ไม่มีทางเลยที่จะให้เข้ามาถ่าย แต่พอบอลหาข้อมูลก็พบว่าลูกบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ทำงานกลางคืนตามผับปากซอยสุขุมวิท 4 เขาเลยคิดปิ๊งไอเดีย จ้างลูกบ้านให้ย้ายไปอยู่อีกอาคารใกล้ๆ โดยจ่ายค่าเช่าห้องให้

จะเห็นได้ว่า ‘งบประมาณ’ และ ‘ทีมเวิร์ก’ ถือเป็นส่วนสำคัญ

บอล ธิติกรณ์ 20 ปี 'คนหาโลเคชัน' ผู้พลิกเมืองกาญจน์เป็นอินเดีย เนปาล ใน The Serpent

05 บอลวอยซ์

“จะฟังเทปรู้เรื่องไหม คุยกันแบบใส่หน้ากากอนามัย” บอลพูดขำๆ กับฉัน และเล่าให้ฟังว่า กองถ่ายต่างประเทศมีมาตรการตรวจโควิด-19 ให้ฟรีๆ ทุกครั้งที่เข้ากองถ่าย ซึ่งถือเป็นสวัสดิการที่ดีงาม

ช่วงไวรัสแพร่ระบาดทั่วประเทศ อาชีพหาโลเคชันอิสระของเขาเป็นอาชีพที่ได้รับผลกระทบเยอะ เขาหยุดงานมา 1 ปีเต็ม ตั้งเมษายนปี 2563 ยันเมษายน ปี 2564 เขาตัดพ้อปนขำแห้งว่า “ชีวิตแม่งไม่เคยหยุดงานเกินสามอาทิตย์เลยว่ะ เงินหมดตูด”

ความสนใจเรื่องสวัสดิการและการทำงานของกองต่างประเทศที่เขาพูดเกริ่นมา ทำให้ฉันถามต่อว่า การทำงานระหว่างกองไทยกับต่างชาติ ต่างกันมากแค่ไหน

บอล ธิติกรณ์ 20 ปี 'คนหาโลเคชัน' ผู้พลิกเมืองกาญจน์เป็นอินเดีย เนปาล ใน The Serpent
ภาพ : ธิติกรณ์ ศรีบริสุทธิ์

“สมมติหนังไทยบางกองมีสิบหกคิว ถ่ายสิบหกวัน จะถ่ายถึงสี่ทุ่มหรือเช้าไปเลย อัดๆ เวลาเข้าไป ไม่ได้มีความเกรงใจคนทำงานเท่าไหร่นัก แต่วิธีการทำงานของกองต่างชาติ สมมติเริ่มหกโมงเช้า หกโมงเย็นต้องเลิกแล้ว หรือหากเริ่มเก้าโมงเช้า สามทุ่มต้องเลิก และมีเวลาเบรกให้เป็นกิจจะลักษณะ ไม่หยวนๆ แบบขออีกสิบห้านาทีนะน้องเหมือนกองถ่ายไทย

“กลายเป็นว่าตอนนี้ฝีมือคนทำหนังไทยเยี่ยมมากเลยนะครับ แต่อุปสรรคของคนทำงานคงเป็นเรื่องงบที่ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวให้ขนาดมันเล็กลง กองบางกองไม่มีเงินจ้างรถห้องน้ำดีๆ กับข้าวที่เป็นกำลังใจให้คนกอง ทุกคนเห็นก็ส่ายหน้า ประกันชีวิตที่ควรจะได้กลับไม่ได้

“ดังนั้น ผมคิดว่าถ้าจะพัฒนากองถ่ายไทยให้ดีขึ้น เริ่มจากเรื่องพื้นฐานก็ได้ อันดับแรก ต้องไม่ชินกับการทำงานเกินเวลา ทุกคนควรได้นอนครับ และควรมีเวลาพักแน่ชัด ใครวูบไป คุณจะรับผิดชอบไหม อันดับสอง คือทุกกองต้องได้รับประกันกองถ่าย มีสวัสดิการรักษาพยาบาล อาหารที่ดี ห้องน้ำถูกสุขลักษณะ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายกองละเลย” บอลทิ้งท้าย

Last but not least สิ่งที่เสียไปของคนหาโลเคชัน ไม่ได้มีเพียงแค่สวัสดิการกอง แต่ยังมีเวลาส่วนตัวและเวลาครอบครัวที่เสียไปเพื่อแลกมากับความสนุกในงานของพวกเขา ดังนั้นเพื่อผลักดันคุณภาพชีวิตของอาชีพคนหาโลเคชัน และทีมงานกองถ่ายทุกหน้าที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ยังเป็นเรื่องที่คนไทยน่าทำการบ้าน

และสำหรับฉันการได้มาคุยกับคนหาโลเคชันถือเป็นการเปิดโลกที่ทำให้รู้จักฟันเฟืองเบื้องหลังที่เป็นส่วนสำคัญในกองถ่ายมากกว่าที่จินตนาการถึง

จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเวลาคนดูกวาดสายตาอ่านชื่อคนทำหนัง หรือซีรีส์เรื่องหนึ่งบนเครดิตตอนท้าย คนทำงานกองถ่ายอย่างบอลถึงได้รับเชื้อเพลิงที่ทำให้สนุกกับงานหาโลเคชันต่อไปจนเอาวิธีการทำงานไปเล่าให้ใครฟังกี่ทีก็ยิ้มออก เพราะโลเคชันบนจอแทบเป็นทั้งชีวิตของคนหาโลเคชันเลยนี่เนอะ

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.