เวลาจะย้อนไปดูความเป็นมาของชาติ นอกจากคนและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าถึงบริบทของสังคมที่ผ่านมา ‘สิ่งของ’ ก็เป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่นำมาใช้ศึกษาที่มาที่ไป เบื้องหลังความคิดการออกแบบ หรือกระทั่งอุดมการณ์ในการมีอยู่ของมัน
‘วัตถุสร้างชาติ : 50 ศิลปะไทยสมัยใหม่กับความเปลี่ยนแปลงของสังคมทศวรรษ 2470 – 2520’ คือหนังสือที่ปรับจากงานวิจัยเรื่อง ‘ศิลปะไทยสมัยใหม่กับความเปลี่ยนแปลงของสังคมทศวรรษ 2470 – 2520’ โดยคณะผู้เขียน ได้แก่ ‘วิชญ มุกดามณี’, ‘ชาตรี ประกิตนนทการ’, ‘วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร’ และ ‘กฤติยา กาวีวงศ์’ ซึ่งโครงการนี้เป็นงานวิจัยระยะยาว 3 ปี ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565
เป้าหมายของโครงการนี้คือ เพื่อศึกษา รวบรวม และคัดเลือกผลงานศิลปะ งานสร้างสรรค์ หรือวัตถุชิ้นสำคัญที่ส่งผลและสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์และสังคมในยุครัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการจัดแสดงนิทรรศการและจัดทำองค์ความรู้ทางศิลปะของประเทศไทยตามโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ
เนื้อหาภายในหนังสือต้องการนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างงานศิลปะกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมระหว่างทศวรรษ 2470 – 2520 และเพื่อรวบรวมงานศิลปะชิ้นสำคัญที่ส่งผลต่อสังคมไทยในช่วงเวลาเดียวกัน โดยเน้นศึกษาที่ตัวชิ้นงานศิลปะเป็นศูนย์กลาง และวิธีการศึกษาทางประวัติศาสตร์เป็นหลัก จนออกมาเป็น 50 ผลงานที่บอกเล่าบริบทในช่วงเวลาต่างๆ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 และรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญยุคแรกเริ่ม, รัฐนิยม ชาตินิยม, ประเทศไทยกับสงครามโลกครั้งที่สอง และการก้าวสู่สงครามเย็น เป็นต้น
ตัวอย่างชิ้นงานศิลปะที่ปรากฏในเล่มมีตั้งแต่ พานรัฐธรรมนูญ อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ จังหวัดมหาสารคาม, บทความเชิงสารคดี ‘เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475’ โดยกุหลาบ สายประดิษฐ์, สะพานข้ามแม่น้ำแคว, นิตยสารเสรีภาพ เป็นต้น โดยมีทั้งข้อมูลและภาพประกอบ
ใครที่สนใจ อ่านสูจิบัตรออนไลน์ได้ที่ finearts.su.ac.th/ebooksdetail.php?detail=93