เรื่องเล่าหลังความตายของสัปเหร่อ - Urban Creature

ช่วงเวลาเกิดอาจเป็นการเริ่มต้นใหม่สำหรับใครหลายคน แต่สำหรับหนังสือเล่มนี้เริ่มต้นที่การเดินทางครั้งใหม่หลังจากหมดลมหายใจ ที่มีสัปเหร่ออยู่เคียงข้างในทุกขั้นตอน แต่ทำไมกลับไม่ได้รับการยอมรับ และให้เกียรติเหมือนกับอาชีพอื่นๆ

ความตั้งใจของเฟิร์นนิสิตจุฬาฯ ชั้นปีสุดท้ายที่เลือกทำโปรเจกต์นี้คือ การสร้างความเข้าใจให้กับคนรุ่นใหม่ว่าสัปเหร่อในปัจจุบันเป็นอย่างไร เพื่อเพิ่มคุณค่าและความสำคัญของอาชีพนี้ เพราะการทำงานของสัปเหร่อนั้นมีรายละเอียดมากมายกว่าที่พวกเราเคยเห็น กว่าจะประกอบพิธีศพแต่ละงานนั้น สัปเหร่อต้องใช้ทักษะมากมาย ทั้งแรงกาย แรงใจ ซึ่งการประกอบพิธีนั้นไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะทำหน้าที่เหล่านี้ได้ หลังจากอ่านบทความนี้จบ “เพื่อนกินหาง่าย เพื่อนตายหายาก” ประโยคสุดคลาสสิกที่เคยได้ยินบ่อยๆ คงอธิบายธีสิสเพื่อนตายได้เป็นอย่างดี

| ความตายและสัปเหร่อ

‘ความตาย’ บางคนอาจมองเป็นเรื่องเซนซิทีฟ น้อยครั้งนักที่คนจะกล้าพูดถึง หรือแม้กระทั่งคิดถึงลมหายใจสุดท้ายของตัวเอง แต่ไม่ใช่กับเฟิร์นที่สนใจเรื่องราวหลังความตาย จนถ่ายทอดออกมาในมุมแปลกใหม่ที่ไม่เศร้าหมองเรียกน้ำตา หรือน่ากลัวจนเสียวสันหลัง

“จริงๆ ความตายมันใกล้เรามากนะ คนเราจะตายเมื่อไหร่ไม่รู้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เฟิร์นเลยอยากรู้ว่าถ้าเราอยู่ในนั้นจะเป็นยังไง ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ไปตามหาข้อมูลศึกษาดูว่าความตายมีกี่แบบ ความตายมีอะไรบ้าง สุดท้ายก็เลยไปเจออาชีพสัปเหร่อ ที่พอพูดถึงเขาแล้วภาพจำในละครที่น่ากลัวๆ ลุคคล้ายหมอผีอะไรแบบนั้นเป็นภาพที่ฝังหัวมาตลอด เราก็เลยรู้สึกว่า เออ อยากรู้จังเลยว่าจริงๆ แล้วอาชีพนี้เขาทำกันยังไง ซึ่งข้อมูลที่พอหาได้มันน้อยมากกก คนไม่ค่อยพูดถึงเลย แม้กระทั่งในหนังสือก็บอกแค่ว่าเป็นคนทำศพนะ ไม่มีรายละเอียดอะไรต่อจากนั้นเลย”

| กว่าจะเจอเพื่อน(ตาย)

แม้ข้อมูลเกี่ยวกับสัปเหร่อจะหายากเรียกว่าแทบไม่มีเลยก็ว่าได้ แต่ก็ไม่ทำให้ความมุ่งมั่นของเฟิร์นลดน้อยลงไปเลย การลงพื้นที่จริงไปหาข้อมูลด้วยตัวเองคือสิ่งที่สาวน้อยคนนี้ตัดสินใจ

“หลังจากที่หาข้อมูลเท่าไหร่ก็หาไม่ได้สักที เฟิร์นเลยตัดสินใจไปที่วัดไปดูให้เห็นกับตาว่าภาพของสัปเหร่อในหัวที่เราเคยเชื่อมาตลอดจะเป็นแบบนั้นจริงหรือเปล่า เราติดต่อเจ้าอาวาสวัดธาตุทองว่าหนูขอคุยกับสัปเหร่อได้ไหมคะ หลวงพ่อก็แนะนำพี่ต้อมาให้ ซึ่งภาพแรกที่เราเห็นพี่ต้อคือไม่น่ากลัวอย่างที่คิดเลย 

“พี่ต้อใจดีมากๆ พาเราไปดูและอธิบายให้ฟังทุกขั้นตอนการทำงานว่าสัปเหร่อทำอะไรบ้าง แต่รู้สึกว่ายังไม่พอ เราคิดว่าต้องไปลองคลุกคลีกับเขา เลยคุยกับพี่ต้อว่า ขอลองเป็นสัปเหร่อได้ไหม บอกได้เลยว่าให้ทำอะไรบ้างเหมือนเราเป็นคนทำงานคนหนึ่งเลย พี่ต้อเขาก็โอเค มาสิ ลุยกันเลย

“ระหว่างนั้นเราได้เห็นทุกขั้นตอน ตั้งแต่ศพมาที่วัด การมัดตราสัง วันสวดอภิธรรม ไปจนถึงวันเก็บอัฐิ แต่พอดีช่วงนั้นขั้นตอนของการฉีดยาศพ การฉีดฟอร์มาลีน แล้วก็การเย็บศพยังไม่อนุญาตให้ทำที่วัด เพราะโควิด-19 ระบาดอยู่พอดี ก็เลยจะเสร็จจากที่โรงพยาบาลหรือไม่ก็นิติเวชเลย เราก็เลย โอเค ไป! อยากเอาให้สุดก็ไปนิติเวชกัน

 “วันที่เข้าไปพี่เขาก็พาเดินดูอธิบายขั้นตอนไปเรื่อยๆ ว่าเอออันนี้ที่เย็บศพนะ เย็บศพต้องเย็บเป็นซิกแซ็กแผลจะได้ปิดสนิท ศพที่ได้มาต้องมาอาบน้ำตรงนี้ แล้วก็ฉีดฟอร์มาลีนตรงนี้นะ ความรู้สึกตอนนั้นคือเย๊นเย็น ถามว่ากลัวไหมกลัวแหละ แต่กังวลว่าจะสเก็ตช์ไม่ทันมากกว่า (หัวเราะ) เพราะเขาไม่ให้ถ่ายรูปเลย ก็ยืนสเก็ตช์ภาพสดๆ ตรงนั้นเลย พอเสร็จปุ๊บ เราก็เอาข้อมูลไปคุยกับพี่ต้อที่วัดธาตุทองอีกครั้งว่าเหมือนหรือต่างกันตรงไหนไหม ซึ่งเวลาที่เก็บข้อมูลตรงนี้ค่อนข้างนานเหมือนกัน แต่พอได้รู้ได้เห็นทั้งหมดแล้วมันทำให้มองเห็นทางของธีสิสเยอะมาก”

อย่างที่บอกหลังจากที่เห็นงานของเฟิร์นทำให้เราเองที่เรียนจบมาแล้วสักพักมีไฟขึ้นมาอีกครั้ง กลิ่นอายของการทุ่มเททำอะไรสักอย่างนี่มันดีจริงๆ นะ

| สุดปัง! หนังสือภาพยาว 8 เมตร

เราคุยกับเฟิร์นมาสักพักใหญ่ก็แอบสงสัยว่าข้อมูลตั้งมากมายจะเอามาใช้ยังไงบ้าง ที่สำคัญเรื่องราวของสัปเหร่อ เราเองก็ยังไม่เคยเห็นใครหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันสักเท่าไหร่ เรียกว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่ไม่น้อยเลย 

“ในช่วงแรกอาจารย์เขาไม่ได้ตั้งโจทย์อะไรเลย เขาให้เริ่มจากสิ่งที่เราสนใจแล้วก็ไปตามหาข้อมูลแล้วคลุกคลีกับสิ่งนั้นให้มากที่สุด สุดท้ายแล้วก็มานั่งรวบรวมความคิดอีกที ไหนๆ ในประเทศไทยยังไม่มีหนังสือสำหรับสัปเหร่อโดยเฉพาะเลย แล้วคนทั่วไปยังจำภาพเก่าๆ ของเขาอยู่ เป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะเพิ่มภาพจำใหม่ของปี 2021 ให้คนได้เห็นว่าเขาทำอะไรบ้าง จะได้รู้ว่าอาชีพสัปเหร่อมีหลายแง่มุมมากกว่าที่พวกเราเห็นนะ ก็เลยเลือกทำหนังสือภาพ เพราะว่าเป็นอะไรที่คนเห็นแล้วเข้าถึงได้ง่าย

“สมัยก่อนเราศึกษาพระธรรมจากสมุดใบลาน ซึ่งลักษณะของหนังสือใบลานจะอยู่ในแบบ Accordion ที่เชื่อมติดกันทุกหน้า เราเลยเอาแนวคิดนี้มาสานต่อในตัวธีสิสหนังสือภาพ โดยแสดงให้เห็นถึงการเดินทางหลังความตายซึ่งเปิดอ่านได้หลายแบบด้วย เช่น แบบหน้าคู่เหมือนหนังสือปกติ หรือกางออกมาก็อ่านตามได้จากจุดเชื่อมต่อของแต่ละบทได้ ในแต่ละบทจะอธิบายขั้นตอนการทำงานของสัปเหร่อไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย สังเกตได้เลยว่าสัปเหร่อจะอยู่ในทุกๆ ขั้นตอนเลย ทั้งคอยช่วยเหลือ จัดการศพ และช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวผู้เสียชีวิตจนวินาทีสุดท้าย

“ในมุมของภาพเราเองก็ไม่อยากให้คนรู้สึกกลัวเวลาเห็นภาพก็เลยลองหาวิธีอื่นแทนการใช้ภาพจริง สีจริง เลยมาจบที่การวาดลายเส้นผสมกับภาพจริงบางมุมในวัด เช่น โลงศพ เชิงตะกอน เพื่อลดทอนความน่ากลัวลงไป ส่วนโทนสีเราคิดอยู่นานมากๆ ว่าจะใช้สีอะไรดี ใช้สีสันจะเหมาะไหม แต่เรารู้สึกว่าความตายไม่ได้เศร้าขนาดนั้น มันเป็นสิ่งที่รับได้ พออยู่ในจุดหนึ่งแล้วคนก็หนีความตายไปไม่พ้นอยู่ดี จะดีกว่ามั้ยถ้าเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้มันธรรมดาได้ ทำให้คนอยากหยิบขึ้นมาอ่าน สีแดง ส้ม เหลือง เป็นสีที่เราตัดสินใจเลือกใช้ ซึ่งก็เป็นสีที่สื่อสารถึงวัดได้ด้วย ส่วนสีขาวและดำในส่วนที่เป็นศพ ส่วนหัวข้อของชื่อบทต่างๆ เราก็ใส่การออกแบบ Typography เข้าไปด้วย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความชอบส่วนตัวของเราเอง ถ้าสังเกตดีๆ ทุกหัวข้อจะไม่เหมือนกันเลย

“พอพูดถึงความยาวแปดเมตร ตอนแรกเราเองก็ตกใจเบาๆ นะ (หัวเราะ) จริงๆ ไม่ได้วางไว้เลยว่าต้องยาวเท่านี้ แต่พอทำไปทำมายาวแปดเมตรเลยค่ะ เรื่องรูปทรงที่คิดไว้มันจะเป็นแนวยาว เพื่อที่จะสื่อให้คนอ่านเขารู้สึกว่ามันคือโลงศพ จะได้เชื่อมโยงกับตัวเนื้อหาด้านในด้วย”

เราเองก็ตกใจกับความยาวของธีสิสหนังสือภาพเล่มนี้ จนต้องถามซ้ำว่า ยาว 8 เมตร จริงๆ ใช่ไหม ทำเอาอยากเห็นเล่มจริงสักครั้ง แต่ก็แอบเสียดายเพราะเฟิร์นบอกกับเราว่า ช่วงโควิด-19 จัดแสดงผลงานไม่ได้เลยอาจจะต้องดูออนไลน์กันไปก่อนนะ

| เจอแล้วเพื่อน(ตาย)

บทสนทนาของเราทั้งคู่ไหลลื่นไปเรื่อยๆ พร้อมกับกาแฟในแก้วของเฟิร์นที่พร่องลงไป เราก็อดถามไม่ได้ว่า สุดท้ายแล้วทำไมชื่อของธีสิสมาลงเอยที่ ‘เพื่อนตาย’ 

“จริงๆ เรื่องชื่อก็คิดกับอาจารย์มาหลายรอบเลยว่าจะเอาชื่ออะไรดี ก่อนหน้านี้จะมีเชิงตะกอนแล้วก็อะไรที่เกี่ยวกับการเผาศพ แต่มันไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่ เราเลยมานั่งคิดใหม่สัปเหร่อเป็นอะไรได้บ้างก็ลิสต์ออกมา 

คิดไปคิดมาเขาก็เหมือนเพื่อนเลยเนอะ คล้ายๆ ประโยคที่ว่าเพื่อนกินหาง่ายเพื่อนตายหายาก ซึ่งก็อธิบายความหมายของอาชีพสัปเหร่อได้ดี เหมือนตอนที่เราลำบากที่สุดอย่างตอนเราตายแล้วเขาเข้ามาอยู่เป็นเพื่อน ‘เพื่อนตาย’ ก็ลงตัวพอดีเลย

“มีอีกมุมที่น่าสนใจอยู่เหมือนกัน พอเราตายแล้วเราอาจไม่รับรู้แล้วแหละว่าคนที่ยังอยู่เขาจะรู้สึกยังไง ซึ่งในอาชีพสัปเหร่อ ทุกขั้นตอนหลายคนมองว่าเขาทำเพื่อคนตายใช่ไหม แต่ความจริงแล้วเขาทำเพื่อคนเป็นมากกว่านะ เหมือนเรามาส่งเขาครั้งสุดท้ายให้ดีที่สุด เพราะเราอยากให้คนที่เรารักไปดีในโลกหลังความตาย คนที่ยังอยู่ก็จะสบายใจไม่มีห่วง”

ถ้าลองคิดตามที่เฟิร์นบอก เราเองก็เชื่อว่าการสูญเสียคนเป็น มักเจ็บปวดกว่าคนตายเสมอ หากจะมีวิธีไหนที่ทำให้ความเจ็บปวดน้อยลง เราคิดว่าการดูแลในช่วงเวลาสุดท้ายจากสัปเหร่อนี่แหละที่จะช่วยเยียวยาคนที่ยังอยู่ได้

หลังจากธีสิสหนังสือภาพเพื่อนตายจบลง เฟิร์นมีความหวังเล็กๆ ว่าอยากตีพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่ม เพื่อส่งต่อให้คนอื่นได้อ่าน และเข้าใจอาชีพสัปเหร่อมากขึ้น เพื่อนตายคนสุดท้ายคนนี้จะไม่ถูกมองข้ามอีกต่อไป ที่สำคัญเรื่องราวหลังความตายนี้อาจทำให้คนเป็นอย่างเราฉุกคิดอะไรขึ้นมาบ้างก็ได้

ติดตามผลงานและให้กำลังใจน้องเฟิร์นได้ที่ : www.commde-degreeshow2021.com/2742256/, www.fernapas.com

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.