50% ของเด็กไทยสอบตกด้านการอ่าน เพราะไม่สามารถจับใจความและทำความเข้าใจได้
53.8% ของเด็กไทยสอบตกวิชาคณิตศาสตร์ และไม่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
46.7% ของเด็กไทยสอบตกวิชาวิทยาศาสตร์ เพราะไม่สามารถเข้าใจและประยุกต์ใช้ได้
เหล่านั้นคือข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เกี่ยวกับทักษะด้านการศึกษาของเด็กไทยในยุค ‘Disruption’ หรือ ‘สภาวะการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือในช่วงเวลาสั้นๆ’ และเด็กที่ได้รับผลกระทบด้านการศึกษามากที่สุด ณ ขณะนี้คงไม่พ้นเด็ก ‘Generation Z’ ที่ต้องปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลง และการแข่งขันที่สูงขึ้นเป็นเท่าตัว เพื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่รุ่นต่อไป อะไรคือช่องโหว่ที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทยของเด็กยุคเจนฯ Z เรามาหาคำตอบไปพร้อมกัน
| Pisa ชี้ สติปัญญาเด็กไทยห่างจากประเทศพัฒนาแล้ว 6 ปี
ผลประเมิณ ‘ปิซ่า (PISA)’ คือสิ่งที่สามารถใช้วัดผลการศึกษาของเด็ก รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ ด้วยการออกแบบคำถามที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อวัดความสามารถของเด็กนักเรียนวัย 15 ปี ที่ต้องเลือกวัยนี้ เพราะช่วงอายุ 15 ปี IQ ของมนุษย์จะสูงที่สุด โดยทำการประเมินผ่านทักษะต่างๆ ที่สำคัญ เพื่อวัดความพร้อมของเด็กไทย และจุดที่ลงตัวของระบบการศึกษา
โดยประเทศไทยนั้นพยายามปฎิรูปด้านการศึกษามาหลายครั้ง แต่ภาพรวมด้านการศึกษาไทยก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจตามที่วาดหวังไว้ โดยผลคะแนน Pisa ซึ่งใช้วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กอายุ 15 ในแต่ละประเทศชี้ว่า สติปัญญาของเด็กไทยห่างจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ฟินด์แลนด์ สิงคโปร์ หรือญี่ปุ่น ถึง 6 ปี นั่นเท่ากับว่าเด็กชั้นประถม 3 ของบ้านเขา มีสติปัญญาเท่ากับเด็กชั้นมัธยม 3 ของบ้านเรา
| ค่านิยมการศึกษาไทย จุดอ่อนสร้างความเว้าแหว่ง
เพราะความเชื่อแบบเดิมที่ถูกปลูกฝัง ทำให้เด็กไทยกว่าค่อนประเทศจดจำภาพนั้น และทำตามการเรียนแบบเก่า กลายเป็น Good Follower หรือผู้ตามที่ดี ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ อย่างไม่มีจุดยืนที่แน่ชัด คือช่องโหว่สำคัญชองระบบการศึกษาไทย นอกจากนี้ คุณธานิน เอื้ออภิธร ผู้บริหารโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ทป์เผยข้อมูลเกี่ยวกับค่านิยมด้านการศึกษาไทย ที่สร้างให้เกิดปัญหาของเด็กยุคเจเนอเรชัน Z ว่า มี 3 ข้อ
1.ค่านิยมอยากเป็นหมอ : เชื่อว่าบางคนเคยถูกปลูกฝังมาว่า อาชีพหมอ คืออาชีพที่ดี และน่าทำที่สุด ไม่ว่าจะได้รับข้อความนี้มาจากพ่อแม่ ครอบครัว หรือตามโซเชียลมีเดียต่างๆ ส่งผลให้เด็กไทยกว่าค่อนประเทศอยากเป็นหมอ การแข่งขันที่สูงขึ้น ทำให้เกิดภาวะกดดัน จนเด็กเลือกทุ่มเทเวลาให้กับการเรียน
2.ระบบ TCAS : TCAS หรือ Thai University Center Admission System เป็นระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่เซ็ตขึ้นใหม่ ซึ่งเริ่มใช้ไปเมื่อปีการศึกษา 2561 แบ่งรอบคัดเลือกเป็น 5 รอบ คือ
-คัดเลือกโดยการส่งแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio)
-สมัครโควตาแบบมีสอบข้อเขียน สำหรับนักเรียนในพื้นที่
-การรับตรงร่วมกัน
-การรับ Admission
-การรับตรงแบบอิสระ
มองภาพรวมอาจคิดว่าระบบนี้เปิดให้นักเรียนมีโอกาสยื่นคะแนนได้หลายรอบ แต่ในความจริงแล้ว ระบบ TCAS กลับสร้างช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน และเอื้อให้คนรวยเข้ามหาวิทยาลัยได้ง่ายกว่า เช่น การยื่นรอบแฟ้มสะสมผลงาน ที่การศึกษาไทยยกให้มาเป็นรอบแรก ซึ่งเป็นจุดที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากที่สุด เพราะเด็กที่มีต้นทุนน้อยบางคน ไม่มีโอกาสออกไปทำกิจกรรมเพื่อเก็บพอร์ต ในทางกลับกันที่ต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จะเปิดรอบแฟ้มสะสมผลงานเป็นการคัดเลือกรอบสุกท้าย
3.ส่งลูกเรียนเอกชน : ผู้ปกครองบางบ้านเลือกส่งลูกเข้าโรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนอินเตอร์ เพื่อตัดปัญหาเรื่องการแข่งขันทางด้านการศึกษา ยกระดับสิ่งแวดล้อม และเลือกระบบการศึกษาที่ดีที่สุดให้กับลูก
นอกจากนี้ เด็กไทยยังมีจุดอ่อนที่ชัดเจนในเรื่อง ‘การขาดประสบการณ์’ เช่น เด็กที่อยากเรียนหมอ บางครั้งยังไม่รู้เลยว่า หมอคืออะไร ไม่มีประสบการณ์จริงที่เสริมให้เข้าใจว่าหมอต้องเรียนอะไร ต้องมีคุณสมบัติแบบไหน ดังนั้น การสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตควรมีให้เห็นจริงในช่วงมัธยมต้น เพราะจุดที่พัฒนาศักยภาพทางสติปัญญา หรือ IQ ที่ดีที่สุดของเด็กคือช่วงอายุ 15 ปี ทั้งยังมีจุดอ่อนเรื่องการโฟกัสที่มากเกินไป เด็กไทยต้องเข้าเรียนมากถึง 1,200 ชั่วโมง / ปี แต่กลับขาดคุณภาพในรายวิชานั้นๆ
| Disruption ผลักดันให้เกิดเทรนด์การศีกษาโลกแบบใหม่
ขยับจากระบบการศึกษาแบบไทย ไปสู่การศึกษาระดับโลกที่กำลังถูก Disruption และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเป็นผลมาจากองค์ประกอบ 4 ด้าน ได้แก่ 1. ความเร็ว 2. ความวิตกกังวล 3. ความคิดริเริ่มสิ่งใหม่ของเหล่า Startup และ 4. ความรวดเร็วและสะดวกสบายในการรับข้อมูลข่าวสาร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สร้างให้เกิดเทรนด์ใหม่ของการศึกษา ได้แก่
Highly Actively Learn : ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้
Highly Adaptive : ผู้เรียนปรับตัวเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
Highly Globalized : การเลือกเรียนและปรับเปลี่ยนตามรูปแบบความสนใจของแต่ละบุคคล
Highly Focus yet Flexible : การเรียนแบบโฟกัสแต่ยังยืดหยุ่น
| สวิชต์ 4C คีย์สำคัญที่เด็กเจนฯ Z ต้องใช้เพื่อปรับตัว
เพราะเด็กเจเนอเรชัน Z คือวัยของการค้นหาตัวตนและต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลง มากกว่าเชื่อว่า แค่ทำงานหนักจะประสบความสำเร็จ เด็กเจนฯ นี้จึงต้องเน้นไปที่การค้นหาตัวตน ควบคู่กับการเพิ่มสกิลเพื่อรับมือกับยุค Disruption ที่มีการแข่งขันสูงขึ้นเป็นเท่าตัว โดยครูพี่กิ๊บ วลีรัตน์ หาญเมธีคุณา คุณครูที่โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ทป์ ให้ข้อมูลว่า การปรับตัวของเด็กเจเนอเรชันนี้ ต้องใ้ช้หลัก “4C” เป็นตัวช่วยสำคัญ
C1 : C-Competition การปรับตัวให้เคยชินกับการแข่งขัน และความไม่แน่นอนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต
C2 : C-Copy ก๊อบปี้ในที่นี้ ไม่ได้มีความหมายว่า ลอก ที่เคยเข้าใจกัน แต่มันหมายถึงการเรียนรู้และต่อยอดได้อย่างรวดเร็ว จากพฤติกรรม คนรอบตัว และสภาพแวดล้อม
C3 : C-Challenge มนุษย์ทุกคนชอบทำอะไรที่ค่อนข้างท้าทาย และมีความยากเล็กน้อย แล้วค่อยขยับให้ยากขึ้น เพื่อท้าทายความสามารถของตัวเอง ซึ่งมันจะมีทั้งความท้อ และความพ่ายแพ้ แต่เด็กเจนฯ Z ต้องปรับตัวและกลับมาลงสนามอีกครั้ง
C4 : C-Confirm การค้นหาตัวตน และอัตลักษณ์เฉพาะ หาความเป็นตัวเอง หรือสิ่งที่อยากจะเป็นให้ชัดเจนที่สุด เพื่อค้นพบความสำเร็จในรูปแบบของตัวเอง
นอกจากนี้ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เด็กเจเนอเรชั่น Z ควรมี โดยจากผลการศึกษาของอะโดบี (Adobe) เรื่อง ‘Gen Z in the Classroom: Creating the Future’ ซึ่งสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนเจนฯ Z จำนวน 250 คน อายุระหว่าง 11-17 ปี และคุณครู 100 คนในประเทศไทย พบว่า นักเรียน 97% และครู 99% เห็นว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในอนาคตของนักเรียน โดยนักเรียน 75% เชื่อว่า อาชีพการทำงานในอนาคตจะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ และครู 97% รู้สึกว่านักเรียนยุคเจนฯ Z จะทำงานในอาชีพใหม่ๆ ที่ไม่มีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังพบว่า เด็กเจนฯ Z ชอบเรียนวิชาที่เน้นการใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีเป็นหลัก เพราะมองว่าช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ และช่วยสร้างความพร้อมเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
เมื่อทำความเข้าใจถึงหลักการ 4C และความต้องการทางด้านความคิดสร้างสรรค์ที่เด็กเจเนอเรชัน Z ได้รับจากมาส่วนหนึ่งจากการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ดังนั้นการอุดรอยรั้วของระบบการศึกษาไทย ก็ควรนำหยิบสิ่งเหล่านั้นมาพัฒนาต่อ เช่น การนำ EDtech (Education Technology) หรือเทคโนโลยีทางการศึกษามาแก้เกม ผลักดันให้สมาร์ทโฟนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงการเรียนเข้ากับมือถือ การพัฒนาแอปพลิเคชัน การนำเกมเข้ามามีส่วนในการโต้ตอบและสร้างปฏิสัมพันธ์ของนักเรียน ไปจนถึงการปรับบทเรียนให้มีความเป็นดิจิทัลคอนเทนต์มากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยทั้งด้านการทำงานของครูผู้สอน และการเรียนรู้ของตัวนักเรียนเอง
Source : http://www.adobeeducate.com/genz/Thailand-Study-Results