จอห์นสตันพระอาจารย์ชาวอังกฤษ : “ถ้าเราไม่สามารถพูดสิ่งที่ตั้งใจไว้ได้
เราก็ไม่มีทางทำในสิ่งที่เราพูดไว้ได้ และสุภาพบุรุษควรทำในสิ่งที่พูดไว้เสมอ”
พระจักรพรรดิผู่อี๋ : “เราไม่ใช่สุภาพบุรุษเพราะเราพูดในสิ่งที่เราตั้งใจไว้ไม่ได้
พวกเขาให้เราพูดตามที่บอก”
หนึ่งในบทสนทนาสุดสะเทือนใจที่ผ่านมาแล้วกว่า 32 ปี กับเรื่องราวของของจักพรรดิจีนองค์สุดท้ายที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘The Last Emperor’ หรือชื่อไทยที่ว่า ‘จักรพรรดิโลกไม่ลืม’ แต่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานเท่าไรประวัติศาสตร์ก็ยังคงชัดเจน ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สร้างปรากฏการณ์กวาดรางวัลออสการ์ในทุกสาขาที่ส่งเข้าชิงถึง 9 รางวัลเลยทีเดียว
โดยเรื่องราวของ The Last Emperor ได้นำพาคนทั้งโลกเข้าสู่พื้นที่ใจกลางกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของสาธารณรัฐประเทศจีนอย่าง พระราชวังต้องห้าม เพื่อติดตามชีวิตของเจ้าชายผู่อี๋ (ปูยี) จักรพรรดิองค์สุดท้ายของแผ่นดินจีน
ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้จะเล่าสลับล้อกันไประหว่าง 2 ช่วงเวลา คือเปิดเรื่องด้วยเจ้าชายผู่อี๋ ซึ่งอยู่ในฐานะอาชญากรสงครามโลกที่ต้องเข้ารับการตัดสินโทษ เช่นคนธรรมดาในเรือนจำของรัฐ และอีกช่วงเวลาคือตั้งแต่เจ้าชายผู่อี๋ในวัย 3 ขวบถูกพรากจากครอบครัวมาเข้ารับตำแหน่งจักรพรรดิจีน โดยก่อนพระนางฉือซี (ซูสีไทเฮา) สวรรคตได้ระบุให้เหลนของพระองค์คือเจ้าชายผู่อี๋ เข้ารับราชสมบัติต่อในนามของจักรพรรดิซวนถ่ง
เรื่องราวยังคงเดินทางผ่านกาลเวลามาเรื่อยๆ
เจ้าชายผู่อี๋เติบโตขึ้นราวกับต้นไม้ที่ถูกเลี้ยงดูขึ้นมาอย่างผิดรูปผิดรอย ในพระราชวังต้องห้ามดั่งกระถางที่เข้มงวดในจารีตประเพณี โดยไม่เคยได้ออกไปเห็นโลกภายนอก
ซึ่งความสะเทือนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นประมุขของประเทศแต่ก็ขาดสิทธิ์แทบทุกอย่างภายใต้กฎมณเฑียรบาลของกษัตริย์ แม้แต่สิทธิ์ในการอยู่กับพ่อแม่ที่แท้จริงก็ตาม
ซึ่งจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้เขาเองไม่มีโอกาสเลือกเช่นกัน เพราะทั้งหมดล้วนแล้วมีคนขีดเส้นวางชีวิตทุกอย่างไว้ ซึ่งมันได้สะท้อนผ่านการเติบโตของเจ้าชายผู่อี๋ในแต่ละช่วงวัย ทั้งช่วงที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อด้านอารมณ์จากวัยเด็กสู่วัยหนุ่ม หรือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองโลกและการเมืองจีนด้วย เราจึงได้เห็นว่าจักรพรรดิผู้นี้ตกต่ำลงจนเป็นนักโทษ จวบจนบั้นปลายที่ต้องใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชน
อย่างในฉากที่ขี่จักรยานรวมกับสามัญชนคนอื่นๆ ในฐานะคนสวนไร้ยศศักดิ์คนหนึ่ง เราก็ไม่อาจตัดสินได้เลยว่าชีวิตก่อนหน้า หรือช่วงเวลาของเขาในระบอบการปกครองใหม่แบบไหนเรียกได้ว่ามีอิสระมากกว่ากัน
ซึ่งตลอดทั้งเรื่องเราได้เห็นทั้งความฟุ้งเฟ้อในการใช้ชีวิต อิสรภาพที่ถูกพรากไป ความเอาแต่ใจไม่แยแสผู้อื่นและชะตาชีวิตที่ไม่อาจเลือกเอง ทำให้เราเห็นถึงชีวิตที่น่าเห็นใจของ
บุคคลที่เป็นถึงจักรพรรดิ แต่ไม่เคยได้รับอิสระเปรียบเสมือนหุ่นเชิดมาตลอดทั้งชีวิต ราวกับอิสรภาพที่แท้จริงนั้นอยู่หลังความตายของเขา
นับเป็นเรื่องราวที่น่าเศร้ามากเกินกว่าจะบรรยาย ทั้งที่ชีวิตเราได้เกิดมาทั้งทีแต่ไม่มีแม้โอกาสที่จะได้เป็นตัวเอง
และสำหรับใครที่กำลังคิดถึง ‘The Last Emperor จักรพรรดิโลกไม่ลืม’ ผลงานชิ้นเอกของ ‘แบร์นาโด แบร์โตลุชชี’ ผู้กำกับและผู้เขียนบทภาพยนตร์ชาวอิตาลี ที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้มีให้ชมแล้วที่ Bangkok Screening Room ตั้งแต่วันนี้ – 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562