The Cement City : Mocambique Modern - Urban Creature

จากมุมมองการถ่ายภาพแบบ “Cement City” เป็นวิธีเรียก “เขตเมือง” ในประเทศโมซัมบิก เขตนี้บ่งบอกถึงลักษณะอาคารบ้านเรือนที่ถาวร และแยกตัวออกจากชุมชนแออัดของคนพื้นถิ่นโดยเด็ดขาดซึ่งอาคารต่างๆ ถูกสร้างไว้อย่างมีระเบียบแบบแผน เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับเจ้าอาณานิคมเพื่ออยู่อาศัยและปกครองในช่วงตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เมืองท่าสำคัญแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นที่เป็นหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนแนวความคิดจากโลกยุคเก่าสู่โลกยุคใหม่ แต่ความทันสมัยคือสิ่งที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง เมื่อทุกสิ่งดำเนินไปความล้ำสมัยของสถาปัตยกรรมจะค่อยๆ ผสานรวมกับกาลเวลาที่คืบคลานมาอย่างช้าๆ และแล้วความจีรังของสถาปัตยกรรมก็ถูกปลดปล่อยออกมา Urban Creature จึงพามาตามติดแนวคิดของของ “เบียร์ – วีระพล สิงห์น้อย” ผ่านมุมมองของช่างภาพสถาปัตย์

| มุมมองสถาปัตยกรรมในเมืองไทยของพี่เบียร์เป็นแบบไหน

สถาปัตยกรรมในเมืองไทยถ้าเรื่องการพัฒนา ความเจริญ เราก็ถือว่าโอเคเลยเรียกได้ว่าภูมิภาคนี้เราก็ไม่แพ้ใครแต่สิ่งที่เราสนใจอยู่ตอนนี้คือ สถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นซึ่งจริงๆ แล้วในศัพท์คำว่า “สถาปัตยกรรมสมัยใหม่” ความเป็นโมเดิร์นของมันอาจจะไม่ตรงกับความเข้าใจของคนทั่วๆ ไปเท่าไหร่ ถ้าโมเดิร์นแบบสมัยใหม่ปัจจุบันนี้เราขอเรียกว่า “ Contemporary” ดีกว่า แต่ถ้าเป็นคำว่า “Modern” ก็คือช่วงสมัยประมาณ 50 – 60 ปีที่แล้ว ตรงกับประมาณปี พ.ศ. 2483 – 2503 ซึ่งคำว่ายุคสมัยใหม่เป็นช่วงแนวความคิดที่มีอิทธิพลมาจากฝั่งยุโรป ฝั่งเลอกอร์บูซีเยซึ่งเราสนใจสถาปัตยกรรมยุคนี้

ทำไมถึงชอบสถาปัตยกรรมยุค “โมเดิร์น”

คือเรามีความประทับใจเรื่องรูปทรงอยู่แล้วพอเราศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ เราก็ยิ่งหลงรักสถานที่ต่างๆ มากขึ้นซึ่งที่แรกที่ประทับใจเลยคือ “ตึกฝักทอง” ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(หาดใหญ่) ซึ่งที่นี่ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามด้วย

โชคดีที่ตอนนั้นได้ไปถ่ายงานให้กับสมาคมสถาปนิกสยามเมื่อปี พ.ศ. 2557 ทำให้ได้ไปเจอ “ตึกฟักทอง” ซึ่งตึกนี้อายุประมาณ 50 – 60 ปีแล้ว สถาปนิกออกแบบไว้ได้สวยงามมากน่าแปลกใจที่เราเป็นนักเรียนสถาปัตย์แต่แทบจะไม่รู้จักเลย ซึ่งในตำราเรียนสถาปัตย์ของไทยก็แทบไม่รู้จักเลยทั้งๆ ที่สถาปนิกก็เป็นคนไทยผลงานดีๆ อย่างนี้น่าจะถูกเผยแพร่หรือพูดถึงบ้าง

| ความแตกต่างระหว่างยุคเก่ากับยุคใหม่

เราว่ายุคโมเดิร์นมันมีเสน่ห์ตรงที่เมื่อย้อนกลับไป 50 ปีที่แล้วเทคโนโลยียังที่ไม่เจริญเท่าปัจจุบันนี้ ทั้งการก่อสร้าง วัสดุ เหล็ก กระจก ซึ่งยุคนั้นคือยุคของคอนกรีต มันมีความล้ำสมัยคือคอนกรีตเสริมเหล็กทำให้อาคารพวกนี้แสดงหน้าตาออกมาต่างจากสมัยปัจจุบัน

ในยุคปัจจุบันอาจจะมีแนวทางการออกแบบที่หลากหลาย ชัดเจน และแตกแขนงออกไปหลายอย่างมาก เพราะความที่โลกมันเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์แล้ว ซึ่งในสมัยก่อนจะมีแนวคิดอยู่ไม่กี่อย่างมันเลยทำให้ภาพของเมืองทั้งเมืองเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

“สิ่งที่เราชอบในงานสถาปัตยกรรมคือ เมื่อมันผ่านกาลเวลามาแล้วมันยังคงความคลาสสิก ความเก่า และมีเสน่ห์อยู่”

ส่วนคนยุคก่อนอาจจะต้องขยันขันแข็ง และมีความเพียรที่จะพัฒนาตนเองมากกว่าสมัยนี้ เพราะสื่อไม่ได้เข้าถึงง่ายอย่างปัจจุบัน เมื่อก่อนต้องรอแมกกาซีนจากต่างประเทศซึ่งคนสมัยก่อนต้องสตรองจริงๆ ถึงจะอยู่ได้ เพราะด้วยข้อจำกัดที่เยอะมาก และข้อจำกัดนั้นจะบีบให้เขาสร้างอะไรใหม่ๆ ได้ยาก ซึ่งสำหรับตอนนั้นคือมันดูล้ำสมัยมาก แต่มันกลับกลายเป็นเรื่องง่ายๆ ในปัจจุบัน

คิดว่าโครงสร้างตึกโรงหนังเก่าสามารถเป็นอะไรได้บ้าง ถ้าในเมื่อโรงหนังสแตนอโลนไม่ตอบโจทย์กับสังคมยุคปัจจุบัน

เราคิดว่าอาจจะเป็นที่จัดคอนเสิร์ตมั้ง หรือว่าแกลเลอรี เพราะมีพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างยุคสกาล่ามักจะมีเวทีอยู่ด้านหน้าอาจจะปรับเปลี่ยนเป็นแบบโรงละครเล็กๆ ก็ได้ แต่ปัจจุบันโรงหนังมันก็ถูกย้ายเข้าไปอยู่ในห้างสรรพสินค้าหมดแล้ว เราว่าถ้าจะปรับเปลี่ยนก็หน้าจะเหมาะกับแกลเลอรี โรงละคร หรือพวกจัดงานแต่งงานก็อาจจะเป็นไปได้ ซึ่งระบบเครื่องเสียง เครื่องปรับอากาศมันก็น่าจะพร้อมอยู่

อย่างบางแห่งเราเห็นปรับเปลี่ยนเป็นที่จอดรถแถววังบูรพาภิรมย์ คลองสาน หรือสนามแบดมินตันตรงงามวงศ์วาน บางแห่งปรับเป็นโรงแรมก็มีอย่างกระบี่ แต่โรงแรมนี่อาจจะดูยากหน่อยตรงที่ข้างในมันเป็นขั้นบันไดระบบปรับอากาศหมุนเวียนข้างในก็อาจจะไม่สะดวกถ้าต้องซอยห้องข้างในเยอะๆ ซึ่งมันจะสามารถใช้พื้นที่ได้แค่บางส่วน ถ้าออกแบบดีๆ ก็น่าจะมีไอเดียหลายอย่างที่คนน่าจะทำได้

| ชอบย่านไหนในกรุงเทพฯ มากที่สุด

ชอบย่านสีลม-เพชรบุรี เพราะมันเป็นย่านที่ตึกโมเดิร์นตั้งอยู่เยอะต่างจากย่านเจริญกรุงที่จะเป็นตึกยุคเก่าเลย ส่วนสีลม – เพชรบุรีเป็นถนนที่เกิดขึ้นมาในยุคสมัยนั้นซึ่งได้รับอิทธิพลจากความเจริญที่มันกระจายตัวออกไปยิ่งตรงสุขุมวิทช่วงปลายๆ ซอยยังมีอะไรซ่อนอยู่เยอะเลย

คิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา ต้นไม้ที่อยู่ตามท้องถนน

เฮ้อออออ….55555 ถอนหายใจยาวๆ ก็นั่นแหละ! เป็นสิ่งที่ลำบากใจและพูดยากในส่วนเรื่องมุมมองของรูปภาพมันก็ไม่เป็นระเบียบ เพราะเราชอบความเป็นระเบียบ คือพอถ่ายภาพสถาปัตย์แล้วยิ่งถ่ายงานโมเดิร์นก็ต้องจัดระเบียบพวกเส้นตรงให้มันตรง เรามักจะรำคาญสิ่งที่มารบกวนเกะกะทั้งสายไฟ เสาไฟฟ้า และป้ายโฆษณา อย่างตอนเราไปถ่ายตามธนาคารต่างๆ แล้วมักจะมีป้ายบังฟาซาดที่มันสวยงามทั้งที่ฟาซาดเดิมเค้าตั้งใจออกแบบ แต่ด้วยยุคสมัยที่การประชาสัมพันธ์ต่างๆ ต้องเอาป้ายไวนิลไปติดให้ใหญ่ๆ เห็นได้ชัด บางแห่งต้องเฝ้ารอตรงนี้อยู่นานเลยโชคดีที่เขาเปลี่ยนป้ายพอดีจึงได้เห็นหน้าตาตึกที่แท้จริงอะไรแบบนี้ แต่ถ้าไม่คิดอะไรมากก็คิดซะว่า “มันเป็นเสนห์ของบ้านเรานะ”

| อะไรคือความรู้สึกที่แฝงอยู่ในงานสถาปัตยกรรม

เราชอบรูปทรงที่มันดูหนักแน่น ซึ่งความย้อนแย้งคือบางทีเราคิดว่าคอนกรีตเป็นวัสดุที่มันมีน้ำหนักลักษณะเหมือนก้อนหิน แต่ช่างกลับสร้างค่าความรู้สึกให้มันดูเบาบาง เช่น ทำแผ่นคอนกรีตที่มันบางเหมือนกระดาษผับไป ผับมา เราว่ามันคือความย้อนแย้งอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งชอบความเป็นพื้นผิวคอนกรีตที่มันหยาบๆ จนอยากเอาหน้าไปถูเลย555555

| ช่างภาพสถาปัตย์ที่ชื่นชอบ

อย่างต่างประเทศจริงๆ ไม่ค่อยรู้จักใครมากจะรู้จักก็แค่ “Iwan Baan” ซึ่งเขาก็เป็นช่างภาพที่ถ่ายงานให้สถาปนิกดังๆ เยอะอย่าง zaha hadid แล้วก็อีกหลายๆ คนเลย ซึ่งเราก็รู้มาว่าเขาไม่ได้เรียนสถาปัตย์มาโดยตรงเหมือนศึกษาเรียนรู้ด้วยด้วยตัวเอง

ส่วนช่างภาพไทยจริงๆ ชอบพี่สมคิดคือไอดอลเลย ซึ่งความประทับแรกที่ทำให้เราสนใจถ่ายรูปสถาปัตย์อย่างจริงจังมันเริ่มจากตอนนั้นพอดีที่คณะมีเชิญพี่สมคิดมาพูดแกก็เปิดผลงานให้ดูแล้วก็เปิดเพลงคลอไปด้วยรู้สึกว่าเรื่องราวในภาพมันสื่อให้เรารับรู้ได้ แม้จะเป็นภาพสถาปัตย์ที่ดูแข็งๆ แห้งๆ ไม่เหมือนพวกภาพไลฟ์สไตล์ต่างๆ แต่พี่สมคิดทำให้มันมีอารมณ์ความรู้สึกได้

แล้วแกก็สอนให้เห็นถึงความตั้งใจ ความเพียร ความอดทนในการเป็นช่างภาพ ซึ่งในการถ่ายภาพสถาปัตย์มันทำให้เราต้องรอเวลาที่เหมาะสม คือเวลาไปถ่ายงานสถาปัตย์เนี่ยเราไม่สามารถไปจัดแสงจัดอะไรมันได้เลยเราต้องรอเวลาอย่างเดียว ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการถ่ายภาพ และเป็นแรงบันดาลใจมาจนถึงทุกวันนี้

| ตึกอนุรักษ์ที่เคยไปถ่ายในต่างประเทศเขาให้ความสำคัญอย่างไรบ้าง

อย่างที่เพิ่งไปมาที่อังกฤษเขามีการแบ่งเกรดเป็น เขต 1 เขต 2 อย่างในเขต 1 จะเป็นอาคารที่แตะต้องไม่ได้เลยต้องอนุรักษ์ไว้มีกฏเข้มงวดมากคือห้ามแตะต้องเลยเพราะทุกอย่างมันมีค่า

ส่วนในเขต 2 ก็จะลดลำดับลงมาหน่อย สามารถเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้แต่ต้องทำเรื่องขออนุญาติก่อนเท่านั้น ซึ่งการออกแบบอาคารสำคัญๆ ในประเทศจะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลไว้เกือบทั้งหมดพวกแบบแปลน ดรออิ้งอะไรพวกนี้ ซึ่งมันง่ายต่อการรีโนเวท หรือซ่อมแซมในภายหลังอย่างน้อยถ้าเรามีแบบอะไรต่างๆ เก็บไว้มันจะง่ายต่อคนอื่นๆ และคนรุ่นหลังด้วย แต่ของไทยมันยังไม่มีระบบอะไรเหล่านี้

ในมุมมองแบบสถาปนิกมีอะไรอยากเปลี่ยนแปลง หรือทำให้มันดีขึ้นบ้างไหมสำหรับประเทศไทย

ก็คงจะเป็นเรื่องป้ายเรื่องความเป็นระเบียบนี่แหละ555555 แล้วก็เรื่องการพัฒนาของวงการสถาปัตย์ เราอยากให้หันมามองตึกโมเดิร์นบ้าง เพราะว่ามันก็เป็นช่วงรอยต่อที่สำคัญของประวัติศาสตร์สถาปัตย์เหมือนกัน ถึงแม้ว่ามันจะไม่เก่ามากซะทีเดียวเหมือนพวกวัด วัง แต่มันก็เป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์

“อยากให้ก่อนจะไปทุบไปทำลายมันหมดให้ลองมองมันอย่างมีคุณค่าก่อนว่าจะเลือกเก็บไว้ หรือทำลายมันไป”

มีหลายอันเหมือนกันที่รู้สึกเสียดายอย่างสถานทูตออสเตรเลีย โรงพยาบาลบางรักตรงแถวๆ ตึกหุ่นยนต์ แล้วก็ตึกโชคชัยสุขุมวิท 26 อันนั้นความจริงไม่ได้สวยมากแต่ความสำคัญมันคือ ตึก “Curtain Wall” เป็นตึกกระจกสูงยุคแรกของเมืองไทยแต่ก็ถูกทุบไปแล้ว อีกที่หนึ่งคือธนาคารกรุงศรีฯ แถวเพลินจิตก็ถูกทุบทิ้งไปแล้วเสียดายมากตรงสยามพารากอนที่เดิมเมื่อก่อนก็เป็น “โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล” คือเสียดายมากแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ บางทีก่อนทุบเนี่ยถ้าเรามีโอกาสเก็บข้อมูลไว้บ้างมันก็จะมีอะไรหลงเหลือให้เด็กรุ่นหลังมาศึกษาก็คงจะดี

| ประทับใจอะไรบ้างในโมซัมบิก

เราประทับใจเรื่องคน เพราะก่อนไปเราไม่รู้ว่าคนจะเป็นแบบไหน อย่างแอฟริกาก็เพิ่งไปครั้งแรกก็คิดว่าจะดิบเถื่อน หรือเจอพวกชนเผ่าต่างๆ งี้แต่พอไปจริงๆ แล้วแบบคนเขาน่ารักมากยิ้มแย้ม ซึ่งความเป็นแอฟริกาเขาจะโดดเด่นเรื่องสันสดใสจะมีลูกเล่นแอบแฝงอยู่ในการออกแบบด้วยทรงโมเดิร์นจริงๆ แล้วมันจะเรียบๆ ดูแข็งๆ เป็นเส้นตรงซะส่วนใหญ่ แต่เขาก็มักจะเอาศิลปะท้องถิ่น เช่น รูปปั้นต่างๆ กระเบื้องโมเสค มันดูสะดุดตามาก เราว่าเป็นเสน่ห์ของแอฟริกาเลย

ที่สังเกตได้อีกอย่างหนึ่งคือ พวกอาคารโมเดิร์นซึ่งโมซัมบิกมันอยู่ในช่วงกำลังจะเติบโตจะเหมือนไทยเมื่อ 50 – 60 ปีที่แล้ว คือมันก็เลยมีอาคารเก่าๆ อยู่ ซึ่งเพราะเขายังไม่ได้มีกำลังทางเศรษฐกิจที่จะเอามาพัฒนาได้เหมือนไทย เพราะฉะนั้นในความคิดเราถ้าเขาให้ความสนใจ และยังอนุรักษ์ไว้มันก็จะกลายเป็นเสน่ห์ของบ้านเมืองเขาเช่นกัน

| โปรเจคในอนาคตที่อยากทำ

จริงๆ อยากสานต่อเพจ photo momo ให้เป็นนิทรรศการ หรือหนังสือ ซึ่งเดี๋ยวปลายปีนี้มันจะมีโครงการของมหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่นจะมาสัมนาเรื่องอาคารสมัยใหม่ อาคารโมเดิร์น ซึ่งเขาเป็นเป็นเครือข่ายที่จะเวียนจัดไปในหลายๆ ประเทศ ซึ่งครั้งนี้มาจัดที่ประเทศไทยแล้วพอดีเราทำ photo momo เอาไว้มันก็จะมาซัพพอร์ตตรงนี้ได้ ซึ่งพอมีหลายๆ ชาติเข้ามาเขาก็จะได้เห็นตึกโมเดิร์นในบ้านเรามากขึ้น

“เบียร์ – วีระพล สิงห์น้อย” 

นิทรรศการภาพถ่ายสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในประเทศโมซัมบิก The Cement City : Moçambique Modern
จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โถงชั้น L ตั้งวันที่ 17-29 กรกฎาคม 2561

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.