หลายคนคงเห็นซีรีย์ภาพจำลองผลงานชิ้นเอกของศิลปินชื่อดังเกือบทั่วทุกมุมโลก ที่ ‘José Manuel Ballester’ ศิลปินชาวสเปนนำคนในภาพออก แล้วปล่อยเหลือแต่องค์ประกอบอื่นๆ เพื่อล้อไปกับสถานการณ์ COVID-19 ที่ผู้คนทั่วโลกต้องห่างกันสักพัก จนมีคนตีความไปว่า นี่อาจจะเป็นงานศิลปะที่เกิดขึ้นในยุค COVID-19 ระบาดก็เป็นได้
.
คอลัมน์ UrbanTales จึงพามาย้อนเรื่องราวของ 7 ภาพ จาก 7 ศิลปินชื่อก้องโลก ว่าถูกวาดขึ้นเมื่อไหร่ เป็นฝีมือของใคร และแต่ละภาพมีเมสเสจอะไรที่ซ่อนอยู่
| The Birth of Venus – Sandro Botticelli
เหลือเพียงเปลือกหอย และทะเลที่กว้างขวาง
ดูรูปจริงได้ที่ : https://artsandculture.google.com/story/mwXhfHJMDsJseg
.
เดิมทีนี้คือภาพกำเนิดเทพีวีนัสที่อยู่บนเปลือกหอยขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นศิลปะชิ้นเอกฝีมือของ ‘ซานโดน บอตดิเซลลี’ (Sandro Botticelli) วาดขึ้นในปี ค.ศ. 1485 โดยผลงานชิ้นนี้รวมเอาความประณีตและความอ่อนหวานไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ซึ่งตามตำนานเล่าขานกันมาว่า เทพีวีนัสผุดขึ้นมาจากฟองน้ำในท้องทะเลที่แสนกว้างขวาง จากนั้นก็ถูกคลื่นลูกยักษ์พาซัดเข้ามาที่เกาะไซปรัส ดินแดนแถบนั้นจึงกลายเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับเธอไปแล้ว
.
แต่เมื่อไร้ซึ่งผู้คน แม้แต่เทพวีนัสและทวยเทพรอบข้างทั้งหลายก็ไม่เว้น ทำให้เรามองเห็นท้องทะเลชัดเจนยิ่งขึ้น น้ำทะเลสีครามที่อยู่คู่กับเปลือกหอยสีขาวนวลโดนโอบล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ภาพธรรมชาติที่ไม่มีอะไรมาบดบังแถมชวนมอง นานๆ ทีจะได้เห็นสักครั้ง ซึ่งไม่แตกต่างกับสถานที่ท่องเที่ยวในไทยตอนนี้ที่คงจะเงียบเหงาไม่ใช่น้อย แต่อีกมุมหนึ่ง นี่คือช่วงเวลาที่ธรรมชาติได้ฟื้นฟูตัวเองอีกครั้งหลังจากบอบช้ำมานานพอสมควร
| The Last Supper – Leonardo da Vinci
อาหารมื้อสุดท้าย (ที่ไม่มีคนกิน)
ดูรูปจริงได้ที่ : https://bit.ly/2QYHfOQ
.
The Last Supper ภาพวาดในปี ค.ศ. 1946 ผลงานชิ้นเอกของ ‘ลีโอนาร์โด ดา วินชี’ (Leonardo da Vinci ) ศินปินที่โด่งดังและโดดเด่นในช่วงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการตอนสูง โดยดา วินชีวาดตามเรื่องราวในพระคัมภีร์ใบเบิ้ล ถ่ายทอดออกมาเป็นเหตุการณ์อาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยชูกับเหล่าสาวกในห้องชั้นบน ก่อนจะถูกจับไปตรึงกางเขนในที่สุด
.
แต่เมื่อไม่มีพระเยซูและเหล่าสาวกอยู่ในภาพ ก็เหลือเพียงร่องรอยของอาหารที่ถูกทิ้งไว้บนโต๊ะอย่างล้นหลาม เราเห็นองค์ประกอบในห้องมากขึ้น เห็นวิวด้านนอกที่เป็นตัวแทนบ่งบอกถึงความศักดิ์สิทธิ์ อีกนัยหนึ่งก็เปรียบได้กับร้านอาหารหลายร้านในกรุงเทพฯ และตามประเทศต่างๆ ที่ต้องหยุดเส้นทางอาชีพนี้ หรือขอส่งอาหารแบบเดลิเวอรีแทน
| Nighthawks – Edward Hopper
บาร์ที่ไร้ความสนุก
ดูรูปจริงได้ที่ : https://artsandculture.google.com/story/10-things-you-may-not-know-about-edward-hopper/SAKSr_TwNo1tLQ
.
‘เอ็ดวาร์ด ฮ็อปเปอร์’ (Edward Hopper) คือศิลปินซึ่งโด่งดังในอเมริกาช่วงค.ศ. 1882 – 1967 เขาถ่ายทอดภาพ Nighthawks เป็นบาร์แห่งหนึ่งตรงมุมถนน มีแสงไฟนีออนส่องกระทบ ภายในร้านมีลูกค้าชายและหญิงรวม 3 คนที่แต่งตัวหล่อสวยมานั่งนิ่งๆ พร้อมพนักงานในชุดขาวที่ตั้งหน้าตั้งตาทำงานโดยไม่คุยกับใคร จนภาพดูเหงาชอบกล นับเป็นเอกลักษณ์ของฮ็อปเปอร์ ที่มักใช้เส้น แสง เงา ถ่ายทอดออกมาให้หลายคนรู้สึกถึงความโดดเดี่ยว เหงา แตกต่าง แปลกแยก แม้อยู่ท่ามกลางผู้คนมากมายและตึกสูงใหญ่
.
ภาพเดิมว่าเหงาแล้ว ภาพที่ José Manuel Ballester จำลองขึ้นใหม่กลับเหงากว่า เมื่อบาร์ไม่มีคน ไร้การเคลื่อนไหวยิ่งแสนเฉา คงไม่ต่างกับคาเฟ่ หรือบาร์ที่ต้องหยุดชั่วคราวในช่วงนี้ ร้านเลยดูเหงาขึ้นมาทันตาเลยทีเดียว
| Las Meninas – Diego Velázquez
มนต์เสน่ห์แห่งปริศนา
ดูรูปจริงได้ที่ : https://bit.ly/3bEhvz1
.
‘ดิเอโก เบลัซเกซ’ (Diego Velázquez) ภาพวาดในปี ค.ศ. 1668 คือเจ้าของภาพเขียนชิ้นนี้ที่กลายเป็นผลงานชิ้นเอกชวนให้คนเสพศิลปะนั้นสงสัย จนถูกยกให้เป็นมนต์เสน่ห์แห่งปริศนา หรือปรัชญาแห่งศิลปะไปแล้ว โดยรูปเดิมจะมีเจ้าหญิงยืนอยู่ระหว่างสาวใช้สองคน คนหนึ่งกำลังใช้เท้าปลุกสุนัข โดยมีข้าราชบริพารชายหญิงยืนซุบซิบคุยกันอยู่ข้างหลัง พอมองไปข้างหลังขวามือมีชายหนึ่งคนยืนอยู่ที่ประตูซึ่งถูกเปิดให้แสงสว่างเข้ามา เพื่อให้มองเห็นภาพสะท้อนของกษัตริย์และพระราชินีในกระจกใกล้กับประตูนั้น และด้านซ้ายมีภาพจิตกรกำลังวาดภาพอยู่ นั่นคือเบลัซเกซนั่นเอง
.
เสน่ห์ของภาพนี้ คือหากเรามองภาพ จะรู้สึกเหมือนว่าคนในภาพกำลังมองมาที่คนดูผลงานและภาพองค์กษัตริย์และพระราชินีก็ดันอยู่จุดเดียวกับคนชม เหมืนอว่าเบลัซเกซกำลังวาดภาพเจ้าหญิง แต่ขณะเดียวกันก็เหมือนกำลังวาดภาพกษัตริย์และพระราชินี พอนำคนในภาพออก กลายเป็นว่าสื่อถึงการที่คงต้องเว้นระยะห่างระหว่างกันในช่วงนี้ เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั่นเอง
| The Raft of the Medusa – Théodore Géricault
การอัปปางของเรือเมดูซา
ดูรูปจริงได้ที่ : https://bit.ly/39v4erk
.
ภาพนี้ถูกถ่ายทอดจากเรื่องจริงด้วยลายเส้นของ ‘ทีโอเดอร์ เกอริโก้’ (Théodore Géricault) ในปี ค.ศ. 1819 ศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้วาดความหายนะของทะเล ที่ถูกเรียกว่า “แพนรก” ซึ่งช่วงนั้นราชวงศ์ฝรั่งเศสต้องการงานศิลปะใหม่ๆ เพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศ จิตกรเลยแห่ไปวาดภาพกษัตริย์ นักบวช และแม่ทัพ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นประเทศมหาอำนาจ
.
แต่เกอริโก้ กลับวาดภาพเรือล่ม เพราะกัปตันเป็นคนยิ่งยโสไม่ฟังใคร ตัดสินใจเดินเรือโดยไม่รอเรือคุ้มภัย ทำให้เรือไปเกยหินอับปางในที่สุด ลูกเรือหลายคนจึงต่อสู้ชิงเรือชูชีพจนเกิดเป็นโศกอนาตกรรมอย่างดุเดือด เมื่อเอาผู้คนออก จนเหลือแต่ซากปรักหักพัง ทำให้นึกขึ้นได้ว่า ถ้าเรามีผู้นำดี ทุกอย่างก็จะดีตาม
| The Art of Painting- Johan Vermeer
วันที่แสนธรรมดาของเขาเอง
ดูรูปจริงได้ที่ : https://artsandculture.google.com/asset/the-art-of-painting-jan-vermeer/lAHeqBoLaePtEA
.
ภาพนี้เป็นผลงานของ ‘โยฮัน เฟอร์เมร์’ (Johan Vermeer) จิตรกรชาวดัตซ์ ที่มักชอบวาดภาพในชีวิตประจำวัน และนี่เป็นภาพที่ใหญ่ที่สุดและมีความซับซ้อนมากที่สุดตั้งแต่เขาวาดมา อีกทั้งใครต่อใครมักพูดว่าเป็นภาพเขียนที่ลวงตาเพราะคนดูแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่ามันเป็นภาพถ่ายหรือภาพวาดกันแน่
.
เมื่อภาพไร้คน…ทำให้เราเห็นภาพที่จิตกรคนหนึ่งวาดทิ้งไว้ ซึ่งคาดว่าเป็นตัวเฟอร์เมร์เอง กำลังวาดแบบที่ยืนอยู่ตรงหน้า ทำให้เราได้เห็นใบหน้าของแบบที่ถูกวาดชัดเจนยิ่งขึ้น ชวนให้อยากมองสิ่งของรอบห้อง เสมือนว่าหากเราหยุดทำสิ่งใดที่อยู่ตรงหน้า จะทำให้เห็นสิ่งรอบข้างมากขึ้น หากใครหยุดอยู่บ้านมีเวลาว่างช่วงนี้ ถือว่าเป็นเวลาที่นั่งทบทวนตัวเองได้เป็นอย่างดีเชียว
| The Third of May- Francisco Goya
รอยเลือดที่ไม่มีศพ
ดูรูปจริงได้ที่ : https://go.aws/2QZGG7i
.
ฝีมือปลายพู่กันของ ‘ฟรานซิสโก โกยา’ (Francisco Goya) ในปี ค.ศ. 1814 ศิลปินชาวสเปนแห่งยุคโรแมนติก ภาพใบหน้าประชาชนที่กำลังแตกตื่น หวาดหวั่นกับความตาย ท่ามกลางเหล่าทหารที่ตีหน้าซื่อปกปิดความชั่วร้าย ในสงครามครั้งที่กองทัพนโปเลียนบุกโจมตีสเปนระหว่างสงครามคาบสมุทร
.
รอยเลือดที่เห็นอยู่บนดินยังบ่งบอกถึงความโหดร้ายได้อย่างชัดเจน การสังหารหมู่อันน่าสยดสยอง โดยรวมภาพนี้สะท้อนให้เห็นถึงความชั่วร้ายซึ่งซ่อนอยู่ภายในจิตใจของมนุษย์ในสังคมด้วยกันเอง