เราเติบโตมาในระบบการศึกษาที่สอนเรื่องราวประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยอย่างไม่ค่อยเปิดเผยเต็มร้อยสักเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามก็มีเหตุการณ์สำคัญที่เราไม่อาจลืมเลือนได้อย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งปรากฏในหนังสือเรียนเพียงเหตุการณ์ละสองบรรทัด และอาจารย์ผู้สอนในชั้นเรียนประวัติศาสตร์เลือกที่จะข้ามการพูดถึงเรื่องราวที่เกิดในวันเหล่านั้นไป
เพื่อเข้าใจอดีต อันนำมาสู่ความเข้าใจในปัจจุบัน เราจึงเอาขั้นตอนทางประวัติศาสตร์ทั้ง 5 ขั้นตอนที่เคยเรียนในคาบวิชาประวัติศาสตร์ มาใช้สืบเสาะเรื่องราวจากหลักฐานชั้นต้น (Primary Sources) กับ ไพบูลย์ วงษ์เทศ นักคิด นักเขียน นักกวี เจ้าของผลงานวรรณอำ หรืองานเขียนเชิงเสียดสีสังคม ด้วยภาษาที่คมคายและขบขัน เช่น ผลงาน ‘ฉันจึงมาหาความหงอย’ ‘ล้อเลื่อนรางเหล็ก’ นอกจากนี้ เขายังมีอีกบทบาทอย่าง ‘อดีตนักหนังสือพิมพ์’ วัย 68 ปี ผู้สัมผัสกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์บ้านเมือง และสิทธิเสรีภาพของสื่อในยุค 6 ตุลาฯ ในฐานะนักหนังสือพิมพ์มาโดยตรง
ข้อที่ 1 กำหนดหัวเรื่องที่ต้องการศึกษา : ไพบูลย์ วงษ์เทศคือใคร
ซุ่มซ่าม งุ่มง่าม บุ่มบ่าม ห่ามห่าม คือ คำอธิบายตนเองบนเฟซบุ๊กของไพบูลย์ วงษ์เทศ
“ถ้าเป็นนักเขียนก็ปลายแถว ตัวเองจริงๆ แล้วก็เป็นคนที่ชอบสนุก ชอบอะไรที่ไม่หนักหนาเกินไป ไม่เครียด เบาๆ สบายๆ บทความนี่ก็ยังอ่านไม่หมดเลย หนังสือพิมพ์อ่านไม่ไหว เครียดก่อน (หัวเราะ)
“ถ้าเป็นนักหนังสือพิมพ์ก็เน้นด้านการเมือง (หัวเราะ) คือสมัยก่อนหนังสือพิมพ์มีอิทธิพลมาก คนยังไม่มีทางที่จะได้รับรู้ข่าวสารนอกจากหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์จึงมีบทบาทสูง เพราะถ้าหากว่าเป็นข่าวคราวบนหน้าหนังสือพิมพ์ก็จะได้รับความสนใจ ซึ่งต่างจากทุกวันนี้ คนก็อ่านอยู่ แต่อ่านน้อยกว่าเก่าเยอะ เพราะว่ามีสมาร์ตโฟน มีช่องทางที่จะรับรู้ได้หลายอย่าง และเข้าถึงได้ง่ายกว่า”
“ฉันเมา ฉันหง่าว ฉันอึ้ง
วรรณอำส่วนหนึ่งในหนังสือ ‘ฉันจึงมาหาความหงอย’ ที่คุณไพบูลย์ได้อำเป็น วิทยากร กุนเชียง
ฉันจึง มาหา ความหงอย
ฉันหวัง จะดึง ให้หมดปอย
สุดท้าย ดึงได้น้อย แค่กระจุกเดียว”
ทำไมงานเขียนงานกวีส่วนใหญ่ถึงเป็นเป็นแนวเสียดสีสังคมครับ?
“อ่อ…ผมชอบ (หัวเราะ) อยู่ที่ใจเรา เราชอบยังไงเราก็แสดงออกอย่างนั้น แล้วผมเขียนเชิงเหน็บแนมมาตั้งแต่สมัยผมอายุ 22 – 23 ซึ่งตอนอายุ 23 ผมเป็นหัวหน้าข่าวที่ประชาชาติก็ทำหน้าที่ร่วมกับบรรณาธิการบริหาร คือคุณพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ผมดูแลในกองบรรณาธิการตั้งแต่อายุยังน้อย รับผิดชอบเยอะ พร้อมกับเขียนคอลัมน์นอกประเด็นไปด้วย ซึ่งเป็นการเสียดสีนักการเมือง ขำขันอะไรต่ออะไร แล้วช่วงนั้นมีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 2516 บรรณาธิการก็มอบหมายให้ผมแล้วก็เกาะติดดูแลสายงานข่าว เกี่ยวกับเยาวชนนิสิตนักศึกษา
“ส่วนกลอนก็จะมีความหลากหลาย ทั้งเล่าถึงปฏิวัติเรื่องรัฐประหาร สมัยโน้นเป็น Flash Mob ต่อต้านมากเลย การเขียนในยุคนั้นจึงเป็นการแสดงออกของคนหนุ่มคนสาวในสมัยนั้นนะที่ไม่พอใจต่อเผด็จการ และการแก้ไขปัญหาประเทศชาติเผด็จการที่มันไปไม่ได้”
ข้อที่ 2 การรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง : วงการหนังสือพิมพ์ไทยช่วง 2516 – 2517
แหล่งข่าวในยุคนั้นมาจากไหนครับ?
“ทุกวันนี้ผมไม่รู้นะเขาทำข่าวกันยังไง แต่คงจะง่ายกว่าสมัยก่อนที่นักข่าวต้องออกแต่เช้าไปตามแหล่งข่าว ไปตามหน้ากระทรวง คือจะแบ่งสายงานกันไป สายเศรษฐกิจ สายการเมือง สายทหาร หรืออย่างกระทรวงเกษตรฯ คมนาคม และอุตสาหกรรม สมัยก่อนอยู่ละแวกเดียวกันแถวถนนราชดำเนินนอก เขาก็จะดูแลข่าวทางด้านส่วนนี้ แล้วคอยป้อนส่งให้สำนักพิมพ์ ให้โรงพิมพ์กับ บก. ที่อยู่ข้างใน แหล่งข่าวก็คือข้าราชการคนที่อยู่ในนั้นแหละ บางคนเขาก็เก่ง เขาก็ได้ข่าวดีๆ มา ข่าวที่ไม่มีใครรู้”
สมัยก่อนคนเชื่อถือหนังสือพิมพ์มาก หนังสือพิมพ์เป็นฐานะสำคัญของสังคมเลย
ยุค 16 – 17 มีข่าวอะไรเข้มข้นบ้างครับ?
“แน่นอนว่าการเมือง ด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่ปิดกั้น ไม่เปิดให้คนแสดงความคิดเห็น แล้วก็ร่างรัฐธรรมนูญไม่เสร็จสักที และประชาชนรู้หมดว่ารัฐบาลมันแย่ ความยากจนมันเยอะ มีการโกงกักตุนข้าวสาร พ่อค้าร่วมมือกับข้าราชการ ประชาชนไม่มีข้าวประทังชีวิต ซึ่งรัฐบาลช่วยได้แค่ขายข้าวแกงจานละบาทที่ท้องสนามหลวง ดังนั้นนักการเมืองเขาเลยเคลื่อนไหวด้วยการประท้วงกัน 3 คน มีคุณอุทัย พิมพ์ใจชน คุณบุญเกิด หิรัญคำ แล้วคุณอนันต์ ภักดิ์ประไพ และจอมพลถนอมเขาก็จับขังคุก ข้อหาเป็นกบฏในราชอาณาจักร
“เมื่อเข้า 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มีผู้นำนักศึกษาอย่าง คุณธีรยุทธ บุญมี ที่ตอนนี้เป็นนักเคลื่อนไหว และเป็นอดีตเลขาธิการ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย คุณวิสา คัญทัพ ที่ตอนนั้นต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพจนถูกลบชื่อออกจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และ คุณพีรพล ตริยะเกษม ที่ตอนนั้นเป็นนายกองค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ และตอนนี้เขาเป็นประธานมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา ทั้งสามท่านต่างมีบทบาทในเหตุการณ์ 14 ตุลา ผมเป็นนักข่าว ก็รู้จักมักคุ้นกับพวกเขา และสนใจสดับรับฟังเรื่องราวอยู่เสมอ”
ในยุคนั้นสื่อถูกปิดกั้นบ้างไหมครับ?
“จะเหลือเหรอ เขามีการตรวจสอบ มีกองเซนเซอร์ หนังสือพิมพ์นี่นะไม่ได้อ่านข่าวเพียวๆ หรอก เป็นข่าวที่ถูกตรวจสอบแล้วจากกองบังคับการตำรวจสันติบาล ซึ่งเขามีหน่วยงานหนึ่งเรียกว่า เอกสารและสิ่งพิมพ์ ถ้าหากว่าลงอะไรไปเกี่ยวกับรัฐบาล เขาก็จะเรียกไป ขอแสดงความนับถือ (หัวเราะ) เรียกไปพบ แล้วก็ตักเตือน คือสมัยก่อนถูกปิดกั้นมาก ทุกวันนี้ก็ยังไม่เปิดร้อยเปอร์เซ็นต์นะ”
กลุ่มปฏิวัติแมลงวันรัฐประหารหนังสือพิมพ์
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หนังสือพิมพ์ที่เคยถูกจำกัดจำนวนกลับสามารถออกได้โดยเสรี…ผู้ที่เรียกตัวเองว่า “นักหนังสือพิมพ์” ก็มีมากขึ้นจนไม่รู้ว่าใครเป็นใครคุณภาพของเนื้อหางานเขียนตลอดจนความรับผิดชอบอื่นๆ ถูกโจมตีจากผู้คนมากขึ้นและแทบกล่าวได้ว่าเป็นยุคที่เกียรติภูมิหนังสือพิมพ์ตกต่ำและได้รับการดูแคลนจากประชาชนมากที่สุด
อ้างถึง สุมิตร เหมสถล. (2548). ปฏิวัติแมลงวัน Press Revolution For New Generations. หน้า 198
“ตอนนั้นมีการให้เงินซองขาวกันอย่างแพร่ระบาด ซองขาว หมายถึงว่า เขาเรียกไปแถลงข่าว แล้วก็แอบหยิบเงินใส่ซองให้นักข่าว นักข่าวบางคนหลงไปในอามิส (วัตถุล่อใจ) เผลอรับไปก็เป็นบุญคุณกัน ข่าวก็เป็นการนำเสนอข่าวที่ไม่เพียว ไม่ถูกต้อง พวกเราก็แอนตี้ต่อต้าน ต่อต้านทั้งนักข่าวซองขาว และต่อต้านผู้ที่ให้เงินด้วย
“ผมยังหนุ่มอยู่ พวกนักหนังสือพิมพ์หนุ่มสาว ที่เข้าทำงานใหม่ๆ อายุยังน้อยอยู่ ก็เห็นว่าผู้ใหญ่ทำอะไรไม่ค่อยถูก เลยตั้งกลุ่มกันขึ้นมา ชื่อ ‘ปฏิวัติแมลงวัน’ ทำรัฐประหารหนังสือพิมพ์ เพื่อพิมพ์หนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งก็เลยเป็นที่ฮือฮาในหมู่หนังสือพิมพ์ด้วย”
เราได้ไปสืบค้นเพิ่มเติมพบว่า หนังสือ ปฏิวัติแมลงวัน : รัฐประหารหนังสือพิมพ์ ปฏิกิริยาท้าทายวงการหนังสือพิมพ์เมืองไทย เขียนโดยนักหนังสือพิมพ์คนหนุ่มสาว ได้แก่ สุจิตติ์ วงษ์เทศ, ไชยวัฒน์ ยนเปี่ยม, สุทธิชัย หยุ่น, อนันต์ สายศิริวิทย์, โยธิน เพชรล่อเหลียน, สุมิตร เหมสถล, ธนิต ธรรมสุคติ, จุฬา แก้วมงคล, พงศักดิ์ พยัฆวิเชียร, วีระ มุสิกพงศ์, อุดร ทองน้อย, ศิราพร ภูพงศ์ไพบูลย์, วีระศักดิ์ สาเลยยกานนท์, ขรรค์ชัย บุญปาน, วิชัย หมีขยัน และแน่นอนว่า คุณไพบูลย์ วงษ์เทศคือหนึ่งในนั้น
หนังสือเล่มนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปิดโปงแนวทางและการกระทำที่ไม่เหมาะสมในวงการนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียกร้องเพื่อสังคายนาหรือปฏิวัติวงการหนังสือพิมพ์ โดยได้มีการนำไปวางขายในงานเลี้ยงสังสรรค์ วันนักข่าว ณ สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ถนนราชดำเนินกลาง เมื่อเย็นวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2517
“ก็อย่างที่ว่า มันมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองช่วง พ.ศ. 2516 เหตุการณ์คุกรุ่นมาก่อน มีตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2514 – 2515 ที่สังคมเริ่มไหวตัว เริ่มเคลื่อนตัว ซึ่งสิ่งที่เราต่อสู้ ก็ต่อสู้เกี่ยวกับความใสสะอาดของวงการหนังสือพิมพ์ ต่อสู้เพื่อให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ ให้สามทรราชลาออกสักที ต้องเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ซึ่งตอนหลังแนวร่วมก็เยอะ คือคนที่เกลียดรัฐบาลทั้งนั้น เพราะมีแต่ด้านลบโดยส่วนใหญ่ ข้าวหากินไม่ได้นะสมัยก่อนมันแพง มีการกักตุนอีก หลังจากนั้นก็ขยับตัวกันเยอะ ภายหลังมีการรวมตัวกันเป็นสภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และอีกหลายองค์กรตามมา”
ซึ่งหากจะกล่าวได้ว่านอกจากหนังสือพิมพ์ คือสิ่งพิมพ์ที่นำเสนอเผยแพร่ข่าวสารบ้านเมือง ความสำคัญของหนังสือพิมพ์ยังนับได้ว่าเป็นหลักฐานจารึกทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ ที่สามารถบอกเล่าวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เหตุการณ์บ้านเมือง ความสนใจของผู้คนในยุคนั้น แม้กระนั้นเองหนังสือพิมพ์ในสังคมไทยบางฉบับยังเคยทำหน้าที่เป็นผู้ชักนำ และสร้างความเข้าใจให้กับผู้คนในสังคมไทยได้เกิดความเข้าใจไปได้อย่างผิดเพี้ยน อย่างกรณีการนองเลือด 6 ตุลาคม 2519
6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เพราะถูกสั่งปิดจึงลี้ภัย
สมัยก่อนมีประกาศคณะปฏิรูปฉบับที่ 42 (ปร.42) คือมีการควบคุมสื่อแบบมัดมือชก ที่ควบคุมการวิจารณ์เรื่องต่างๆ เกี่ยวกับรัฐบาล
“เหตุการณ์ทางการเมือง 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ทหารตำรวจได้ฆ่ากลุ่มนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ แล้วมันสวิงกลับเป็นรัฐบาลขวาจัด ตอนนั้น ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วน สมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นผู้ทำการสั่งปิดหนังสือพิมพ์ทั้งหมด 13 ฉบับ ปิดตายไม่ให้ออกเลย ที่เขาไม่ให้ออกหนังสือพิมพ์เพราะว่าเป็นภัยต่อรัฐบาล พูดง่ายๆ รัฐบาลใจแคบ มันจะไม่มีหนังสือพิมพ์ได้อย่างไร ในเมื่อประเทศและสังคมยังเดินหน้าอยู่ ไปหยุดเขาเฉยๆ ไม่ให้ออกเลย แล้วหนึ่งในนั้นคือสำนักพิมพ์ประชาชาติที่ผมย้ายมาทำตำแหน่งหัวหน้าข่าวอยู่ ซึ่งพอปิด 13 ฉบับก็ไม่มีงานทำกัน”
ในยุคของรัฐบาลของธานินทร์ กรัยวิเชียร เรียกได้ว่าเป็นยุคมืดของวงการสื่อสารมวลชน เพราะมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น มีการควบคุมเสรีภาพสื่อมวลชน และสั่งปิดหนังสือพิมพ์ โดยอาศัยอำนาจคำสั่งปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 (ปร.42) ซึ่งในระยะเวลา 1 ปี มีคำสั่งปิดหนังสือพิมพ์ถึง 22 ครั้ง ยังไม่รวมการใช้อำนาจจัดการประชาชนด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ ทำให้มีประชาชนส่วนหนึ่งต้องหลบหนีไปป่าเป็นจำนวนมาก
ข้อที่ 3 การประเมินคุณค่าของหลักฐานที่ได้มา : ขอลี้ภัยด้วยเหตุผลที่ว่า…
“เพราะหนังสือพิมพ์ถูกปิด ก็ไม่รู้จะทำอะไรในประเทศ เลยเดินทางไปหลายประเทศ แต่ที่สุดท้ายตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่สวีเดน แล้วตำรวจสวีเดนก็ต้องมาสอบสวนเรา ต้องไปให้ปากคำ เขาจะถามเป็นข้อๆ ตำรวจเขาถามสุภาพมากกว่าเรียนอะไรมา จบอะไรมา พื้นเพเป็นคนที่ไหน เป็นคนกรุงเทพฯ หรือเปล่า แล้วทำงานที่หนังสือพิมพ์ทำกี่ปี สำนักพิมพ์ชื่ออะไร ทำไมหนังสือพิมพ์นี้ถึงถูกปิด เดินทางมาที่นี่มีจุดประสงค์อะไร ถ้ามีเหตุผลที่เหมาะสมและน้ำหนักเพียงพอก็ได้ลี้ภัย”
สมัยก่อนเขาขอลี้ภัยไม่จำเป็นต้องมีคดีใช่ไหมครับ?
“ไม่ใช่อย่างนั้น ที่ผมไปเป็นอีกกรณีหนึ่ง มันคือการลี้ภัยที่คนในชาตินั้นประสบปัญหาอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถอยู่ประเทศตัวเองได้ ไม่ใช่อยู่แล้วไม่มีกินนะ แต่ปัญหาคือปัญหาทางการเมืองด้วย คนไทยเราในยุคนั้นรู้จักสวีเดนน้อย ถ้าไปง่ายๆ คนก็ไปเยอะแล้ว สมัยนั้นก็ไม่เป็นที่รู้กันเท่าไหร่ ช่วงที่ผมอยู่น่าจะมีคนไทยไม่ถึงสามร้อยคน แต่เขาจะแต่งงานกับฝรั่งไปนะ ลี้ภัยคงจะมีประมาณสักสิบกว่าคน…มากกว่านั้นก็ไม่รู้”
วงการหนังสือพิมพ์ในสวีเดนในยุคนั้นเป็นอย่างไรบ้างครับ?
“ตอนแรกก็ยังไม่รู้จักเลย พอหลังจากที่เรียนภาษาไปแล้วก็ได้อ่าน หนังสือพิมพ์เขามีคุณภาพมาก ทุกวันนี้ก็คงจะเป็นแบบเมืองไทยนี่แหละ เขามีหนังสือพิมพ์บ่ายด้วย เช้ากับบ่าย ตอนบ่ายเป็นหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ (Tabloid) ข่าวชาวบ้าน ทำดี ทำสนุก ทำน่าอ่าน”
ทำไมอยู่ถึงสวีเดนได้นานถึง 8 ปี?
“ก็มันสบายอะ แล้วก็มีสิทธิเสรีภาพทุกอย่าง หลังจากที่เราได้รับอนุมัติให้อยู่ได้แล้ว ก็รัฐสวัสดิการที่เราอยากจะเรียนอะไรก็เรียนได้ ไม่เสียตังค์ แล้วก็ระหว่างที่เรายังไม่ได้รับใบอนุญาตการทำงาน (Work Permit) เขาก็จ่ายเงินให้เป็นรายสัปดาห์ แม้ไม่ได้ให้มาก แต่ก็พอใช้ ซึ่งเรามาจากประเทศด้อยพัฒนาเราก็ไม่ได้เห็นสิ่งแบบนี้ในบ้านเรานะ เราก็ถือว่าเรามีความสุข พอมีเงิน พอได้จิบน้ำเมาวันละกระป๋องสองกระป๋องนี่แหละ (หัวเราะเสียงดัง) มันก็มีความสุขดี แล้วพอเราได้รับใบอนุญาต ก็ทำงานได้ เรียนหนังสือได้ คือทุกอย่างเป็นสวัสดิการฟรีหมด ค่ารักษาพยาบาลเจ็บไข้ได้ป่วยไม่เสียตังค์ รายได้ก็เยอะ”
ข้อที่ 4 การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และจัดหมวดหมู่ข้อมูล
ถ้าทุกวันนี้ยังเขียนอยู่อยากหยิบยกประเด็นทางสังคมเรื่องไหนมาเล่าครับ?
“ในสังคมทุกวันนี้เหรอ (หัวเราะ) ไม่ค่อยอยากทำแล้ว เพราะทุกวันนี้มันไม่ค่อยมีข่าวเจาะ ไม่มีข่าวเอ็กซ์คลูซีฟ เท่าที่ผมสังเกตนะ มันเป็นข่าวกลางคืนนั่ง กลางวันนอน เช่น สี่ยอดกุมารจะออกจากพลังประชารัฐ หรือกัลยาจะต้องเปลี่ยนกระทรวง มันวนเวียนอยู่แค่ชื่อนักการเมือง ชื่อนักการเมืองนิดเดียวก็เอามาขึ้นหัวละ พาดหัวได้
“ซึ่งผมว่าสมัยก่อนมันทำไม่ได้ อย่างมีพาดหัวข่าวตัวเบ้อเร่อเลย ‘จี้เปลี่ยนกัลยา’ มันสำคัญยังไง ก็แค่เปลี่ยนรัฐมนตรีคนเดียวอะ กลับกันอะไรที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ชาวบ้านได้รับผลกระทบทำไมมันไม่ถึงสำคัญ เนี่ย ‘ดีเอสไอบุกค้นโรงงานกลางกรุงผสมพาราควอตตุ๋นชาวบ้าน’ อย่างนี้กลายเป็นข่าวธรรมดากรอบเล็กๆ ทั้งที่มีผลกระทบมากกว่า การมองข่าวมันต่างกัน”
ดังนั้นการให้ความสำคัญกับประเด็นของวงการข่าวเปลี่ยนไปไหมครับ?
การให้ความสำคัญของข่าวเปลี่ยนไป มันคล้ายๆ ว่าจุดศูนย์กลางของข่าวอยู่ที่แถวทำเนียบ และกระทรวง ทั้งที่ความจริงมันควรเป็นความสนใจของประชาชน
“จริงๆ แล้วความสนใจของประชาชนที่มันเป็นผลประโยชน์ของประชาชนจะต้องมาก่อนเสมอ นี่คือสิ่งที่สื่อมวลชนควรจะทำ แล้วต้องมีข่าวที่ลึก เจาะลึกให้มากกว่านั้นอีก เช่น กรณีตุ๋นยาพาราควอตนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นคนติดต่อพาราควอตใช้เงินเท่าไหร่ เดือดร้อนเท่าไหร่ อะไรอย่างนี้ไม่ค่อยมี มีน้อย ควรทำข่าวที่เจาะลึกมากกว่านี้ ทุกวันนี้เป็นข่าวราชการ ไม่มีอะไรหรอก”
ข้อที่ 5 การเรียบเรียงหรือการนำเสนอข้อมูล : เสรีภาพของสื่อ
เสรีภาพของสื่อ คือสิทธิในการนำเสนอข่าว สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ได้โดยไม่ถูกปิดกั้นไม่ถูกเซนเซอร์ และเสรีภาพนั้นต้องไม่ไปล่วงล้ำในสิทธิของผู้อื่น
ทุกวันนี้คิดว่า ‘สิทธิของสื่อ’ มีมากขึ้นหรือน้อยลงครับ?
“ไม่มากขึ้นหรอก แต่ก็ไม่น้อยลงนะ ก็ยังพอๆ กับยุคของผม แต่อาจจะมีมากกว่าตอนที่ผมทำงานอยู่ก็ได้ ตอนนี้ก็ยังว่ารัฐบาลได้ใช่ไหม มันก็ยังไม่ได้ปิดทีเดียวเนอะ แต่ตอนก่อนไม่ได้นะ แต่ก่อนนี่ต้องไปที่สันติบาลเลยแหละ”
สิ่งที่เราได้ตกตะกอนหลังจากการได้มีโอกาสพูดคุยถึงประวัติศาสตร์วงการหนังสือพิมพ์ไทย กับคุณไพบูลย์ วงษ์เทศ นอกจากเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เราคิดว่าต่อให้พยายามลบเลือนเท่าไหร่ ก็ไม่มีทางทำให้ความทรงจำของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เหล่านั้นเลือนรางไปได้
ทั้งยังแสดงให้เราเห็นถึงพลังการต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้องของคนรุ่นใหม่ในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ในอดีต ทำให้เกิดคำถามว่าแล้วในยุคปัจจุบันที่เราทุกคนในฐานะคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสื่อในฐานะผู้ส่งสาร และรับสาร ได้เพียงปลายนิ้วจิ้มบนหน้าจอสมาร์ตโฟน เราจะมีส่วนร่วม และสร้างสรรค์อนาคตให้สื่อไทยให้ไปในทิศทางแบบไหน? จึงเป็นเรื่องที่เราควรจะตั้งคำถามไว้ให้มากที่สุด เพราะสิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นพลวัตที่แท้จริงของกาลเวลา
ดังคาบวิชาประวัติศาสตร์ที่อาจารย์ต่างเคยสอนเราไว้ว่า “ประวัติศาสตร์นั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ที่มนุษย์สามารถนำมาเป็นบทเรียนให้แก่ปัจจุบัน” เพราะฉะนั้นการลบเลือนประวัติศาสตร์และไม่พูดถึงประวัติศาสตร์จึงเป็นการสร้างช่องว่างให้เรื่องราวกับประวัติศาสตร์นั้น ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นทำลายรากเหง้าความเป็นไทยของเราอย่างแท้จริงเสียก็เป็นได้