นี่คือเว็บไซต์รวบรวมการออกแบบฟอนต์ไทย โดย ‘บูม-พร้อมพรรณ ศุขสุเมฆ’ ที่อยากชวนทุกคนหยุดดูป้ายร้านค้า ตึก อาคารบ้านเรือนให้นานขึ้น พร้อมถ่ายภาพเก็บไว้ลงคลัง เพราะเมื่อผ่านไปแล้วเราอาจไม่มีโอกาสได้กลับมาเห็นป้ายเหล่านี้อีก
Thaipography Archive เป็นส่วนหนึ่งของ Thaipography Project ที่มาจากความตั้งใจออกแบบฟอนต์ตัวอักษรไทยแล้วนำมาดัดแปลงเป็นตัวอักษรแบบละติน หรือกลุ่มตัวอักษรภาษาอังกฤษที่ยังคงความเป็นไทยอยู่ ซึ่งเป็นกระบวนการออกแบบตัวอักษรแบบย้อนกลับ เพราะปกติการออกแบบฟอนต์ภาษาไทยที่ใช้กันทั่วไปนั้นจะออกแบบด้วยตัวละตินก่อนแล้วค่อยแปลงเป็นภาษาไทย
นับเป็น ‘การทดลอง’ เล็กๆ ของผู้มีความสนใจในตัวอักษรว่า หากเราสลับวิธีออกแบบแล้ว คนไทยจะดูออกไหมว่าฟอนต์นี้เริ่มต้นจากแบบอักษรไทย และชาวต่างชาติจะอ่านตัวอักษรละตินเหล่านี้ออกไหมหากสวมความเป็นไทยเข้าไป
ซึ่งก่อนจะนำมาสู่กระบวนการทดลองทั้งหมดก็ต้องมีคลังรูปแบบตัวอักษรไทยที่มากพอจะเห็นเอกลักษณ์และแนวทางได้ แพลตฟอร์มคลังป้ายตัวอักษรไทยจึงถือกำเนิดขึ้นมา
ด้วยเวลากว่า 6 ปีที่บูมสนใจในเรื่องตัวอักษรและลายเส้นของไทย เธอเริ่มจากการศึกษาข้อมูลที่รวบรวมตัวอักษรและการออกแบบของไทย จนปี 2022 บูมเจอหนังสือ ‘แกะรอยตัวพิมพ์ไทย’ ของ ‘ประชา สุวีรานนท์’ และได้รู้ว่าอาจารย์ใช้เวลาเป็น 10 ปีในการรวบรวมรูปแบบการออกแบบ และทำให้รู้ว่ามีคนสนใจเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ยังขาดแหล่งที่รวบรวมการออกแบบ ฟอนต์ และแบบตัวอักษรที่อาจสูญหายไว้
เธอจึงสร้าง Thaipography Archive ไว้เป็นพื้นที่แบ่งปันและเก็บรักษางานออกแบบดีๆ พร้อมชวนผู้ที่สนใจในภาพป้ายไทยอย่าง @thaiposign และ @thaipography_photo มาช่วยรวบรวมตัวอักษรและเรียนรู้ข้อมูลงานออกแบบเหล่านี้ให้ละเอียดขึ้น โดยคาดหวังให้แพลตฟอร์มนี้เป็นแหล่งความรู้สำหรับนักเรียน นักศึกษา หรือคนที่สนใจในอนาคตได้
บูมยังเล่าให้เราฟังอีกว่า เอกลักษณ์ของตัวอักษรไทยนั้นเด่นชัดในช่วงแอนะล็อกหรือช่วงที่ยังเขียนหนังสือลงกระดาษ วาดลวดลายลงแผ่นไม้กันอยู่ เพราะเราสามารถพบลายมือและลายเส้นแปลกๆ อย่าง น.หนู ที่วาดหางยาวจนชิดกับสระอี หรือตัวอักษรเชื่อมกับไม้โทยาวเป็นเส้นเดียว
และจากคลังข้อมูลก็พบว่าป้ายทั้งหลายมักมีความยึดโยงกับย่านและท้องถิ่น โดยอย่างทางเหนือกับอีสาน การออกแบบตัวอักษรจะได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมล้านนา-ล้านช้างจนกลายเป็นฟอนต์ที่สื่อถึงอัตลักษณ์เฉพาะตัว
หรือย่านการค้าขายของคนจีนในกรุงเทพฯ ก็จะมีหน้าตาฟอนต์ที่คล้ายคลึงกัน เช่นเดียวกับร้านเครื่องมือช่างที่จะมีแนวทางป้ายร้านของตนเอง แตกต่างจากร้านทองที่เน้นสีและตัวอักษรอันชูเอกลักษณ์
หากใครสนใจ ลองเข้าไปดูกันได้ที่ www.thaipography-archive.com และถ้าเจอป้ายเท่ๆ ควรค่าแก่การเก็บไว้ในคลังก็ติดแฮชแท็ก #thaipographyarchive กันได้เลย