ในภาพจำของใครหลายคน ‘ไปรษณีย์ไทย’ คือหน่วยงานที่ให้บริการด้านการขนส่งมาแล้วยาวนาน เราต่างผูกพันกับพี่ไปรษณีย์ที่มักขับรถมาจอดเทียบหน้าบ้านตอนมีพัสดุมาส่ง และคุ้นชินกับการก้าวเข้าอาคารสีแดง-ขาวของไปรษณีย์ไทยเมื่อต้องไปส่งของให้ใครสักคน
ในขวบปีที่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กำลังจะมีอายุครบรอบ 140 ปี ด้วยการแข่งขันในตลาดธุรกิจขนส่งที่ดุเดือดยิ่งขึ้น เราจึงได้เห็นไปรษณีย์ไทยปรับตัวอยู่หลายหน แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือความสัมพันธ์ระหว่างไปรษณีย์ไทยกับผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่แนบแน่นอยู่เสมอ
โดยเฉพาะเหล่าคนทำธุรกิจและวิสาหกิจในชุมชนที่ไม่เพียงแต่เป็นลูกค้าของไปรษณีย์ไทย แต่ไปรษณีย์ไทยยังทำให้ธุรกิจของพวกเขาแข็งแรงขึ้นด้วย หนึ่งในโครงการที่เห็นได้ชัดคือ “ไปรษณีย์เพิ่มสุข” ที่ทำกันมาตั้งแต่ปี 2559
สรุปให้ฟังสั้นๆ ในโครงการนี้ ไปรษณีย์ไทยทำหน้าที่เป็นผู้ผลักดันให้คนในชุมชนทั่วไทยที่มีภูมิปัญญาได้ผลิตสินค้าของตัวเองขึ้นมา ช่วยเหลือตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่ช่วยคิดชื่อ แพ็กเกจจิ้ง ขนส่ง โปรโมต ไปจนถึงขายผ่านทางช่องทางต่างๆ ของไปรษณีย์ไทยด้วย
ปลาส้มบ้านห้วยหมากหล่ำจากอุดรธานี ข้าวฮางทิพย์จากสกลนคร ไข่เค็ม อสม.จากสุราษฎร์ธานี และลำไยอบกึ่งแห้งจากลำพูน คือ 4 ธุรกิจที่ไปรษณีย์ไทยเลือกผลักดันในปีนี้ แต่หากนับรวมมาตั้งแต่ต้น ไปรษณีย์ไทยก็ได้ช่วยเหลือธุรกิจของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ มากกว่า 26 แห่ง และสร้างรายได้ให้พวกเขาได้เป็นหลักล้าน
ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เราชวน ‘ดร.วราภรณ์ ข้องเกี่ยวพันธุ์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานกลยุทธ์และการขับเคลื่อนองค์กร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มาถอดรหัสกันในบทสนทนานี้
โครงการ “ไปรษณีย์เพิ่มสุข” เกิดขึ้นได้ด้วยแนวคิดแบบไหน
แนวคิดของ “ไปรษณีย์เพิ่มสุข” มาจากนโยบาย CSR In Process ของไปรษณีย์ไทย ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่นโยบายครอบคลุมคือเรื่องความสัมพันธ์ของไปรษณีย์ไทยกับคนในชุมชน หลายคนอาจเห็นว่าพนักงานของเรามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมกับชุมชน เพราะฉะนั้นการทำ CSR ของเราจึงอยากเน้นเกี่ยวกับความเชื่อมโยงสัมพันธ์จากภายในสู่ภายนอก ทำให้ชุมชนมีโอกาสทางธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น
แนวคิดอีกอย่างคือความยั่งยืน เรามีนโยบายที่เรียกว่า ESG (Environment, Social, Governance) โครงการ “ไปรษณีย์เพิ่มสุข” จะเน้นที่ตัว S หรือเรื่องของชุมชน เราใช้ความเชี่ยวชาญในการขนส่งของเราไปช่วยพวกเขา มากกว่านั้นคือช่วยขายสินค้าให้คนในชุมชนทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งก็คือที่ทำการไปรษณีย์มากกว่า 1,201 แห่งทั่วประเทศ และเว็บไซต์ Thailandpostmart ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม E-Marketplace ที่เราเลือกสินค้าตัวท็อปจากทั่วประเทศมาขึ้นแพลตฟอร์ม
นอกจากนั้น โครงการ “ไปรษณีย์เพิ่มสุข” ยังมีการพัฒนาธุรกิจในชุมชนตั้งแต่จุดเริ่มต้น หากชุมชนขาดโอกาสด้านต่างๆ ทั้งโอกาสด้านการขายหรือการสร้างแบรนด์ เราก็ไปช่วยเขาได้ อีกทั้งเรายังช่วยบูรณาการเครือข่ายต่างๆ ทั้งเครือข่ายท้องถิ่นและส่วนกลางเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง เพราะตอนแรกที่เราไปพัฒนา ชุมชนบางแห่งอาจมีวิสาหกิจชุมชนอยู่แล้วแต่ยังไม่เข้มแข็งพอ บางแห่งอาจไม่เคยมีวิสาหกิจชุมชนเลย เราก็เข้าไปช่วยตั้งแต่จุดเริ่มต้น
หากให้สรุปหลักการว่าโครงการ “ไปรษณีย์เพิ่มสุข” ทำอะไร อาจสรุปได้เป็น 3 Up คือ Upskill, Upgrade และ Upscale ในส่วนของ Upskill คือการอัปความรู้และทักษะให้ชุมชน โดยได้เครือข่ายภาครัฐและส่วนกลาง เช่น มหาวิทยาลัย อบต. อบจ. มาช่วยสร้างความรู้และทักษะที่ทำให้เขาอยู่ได้ยั่งยืน ส่วน Upgrade คือการทำให้สินค้าของเขามีคุณภาพมากขึ้น เช่น ปลาส้มบ้านห้วยหมากหล่ำ เราก็ใช้สูตรของปลาส้มสมหวังซึ่งเป็นเครือข่ายของเราที่ประสบความสำเร็จไปสอนชาวบ้านบ้านห้วยหมากหล่ำ นอกจากนั้นคือการอัปเกรดคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ในลักษณะของการออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้ดูสวยงามทันสมัย จูงใจคนตั้งแต่การตั้งชื่อแบรนด์ รีแบรนด์ เช่น ปลาส้มบ้านห้วยหมากหล่ำ เราอาจเรียกว่าปลาส้มสุขหล่ำเพื่อให้จดจำง่าย
ส่วนการ Upscale คือการสร้างการรับรู้ให้แบรนด์ เราช่วยในเรื่องประชาสัมพันธ์ สื่อสารแบรนด์เพื่อสร้างการรับรู้ผ่านช่องทางของไปรษณีย์ทั้งออฟไลน์ นั่นคือ ที่ทำการไปรษณีย์ และช่องทางออนไลน์คือโซเชียลมีเดียของเรา แล้วเรายังช่วยสอนชุมชนให้เรียนรู้การใช้เครื่องมือทางการตลาดและประชาสัมพันธ์เองด้วย
ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการนี้คืออะไร
เราเน้นไปที่การวัดผลลัพธ์หรือผลประกอบการทางการเงิน เราจะดูว่าเมื่อเราเข้าไปช่วยบ่มเพาะและสร้างแบรนด์ ช่วยขน ช่วยขาย ช่วยหนุนเครือข่ายแล้ว เขาจะมีรายได้เพิ่มไหม และเราก็มีการตั้งเป้าหมายรายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วย
ในปี 2566 เป้าหมายคือ 3 ล้านบาท ตัวเลขนี้คือตัวเลขที่เราคิดว่าชุมชนที่เราได้มีการบ่มเพาะน่าจะทำได้ จากการมีรายได้เพียงหลักหมื่นหรือหลักพัน ซึ่งจากที่ดำเนินการมา ชุมชนที่เราไปช่วยบ่มเพาะก็มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
หากให้ถอดรหัสความสำเร็จเบื้องหลังของโครงการ ปัจจัยที่ทำให้โครงการ “ไปรษณีย์เพิ่มสุข” สำเร็จได้คืออะไร
ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับชุมชน ความไว้เนื้อเชื่อใจของเขาที่มีให้กับไปรษณีย์ไทย จากการที่ได้ลงพื้นที่ เขาบอกว่าเขารู้สึกว่าเราช่วยเหลือและสนับสนุนเขาในทุกด้านมาตลอด สิ่งหนึ่งที่เขาบอกเสมอว่าอย่าทิ้งชุมชนนะ เพราะไปรษณีย์ไทยช่วยเขาตั้งแต่ต้นจนสามารถขายได้ อย่างน้อยเขามีช่องทางการขายแน่ๆ
จริงๆ ไม่ใช่ว่าหน่วยงานไหนหรือใครจะเข้าไปในชุมชนเหล่านี้ได้ง่ายๆ แต่ด้วยความที่เรามีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ จุดนี้ทำให้คนในชุมชนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ มากกว่านั้น ปัจจัยที่มีผลมากคือความต่อเนื่องในการดูแลและพัฒนาพวกเขา เรามีไปรษณีย์กว่า 1,201 แห่งทั่วประเทศ คนในชุมชนจึงไม่ต้องกลัวเลยว่าเราจะทิ้งให้พวกเขาหายไป เพราะเราสร้างความต่อเนื่องเรื่องความสัมพันธ์ไปตลอด
สินค้าที่อยู่ในโครงการ “ไปรษณีย์เพิ่มสุข” มีเอกลักษณ์และแตกต่างจากสินค้าในท้องตลาดทั่วไปอย่างไร
สินค้าที่เราเลือกมาส่วนใหญ่ทางเขตพื้นที่จะเป็นคนเลือกมาก่อน เพราะฉะนั้นสินค้าจะสะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น อย่างตัวปลาส้ม “สุขหล่ำ” ก็เป็นสินค้าที่ค่อนข้างได้รับความนิยมในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกจากนั้น สินค้าแต่ละตัวยังมีเรื่องราวความเป็นมาของตัวเอง อย่างปลาส้ม “สุขหล่ำ” ก็มาจากคลองในชุมชนที่เป็นแหล่งอาหารในพื้นที่จริงๆ นับเป็นสินค้าพื้นถิ่น เราก็นำปลาส้มตัวนี้มาผ่านกระบวนการที่ทำให้กลายเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานสากล มี อย. มีบรรจุภัณฑ์ที่ดี เพื่อทำให้เขาขายได้มากขึ้น
หรืออีกกรณีคือข้าวฮางจากจังหวัดสกลนคร เป็นข้าวที่มีจุดเด่นกว่าข้าวประเภทอื่นๆ คือ ผ่านกระบวนการพิเศษที่ทำให้มีคุณค่าทางอาหารเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสารกาบา โปรตีน วิตามิน และไฟเบอร์ ซึ่งการมีสารอาหารเพิ่มขึ้นน่าจะตอบโจทย์คนรักสุขภาพในปัจจุบัน นี่คืออีกปัจจัยที่ทำให้สินค้าในโครงการนั้นแตกต่าง คือเราดูกระแสในปัจจุบันด้วยเพื่อให้มั่นใจได้ว่าชุมชนที่เราไปบ่มเพาะหรือพัฒนา เขาจะสามารถขายสินค้าในระยะยาวได้
ยกตัวอย่างสินค้าที่เป็น Success Story ในโครงการให้ฟังหน่อยได้ไหม
เรามี 4 ตัว ตัวแรกคือปลาส้ม “สุขหล่ำ” อย่างที่เล่าให้ฟังไป จริงๆ แล้วสินค้าในแขนงปลาส้มมาจากปลาส้มสมหวังซึ่งเคยขายผ่านเครือข่ายไปรษณีย์ของเราในอดีตแล้วประสบความสำเร็จมาก มีรายได้หลักล้าน เราจึงขอสูตรของเขามาสอนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านห้วยหมากหล่ำ จังหวัดอุดรธานีต่อ นอกจากนั้น ในโมเดลของบ้านห้วยหมากหล่ำเอง ไปรษณีย์ไทยยังได้ช่วยก่อสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนไปรษณีย์ไทย บ้านห้วยหมากหล่ำด้วย ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับพื้นที่ผลิตปลาส้มของเขา ในโรงเรียนนั้นมีครูกับนักเรียนอยู่ ทีมก็นำสูตรของไข่เค็มไชยาซึ่งเป็นเครือข่ายของเราเช่นกันไปสอนนักเรียน จนเกิดเป็น ‘ไข่เค็มเด็กน้อย’ ฝีมือนักเรียนออกมาขาย
ตัวที่ 2 คือข้าวฮางทิพย์ เป็นแบรนด์วิสาหกิจชุมชนจากจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยเขานำข้าวสายพันธุ์ต่างๆ มาเข้ากระบวนการแช่ นึ่ง ผึ่ง สี ไม่ใช่ขัดสีอย่างเดียว ทำให้ตอบโจทย์เป้าหมายคนรักสุขภาพ เราก็ไปช่วยเขาพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เป็นแพ็กแบบสุญญากาศเพื่อให้ขายได้มาตรฐานสากล และมีการบรรจุขวดด้วยเพื่ออำนวยความสะดวกให้คนไม่เคยหุงข้าว เขาจะได้ตวงน้ำจากขวดของเราตอนหุงได้
ตัวที่ 3 คือไข่เค็ม อสม. ไชยา หรือที่รู้จักกันดีในนามไข่เค็มไชยา เขาใช้ไข่เป็ดออร์แกนิกมาชูเป็นกิมมิก สตอรีของแบรนด์แข็งแรงอยู่แล้ว เราจึงไปบ่มเพาะเพิ่มเติมให้แข็งแรงขึ้นด้วยเรื่องแพ็กเกจจิ้ง แต่ก่อนเขาขายแบบใส่ถุง เราก็ออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้เขาใหม่เพื่อให้หยิบง่าย เป็นกล่องป้องกันไข่แตกที่ไม่ใช้พลาสติก และใช้วัสดุในชุมชนมาทำ รวมถึงช่วยเขาขนส่งแบบ Parcel Centric (พัสดุเป็นศูนย์กลาง) คือขนส่งแบบของที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ลูกค้าจึงไม่ต้องกลัวไข่แตก ตอนนี้ชุมชนรายได้หลักแสนต่อเดือน ปีหนึ่งก็หลักล้าน พอเราไปช่วยพัฒนา ชุมชนยังได้ยกระดับเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้คนมาศึกษาดูงานด้วย
ตัวที่ 4 คือลำไยอบกึ่งแห้งแบบ Soft Dry ของลำพูน เราทำร่วมกับชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้ อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ร่วมมือกับ STeP หรืออุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุดเริ่มต้นคือแต่ก่อนลำไยล้นตลาด เราเลยอยากช่วยชุมชนด้วยการทำเป็นลำไยอบกึ่งแห้งเพื่อให้อยู่ได้นานขึ้น เวลารับประทานจะให้รสสัมผัสใกล้เคียงกับของสดอยู่ คือมีความหอมนุ่ม ละมุน นอกจากนั้นคือสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ Thailandpostmart ได้ทั้งปี
การทำโครงการ “ไปรษณีย์เพิ่มสุข” สำคัญกับไปรษณีย์ไทยอย่างไร
เราคิดว่าไปรษณีย์ไทยจะยั่งยืนได้ ชุมชนต้องยั่งยืนด้วย สโลแกนของเราคือ Carry Relationship, Deliver Success หรือ ส่งทุกความสัมพันธ์สู่ทุกความสำเร็จ เราเน้นเรื่องความสัมพันธ์กับชุมชน ซึ่งเราเชื่อว่าคนในชุมชนเอง นอกจากจะเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจกับเรา เขาก็เป็นลูกค้าของเราด้วย
เรายังมีวิสัยทัศน์ใหม่อีกข้อที่เพิ่งแถลงไปคือ Delivering Sustainable Growth through Postal Network นั่นคือ การส่งมอบการเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านเครือข่ายไปรษณีย์ไทย เรามองว่าใครที่มาเชื่อมโยงกับเราก็จะเติบโตไปด้วยกัน อยากสร้างเครือข่ายขนาดใหญ่ที่มีความยั่งยืนทั้งตัวองค์กรของเรา ชุมชน และสังคมในภาพกว้าง
มองอนาคตของโครงการ “ไปรษณีย์เพิ่มสุข” ไว้อย่างไรบ้าง
เราอยากอัปสเกลเรื่อยๆ ทั้งจำนวนของชุมชนที่จะเข้าไปพัฒนาภายใต้โครงการ “ไปรษณีย์เพิ่มสุข” ร่วมกับอัปสเกลเครือข่ายของเราให้ใหญ่ขึ้นและยั่งยืนมากขึ้น
ส่วนอนาคตของไปรษณีย์ไทย เราก็คงต้องการความยั่งยืนเช่นเดียวกับชุมชน เรามีการบูรณาการเพื่อใช้ประโยชน์เครือข่ายไปรษณีย์ที่เรามีอยู่ทั้งสอง 2 มิติ ทั้งมิติ Physical ที่มีอยู่ทั่วประเทศ เรามีพนักงานไปรษณีย์และตัวแทนของเราประมาณ 20,000 คนทั่วโลก ซึ่งเราอยากพัฒนาให้แข็งแรงต่อไป อีกมิติหนึ่งคือ Digital ที่มีเว็บไซต์ Thailandpostmart ในตอนนี้ แต่ในอนาคตจะพัฒนาบริการใหม่ๆ ในระบบดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากโครงการ “ไปรษณีย์เพิ่มสุข” เรายังมีโครงการเพิ่มสุขสิ่งแวดล้อมและเพิ่มสุขสังคมแตกออกมา ในกรณีเกิดภัยพิบัติเรามีบริการส่งฟรีเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย อย่างตอนโควิดระบาดเราก็เคยช่วยขนส่งหน้ากากอนามัย เตียงสนาม สินค้าจำพวกยา ส่วนเพิ่มสุขสิ่งแวดล้อมคือการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งไปรษณีย์ไทยมองว่าเราคือ Green Hub ที่รวบรวมของเหลือใช้หลากหลายประเภทมารีไซเคิล รวมถึงมีการนำกล่องพัสดุ ซองจดหมายที่เป็นกระดาษทุกประเภท มารีไซเคิลเป็นเตียงสนาม หน้ากากอนามัย ชุดโต๊ะและเก้าอี้ให้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน กล่องพัสดุสำหรับบรรจุสิ่งยังชีพให้หน่วยงานคนพิการ และสิ่งของจำเป็นอื่นๆ เพื่อชุมชนและสังคม