ชีวิตที่ไม่ง่ายของคนทำละครไทยในอเมริกา - Urban Creature

บิ๊ก-รักษ์ศักดิ์ ก้งเส้ง คือคนทำละครเวทีไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกามาตั้งแต่ปี 2557

รักษ์ศักดิ์เป็นคนนครศรีธรรมราช ชอบเล่นละครเวทีมาตั้งแต่มัธยมฯ หลังเรียนจบปริญญาตรีสาขาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอบินลัดฟ้าไปปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความฝันที่อเมริกาเพราะเห็นโอกาสเติบโตที่มากกว่า 

ที่นั่น รักษ์ศักดิ์ได้พบรัก แต่งงาน และได้เรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารจัดการศิลปะ ปัจจุบันเธออาศัยอยู่ในเมืองที่รุ่มรวยไปด้วยเสน่ห์ของบรอดเวย์และละครเวทีอย่างนิวยอร์ก เริ่มทำงานจากตำแหน่ง Arts Administrator อย่างที่เรียนมา จนตอนนี้กลายเป็น Asistant Director of Grantmaking Programs หรือรองผู้อำนวยการฝ่ายโปรแกรมทุนของ Theatre Communications Group องค์กรที่ตามหาและแจกจ่ายทุนให้คนละครเวทีในดินแดนแห่งเสรีภาพได้สานฝันในการทำละครของตัวเอง

ช่วงปี 2561 รักษ์ศักดิ์และเพื่อนในแวดวงได้ก่อตั้ง Thai Theatre Foundation หรือ TTF เพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ละครเวทีไทยร่วมสมัย และในวันที่ 23 – 24 กรกฎาคมนี้ TTF จะจัดโชว์เคสครั้งแรกของพวกเขา

ความพิเศษของงานนี้คือการรวบรวมศิลปินละครเวทีไทยในสหรัฐอเมริกามาโชว์ของ ซึ่งมีทั้งตัวท็อปและหน้าใหม่ในวงการที่คนไทยอาจไม่คุ้นชื่อ แต่คนดูชาวอเมริกันคุ้นชินกับพวกเขาเป็นอย่างดี และนี่เป็นครั้งแรกที่ศิลปินไทยเหล่านี้ได้มีพื้นที่ในการเปล่งเสียง โชว์ความเป็นไทยของตัวเอง แบบที่ไม่เคยได้แสดงที่ไหน

เช้าวันแดดร่มวันหนึ่งที่ไทย เราต่อสายหารักษ์ศักดิ์ในอีกซีกโลกหนึ่งที่ท้องฟ้ากำลังระบายสีครึ้ม เพื่อพูดคุยกันถึงโชว์เคสครั้งสำคัญ และชีวิตของคนทำละครไทยในต่างแดนที่ไม่ง่ายอย่างที่หลายคนคิด

รักษ์ศักดิ์ Arts Administrator หรือนักจัดการศิลป

Arts Administrator หรือนักจัดการศิลปะ เป็นอาชีพที่ไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยเท่าไหร่ เล่าให้ฟังหน่อยว่าอาชีพนี้ทำอะไรบ้าง

Arts Administrator (นักจัดการศิลปะ) หรือในส่วนของเราคือศิลปะละครเวทีจะไม่ใช่งานโปรดักชัน แต่จะเป็นงาน Administration เหมือนงานในออฟฟิศ ตอนนี้เราทำอยู่ในแผนก Grantmaking Programs เป็นแผนกให้ทุนของ TCG ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนละครเวทีทั่วอเมริกา เราก็จะได้ทำงานกับคนให้ทุนทำละครหลายๆ เจ้า

ที่อเมริกามีระบบนิเวศที่สมบูรณ์กว่าไทยหน่อย คือจะมีคนรวยใจดีหรือ Foundation (มูลนิธิ) ต่างๆ ที่เขามีตังค์แล้วให้ทุนทำละครเป็นประจำ แต่มูลนิธิพวกนี้เขาอาจไม่ได้ใกล้ชิดกับวงการใดวงการหนึ่งเพราะเขาให้ทุนหลายวงการ เราจึงมีหน้าที่สร้างโปรแกรมทุนสำหรับละครขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการของวงการที่เราอยู่ แล้วไปคุยกับผู้ให้ทุนว่าให้มาแจกเงินทางนี้ โปรแกรมนี้น่าสนใจ แล้วเราก็เอาทุนที่ได้รับมาแจกให้คนในวงการต่อ

คุณเป็นผู้ก่อตั้ง Thai Theatre Foundation เพื่อสนับสนุนละครเวทีไทยร่วมสมัยด้วย ทำไมถึงอยากผลักดันเรื่องนี้

จุดเริ่มต้นคือ พอจบปริญญาโทที่นี่แล้วเราทำงานที่ Theatre Communications Group (TCG) เราก็เริ่มเห็นทิศทางของวงการละครมากขึ้นอีก ในใจอยากหาหนทางพัฒนาองค์กรละครเวทีในไทย เพราะเราก็เป็นคนทำละครเวที เติบโตมากับละครเวที แต่อยู่ที่ไทยทำไม่ได้ มันไม่มีกิน เราเลยต้องมาที่นี่ 

พอได้ทำงานที่ TCG ก็พอเห็นภาพมากขึ้นว่ามันมีหนทางสนับสนุน จริงๆ TTF ก็มีโมเดลคล้ายๆ TCG นั่นแหละ มิชชันเราคือเพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ละครเวทีไทยร่วมสมัย เพราะฉะนั้นเราก็จะทำงานอะไรก็ตามที่ตอบโจทย์นี้ ให้ศิลปินทำงานเป็นอาชีพได้ อย่างน้อยมีกินมีใช้ เพราะทุกวันนี้คนทำละครในไทยบางโปรดักชันทำละครจบทั้งเรื่องได้กำไร 500 บาท แล้วมีทีมงาน 10 คนต้องหารกันเหลือคนละ 50 บาท แล้วศิลปินจะอยู่ได้ยังไง 

รักษ์ศักดิ์ Arts Administrator หรือนักจัดการศิลป

ความฝันในการอยากพัฒนาวงการละครเวทีไทยเริ่มตั้งแต่ตอนไหน

ตอน ม.ปลายเราจับพลัดจับผลูทำงานชมรมละครเวทีในโรงเรียน ตอนนั้นคิดแค่ว่าอยากดังเลยทำกิจกรรม ปรากฏว่าพอทำแล้วได้เรียนรู้หลายอย่าง ได้อะไรจากละครเวทีเยอะมากในแง่ของการเติบโต เมื่อก่อนเป็นคนพูดไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไร เป็นเด็กเด๋อๆ แต่การได้ทำงานศิลปะ โดยเฉพาะละครเวทีที่ได้เรียนรู้การรับส่งบทกันบนเวที มันช่วยพัฒนาเราในแง่ Emotional Maturity (วุฒิภาวะทางอารมณ์) ด้วย มันช่วยให้เราเติบโตไปเป็นสิ่งที่เราไม่มีทางเป็นได้ในห้องเรียน เราเลยอยากให้เด็กๆ รุ่นถัดไปมีศิลปะหรือเครื่องมือประเภทนี้ในการเติบโตเหมือนกัน

ถามว่าเราเริ่มคิดจะพัฒนาวงการละครเวทีไทยเมื่อไร ตอบไม่ได้หรอก ละครเวทีเป็นชีวิตเราอยู่แล้ว อาจจะเป็นตอนเรียนจบนั่นแหละที่อยากทำละครแล้วมันทำไม่ได้ เพราะไม่ได้เกิดมาบ้านรวย รู้สึกเบื่อกับความจนแล้ว ถ้าทำละครเวทีที่ไทยแล้วมันจนอีกก็จะไม่ทำ ไปทำที่อื่น ก็เลยมีโจทย์ในใจ เริ่มคิดหาทาง แล้วก็ได้มาอเมริกา

รักษ์ศักดิ์ Arts Administrator หรือนักจัดการศิลป

ชีวิตในต่างแดนเป็นยังไงบ้าง

ตอนแรกมาเมืองซีแอตเทิลก่อน เราเจอสามี แต่งงาน ตั้งหลักได้ปุ๊บก็คิดจะสมัครเรียนต่อ ตอนแรกทำลิสต์สมัครเรียนไว้หลายที่มาก แต่สุดท้ายไปที่บอสตันเพราะปัจจัยหลายอย่าง 

พอเรียนที่บอสตันกำลังจะจบเทอมสุดท้าย ด้วยความเป็นคนละครเนอะ ใจมันก็อยากไปนิวยอร์กสักที เพราะถ้านึกถึงละครหรือบรอดเวย์ก็ต้องนิวยอร์ก นิวยอร์กกก (ร้องทำนองเพลง New York, New York) เราเลยสมัครแลกเปลี่ยนเทอมสุดท้ายเพื่อจะได้หาคอนเนกชันไว้ กะว่าเรียนจบปุ๊บจะได้หางานทำต่อ แต่พอมาแลกเปลี่ยนปรากฏว่าได้งานกับ TCG พอดี

ไอเดียตั้งต้นของงาน Thai Theatre Showcase เริ่มจากตรงไหน

ตั้งแต่เราทำ TTF ก็ได้คุยกับศิลปินทั้งที่ไทยและอเมริกา แต่ด้วยความที่ศิลปินไทยในอเมริกาไม่ได้เยอะเท่าที่ไทย เราเลยรู้จักกันเป็นอย่างดี เจอกันเมื่อไหร่ก็ชอบพูดว่า เฮ้ยๆ มันถึงเวลารวมตัวกันแล้ว อีกอย่างคือก่อนหน้านี้ ศิลปินบางคนรู้สึกว่าไม่มีพื้นที่ให้เขาด้วย อย่างพี่ปรินซ์ (กมลพัฒน์ โกมลวิลาศ) เป็นลูกครึ่งไทย-อเมริกันที่โดดเดี่ยวมาก เหมือนทั้งชีวิตเขาก่อนจะมี TTF เขาแทบไม่รู้จักคนไทยคนอื่นที่ทำละครเวทีในอเมริกา เขามองตัวเองเป็น Asian American ก็จริง แต่จริงๆ แล้วเขาพยายามจะ Embrace ความเป็นไทย-อเมริกัน พยายามเล่าเรื่องคนไทยผ่านละครเพียงแต่มันไม่มีพื้นที่ให้เขา จำได้ว่าตอนที่เราไปดูละครที่เขาเขียนบท เขาดีใจมาก นั่งคุยกันว่าพวกเธอไปอยู่ไหนมา 

หรือกระทั่งศิลปินบางคนที่เคยเล่นหนังอยู่ไทย อย่างพี่ฮีน (ศศิธร พานิชนก) เราเคยไปถามเล่นๆ ว่าอยากโปรดิวซ์ละครรึเปล่า พี่ฮีนคือกระโดด อยากทำ เพราะทั้งชีวิตตอนอยู่อเมริกา เขาต้องไปแคสต์ แคสต์แล้วก็เล่นบทอื่นที่ไม่ใช่เรื่องราวของตัวเอง ต้องพูดภาษาฝรั่ง ทั้งที่จริงแล้วเขาอยากทำละครพูดภาษาไทย เล่าเรื่องคนไทย แต่มันไม่มีเพราะชุมชนคนไทยเล็ก แล้วสุดท้ายพอมันเกิดขึ้น เราก็รู้สึกดีใจนะที่งานแบบนี้เกิดขึ้นสักที 

ส่วนตัวเราคิดว่าอีเวนต์จะประสบความสำเร็จไหมนั่นไม่ใช่คีย์หลักเลย อันนี้หมายถึงเราพยายามไม่ให้มันเจ๊งนะ เพราะคีย์หลักคือเราไม่ได้ทำสิ่งนี้เพื่อเงินแต่เราทำเพื่อเสิร์ฟศิลปินที่ทำงานในอเมริกามานานแล้วหรือหน้าใหม่ก็ตาม ให้เขาได้มีพื้นที่

ทำไมก่อนหน้านี้ไม่มีอีเวนต์แบบ Thai Theatre Showcase 

Thai Theatre Community ที่นี่ยังแคบมาก อันนี้เป็นปัญหาที่แชร์กันทั้งไทยและอเมริกา คือในหมู่คนไทยมีโปรดิวเซอร์น้อย เพราะก่อนหน้านี้แทบไม่มีมหาวิทยาลัยในเมืองไทยที่สอน Producing  ทีนี้พอไม่มีการสอนโปรดิวเซอร์หรือมีน้อย มันก็ทำให้คนไม่ค่อยรู้จักงานด้านนี้

พอชุมชนคนไทยไม่มีคนที่ทำงาน Management ก็จะมีแต่ศิลปินที่มองหน้ากันแล้วอยากทำโชว์เคสแต่ไม่รู้จะทำยังไง เพราะทักษะที่ตัวเองมีในกระบุงเป็นงานคราฟต์แทบทั้งหมด

ณภัทร เสถียรถิระกุล
ณภัทร เสถียรถิระกุล

กิจกรรมหรือโปรแกรมใน Thai Theatre Showcase มีอะไรบ้าง 

งานจัด 2 วันคือวันที่ 23 – 24 กรกฎาคม โปรแกรมแรกจะเป็น Panel Talk หรือเวทีเสวนาซึ่งจะมีทั้ง 2 วัน วันแรกเป็นทอล์กของดีไซเนอร์ 2 ท่านผู้อยู่เบื้องหลังละครเวที ทำให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้วศิลปินไทยในอเมริกาไม่ได้มีแค่นักแสดงอย่างเดียว ส่วนของวันที่ 2 จะเป็นฝั่งผู้กำกับ คนเขียนบท และนักแสดง ซึ่งแต่ละคนยิ่งใหญ่กันมาก อย่างพี่นานา (นานา เดกิ้น) ก็เป็นผู้หญิงเอเชียคนแรกที่ได้เป็นผู้กำกับใน Royal Court Theatre ที่ลอนดอน

นอกจาก Panel Talk ก็มีโชว์ต่างๆ ทั้งการแสดงโซโล่จากน้องลูค (ณภัทร เสถียรถิระกุล) เล่าชีวิตของตัวเองในฐานะเด็กที่หอบผ้าหอบผ่อนข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนไฮสกูลด้านการแสดงที่อเมริกา อีกโชว์หนึ่งชื่อ Home พูดเรื่องความหมายของบ้าน เป็นโชว์ของบอร์ดฯ TTF เอง แล้วเราก็ปิดท้ายด้วยอาฟเตอร์ปาร์ตี้ เพราะเป้าหมายของงานนี้ไม่ใช่แค่โชว์เคส แต่เราอยากให้มี Relationship เกิดขึ้น

นานา เดกิ้น
นานา เดกิ้น

การโชว์ความเป็นไทยหรือทำละครภาษาไทยทั้งๆ ที่อยู่เมืองนอก สำคัญกับศิลปินยังไง

จากมุมมองส่วนตัวของเรา วงการละครเวทีในอเมริกามันมีความเหมารวมค่อนข้างเยอะ ถ้าเราเป็นคนไทยที่นี่ เราคือเอเชีย ซึ่งส่วนตัวเราเกลียดคำว่าเอเชียมากเพราะเอเชียมันเป็นทวีปที่ใหญ่มากนะ แล้วแต่ละพื้นที่หน้าตาคนก็ไม่เหมือนกันเลย แต่คนที่อยู่อเมริกาจะทำให้เรารู้สึกได้ว่าเอเชียมี Identity ร่วมกัน คนไทยที่เล่นละครในอเมริกาจึงไม่ได้เล่นในฐานะคนไทย แต่เล่นในฐานะคนเอเชียคนหนึ่ง แล้วคนที่จะ Breakthrough หรือเป็นดาวรุ่งได้จริงๆ คือต้องเป็นลูกครึ่ง ภาษาดี มีสำเนียง Nativelike (สำเนียงเหมือนคนในท้องที่)

อาจเพราะความเป็นศิลปินของพวกเราที่มีความอยากเล่าเรื่องอยู่แล้ว และส่วนมากศิลปินจะทำงานจากประสบการณ์ตัวเอง เล่าเรื่องตัวเองโดยธรรมชาติ เราเลยคิดว่าการเล่าเรื่องตัวเองแต่ไม่มีพื้นที่ให้เล่า ต้องไปเล่าในฐานะคนเอเชียคนหนึ่ง มันก็ลำบาก แล้วบางทีภาษาที่ใช้ไม่ใช่ภาษาของเรา บางคนแอ็กติงไปก็ต้องกังวลกับการออกเสียงไป ซึ่งโฟกัสมันไม่ควรอยู่ตรงนั้น 

แอน ชุนหรักษ์โชติ
แอน ชุนหรักษ์โชติ

ในฝั่งคนดู คนที่นั่นเปิดรับความหลากหลายของละครเวทีแค่ไหน

อันนี้ตลกดีนะ จริงๆ ตั้งแต่ก่อนมาอเมริกาเรารู้สึกว่าคนอเมริกาหัวก้าวหน้า เสรีนิยม อเมริกาคือประชาธิปไตย แต่พอมาถึงอเมริกาแล้วก็อะไรวะ นิวยอร์กอาจจะเป็นเมืองที่หัวก้าวหน้า แต่ถ้าพูดถึงคนอเมริกาทั่วประเทศ โปรไฟล์คนดูละครเวทีอเมริกาเขาจะรู้กันว่าเป็น 55 years old white male (ชายผิวขาวอายุ 55 ปี)

นึกภาพว่าละครเวทีเป็นศิลปะที่อยู่กับสังคมฝรั่งมานานแล้ว ไม่เหมือนบ้านเราที่อายุคนดูเฉลี่ยอยู่ที่ 30 ปี เรารู้สึกว่าคนมาดูละครจะเปิดกว้าง แต่ก็มีอะไรบางอย่างที่เอ๊ะ มันเปิดจริงหรือเปล่า เช่น ทุกวันนี้ยังคงมีบางปัญหาที่เหมือนจะถูกแก้ไขแล้วแต่ยังคาราคาซังในวงการ ทั้งปัญหา Racism ปัญหาการคัดเลือกนักแสดง หรือสิ่งที่เราชอบยกมาพูดกันขำๆ อย่างสำเนียง ไหนทำสำเนียงคนดำหน่อยสิ ไหนทำสำเนียงอินเดียหน่อยสิ ไหนทำสำเนียงคนจีนหน่อยสิ อะไรแบบนี้ยังมีอยู่ บางคนเป็นลูกครึ่งไทย-อเมริกันแต่หน้าอาจดูเหมือนคนเอเชียตะวันออก คนที่แคสต์อาจจะขอให้พูดว่าไฮ่ย้าาา! ซึ่งเขาไม่ใช่คนจีนด้วยซ้ำ

แต่ถามว่าวงการละครที่นี่เปิดกว้างไหม เราก็รู้สึกว่าเปิดกว้างแล้วแหละ อย่างน้อยก็ไม่ใช่ศิลปินที่สร้างขึ้นโดยรัฐเผด็จการ ไม่ใช่แบบนั้น ขณะเดียวกันก็ยังมีเรื่องให้เดินหน้าต่อ

แปลว่าชีวิตของคนละครที่อยู่ที่นั่นก็ไม่ได้ง่าย 

อยู่ยากมาก (หัวเราะ) คนมานิวยอร์กจะรู้อยู่แล้วว่าต้องไฟต์ เพราะค่าครองชีพของนิวยอร์กแพง และงานละครมันไม่เหมือนงานออฟฟิศที่เข้าเก้าโมงออกห้าโมง ทำงานห่วยหรือไม่ห่วยเดี๋ยวก็มีเงินเข้ามาในบัญชีแล้ว การเป็นฟรีแลนซ์ถือว่าโหดอยู่ บางทีศิลปินต้องอยู่ด้วยการสมัครงานเป็น Production ไปอยู่กับคณะละครหนึ่งๆ สัก 4 – 6 เดือน ก็มีเงินช่วงนั้น พอเสร็จจากโปรดักชั่นนั้นก็ต้องสมัครเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นชีวิตพวกเขาจะอยู่กับคำถามว่า What’s the next gig? (งานต่อไปคืออะไร) ตลอดเวลา ซึ่งมันเหนื่อย นึกภาพว่าเราต้องสมัครงาน วิ่งไล่เงินตลอดเวลาเพื่อทำสิ่งที่รัก มันสูบพลังนะ แล้วบางคนต้องเจอกับการปฏิเสธซ้ำๆ คนหนึ่งสมัครไปร้อยงานแต่มีโทรมาเรียกไปทำงาน 5 ที่นี่ก็เก่งมากแล้ว เพราะคนเราจะโดนปฏิเสธได้กี่ครั้งวะก่อนที่เราจะเลิกทำ

ประเด็นคือมาอยู่ที่นี่เก่งอย่างเดียวไม่พอ เพราะทุกคนเก่งหมดเลย (หัวเราะ) คนที่มานิวยอร์กคือคนที่มากับของในกระเป๋าอยู่แล้ว และต้องมีคอนเนกชันด้วย นี่เป็นสาเหตุที่เราเลือกมาแลกเปลี่ยนที่นี่ในเทอมสุดท้าย 

รักษ์ศักดิ์ Arts Administrator หรือนักจัดการศิลป

ใช้ชีวิตยากขนาดนี้ ทำไมคนละครถึงอยากอยู่ต่อ

คนใกล้ตัวคนหนึ่งของเราเคยพูดไว้ว่า กลับไทยไปก็ไม่รู้จะทำอะไรอยู่ดี ถ้าทำละครแล้วมีบ้านให้ผ่อนเดือนละ 25,000 คนทำละครจะเอาตังค์ที่ไหนผ่อน มีอีกชอยส์หนึ่งคือเรียนจบโทที่นี่แล้วกลับไปเป็นอาจารย์ แต่เราเสียค่าเรียนโท 2,500,000 กลับไปเป็นอาจารย์ได้เงินเดือน 20,000 จะไปทำไม อยู่นี่ก็ได้ความรู้สึกว่าอย่างน้อยงานอาร์ตของเรามันได้รับการ Appreciate ก็ดีต่อใจกว่า

เรื่องข้อจำกัดของการสร้างสรรค์งานศิลปะก็มีผลด้วยหรือเปล่า อย่างที่คุณบอกว่าคนที่นั่นเปิดกว้างมาก

ใช่ ความเปิดกว้างที่นี่ต่างจากเมืองไทยมาก อเมริกาขึ้นชื่อเรื่อง Land of the Free อยู่แล้ว นโยบายรัฐศาสตร์ของอเมริกาจึงเป็น as Little Government as Possible หรือปกครองให้น้อยที่สุด เอาเฉพาะที่จำเป็น อย่างพูดถึงเรื่อง Censorship ในกฎหมาย เขาเซนเซอร์ไม่กี่อย่างเอง หลัก Free Speech จะครอบคลุมเกือบทุกอย่าง ยกเว้นที่ห้ามจริงๆ คือ Hate Speech และการจะจัดว่าอาร์ตแบบไหนเป็น Hate Speech มันต้องชัดเจนมากๆ ว่าเป็น Hate Speech อย่างยุยงให้ฆ่าคน อะไรแบบนี้ถึงจะโดนเซนเซอร์ เพราะฉะนั้นที่นี่ถ้าเป็นเนื้อหาของศิลปะ ศิลปินอยากพูดอะไรก็พูดได้เลย กฎหมายหรือเจ้าหน้าที่รัฐไม่เข้ามายุ่งอยู่แล้ว

แต่คนชอบไม่ชอบก็อีกเรื่องหนึ่ง อันนั้นเป็นเรื่องของบรรทัดฐานทางสังคม ซึ่งบรรทัดฐานทางสังคมของที่นี่ก็ค่อนข้างกว้างเหมือนกัน อย่างสังคมไทยจะค่อนข้างออกไปทางสังคมอนุรักษนิยม บางเรื่องก็จะไม่แตะหรือไม่เอาดีกว่า อย่างเรื่องเพศ โป๊นิดหนึ่งก็ส่ายหัว หรือแม้กระทั่งคำหยาบก็ตาม แต่ที่อเมริกาจะพูดอีเหี้ยพูดห่าอะไรก็ได้ มันมีคนพร้อมยอมรับมัน


ทราย สมบูรณ์
ทราย สมบูรณ์

การอยู่ในบรรยากาศที่เปิดกว้างแบบนี้ส่งผลต่อคนทำงานยังไง

เคยอยากพูดอะไรแล้วต้องพูดอ้อมๆ ไหม การสร้างงานศิลปะที่ต้องเข้ารหัสก็ให้ความรู้สึกคล้ายกัน แน่นอนว่าการสร้างงานบางอย่างที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ฉลาดพอที่จะเข้าใจ คนดูต้องมาถอดรหัส ในแง่หนึ่งมันเป็น Aesthetic ที่ให้ความเก๋ ความชิก แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เฮ้อ (ถอนหายใจ) ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างที่ไทย บางเรื่องเป็นความเห็นที่ไม่มีผิดมีถูก แต่โดนตัดสินว่าเป็นความผิด บางเรื่องคนอยากจะเล่า อยากจะพูด กลับพูดไม่ได้ เพราะมันอาจไม่ใช่รสชาติที่หน่วยงานรัฐอยากฟังชอบฟัง ถามว่าผิดไหม มันใช้คำนี้ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะศิลปะไม่มีผิดมีถูก การเป็นศิลปินหาเลี้ยงชีพตัวเองก็ลำบากอยู่แล้ว พอจะทำสิ่งที่อยากทำก็โดนประหัตประหารอีก มันก็แย่เนอะ

คุณอยู่ในวงการละครเวทีไทยร่วมสมัยมาหลายปี บทเรียนสำคัญที่ได้เรียนรู้จากวงการนี้คืออะไร

การดีลกับคนเป็นเรื่องสำคัญมาก ก่อนหน้านี้เราไม่ค่อยใส่ใจกับมันมากเท่าไร แต่สุดท้ายแล้วงานศิลปะคือมนุษย์ คือสิ่งที่เกิดจากมนุษย์ พอทำงานศิลปะมันจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องดีลกับมนุษย์ ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งขึ้นและลง เราเรียนรู้ว่าความสัมพันธ์เป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนงานให้เดินหน้าในวงการศิลปะ ซึ่งการดีลกับมนุษย์นี่แหละอาจจะเป็นงานที่ยากที่สุดของเราในฐานะ Arts Administrator

รักษ์ศักดิ์ Arts Administrator หรือนักจัดการศิลป

ถ้าศิลปินไทยอยากก้าวไปอยู่ในระดับสากล สิ่งแรกที่เขาต้องทำคืออะไร

การหาตัวเองให้เจอและต้องมีวินัยกับงานคราฟต์ของตัวเอง คนเราพอมีของแล้วเรื่องขายไม่ใช่เรื่องใหญ่ ของดีถ้าได้แรงผลักดันนิดหนึ่งมันก็ขายตัวเองได้ แต่ของไม่ดีมันขายยาก ขายไม่ได้

ส่วนตัวไม่ชอบคำว่าโกอินเตอร์เท่าไร เพราะให้นัยว่าการอยู่ต่างประเทศแปลว่าสำเร็จและอยู่ในประเทศแปลว่าไม่สำเร็จ ส่วนตัวเราอยากให้วงการละครเวทีที่ไทยเฟื่องฟูโดยที่คนไม่ต้องรู้สึกว่าจะต้องโกอินเตอร์ด้วยซ้ำ แต่ถ้าตอบคำถามว่าจะทำยังไงให้รุ่ง เราว่าต้องมีของนั่นแหละ ควบคู่กับการที่เราทำงานกับนักจัดการศิลปะไปพร้อมกัน เพราะอย่างที่บอก มีของอย่างเดียวถ้าไม่ถูกผลักดันมันก็ไม่ไปไหน ศิลปินไทยตอนนี้มีของเยอะแยะมากมาย อย่างลิซ่า ถ้ายังเต้นคัฟเวอร์อยู่ในไทยและไม่ได้รับการผลักดัน ทุกวันนี้จะอยู่ตรงไหน อาจจะเต้นอยู่ตรงมาบุญครองก็ได้ เราว่ามันขึ้นอยู่กับว่าคุณมีของและได้รับการสนับสนุนไหม

สุดท้ายการได้ทำ Thai Theatre Showcase มีความหมายกับคุณในฐานะคนไทยยังไง

ฟินมาก ฟินเวอร์ เราไม่แคร์ด้วยซ้ำว่าจะโชว์อะไร ในฐานะผู้จัดงาน เราแค่ได้เห็นศิลปินที่ปกติซ้อมกันในโปรแกรม Zoom แล้วมาเข้าพื้นที่จริง เวลาเขาแชร์โปสเตอร์ในโซเชียลมีเดีย ขึ้นแคปชันว่า Finally นี่คือสิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นรางวัลมาก คือเห็นแล้วมันก็หายเหนื่อย 

มันแทบจะตอบโจทย์ที่ตั้งไว้แต่แรกเลยด้วยซ้ำว่าทำยังไงเราถึงจะช่วยผลักดันวงการได้ นี่เป็นก้าวแรกเล็กๆ ที่รู้สึกว่ามีความหมายกับเรามาก

รักษ์ศักดิ์ Arts Administrator หรือนักจัดการศิลป

_________

Thai Theatre Showcase จัดแสดงที่ TCG มิดทาวน์ นิวยอร์ก และผ่าน Zoom
ดูรายละเอียดโปรแกรมและซื้อบัตรได้ที่ thaitheatre.org/showcase

งานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ณ นครนิวยอร์ก (Tourism Authority of Thailand) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ณ นครนิวยอร์ก (Thailand Board of Investment) ร้าน Pinto Garden และ TCG รวมถึงผู้ประกอบการร้านอาหารไทย พันธมิตรสื่อ และผู้บริจาครายบุคคลอีกมากมาย

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.