วันวันหนึ่งคุณหมดเงินไปกับค่าครองชีพเท่าไหร่ ทั้งค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายจิปาถะเล็กๆ น้อยๆ ที่พอรวมกันก็หลายร้อยบาท
จากนั้นลองหันมาดูจำนวนเงิน 300 กว่าบาท ซึ่งเป็นค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน ที่แค่ใช้จ่ายในแต่ละวันก็แทบไม่เพียงพอแล้ว ไหนจะค่านู่นค่านี่ที่ต่อแถวปรับราคาขึ้นแทบทุกปี แต่ในขณะเดียวกัน ค่าแรงของคนทำงานในประเทศนี้กลับยังแช่แข็งที่เรตเดิม
จริงอยู่ว่ามีการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็เพิ่มขึ้นในจำนวนแค่หลักหน่วยถึงหลักสิบเท่านั้น ซึ่งเอาเข้าจริงจำนวนเงินที่ว่านี้ก็ไม่ได้ช่วยให้คนทำงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้เท่าไหร่เลย
ค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยที่เริ่มต้น 300 บาทมาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบันมีการปรับขึ้นไปกี่ครั้ง และในแต่ละครั้งนั้นมากน้อยแค่ไหน เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายจำเป็นในแต่ละวันหรือไม่ คอลัมน์ City by Numbers หาคำตอบมาให้แล้ว
ไทยกับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน
แม้ว่าเราจะเคยชินกับค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยที่ 300 บาท/วัน แต่ความจริงแล้วอัตราค่าแรงถูกปรับจากปี 2554 ให้เป็นมาตรฐานเท่ากันทั่วประเทศทุกจังหวัดเมื่อปี 2556 และคงอัตรานี้มานานกว่า 4 ปี จนมีการปรับอีกครั้งในปี 2560 ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำในไทยมีการปรับขึ้นทั้งสิ้น 5 ครั้ง ดังนี้
ปี 2556
ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นที่ 300 บาท/วัน (ทั่วประเทศ)
ปี 2560
ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นที่ 300 – 310 บาท/วัน แบ่งเป็น
- 300 บาท/วัน ใน 8 จังหวัด
- 305 บาท/วัน ใน 49 จังหวัด
- 308 บาท/วัน ใน 13 จังหวัด
- 310 บาท/วัน ใน 7 จังหวัด
ปี 2561
ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นที่ 308 – 330 บาท/วัน แบ่งเป็น
- 308 บาท/วัน ใน 3 จังหวัด
- 310 บาท/วัน ใน 22 จังหวัด
- 315 บาท/วัน ใน 21 จังหวัด
- 318 บาท/วัน ใน 7 จังหวัด
- 320 บาท/วัน ใน 14 จังหวัด
- 325 บาท/วัน ใน 7 จังหวัด
- 330 บาท/วัน ใน 3 จังหวัด
ปี 2563
ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นที่ 313 – 336 บาท/วัน แบ่งเป็น
- 313 บาท/วัน ใน 3 จังหวัด
- 315 บาท/วัน ใน 22 จังหวัด
- 320 บาท/วัน ใน 21 จังหวัด
- 323 บาท/วัน ใน 6 จังหวัด
- 324 บาท/วัน ใน 1 จังหวัด
- 325 บาท/วัน ใน 14 จังหวัด
- 330 บาท/วัน ใน 1 จังหวัด
- 331 บาท/วัน ใน 6 จังหวัด
- 335 บาท/วัน ใน 1 จังหวัด
- 336 บาท/วัน ใน 2 จังหวัด
ปี 2565
ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นที่ 328 – 354 บาท/วัน แบ่งเป็น
- 328 บาท/วัน ใน 5 จังหวัด
- 332 บาท/วัน ใน 22 จังหวัด
- 335 บาท/วัน ใน 19 จังหวัด
- 338 บาท/วัน ใน 6 จังหวัด
- 340 บาท/วัน ใน 14 จังหวัด
- 343 บาท/วัน ใน 1 จังหวัด
- 345 บาท/วัน ใน 1 จังหวัด
- 353 บาท/วัน ใน 6 จังหวัด
- 354 บาท/วัน ใน 3 จังหวัด
ก่อนหน้านี้ ในปี 2562 พรรครัฐบาลนายกฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้โฆษณาในช่วงหาเสียงไว้ว่า จะปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เพิ่มขึ้นเป็น 400 – 425 บาท แต่นับตั้งแต่ขึ้นเป็นรัฐบาลในปี 2562 จนครบวาระการทำงาน ค่าแรงขั้นต่ำของคนไทยก็ยังไปไม่ถึงที่เคยโฆษณาเอาไว้
ค่าแรงต่อวันของประเทศอื่นๆ
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปี ค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาสูงสุดเพียง 54 บาท หากเทียบกับประเทศที่อัตราค่าครองชีพค่อนข้างสูงเหมือนกันและมีการปรับค่าแรงขึ้นในปี 2566 อย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน จะพบว่า แม้เกาหลีใต้และญี่ปุ่นจะไม่ได้ปรับค่าแรงขึ้นทุกปีเหมือนกับไต้หวัน แต่การเพิ่มค่าแรงของประเทศเหล่านี้ล้วนมีการพิจารณาจากการเติบโตของประเทศและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นด้วย
- เกาหลีใต้
ปรับค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมงจาก 9,160 วอน หรือประมาณ 240 บาท ในปี 2565 เป็น 9,620 วอน หรือประมาณ 262 บาท ในปี 2566 คิดเป็นค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 149 บาทต่อวัน (ทำงาน 8 ชั่วโมง)
- ไต้หวัน
ปรับค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมงจาก 168 ไต้หวันดอลลาร์ หรือประมาณ 190 บาท ในปี 2565 เป็น 176 ไต้หวันดอลลาร์ หรือประมาณ 200 บาท ในปี 2566 คิดเป็นค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 72 บาทต่อวัน (ทำงาน 8 ชั่วโมง)
- ญี่ปุ่น
ปรับค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมงจาก 930 เยน หรือประมาณ 230 บาท ในปี 2565 เป็น 961 เยน หรือประมาณ 238 บาท ในปี 2566 คิดเป็นค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 64 บาทต่อวัน (ทำงาน 8 ชั่วโมง)
ขณะเดียวกัน หากเทียบค่าแรงเป็นรายชั่วโมงแล้ว ค่าแรงขั้นต่ำของไทยอยู่ที่ประมาณ 41.37 บาท/ชั่วโมงเท่านั้น จริงอยู่ที่ค่าครองชีพบ้านเราอาจไม่ได้สูงเท่าประเทศเหล่านี้ แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายจำเป็นในแต่ละวันแล้ว ด้วยค่าแรงเท่านี้ก็อาจทำให้ใช้จ่ายไม่เพียงพอ หรือถ้าพอสำหรับเลี้ยงชีพในแต่ละวันก็อาจไม่เหลือเก็บเลย
จากค่าแรง 300 บาท สู่ 450 บาท
เพื่อให้แรงงานได้รับค่าแรงอย่างเหมาะสม (ว่าที่) รัฐบาลพรรคก้าวไกลจึงมีนโยบายการผลักดันค่าแรงขั้นต่ำต่อวันให้ขึ้นมาอยู่ที่ 450 บาท และจะปรับระบบค่าแรงขั้นต่ำขึ้นทุกปีตามค่าครองชีพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยรัฐจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าแรงที่สูงขึ้นสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อย (SMEs) ในช่วง 6 เดือนแรก ด้วยการสมทบค่าประกันสังคมในส่วนของผู้ว่าจ้าง สำหรับงานที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
ทั้งนี้ ค่าแรง 450 บาทต่อวันก็อาจไม่ได้เป็นหลักประกันว่าเป็นจำนวนที่เพียงพอหรือสอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบันหรือไม่ เพราะควรต้องพิจารณาการลดค่าครองชีพด้วย โดย ‘รศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ’ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้จะช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือน ทำให้กำลังซื้อในเศรษฐกิจมากขึ้น และเกิดผลบวกจากการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลก็ต้องมีมาตรการสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจควบคู่กันไปด้วย
เพราะนอกจากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจแล้ว แรงงานรายวันเหล่านี้ยังเป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตของเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายในการดำรงชีวิตเช่นกัน
Sources :
Channel News Asia | shorturl.asia/p6UlQ
HRM Asia | shorturl.asia/StOiR
MFP | shorturl.asia/LHroY, shorturl.asia/CPYJ7
Reuters | shorturl.asia/qrosy
กระทรวงแรงงาน | shorturl.asia/qnrIL
ประชาไท | shorturl.asia/yt8ML