อัตลักษณ์ชุมชนท่าฉลอมสู่พื้นที่สาธารณะของทุกคน - Urban Creature

หนุ่มท่าฉลอมรักสาวมหาชัย จนต้องว่ายน้ำข้ามมาหา เอาปลามาฝาก คือเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวต่างฐานะที่อยู่คนละฝั่งน้ำ แต่เมื่อไปถึงท่าฉลอมจริงๆ  ปากน้ำเจ้าพระยามันช่างกว้างใหญ่มาก แพข้ามฟากเท่านั้นถึงจะพาเราข้ามไปได้ ว่ายน้ำคงไม่ไหวแน่ๆ แถมตอนนี้มีทั้งเรือประมง เรือใหญ่แล่นขนส่งสินค้าอีกต่างหาก

ตำบลท่าฉลอม เป็นชุมชนชาวจีน ที่เคยมั่งคั่งด้วยธุรกิจประมง ในอดีตสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  พระองค์ได้เสด็จ ท่าฉลอมถือว่าเป็นสุขาภิบาลแห่งแรกของประเทศ

ผ่านไปเกือบร้อยปี ทรัพยากรทางทะเลในอ่าวไทย รวมถึงธุรกิจประมงของท่าฉลอมเริ่มซบเซา ชาวชุมชนจึงรวมกันเป็นวิสาหกิจชุมชน มีส่วนร่วมเพื่อช่วยกันสร้างชุมชนท่องเที่ยว โดยมีการจัดการตนเอง และกำลังค่อยๆ สร้างให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ 

ตำบลท่าฉลอม มีสถานที่ที่เป็นทรัพยากรในการใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชนหลายอย่าง แต่สิ่งที่ทีมงานประทับใจมาก คือ คนรุ่นป้า รุ่นลุง ช่างแข็งขันผลักดันโครงการ แสดงความเห็นกันแบบจริงจัง สลับมุกขำขัน คอยแซวทีมงานบ้าง ช่างภาพบ้างอย่างสนุกสนาน นี่คือการทำงานออกแบบที่ครึกครื้นที่สุดตั้งแต่ทีมงานเคยเห็นมา และนี่คือสิ่งที่ทีมสถาปนิกจากสถาบันอาศรมศิลป์ใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้าง ลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชน ร่วมกับชาวท่าฉลอม

“ตอนที่เจอกับอาศรมศิลป์ เขาคุยให้ฟังว่าเคยพัฒนาที่ไหนมาบ้าง ทางผมเองและชุมชนก็สนใจ ตอนนั้นอาศรมศิลป์ก็พยายามหาพื้นที่ที่พัฒนาเพื่อเป็นลานกีฬา พอดีทางผมเองก็คุยกับเทศบาล เขาก็พอมีโครงการปรับปรุงพื้นที่สถานีอนามัยท่าฉลอม ให้เหมือนกับเป็นสวนสุขภาพ  ให้คนมาออกกำลังกาย และฝั่งมหาชัยเองพื้นที่บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองก็มีโครงการที่จะปรับภูมิทัศน์ให้ดีขึ้น ซึ่งก็เป็นโอกาสที่ดี

“จริงๆ พื้นที่ของท่าฉลอมเป็นของเทศบาล เขาก็มีการออกแบบอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการออกแบบจากกองช่าง การออกแบบของเขาจะเป็นการออกแบบที่ไม่ได้ให้ชุมชนมามีส่วนร่วมแบบราชการ เขาก็ออกแบบตามที่เขาเห็นว่าดี มันอาจจะไม่ได้รองรับความต้องการของชุมชน  แต่กระบวนการของโครงการลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชน เห็นว่าแตกต่างอย่างชัดเจน เพราะที่ผ่านมาอย่างเทศบาลเขาไม่ได้มีกระบวนการที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้มากเท่าไหร่ อาจจะมีการประชุมถามอะไรบ้างนิดหน่อย แต่ในเรื่องของการลงรายละเอียดให้ชุมชนได้เข้ามาแสดงความคิดเห็น พอให้ความคิดเห็น เมื่ออาศรมศิลป์เข้ามาเอาความคิดเห็นของชุมชนไปปรับปรุง ยังให้ชุมชนกลับมาดูอีกครั้งพอปรับปรุงแล้วเป็นไปตามที่ชุมชนต้องการหรือเปล่า”

ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม รองประธานบริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการทางสังคม เป็นผู้นำทางธรรมชาติให้สัมภาษณ์ถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

หลังจากสังเกตการณ์กระบวนการระดมความคิดเห็นในครั้งแรก ทีมงานได้กลับไปติดตามกระบวนการนำเสนอแบบกับชุมชนอีกครั้งในสองสามเดือนต่อมา ภายในห้องประชุมรอบนี้มี เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์บ้านท่าฉลอม วิสาหกิจชุมชน  มีอดีตไต้ก๋งเรือ มีคุณลุงสามล้อ มีคุณป้าๆ อีก 4-5 ท่าน บางท่านเป็นคนดูแลสุสาน บางท่านค้าขาย  ทั้งหมดเป็นอาสาสมัครในชุมชนหลายอย่าง และเพิ่งกลับมาจากการประชุมอสม. พอเห็นแบบ 3D ที่ในสายตาเราก็โอ้โห สวยมาก … แต่ป้าๆ กลับบอกว่า ต้องให้ไปปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยให้เขาหน่อย เพราะเขาห่วงเรื่องโครงสร้างอาคารเดิมที่พวกเขาเห็นมาแต่เกิดว่าจะปลอดภัยกับเด็กๆ หรือไม่

ซึ่งทีมภูมิสถาปัตย์ และ สถาปนิกของสถาบันอาศรมศิลป์ก็รับฟัง แล้วรับปากว่าจะนำไปปรับแบบมาเสนอใหม่ ซึ่งทีมงานของอาศรมศิลป์ กลับรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา และทางพวกเขาได้เรียนรู้จากชุมชนมากขึ้นด้วย ที่สำคัญทุกสิ่งมาจากสิ่งที่ชุมชนรู้ดีที่สุด ในฐานะผู้ใช้ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับพื้นที่สาธารณะของพวกเขา 

“ทางชุมชนก็รู้สึกว่าเขาได้มามีส่วนร่วมมากขึ้น และมีความรู้สึกของการเป็นเจ้าของก็มีมากขึ้น และอีกส่วนของความคิดเห็นของชุมชนก็ได้ถูกนำมาลงในแบบ และทำให้เห็นว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่จะตอบสนองชุมชนมากกว่าเดิม   ผมคิดว่ากระบวนการแบบนี้โครงการอื่นๆ ก็ควรเอาไปใช้ เพราะว่าโครงการที่มันเป็นพื้นที่สาธารณะชุมชนจะได้ใช้ประโยชน์ หรือจะมีผลกระทบก็ควรให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม เพื่อให้ประโยชน์จากโครงการเหล่านี้มันมีมากขึ้น ตอบสนองความต้องการของชุมชนด้วย หรือลดผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งถ้าเป็นโครงการอื่นทางภาครัฐมา ก็อาจจะไม่ได้มองถึงผลกระทบบางอย่างที่ชุมชนจะได้รับผลกระทบ” ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม รองประธานบริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด กล่าวปิดท้าย

ความรู้สึกของกระบวนการที่ทำให้คนในชุมชนปลอดภัยในการแสดงความเห็น การจัดกิจกรรมในชุมชน แยกกลุ่มย่อยๆ ผู้นำกระบวนการก็อ่อนน้อมถ่อมตน พร้อมเป็นผู้ฟัง ทำหน้าที่เชื่อมโยง ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมจากหลากหลายอาชีพ หลายวัย มีความรู้สึกไม่ทางการ รู้สึกใกล้ชิดทำให้ไม่เคอะเขิน  การออกแบบจากวิถีวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของชาวชุมชน ซึ่งให้ผู้ใช้จริงได้สะท้อนความต้องการ มากกว่าให้ใครไม่รู้ อยู่ที่ไหนไม่รู้ ก๊อบปี้แบบต่อๆ กันมา แล้วเอามาให้ชุมชนที่มีบริบทแตกต่างจากแบบต้นฉบับใช้ต่อ ซึ่งเราคงเห็นกันบ่อยๆ เช่น สนามเด็กเล่นที่อยู่ไกลจากชุมชน เกินกว่าเด็กจะไปเล่นได้ หรือสวนสาธารณะที่สุดท้ายปล่อยให้รกร้าง เพราะผู้ใช้ไม่รู้ว่าเขาสามารถไปเล่นได้ไหม งบประมาณมาจากไหน

ความรู้สึกเป็นเจ้าของ คืออยากใช้ อยากมีส่วนร่วม ความรู้สึกภูมิใจ ทำอะไรก็มีความสุข งบประมาณจึงไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป เพราะชุมชนเต็มใจจ่าย เพื่อสุขภาวะของพวกเขา

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.