ต้า พาราด็อกซ์ พระเครื่อง หนังสือพระฉบับเยาวชน - Urban Creature

ย้อนกลับไปเมื่อสองสามเดือนที่แล้ว กองบรรณาธิการ Urban Creature ได้ให้กำเนิดคอลัมน์ Another Me เพื่อเล่าอีกมุมของคนดังในแบบที่เราไม่รู้จักมาก่อน และประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากระหว่างการประชุม คือการค้นพบว่าชีวิตล่างเวทีของ ต้า พาราด็อกซ์ หรือ อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา นิยมชมชอบการส่องพระอยู่ไม่น้อย

แน่นอนว่าการส่องพระ เล่นพระ จะเป็นงานอดิเรกของใครก็ได้ แต่เวลาไปดูคอนเสิร์ตพาราด็อกซ์ สิ่งที่เราเห็นคือความบ้าคลั่งในการแสดง และใส่กันไม่ยั้งทั้งคณะ ปลุกอารมณ์แฟนเพลงให้พลุ่งพล่านมากว่า 20 ปี จนแทบนึกไม่ออกว่าฟรอนต์แมนผู้สับสายกีตาร์อย่างเมามัน นั้นอยู่ในโหมดไหนในวงการพระ จะเป็นแนวนักเลงเก๋าๆ ห้อยพระเต็มคอ หรือเป็นเซียนพระมืออาชีพด้านการแลกเปลี่ยนทำกำไร 

สารภาพตรงนี้ว่าเดาไม่ถูกจริงๆ จนต้องต่อสายถึงพี่ต้าในวันที่โลกข้างนอกยังไม่อนุญาตให้เราออกมาเจอกัน และขออนุญาตชวนคุณผู้อ่านที่ไล่สายตาถึงตรงนี้มารู้ไปพร้อมกันว่า จากยืนมองท้องฟ้าไม่เป็นเช่นเคย พี่ต้าของเราหันมายืนส่องพระหน้าแผงได้ยังไง 

เดบิวต์เข้าวงการ

ผมไม่แน่ใจนักว่านักดนตรีที่เดินทางทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศไทยจะได้อะไรติดไม้ติดมือกลับมาฝากคนที่บ้าน ถ้าเป็นกรณีทั่วไปเวลาไปเที่ยวต่างจังหวัด ผมนึกถึงของฝากประเภทของกิน เช่น โรตีสายไหมของอยุธยา ไส้อั่ว แคบหมูจากเชียงใหม่ ขนมหม้อแกงของบรรดาแม่กิม แต่ลองได้ชื่อว่าเป็นร็อกสตาร์ อะไรแบบนั้นคงธรรมดาไป 

“ตั้งแต่เริ่มทัวร์คอนเสิร์ตเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว เวลาที่ไปต่างจังหวัดจะไปไหว้พระ แต่ก็ยังไม่ได้ศึกษาอะไรมาก อาศัยว่าเจอวัดไหนก็เข้าวัดนั้น พระเครื่องเป็นของฝากที่รู้สึกว่าแปลกดี เพราะต้องไปให้ถึงวัด ไม่ใช่จะไปเช่าที่ไหนก็ได้ เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าเราไปเที่ยวที่นี่มาแล้วจริงๆ 

“แต่ส่วนมากพระที่เช่าจะเป็นพระใหม่อยู่แล้ว เปรียบเป็นเพลงก็เหมือนอัลบั้มรวมฮิต ไม่ใช่ออริจินัลที่เป็นของแรร์หายาก พระรุ่นใหม่ก็ราคาไม่ได้สูงมาก ห้าสิบบาทถึงร้อยบาท เป็นของที่ระลึกไปฝากหัวหน้าค่าย ฝากคุณพ่อที่ชอบดูพระเป็นทุนเดิม ผมก็พยายามเลือกองค์ที่ดูเก่า ดูขลัง และหายาก”

หลังจากคลุกคลีอยู่กับการเช่าพระไปฝากคนที่บ้านเป็นประจำ ประกอบกับการชักชวนของเพื่อนสนิท ทำให้ฟรอนต์แมนแห่งคณะพาราด็อกซ์ เริ่มเห็นเสน่ห์และมนต์ขลังที่ซ่อนอยู่ในตัวพระเครื่อง จึงเริ่มเข้าสู่วงการพระเครื่อง และส่งพระในมือเข้าประกวดและดันชนะเลิศตั้งแต่ครั้งแรกเสียด้วย

“เพื่อนสนิทมาป้ายยาแล้วดึงเข้าไปในกลุ่มคนเล่นพระ ก็ไปฝังตัวดูเขาซื้อขายกันไปเรื่อยเปื่อยเพราะราคาค่อนข้างสูง คนละเรื่องกับการเช่าพระตามตู้ทั่วไป ถ้าคนไม่ได้สนใจพระจริงจังอาจจะมองว่าเป็นผงปูน เป็นเหรียญอะไรก็ไม่รู้ 

“ผมเองก็ตกใจว่าพระอะไรมูลค่าเป็นหมื่น แต่พอเริ่มดู เริ่มศึกษาจริงจังมากขึ้น ก็เริ่มเห็นคุณค่า เลยลองเช่าพระมาองค์หนึ่ง เพื่อนคนเดิมนี่แหละแนะนำว่าถ้าอยากรู้ว่าเก๊หรือแท้ก็ให้ส่งประกวด ผมก็งงว่ามีการประกวดพระด้วยเหรอ แต่ก็ลองดู

“พอส่งไปดันได้รางวัลชนะเลิศ (หัวเราะเบาๆ) ตกใจเหมือนกัน แต่ก็สนุกดี ส่วนมากผลแพ้ชนะจะวัดกันที่การเก็บรักษาว่าพระองค์ไหนสภาพดีกว่ากัน ที่สำคัญกว่าคือการได้รางวัลเหมือนได้การันตีว่าเป็นพระแท้ ส่งประกวดได้ที่หนึ่งถึงสาม ก็สบายใจแล้ว มีคนการันตีให้ว่าแท้แน่นอน อยากปล่อยต่อก็ซื้อขายได้คล่องขึ้น”

พอเป็นร็อกสตาร์ ราคาก็ไม่ธรรมดาไปด้วย

กฎเหล็กของหน้าใหม่ในวงการพระเครื่องคือ ห้ามซื้อเด็ดขาด เพราะเล่ห์เหลี่ยมของคนที่อยู่ในวงการมานานมันน่ากลัว เต็มไปด้วยกลเม็ดเด็ดพราย จะเรียกว่าเป็นดงของเสือ สิงห์ กระทิง แรด ก็อาจจะใจร้ายเกินไป แต่ข้อแนะนำที่เป็นหลักสากลและเอาไปปรับใช้ได้แทบจะทุกวงการของสะสมคือ ลองศึกษาก่อน อย่าใจร้อน ค่อยเป็นค่อยไป 

“ถ้าหัดเล่นสเต็ปแรกแนะนำให้พยายามอ่านหนังสือหรือหาข้อมูลให้ได้เยอะที่สุด มือใหม่เริ่มต้นดูจากในเพจก็ได้ ถ้าอยากเจาะลึกสายไหนก็ให้เข้าไปเพจนั้น เดี๋ยวนี้ง่ายแล้ว มีทั้งเพจพระ กลุ่มชมรมคนรักพระ มีหลายประเภท หลายเกจิอาจารย์ เอาให้ชัวร์ว่าตัวเองชอบจริงๆ ก่อน วงการนี้เสี่ยงต่อการโดนหลอก อย่างผมนี่เจอราคาร็อกสตาร์ตลอด”

เพราะเป็นร็อกสตาร์ ก็เลยต้องเจอราคาไม่ธรรมดาเป็นประจำ เรียกง่ายๆ คือสูงกว่ามาตรฐาน 

“ฝากเพื่อนซื้อกับผมไปซื้อเองราคาไม่เหมือนกันนะ เขาไม่ยอมลดให้ ต้องซื้อราคานักท่องเที่ยวตลอด จากร้อยหนึ่งโดดไปพัน มารู้ตอนที่จะเอาไปเทิร์นแล้วเห็นความจริงว่า ราคาที่ได้เช่ามาเวอร์ขนาดไหน (หัวเราะ) 

“เดี๋ยวนี้เลยใช้วิธีต่อรองด้วยการเอาพระไปเทิร์นก่อน ถ้าตู้บอกว่าราคาองค์นี้ รุ่นนี้ ไม่แพงนะ ผมก็เปลี่ยนเป็นเช่าแทน (ฮา) ก็จะได้ราคาที่ไม่กล้าบวกเยอะ สนุกดีเรื่องเล่ห์เหลี่ยมอะไรแบบนี้ เหมือนเป็นการชิงไหวชิงพริบกัน” 

นักเลงพระแห่งวงการเพลงเปรียบเทียบการสะสมพระเครื่องไว้ว่า เหมือนกับการเล่นหุ้นระยะยาว คือราคาจะขึ้นไปเรื่อยๆ และเก็บไว้เก็งกำไรได้ 
“การสะสมพระเครื่องถ้าเกิดว่าเราปล่อยออกไม่ได้เลยเงินจะจม เรื่องของเรื่องคือที่บ้านจะชอบบ่นจนเกือบอำลาวงการมาหลายรอบ ผมจะแก้ตัวว่าสะสมพระก็เหมือนซื้อหุ้น เดี๋ยวราคาก็ขึ้น (หัวเราะ) ตอนนี้ก็มีหุ้น (พระเครื่อง) อยู่ประมาณร้อยองค์ ไม่ได้เยอะมากครับ มูลค่าก็ไม่ได้สูง มีอยู่ช่วงหนึ่งก็ปล่อยไปเยอะเหมือนกัน

“ราคาพระเครื่องในอนาคตน่าจะมีแต่สูงขึ้น แต่ตอนนี้ก็เงียบเหมือนกับทุกวงการที่โดนผลกระทบจากโควิด-19 ถ้าจะมองในแง่ดีก็คือน่าช้อน (ฮา) ใครมีเงินเย็นอยู่ไปช้อนได้เลย”

เศียรพรหมกลาง หลวงปู่ดู่ วัดสะแก และเหรียญพระพุทธโคดม หลวงพ่อพาน วัดโป่งกะสัง 

โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน

ความชอบของคนเล่นพระก็ไม่ต่างอะไรกับวงการอื่นอย่างคนเล่นรถ หรือสะสมนาฬิกา คือมียี่ห้อที่ชอบ สไตล์ที่ใช่ ต่างกันออกไป แต่ความสนุกของคนเล่นพระจะมากกว่านั้น เพราะพระเกจิแต่ละสายมักจะมาพร้อมสตอรี่ที่ไม่ธรรมดา หรือจะเรียกว่าอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ก็ได้

“ตอนนี้ศึกษาอยู่สองพระเกจิ องค์แรกเป็นหลวงปู่ดู่ วัดสะแก สายเมตตามหานิยม ใส่แล้วเบาสบายทำงานราบรื่น สายที่สองจะเป็นหลวงพ่อพาน วัดโป่งกะสัง เน้นไปทางอยู่ยงคงกระพัน เป็นสายเหนียว”

ถ้าลองไปเปิดในเพจ หรือหนังสือพระก็จะเห็นเรื่องราวของอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ถูกหยิบมาเล่าสู่กันฟังเสมอ มีตั้งแต่เรื่องใหญ่โตระดับประเทศ ไปจนถึงเรื่องเล็กระดับตำบล อย่างเพื่อนของต้า ก็เคยอธิษฐานจนไปเล่นเกมชิงรางวัลแล้วได้ตั๋วบินไปโอลด์ แทรฟฟอร์ด ยืนกระทบไหล่ David De Gea มาแล้ว 

“ผมจะไม่มีเรื่องปาฏิหาริย์หนังเหนียว ยิงไม่เข้า เพราะว่าไม่เคยลองเหมือนกัน (หัวเราะ) ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องงาน เหมือนเวลาเราเช่าพระมาแล้วรู้สึกเสียดายเงิน เลยอธิษฐานว่าขอให้ได้อะไรกลับมาบ้าง โทรศัพท์ดังได้งานทันทีในราคาพระเติมศูนย์เข้าไปอีกตัวหนึ่ง บางทีมันเป็นตัวเลขที่ตรงกันเป๊ะจนตกใจ อิทธิฤทธิ์จริงหรือเปล่าไม่รู้นะ แต่เราก็เหมาไปว่าดีกว่าไม่มีอะไรเลย”

โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน เพราะเรื่องแบบนี้ไม่เข้าใครออกใคร และประเทศไทยมักจะมีเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างคำว่าศรัทธากับงมงายเสมอ สำหรับต้า พาราด็อกซ์ มองว่าเป็นเรื่องที่แล้วแต่คน เพราะเห็นว่าการสะสมพระเครื่องกับการเป็นคนดี ก็เป็นคนละเรื่องเหมือนกัน และขึ้นอยู่กับศรัทธาของแต่ละคนเช่นกัน

“บางคนก็แยกไม่ออก ลองได้เชื่ออะไรก็เชื่อไปเลย การที่สะสมพระเครื่องแล้วจะทำให้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาหรือเปล่า ผมว่าไม่เกี่ยว ต้องแยกกัน บางคนก็มองพระเครื่องเป็นแค่สินค้า

“ส่วนตัวการสะสมพระทำให้เริ่มเข้าหาพุทธศาสนา ตอนแรกก็อยากเห็นอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ เลยศึกษาบทสวดมนต์ แผ่เมตตา เพื่อให้พระที่เราแขวนศักดิ์สิทธิ์ขึ้น พอนานเข้าก็จะเริ่มซึมซับรสพระธรรม กลายเป็นว่ารู้สึกอยากเป็นคนดี เริ่มมีความยับยั้งชั่งใจ ถ้าแขวนพระอยู่ เงื้อๆ มือจะตีแมลงสาบสักตัวยังต้องคิด ไม่กล้า เกรงใจพระ ค่อยๆ ปรับตัวเข้าวัดเข้าวามากขึ้น ถ้าไม่ได้สะสมพระเครื่องนี่ผมไม่เฉียดวัดหรอกครับ” 

หนังสือพระฉบับเยาวชน โดยต้า พาราด็อกซ์ 

นอกจากเล่นดนตรี ต้า พาราด็อกซ์ ยังมีงานอดิเรกกึ่งอาชีพที่หลากหลาย ทั้งจัดรายการวิทยุ ทำรายการผี ทำเพลงประกอบโฆษณา เขียนนิยาย ฯลฯ แม้เขาจะบอกว่าพระเครื่องเป็นเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของชีวิต แต่ก็จริงจังถึงขนาดจะทำหนังสือเลยทีเดียว 

“หนังสือพระไม่มีราคาตก มีแต่แพงขึ้น หนังสือรวมภาพเก่าโดยเฉพาะของพระที่หายากมีคุณค่าขึ้นทุกวัน แต่ส่วนมากจะเป็นเล่มใหญ่ ขนาดเท่าสารานุกรมเพื่อให้เห็นกันชัดๆ ตัวหนังสือจะใหญ่มาก (หัวเราะ) เพราะคนเล่นพระจะมีอายุหน่อย 

“การส่องพระมีเสน่ห์เหมือนดูงานศิลปะ หรือที่เรียกว่าซาบซึ้ง พระบางองค์ดูแล้วซึ้ง เมื่อก่อนก็คิดว่าจะใช้คำเวอร์อะไรขนาดนั้น แต่พอดูไปดูมามันซึ้งจริงๆ ผมอยากให้คนรุ่นใหม่ได้รับเสน่ห์แบบนั้นด้วย เลยเกิดไอเดียทำหนังสือพระฉบับเยาวชน เน้นไปที่เสน่ห์ของการดูพระเครื่อง ไม่ได้เน้นวิธีดูพระแท้ พระเทียม”

พระผงพิมพ์สมเด็จ หลังยันต์อุ แบบมีคราบปลวก หลวงพ่อพาน วัดโป่งกะสัง

ไอเดียนี้ไม่ได้พึ่งเกิดเพราะต้าเริ่มทำหนังสือพระฉบับเยาวชนเล่มนี้มาประมาณ 5 – 6 ปีแล้ว โดยต้องการถ่ายทอดเรื่องราวของหลวงปู่ดู่ วัดสะแก ที่ตนเองนับถือ สาเหตุที่ใช้เวลานาน เพราะรายละเอียดค่อนข้างเยอะ ภาพถ่ายก็หายาก แต่ต้าก็บอกว่า อยากใช้เวลากับหนังสือเล่มนี้ให้มากที่สุด ไม่รีบร้อน เพราะถ้าไม่รอบคอบและลองมีรูปพระปลอมหลุดออกไปคงดูไม่จืดแน่ 

“ผมเสียเวลาไปนานมากกับการกำหนดไซซ์ (หัวเราะ) ตอนนี้ลงตัวแล้วว่าคงทำเป็นขนาดพ็อกเกตบุ๊ก ที่กินเวลานานเพราะว่าคิดเยอะ แล้วก็ต้องไปรวบรวมรูป ขอความเมตตาจากบรรดาเซียนพระ ตอนนี้ทำไปประมาณสี่สิบเปอร์เซ็นต์ได้แล้ว ผมฝันว่าอยากให้เล่มนี้เป็นตำนาน ให้คนเก็บสะสมเป็นหนังสือขึ้นหิ้ง ไม่ใช่พิมพ์ออกไปแล้วทิ้งอยู่ตามกระบะเล่มละสิบบาท ตั้งใจว่าทำเสร็จรายได้จะถวายพระไปเลยทุกบาททุกสตางค์ ความตั้งใจคือได้ทั้งทำบุญ และทำสิ่งที่เราชอบไปพร้อมกัน” 

บทเรียนวงการพระ 

อีกหนึ่งคำถามคลาสสิกที่ใช้กันประจำเวลาสัมภาษณ์คนดังหรือศิลปินคือ คุณได้บทเรียนอะไรจากสิ่งที่กำลังทำอยู่ หลายคำตอบที่ได้รับกลับมาเหนือกว่าที่คาดไปมาก สำหรับ ต้า พาราด็อกซ์ เตรียมคำตอบไว้ให้ตั้งแต่เห็นแนวคำถามว่า 

“บทเรียนจากวงการพระเครื่องของผมนี่เป็นเรื่องตลกมาก มานั่งนึกก็มีอยู่สามข้อ อันดับหนึ่งที่ได้กับตัวมากที่สุดคือการฝึกดูคน เห็นเล่ห์เหลี่ยม ชั้นเชิงในการซื้อขาย สอนให้ใช้กับทุกอาชีพได้เลย เหมือนฝึกให้ระมัดระวังตัว ลับคมตลอดเวลา ไม่ยอมให้ใครมาหลอก 

“เรื่องที่สองคือ ฝึกเป็นคนช่างสังเกต ให้เราเห็นความงดงามทางศิลปะของพระเครื่อง เห็นความซาบซึ้งของงานว่ามีความงามแบบไหน เห็นคุณค่าของเก่า และรู้จักฝึกแยกแยะของแท้ของปลอม ข้อสุดท้ายพระเครื่องกล่อมเกลาดึงให้เราเข้าสู่พระพุทธศาสนาได้ง่ายขึ้น อย่างที่บอกถ้าเกิดไม่ได้สะสมพระผมก็คงไม่สวดมนต์ ไม่เข้าวัด บางทีเจอพระเกจิองค์ไหนเราชอบก็อยากไปไหว้ให้ได้สักครั้ง เล่นพระเป็นหนทางพาเราเข้าสู่พระพุทธศาสนาแบบนุ่มนวล”

เดี๋ยวนี้การใช้ชีวิตของเรามีไลฟ์โค้ชมาให้คำแนะนำ วงการแฟชั่นนางแบบนายแบบก็มีเมนเทอร์ให้คำปรึกษา เพราะไม่ว่าจะวงการไหน หากมีความเก่งกาจจนไปสอนคนอื่นได้ ก็มักจะถูกยกให้เป็นอาจารย์เสมอ แต่ในฐานะที่กำลังเขียนหนังสือ ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญไม่น้อย ต้าบอกว่า ขอเป็นนักสะสมตลอดชีพ ไม่ขอขึ้นชั้นเป็นเซียนดีกว่า

“พระเครื่องเป็นวงการที่มีเสน่ห์มาก ค้นพบตอนส่องพระว่าทุกอย่างในโลกมนุษย์มีค่า ขึ้นอยู่กับเราที่จะให้คุณค่ากับตรงนั้นอย่างไร สำหรับอนาคตของผม คงต้องรอหลังทำหนังสือเสร็จ แต่มีแนวโน้มอำลาวงการแลกเปลี่ยนพระเครื่องสูง อาจจะคอยฝังตัวหาข้อมูล ไม่ได้ทำเป็นธุรกิจแน่ๆ อย่างมากคงเอามาแลกเปลี่ยน ก็ไม่น่าจะมีฉายาเซียนต้าหรอกครับ (หัวเราะ) อาจจะเป็นหมูน้อยต้า สมันน้อยมาให้เชือดแล้ว”

ภาพ : Tatastudio

Special Thanks : แฟนคลับพาราด็อกซ์ที่ถ่ายรูปให้พี่ต้า และพี่ต้าที่ส่งให้เราอีกต่อหนึ่ง 

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.