วัฒนธรรมคว่ำบาตร และพลวัตของอำนาจในภาพยนตร์ TÁR - Urban Creature

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

หลังห่างหายจากงานกำกับไปนานกว่า 16 ปี ล่าสุดผู้กำกับมากฝีมืออย่าง Todd Field ก็กลับมาพร้อมกับผลงานภาพยนตร์เรื่อง Tár ที่เปิดตัวครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส (Venice Film Festival) เมื่อปีที่ผ่านมา และล่าสุดก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 6 สาขาด้วยกัน รวมถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย

สำหรับภาพยนตร์เรื่อง Tár นั้นเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของ Lydia Tár (รับบทโดย Cate Blanchett) วาทยกรหญิงผู้แสนเก่งกาจและมากประสบการณ์ ความสามารถของเธออยู่ในระดับที่หาตัวจับได้ยากในแวดวงดนตรี แน่นอนว่าสถานะทางสังคมที่เป็นทั้งวาทยกรเอกและอาจารย์ที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์นับร้อยพัน นั่นอาจเป็นจุดสูงสุดของอาชีพการงานที่ใครคนหนึ่งจะไปถึงได้ หากแต่ช่วงชีวิตคนเราต่างก็แปรผันไปตามสถานการณ์ เมื่อมือเอื้อมแตะถึงขอบฟ้า แต่เท้ายังย่ำอยู่ในโคลนตม ก็ไม่แปลกที่ต่อให้แม้จะยืนอยู่ในจุดที่สูงแค่ไหนก็พร้อมร่วงหล่นลงมาได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะกับ Tár ศิลปินมากความสามารถที่เต็มไปด้วยรอยด่างพร้อยและข้อบกพร่องนับไม่ถ้วน ซ้ำยังทำในสิ่งที่ก้าวข้ามเส้นแบ่งศีลธรรมและจริยธรรมอยู่หลังม่านมานานแรมปี

แน่นอนว่าความสำเร็จในแง่ของรายได้และคำวิจารณ์ของภาพยนตร์เรื่องนี้คงเป็นที่ประจักษ์อย่างไม่มีข้อกังขา แต่ความสำเร็จอีกนัยหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ การหยิบจับประเด็นที่สังคมให้ความสนใจมาบอกเล่า โดยทำให้เรื่องราวเหล่านั้นยังคงอยู่ในบทสนทนา จนเกิดการพูดคุยถกเถียงกันต่ออย่างไม่รู้จบหลังจากที่ลุกออกจากโรงหนังไป

ภาพยนตร์ Tar ออสการ์ Cate Blanchett ทาร์ cancel culture อำนาจทางเพศ

‘เวลา’ คือตัวแปรสำคัญของวัฒนธรรมคว่ำบาตร

ในช่วงปีหลังมานี้ ทุกครั้งที่มีประเด็นร้อนของเหล่าคนดังที่เกิดข้อโต้แย้งกันบนโซเชียลมีเดีย หลายคนอาจคุ้นหูและผ่านตากับคำว่า ‘วัฒนธรรมคว่ำบาตร (Cancel Culture)’ มาไม่มากก็น้อย ซึ่งความหมายโดยกว้างของคำนี้คือ การเลิกสนับสนุนผลงานของเหล่าศิลปินที่มีปัญหา (Problematic) ในที่นี้อาจหมายถึงการมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือมีทัศนคติที่เป็นภัยต่อคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ การใช้ความรุนแรงที่ก่อให้เกิดบาดแผลทั้งร่างกายและจิตใจ ตลอดไปจนถึงการล่วงละเมิดทางเพศ 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเหตุการณ์ #MeToo ที่เหยื่อจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศหลายคนออกมาพูดถึงประสบการณ์เลวร้ายที่ถูกกระทำโดย ‘ศิลปิน’ ผู้มีภาพลักษณ์ใสสะอาด มีหน้ามีตาในสังคม ทำให้หลายคนจากหลากหลายวงการถูกคว่ำบาตรจากทั้งแฟนคลับและสื่อกระแสหลัก แต่น่าเศร้าที่ยังมีอีกหลายคนเช่นกันที่โลดแล่นในวงการและมีผู้สนับสนุนอย่างอุ่นหนาฝาคั่งเหมือนเคย

ประเด็นเหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่ยังเป็นอะไรที่คนวกกลับมาถกเถียงกันอยู่บ่อยครั้ง เมื่อไม่นานนี้ก็มีกรณีที่นักแสดงทำร้ายร่างกายแฟนสาว นักเขียนนวนิยายชื่อดังที่มีทัศนคติเหยียดเพศ ต่อต้านการมีอยู่ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ศิลปินเจ้าของเพลงดังที่ล่วงละเมิดทางเพศมากมาย เช่นเดียวกันกับประเด็นหลักของภาพยนตร์เรื่อง Tár ที่หยิบจับวัฒนธรรมคว่ำบาตรในสังคมมาบอกเล่าและตั้งคำถามชวนขบคิด

ภาพยนตร์ Tar ออสการ์ Cate Blanchett ทาร์ cancel culture อำนาจทางเพศ

“เวลา คือสิ่งสำคัญ
เวลา คือส่วนสำคัญยิ่งในการตีความ
คุณเริ่มต้นโดยไม่มีฉันไม่ได้
ฉันเป็นคนหมุนเข็มนาฬิกา”

ภาพยนตร์เปิดเรื่องมาด้วยการพาเราไปอยู่ในวงสัมภาษณ์ของ Tár ณ สตูดิโอรายการโทรทัศน์แห่งหนึ่ง เมื่อพิธีกรถามถึงการตีความความหมายและหน้าที่ในฐานะวาทยกร เธอจึงตอบกลับด้วยท่าทีสบายๆ และกล่าวว่าเวลาเป็นสิ่งสำคัญ เปรียบว่ามือทั้งสองของเธอนั้นมีหน้าที่ในการควบคุมจังหวะ ทำนอง และเวลา เมื่อเธอยกมือขึ้นหนึ่งข้าง ดนตรีถึงจะเริ่มบรรเลงได้ หากมืออีกข้างหยุดเคลื่อนไหว เสียงดนตรีและเวลาก็จะหยุดตาม ราวกับเป็นเจ้าแห่งกาลเวลาที่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ตามใจปรารถนา

ว่าแต่เวลานั้นสำคัญต่อการตีความอย่างไร ฉากสำคัญฉากหนึ่งเกิดขึ้น ณ ชั้นเรียนดนตรี ขณะที่ Tár กำลังถ่ายทอดองค์ความรู้มากมายให้กับผู้คนตรงหน้า เธอยกตัวอย่างคีตกวีโลกชื่อดังอย่าง บาค (Bach) ขึ้นมาในบทสนทนา แต่ลูกศิษย์ในชั้นเรียนคนหนึ่งตอบกลับว่า “ความเกลียดชังผู้หญิงของบาค ไม่อาจทำให้ผมศึกษาดนตรีของเขาได้อย่างจริงจัง” ประโยคดังกล่าวสร้างความสับสนให้กับ Tár อย่างมาก เพราะสำหรับเธอ พฤติกรรมและเรื่องส่วนตัวของบาคไม่มีความเกี่ยวข้องกับผลงานระดับมาสเตอร์พีซของเขาแต่อย่างใด 

จริงอยู่ที่ในยุคสมัยหนึ่งบาคอาจถูกจดจำและได้รับการยกย่องว่าเป็นคีตกวีเอกของโลก แต่เมื่อเวลาผ่านไป การรับรู้และการตีความต่อสิ่งต่างๆ ในสังคมก็แปรเปลี่ยน เมื่อผู้คนมีการตระหนักรู้มากขึ้น สิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองเป็นเรื่องปกติทั่วไป หากมองย้อนกลับไป ณ วันนี้ อาจเป็นเรื่องที่ยากจะยอมรับได้ ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวัฒนธรรมคว่ำบาตรอาจไม่มีผลมากนักต่อศิลปินที่ตายจากเราไปแล้ว แต่แน่นอนว่าการรับรู้ในสังคมที่มีต่อพวกเขาจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่สิบกี่ร้อยปี ผู้คนก็ยังสามารถปลุกวิญญาณ ขุดคุ้ยพฤติกรรมสุดฉาว และยกความเลวร้ายขึ้นมาแช่งชักหักกระดูกได้อยู่เสมอ

ภาพยนตร์ Tar ออสการ์ Cate Blanchett ทาร์ cancel culture อำนาจทางเพศ

เมื่อยุคสมัยไม่แยกผลงานออกจากตัวบุคคลอีกต่อไป

เช่นเดียวกันกับตัวละคร Tár ตลอดการดำเนินเรื่อง เราจะเห็นได้ว่า ‘เวลา’ เข้ามามีบทบาทสำคัญตั้งแต่ต้นจนจบ จากบทสนทนาเริ่มเรื่องที่เธอพูดถึงความสำคัญของเวลาและการตีความในฐานะวาทยกร ไปจนถึงเสียงเข็มนาฬิกาในบ้านที่ดัง ติ๊กต่อก… ติ๊กต่อก…ตามหลอกหลอนทั้งในยามตื่นและยามหลับ แม้เธอพยายามหยุดมันเท่าไหร่ก็ดูจะไม่เป็นผล เหมือนเป็นสัญญาณและลางบอกเหตุว่า ‘เวลา’ ของบางสิ่งบางอย่างใกล้คืบคลานเข้ามาถึงแล้ว

ขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ก็ค่อย ๆ เผยให้เห็นถึงด้านมืดและพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเธอ ทั้งโกหก นอกใจคนรัก มีความสัมพันธ์กับผู้หญิงมากหน้าหลายตา ทั้งผู้ช่วยคนใกล้ชิด รวมไปถึงลูกศิษย์ ใช้อำนาจและหน้าที่ในทางมิชอบ ซ้ำยังจุดชนวนให้เกิดโศกนาฏกรรมตามมา

เมื่อพฤติกรรมฉาวโฉ่ในมุมมืดถูกเปิดโปง ทุกมลทินในมุมอับถูกลากมารับแสง เกิดการเรียกร้องให้ตรวจสอบภายใน ลุกลามไปจนถึงการคว่ำบาตรจากคนในวงการและสังคม ส่งผลให้หน้าที่การงานที่เคยรุ่งโรจน์ร่วงหล่นลงฉับพลัน และนั่นคือจุดที่ทำให้เธอเข้าใจว่าไม่มีใครบนโลกนี้จะฝืนเข็มทิศของนาฬิกาได้

เมื่อกระแสของโลกผลัดเปลี่ยน เกิดการตีความใหม่ขึ้นมา จากพฤติกรรมที่คล้ายว่าจะยอมรับได้ในยุคสมัยหนึ่ง ก็กลายเป็นเรื่องน่ารังเกียจเดียดฉันท์เมื่อมองย้อนกลับไป และตัวแปรสำคัญมีเพียง ‘เวลา’ เท่านั้นที่จะบ่งชี้ได้

ภาพยนตร์ Tar ออสการ์ Cate Blanchett ทาร์ cancel culture อำนาจทางเพศ

อำนาจไม่เลือกเพศ

อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดในภาพยนตร์เรื่องนี้คือ การนำเรื่องพลวัตของอำนาจ (Power Dynamic) มาบอกเล่าในหลากหลายมิติ 

เมื่อ ‘อำนาจ’ ที่ปรากฏมีอยู่อย่างไม่เท่ากัน ในทุกความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจะมีฝ่ายหนึ่งที่เหนือกว่าอีกฝ่ายเสมอ โดยสามารถควบคุมและชี้นำความต้องการได้ ขณะที่อีกฝ่ายนั้นจำต้องสยบยอมไปตามกัน 

ในเรื่องเราจะเห็นได้ว่าตัวละคร Tár ใช้อำนาจโดยมิชอบ (Abuse of Power) อยู่หลายครั้ง ในฐานะวาทยกร เธอสามารถโยกย้ายตำแหน่งนักดนตรีในวงออร์เคสตราได้ โดยไม่จำเป็นต้องร้องขอความคิดเห็น ในฐานะครู เธอสามารถเชือดเฉือนและบดขยี้ลูกศิษย์ได้ด้วยคำพูด และในฐานะเจ้านาย เธอสามารถสั่งให้ลูกน้องทำในสิ่งที่ต้องการ แม้แต่เรื่องที่นอกเหนือไปจากหน้าที่ก็ตาม

ภาพยนตร์ Tar ออสการ์ Cate Blanchett ทาร์ cancel culture อำนาจทางเพศ

“ฉันคิดว่าอำนาจคือพลังอันฉ้อฉล ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นเพศไหน
ฉันว่ามันส่งผลกระทบต่อพวกเราทุกคน”

นักแสดงนำของเรื่องอย่าง Cate Blanchett ได้ให้สัมภาษณ์กับ BBC Radio 4 ถึงตัวละคร Tár เอาไว้ ใจความที่เธอต้องการสื่อสารคือ การมองว่าหากใครก็ตามที่มีอำนาจอยู่ในมือ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นเพศไหนก็สามารถทำในสิ่งที่เลวร้ายและส่งผลกระทบต่อผู้อื่นได้เสมอ

บทบาทการเป็นเควียร์เมื่อไร้ซึ่งอภิสิทธิ์ติดตัว

จริงอยู่ตามที่ว่า…แล้วเหตุผลอะไรกันที่ตัวละคร Tár ต้องเป็นเลสเบี้ยน

ในช่วงต้นของเรื่อง ระหว่างฉากการสัมภาษณ์ พิธีกรถาม Tár ถึงปัญหาความไม่เสมอภาคทางเพศและอคติทางเพศ (Gender Bias) ในแวดวงดนตรี เธอตอบกลับอย่างไม่ยี่หระคล้ายว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีผลมากนักต่ออาชีพการงานของเธอ ซึ่งแน่นอนว่าด้วยตำแหน่งที่ยืนอยู่ เธอโอบรับเอาอำนาจและอภิสิทธิ์ไว้แนบกาย

สิ่งที่ชัดเจนคือเธอใช้ชีวิตและทำทุกอย่างตามแบบความเป็นชาย (Masculinity) ทั้งเป็นเสาหลักและผู้นำครอบครัว เป็น ‘พ่อ’ ที่สามารถปกป้องคุ้มครองลูกสาวได้ และต่อให้เจ็บปวดแค่ไหนก็ละอายเกินกว่าจะแสดงความอ่อนแอออกมา จนเกิดเป็นภาวะความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic Masculinity) ซ้ำร้ายยังทำพฤติกรรมเป็นนักล่าเหยื่อ (Predator) โดยอาศัยความเป็นผู้หญิงของตัวเอง เข้าหาผู้หญิงมากหน้าหลายตาเพื่อหวังผลประโยชน์

อย่างตอนที่ Tár เลือกจัดออดิชันคัดตัวนักเชลโล เธอพยายามสร้างความประทับใจให้ Olga (รับบทโดย Sophie Kauer) เพื่อหวังใกล้ชิดและพัฒนาความสัมพันธ์กันในภายหลัง ซึ่งก่อนหน้าก็มีความสัมพันธ์ลับกับผู้ช่วยคนสนิทอย่าง Francesca (รับบทโดย Noémie Merlant) และอดีตลูกศิษย์อย่าง Krista (รับบทโดย Sylvia Flote) ที่ Tár เลือกตัดขาดความสัมพันธ์ และทำให้เธอต้องอับจนหนทางจนเลือกจบชีวิตตัวเอง

ภาพยนตร์ Tar ออสการ์ Cate Blanchett ทาร์ cancel culture อำนาจทางเพศ

แต่สิ่งที่ตัวละครคิดมาเสมอว่า ‘เพศ’ ไม่มีผลต่ออาชีพการงานนั้นจริงเท็จแค่ไหน จริงอยู่ว่าเมื่อใดก็ตามที่คนเรามีอำนาจและอภิสิทธิ์อยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็นใคร เพศไหน ก็สามารถทำเรื่องชั่วร้ายเลวทรามได้ไม่ต่างกัน และเราพิสูจน์เรื่องนี้ได้ชัดเจนผ่านตัวละครของ Tár แต่เมื่อไหร่ที่ใครคนนั้นไร้ซึ่งอำนาจแล้ว ‘เพศ’ จะแยกขาดจากเรื่องเหล่านั้นได้เชียวหรือ

แน่นอนว่าตัวละคร Tár เปิดเผยชัดเจนว่าเธอเป็น ‘เลสเบี้ยน’ ซึ่งอยู่ในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่ปัจจุบันนี้ยังถูกกีดกัน ถูกผลักให้เป็นดั่งคนชายขอบ (Marginal People) และคนกลุ่มน้อย (Minority) ของสังคม หลายต่อหลายครั้งคนกลุ่มนี้ยังต้องต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งความเสมอภาคเท่าเทียม

เมื่อคิดแบบนี้แล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตอนท้ายเรื่อง แม้จุดจบของตัวละครที่มีพฤติกรรมน่ารังเกียจเกินเยียวยาจะต้องระหกระเหินและตกต่ำจนเห็นสมควร ความรู้สึกยินดียินร้ายกับเหตุการณ์ตรงหน้าคงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ชมแต่ละคน เพราะปลายทางของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ชักจูงและชี้นำเราไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง กลับกันมันยิ่งนำมาซึ่งคำถามที่น่าสนใจมากมายเกี่ยวกับวัฒนธรรมคว่ำบาตร ความสัมพันธ์ระหว่างเพศ และพลวัตของอำนาจที่แอบแฝงอยู่ในสังคม

คุณคิดเห็นอย่างไรกับวัฒนธรรมคว่ำบาตร

คุณสามารถแยกศิลปินยอดแย่ออกจากงานศิลปะยอดเยี่ยมได้หรือไม่

คุณว่าสังคมจะมีท่าทีเหมือนหรือต่างอย่างไร หากเปลี่ยน Tár เป็นผู้ชายตรงเพศ ผิวขาว


Source :
Deadline Hollywood | bit.ly/3keefUY

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.