สถาปัตยกรรมโคโลเนียล ถนนตะนาว - Urban Creature

‘ถนนตะนาว’ เป็นเส้นทางสายเล็กๆ ไม่ยาวนัก แต่หากใครที่คิดลองเดิน (เหมือนเรา) ขอบอกว่าแอบมีเหงื่อซึม ตลอดทางส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชย์สีเหลืองเรียงรายยาวเป็นแถว ภาพจำของใครหลายคนเกี่ยวกับถนนสายนี้ คงเป็นเจ้าพ่อเสือ ศาลเจ้าเก่าแก่เคียงคู่ย่านนี้มานมนาน หรือเป็นทางผ่านด้านหน้าถนนข้าวสารแหล่งแฮงเอาต์ยามค่ำ 

ความดีงามของย่านนี้ คือมีทั้งความเงียบและแสงสี ปนเปไปกับวัดวาและศาลเจ้าอย่างมีสมดุล มีถนนราชดำเนินกลางถนนสายประวัติศาสตร์ แบ่งครึ่งถนนสองฝั่งที่สี่แยกคอกวัว ซึ่งเป็นทางสัญจรใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ ที่เชื่อมต่อมาจากถนนรุ่นแรกๆ ของกรุงเทพฯ อย่างเฟื่องนคร 

ถนนตะนาวในภาพจำของหลายคนจะเป็น ‘ศาลเจ้าพ่อเสือ’ สัญลักษณ์คู่ย่าน ที่มีผู้คนจากทั่วถิ่นเดินทางมาไหว้กันคึกคัก พิสูจน์ได้จากจำนวนคนและควันธูปที่คลุ้งไปทั่วบริเวณศาลทุกเทศกาลทั้งตรุษ สารท หรือหากย้อนไปให้ไกลกว่านี้ วัดมหรรณพารามวรวิหาร และโรงเรียนวัดมหรรณพ์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น ‘โรงเรียนประถมแห่งแรกของประเทศ’ ก็น่าจะเป็นอีกหมุดหมายสำคัญที่คนเก่าคนแก่นึกถึง

ตะนาวในวันเก่า มีชื่อมาจากกลุ่มคนตะนาวศรีที่อพยพมาตั้งรกรากในแถบนี้ตั้งแต่ต้นกรุงเทพฯ เมื่อเมืองขยายออกมาในช่วงรัชกาลที่ 5 ย่านนี้จึงถูกจับจองที่ดินจากกลุ่มชนชั้นนำของบ้านเมือง มีทั้งวัง บ้านเล็ก บ้านใหญ่ ของเจ้าขุนเจ้านาย เรียงรายอยู่ไม่ไกลจากใจกลางพระนคร

ตะนาวในวันนี้ ยังคงเป็นย่านเมืองเก่า เริ่มมีกิจการของคนรุ่นใหม่มาเติมพอเป็นสีสัน ตลอดเส้นทางเปรียบเสมือนไทม์แคปซูลกักเก็บบ้านเก่าอายุกว่าร้อยปีหลายหลัง ที่หลบซ่อนเข้าไปด้านหลังตึกแถวตลอดสองฟากถนนให้ชวนมองหา ถ้าไม่ตั้งใจมาคงไม่มีโอกาสได้เห็น ขนาดเรามาเดินแถวนี้บ่อยๆ ยังไม่ทันได้สังเกต วันนี้เลยอยากลองพาไปเยี่ยมเยียนบ้านเก่าที่ถนนตะนาว ชวนเจ้าของบ้านเล่าเรื่องราว พูดคุยถึงมุมมองความเปลี่ยนแปลงของบ้านและย่านโบราณแห่งนี้ไปด้วยกัน

บ้านยาหอม-เรือนหอ 5 แผ่นดินของต้นตระกูลหมอยา
เจ้าของแบรนด์สุคนธโอสถ


“อยากให้รู้สึกว่าคุณมีสถานที่เสมือนโอเอซิสหนึ่งในกรุงเทพฯ คุณนั่งแล้วมีความสุข เหมือนเป็นบ้านคุณเอง” 

เราปักหมุดแรกกันที่บ้านยาหอม พี่ไอ๋-ดลชัย บุณยะรัตเวช ทายาทรุ่นที่ 5 ของตระกูลทำยาหอม เล่าให้เราฟังถึงสาเหตุและความตั้งใจในการกลับมาฟื้นฟูบ้านหลังเก่าของครอบครัว ให้กลับมามีลมหายใจ พร้อมคืนกลิ่นหอมของสมุนไพรให้บ้านหลังนี้อีกครั้ง 

เจ้าของบ้านตรงหน้าเราเริ่มต้นบทสนทนาด้วยประวัติของครอบครัว พลางเปิดหนังสือ ‘สายสุคนธะ’ หนังสือประวัติศาสตร์ของครอบครัวบุณยะรัตเวชที่ตนเองใช้เวลาเป็นปีในการลงมือสืบเสาะ เขียนเล่าชีวประวัติของเครือญาติทั้งหมด รวมถึงประวัติของบ้านหลังที่เรากำลังนั่งอยู่ จนออกมาเป็นหนังสือเล่มใหญ่ที่บรรจุเรื่องต่างๆ ของครอบครัวเอาไว้

จากคำบอกเล่าของพี่ไอ๋ทายาทรุ่นเหลน ทำให้ทราบว่าเมื่อกว่าร้อยปีก่อนที่เราจะมาเยือนที่นี่ บ้านไม้แบบโคโลเนียลหลังใหม่ของต้นตระกูลหมอยาสมุนไพรจากคลองโอ่งอ่างเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ ด้วยความตั้งใจให้เป็นเรือนหอของคุณปู่-คุณย่าของพี่ไอ๋ พร้อมกับการก่อร่างสร้างบ้านนี้ให้เป็นโรงงานสำหรับผลิตยาหอมสุคนธโอสถตราม้า สินค้าขายดีประจำบ้านในตอนนั้น 

นอกจากนี้พี่ไอ๋ยังแอบบอกกับเราว่า แม้ปัจจุบันจะเห็นบ้านเล็กแค่นี้ แต่จริงๆ แล้วที่นี่เคยเป็นโรงงานผลิตยาหอมแบบครบวงจร มีทั้งโรงโม่ยา และโรงพิมพ์ฉลาก มีบ้านอีกหลังเป็นเรือนพี่ เรือนน้องคู่กันทางด้านหลัง โดยตั้งอยู่ภายในรั้วเดียวกัน

“หลังบ้านเคยเป็นโรงโม่ เด็กๆ พี่มาวิ่งเล่น โม่ยากัน หอมไปทั้งบ้านเลย
เป็นโรงพิมพ์ฉลากยาด้วยนะ แต่พังไปหมดละ” 

เจ้าของบ้านคนปัจจุบันชวนให้เราย้อนนึกถึงวันวานที่บ้านหลังนี้ยังเป็นโรงงานยาหอม เมื่อผลิตเสร็จสรรพตีฉลากเรียบร้อย จึงนำไปวางจำหน่ายที่ตึกแถวริมถนนตะนาว ซึ่งตั้งอยู่ถัดไปไม่กี่ก้าวจากบ้าน

เวลาผ่านไปพร้อมกับกฎหมายห้ามให้มีโรงงานตั้งอยู่ภายในเกาะรัตนโกสินทร์ ครอบครัวบุณยะรัตเวช จึงต้องย้ายโรงงานไปตั้งที่ย่านดาวคะนอง และปล่อยบ้านหลังนี้ทิ้งร้างไปราว 30 ปี ก่อนที่พี่ไอ๋จะมีความคิดอยากกลับมาทำอะไรสักอย่างกับสมบัติของครอบครัวหลังนี้ ด้วยการนำประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากการทำงานเป็นนักวางกลยุทธ์แบรนด์มาหลายปี ผสมกับความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมที่เรียนจบมาโดยตรง จึงเริ่มรีโนเวตเพื่อให้อดีตโรงงานยาหอมแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่สำหรับทำหน้าที่คอยบอกเล่าเรื่องราวเก่าๆ ของครอบครัว 

โดยเล่าผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่พอจะทำได้ภายในบ้านไม้ 2 ชั้น ทั้งเป็นร้านอาหารสูตรคุณย่าและคาเฟ่ ที่ตั้งใจเสิร์ฟเป็นอาหารไทยเพื่อสุขภาพ พร้อมกับของถนัดอย่างน้ำสมุนไพรต่างๆ ส่วนชั้นบน พี่ไอ๋ยังคงห้องนอนเดิมของบ้านไว้ แต่ปรับให้เป็นห้องสัมมนา และห้องนวดบำบัด สำหรับใครก็ได้ที่อยากมาพักผ่อนคลายเครียด หรือหยิบยืมพื้นที่ในการทำงาน

“บ้านยาหอมเป็นทุกอย่างที่คนกรุงเทพฯ สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมีสุขภาพดี
เหมือนเป็นบ้านแห่งความรื่นรมย์เพื่อคนสุขภาพดี” ทายาทของบ้านยาหอมย้ำถึงคอนเซปต์ของบ้านหลังนี้

พี่ไอ๋เป็นลูกหลานไม้ที่หล่นไม่ไกลต้น และผูกพันกับกิจการยาสมุนไพรมาแต่เด็ก ทำให้มีความรู้ด้านเครื่องหอมเป็นทุนเดิม แบรนด์น้ำหอมจึงเป็นการผสมผสานกลิ่นระหว่างความดั้งเดิมกับสมัยใหม่ มีกลิ่นหลากหลายให้เลือกหา นอกจากนี้ยังได้นำสูตรยาหอมประจำครอบครัว มาปรับปรุงเพื่อให้ทานง่ายขึ้นสำหรับคนรุ่นใหม่ โดยยังคงอัตลักษณ์ดั้งเดิมเอาไว้ เมื่อก้าวเข้าประตู กลิ่นหอมอวลอันเป็นเอกลักษณ์ของบ้านยาหอมจึงพร้อมรอต้อนรับผู้มาเยือนเสมอ

บ้านนพวงศ์-โรงแรมเล็กๆ ในบ้านอนุรักษ์หลังเก่าของราชสกุลนพวงศ์ 


บ้านอีกหลังตั้งอยู่ไม่ไกล ปัจจุบันได้รับการดูแลโดย คุณตั้ว-กันตศม นพวงศ์ ณ อยุธยา เชื้อสายของราชสกุลนพวงศ์ ที่ได้เข้ามาดูแลบูรณะบ้านไม้สไตล์โคโลเนียลหลังนี้ให้กลายเป็นโรงแรมบูติกโฮเทลแห่งแรกๆ ในย่านถนนตะนาว

เจ้าของบ้านคนปัจจุบันเล่าประวัติของบ้านไม้หลังกะทัดรัดนี้ให้ฟังคร่าวๆ จึงทำให้เราทราบว่า บ้านหลังนี้แต่แรกเป็นของหม่อมหลวงดิศพงศ์ นพวงศ์ กับคุณสาลี่ นพวงศ์ ณ อยุธยา สร้างในช่วงสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นร่องรอยสถาปัตยกรรมช่วงท้ายๆ ของกระแสความนิยมบ้านเรือนแบบตะวันตก 

“ส่วนใหญ่ที่ดินหรืออาคารสถานที่ในรัศมีรอบวัดพระแก้วออกมาเรื่อยๆ จะเป็นของข้าราชบริพาร อย่างคุณตาของผมก็เป็นราชสกุล ก็จะได้อยู่ในตัวเกาะรัตนโกสินทร์” คุณตั้วขยายความต่อถึงตำแหน่งที่ตั้งของบ้านหลังนี้ในอดีต ซึ่งนี่คงเป็นสาเหตุที่บริเวณข้างเคียงมีบ้านโบราณไม้หลังงามหลายหลัง ที่หากสืบประวัติให้ลึกลงไปก็พบว่ามีเจ้าของเป็นเจ้านาย ขุนนาง หรือข้าราชการแทบทั้งนั้น

ไม่นานมานี้ ทายาทสายตรงของบ้านอย่างคุณตั้ว ซึ่งเป็นสถาปนิกอยู่ก่อน ประกอบกับมีบ้านหลังนี้ที่ปล่อยทิ้งไว้หลายปี จึงมีแนวคิดอยากอนุรักษ์และพัฒนาตัวบ้านให้เป็นมากกว่าพื้นที่สงวนไว้เฉพาะคนในครอบครัว ผลลัพธ์จึงเกิดเป็นการเปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นบูติกโฮเทล ด้วยคอนเซปต์ที่อยากนำเสนอประสบการณ์ในเชิงวัฒนธรรม ถ่ายทอดความเป็นไทยผ่านวิถีความเป็นอยู่ให้แก่แขกที่เข้าพัก บวกกับทำเลที่ตั้งในเขตเมืองเก่าซึ่งออกจากถนนตะนาวไปไม่ไกลนักก็ถึงพระบรมมหาราชวังแล้ว บ้านนพวงศ์จึงเป็นจุดหมายของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่หลงใหลในวัฒนธรรมและงานสถาปัตย์

“จริงๆ แล้วผมก็วิ่งเล่นตรงนี้ตั้งแต่เด็ก แต่เราก็ไม่ได้ให้คุณค่าในเชิงของตัวรูปแบบมาก จนเมื่อเราได้มาศึกษาในเรื่องของรายละเอียดของงานจริงๆ จะพบว่าสถาปัตยกรรมไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากยุโรป มันมีความซับซ้อนและความสวยงามในจังหวะจะโคนของเขา ใช้เวลาเกือบปีก่อนที่จะมาทำแบบและรีโนเวต” 

เมื่อมีแพลนเข้ามาปัดฝุ่นครั้งใหญ่ ความสำคัญอันดับแรกคือการปรับปรุงโครงสร้างของบ้านอายุ 80 ปีให้มีความแข็งแรงยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องการรับน้ำหนัก เสา คาน การเก็บเสียง และเรื่องการสั่นสะเทือน ซึ่งงานอนุรักษ์ก็ทำควบคู่ไปกับการคำนึงถึงความงามอย่างโคโลเนียล ด้วยการพยายามรักษาความดั้งเดิมของบ้านไว้ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบภายนอก ลายฉลุ และบานประตู รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านก็เป็นของเก่าเก็บในบ้านเช่นกัน

จนกลายมาเป็น บูติกโฮเทลขนาดน่ารัก จำนวน 7 ห้องที่ให้สีแต่ละห้องตามสีอัญมณีนพรัตน์ เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ตั้งใจใส่ไว้ในคราวกลับมาปรับปรุงบ้าน 

หากมองเข้ามาจากหน้าบ้านเราคงไม่เห็นเลยว่าด้านหลังก็มีเรือนอีกหลังซ่อนตัวอยู่ คุณตั้วเล่าให้ฟังว่าแต่เดิมเคยเป็นครัวประจำบ้าน ก่อนที่ตอนนี้จะเปลี่ยนให้เป็นห้องพักอีก 2 ห้องแยกออกมาจากเรือนหลัก เพื่อให้ความเป็นส่วนตัวกับแขกที่เข้ามาพัก

บ้านนพวงศ์เมื่อเปลี่ยนเป็นที่พักแล้ว ถือเป็นธุรกิจโรงแรมที่ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนอยู่อาศัยดั้งเดิมที่สร้างการทำงานร่วมกันทางอ้อม ทั้งยังเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในท้องถิ่นรอบๆ บ้าน เมื่อมีแขกมาเข้าพักคุณตั้วก็จะแนะนำร้านอาหารใกล้ๆ ให้ได้ลองรับประทาน หรืออาจสั่งกลับมาทานในที่พักก็เป็นอีกตัวเลือกที่ช่วยกระจายรายได้ให้ร้านรวงใกล้ๆ

บ้านวรรณโกวิท-บ้านเก่าอายุ 100 ปี
ที่เล่าเรื่องราวผ่านอาหารไทยสูตรเฉพาะ


ปิดท้ายวันที่ ‘บ้านวรรณโกวิท’ ป้ายที่ติดหน้ารั้วย้ำว่ามาไม่ผิดหลัง เรือนหลังงามตั้งอยู่ในซอยเงียบๆ ลัดเลาะเข้ามาจากถนนตะนาวและอยู่ด้านหลังอาคารพาณิชย์ริมถนนราชดำเนินนอก 

บ้านปูนผสมไม้ 2 ชั้น ทาด้วยสีเหลืองตามสมัยนิยมเมื่อแรกสร้าง ซึ่งพระยานรราชจำนง และหลวงสุนทรนุรักษ์ ต้นตระกูลวรรณโกวิท ได้รับพระราชทานที่ดินมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 มองจากภายนอกบ้านหลังนี้ยังคงเดิมเหมือนเก่า ท่ามกลางร่มเงาพรรณไม้ในบ้าน ทั้งต้นละมุดและพุ่มกระดังงา 

คุณยายฉวีวรรณ อารยะศาสตร์ ลูกสาวของหลวงสุนทรนุรักษ์ รอต้อนรับเราอยู่ก่อนแล้วพร้อมรอยยิ้ม 

คุณยายเล่าว่าอยู่บ้านนี้มาแต่เกิด ตั้งแต่ถนนราชดำเนินยังอยู่หน้าบ้าน ไม่มีตึกบังเหมือนปัจจุบัน หากไล่เรียงมาตั้งแต่ต้นสายตระกูลก็เป็นคนแถบนี้ทั้งฝั่งแม่และพ่อ รับราชการเป็นทั้งหลวงและพระยา ราชทินนามข้างฟากคุณแม่ยังปรากฏเป็นชื่อ ‘ตรอกเสถียร’ ซอยเล็กๆ ริมถนนตะนาวจนทุกวันนี้

ย้อนไปในอดีต สมัยก่อนตะนาวเป็นย่านที่อยู่อาศัยเงียบๆ คนไม่ได้พลุกพล่านเท่าไหร่ สำหรับคนย่านนี้หากอยากไปหาของกินยามค่ำ ต้องออกแรงเดินต่อไปอีกหน่อยแถวๆ ย่านสามแพร่ง ซึ่งเป็นแหล่งรวมร้านอร่อยประจำย่าน ที่ปัจจุบันยังพอเหลือร้านเก่าแก่ให้เห็นอยู่บ้าง พอเวลาเริ่มเปลี่ยนคนดั้งเดิมเริ่มย้ายออกไป คนใหม่ย้ายเข้ามา บ้านบางหลังถูกปล่อยว่าง แปรเปลี่ยนเป็นตึกสมัยใหม่เข้ามาแทนที่

ส่วนบ้านอายุร้อยกว่าปีหลังนี้ไม่เคยร้างผู้อาศัยเหมือนบ้านอื่นรอบข้าง มีสมาชิกในครอบครัวอยู่มาโดยตลอดจนตอนนี้ แถมเมื่อก่อน บ้านวรรณโกวิทยังอ้าแขนรับทุกคนตั้งแต่แขกยันชาวจีนที่มาขอพึ่งพิงอาศัย จนถึงนายใหญ่โตทั้งฝ่ายซ้ายฝ่ายขวาแวะเวียนกันมาไม่ขาด 

เมื่อพูดถึงเรื่องการเมือง คุณยายก็อดเล่าไม่ได้ถึงครั้งหนึ่งที่เคยอยู่ในสถานะผู้สังเกตการณ์คราว 14 ตุลา อาจเพราะบ้านนี้ตั้งตระหง่านผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย ตามทำเลที่ตั้งของบ้านที่อยู่ไม่ไกลจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เหตุการณ์ทางการเมืองทั้งหลายแหล่จึงเป็นหนึ่งในความทรงจำของคนในบ้าน

ตำรับข้าวแช่บ้านนี้เรียกได้ว่าเลื่องชื่อ จนเราต้องเอ่ยถามถึงความพิเศษที่ต่างออกไปจากที่อื่น ก่อนที่คุณยายจะพูดถึงสูตรดั้งเดิมที่ส่งต่อมาจากคุณแม่ของคุณยายแบบไม่กั๊ก เริ่มตั้งแต่กรรมวิธีการคัดข้าวสารเก่า เพื่อให้หุงออกมาแล้วข้าวร่วนสวยเป็นเม็ด ใช้เนื้อฉีกแทนหมู เพิ่มความพิเศษด้วยดอกกระดังงา มะลิ และชมนาด อบในน้ำฝนหนึ่งคืน ซึ่งต่างจากสูตรบ้านอื่นที่ใช้เพียงน้ำโรยดอกมะลิ พร้อมเคล็ดลับเพื่อให้ได้อรรถรสอย่างถึงเครื่อง ควรเปิดสำรับดับร้อนยามอุณหภูมิระอุ 

คุณยายบอกกับเราอีกว่า ถึงขนาดสมัยก่อนบ้านนี้กินแต่ข้าวแช่กันเป็นกิจวัตรทุกมื้อเที่ยงในหน้าร้อนเดือนเมษาเลยล่ะ ความรุ่มรวยสูตรอาหารของบ้านวรรณโกวิทยังไม่หมดแค่ข้าวแช่ ยังมีขนมจีนซาวน้ำและข้าวคลุกกะปิ ที่เป็นทีเด็ดไม่แพ้กัน ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสดีที่หลังๆ มานี้ บ้านวรรณโกวิทได้เปิดให้ได้ลองลิ้มชิมบรรยากาศอิฐปูนเก่า เคล้ากับเมนูอาหารไทยหาทานยากได้ภายในตัวบ้าน

คุณยายเป็นคนรู้รอบ ความทรงจำยังดีเยี่ยมแม้วัยใกล้ 90 ปี แถมยังเป็นนักเล่าเรื่องที่สนุกคนหนึ่ง เราเปิดบทสนทนากันเกือบ 2 ชั่วโมงจนเริ่มบ่ายคล้อย ก่อนจำเป็นต้องขอตัวลา หวังใจว่าจะมาฟังเรื่องเล่าชาวตะนาวของคุณยายอีกวันหลังหากมีโอกาส

หลังๆ มานี้ถนนตะนาวน่าจะเปลี่ยนไปจากความทรงจำของเหล่าเจ้าของบ้านที่เราเจอ เพราะเราสังเกตเห็นว่าอาคารพาณิชย์ปากซอยบ้านวรรณโกวิทและบ้านนพวงศ์ตอนนี้ถูกจัดสรรให้สมาชิกใหม่ล่าสุดของถนนตะนาว คือชาวตลาดกลางลอตเตอรี่ ที่เพิ่งย้ายกันมาจากริมถนนราชดำเนินนอกด้านหน้าได้ไม่นาน ขวัญใจนักเสี่ยงโชครายครึ่งเดือนต่างเข้ามาอยู่ในตึกแถวริมถนนตะนาวกันอย่างคึกคัก พร้อมขายสลากกินแบ่งรัฐบาลทั้งราคาปลีกและส่ง เป็นมูฟเมนต์ที่เปลี่ยนไปอีกครั้งของย่านให้มีชีวิตคึกคักขึ้น และน่าจะกลายเป็นอีกภาพจำใหม่ของใครหลายๆ คนในอีกไม่ช้า 

หากย้อนกลับมามองอย่างพินิจ เราเห็นพัฒนาการของย่านถนนตะนาว ทั้งการเติบโตที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสสังคมรอบข้างแบบค่อยเป็นค่อยไป ต่างจากย่านที่ขึ้นชื่อว่าโอลด์ทาวน์อื่นๆ ที่แข่งขันกันโตให้ทันตามยุคสมัย แต่เหล่าบ้านไม้เก่าดั้งเดิมอีกหลายหลังยังคงซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบๆ ท้าทายให้ผู้มาเยือนใหม่ๆ ให้ได้ลองชะเง้อมองหาผ่านตรอกซอยของตึกแถวตลอดถนน

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.