การเดินทางข้ามเวลา ไคจู ไดโนเสาร์ โลกอนาคต ความไซไฟทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาดูเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยปรากฏบนประวัติศาสตร์หนังไทย และน้อยครั้งมากที่จะประสบความสำเร็จในด้านคำวิจารณ์และรายได้
หลายครั้งที่คนทำหนังไทยริอ่านท้าทายขนบ ทะเยอทะยานจินตนาการถึงสิ่งเหล่านี้ แต่สุดท้ายล้วนแล้วแต่ออกมาเป็นภาพที่เกินฝันชาวไทยเสมอ และต้องเจอข้อครหามากมายรอบด้านจนต้องละทิ้งความฝันนี้ไปในที่สุด ทั้งที่หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไซไฟเชื้อสายไทยนั้นก็ไม่ได้มีให้พบเห็นบ่อยมากอยู่แล้ว นับตั้งแต่ ‘มันมากับความมืด’ (2514), ‘ขอชื่อ สุธี สามสี่ชาติ’ (2532), ‘กาเหว่าที่บางเพลง’ (2537), ‘สลิธ โปรเจกต์ล่า’ (2566) มาจนถึง ‘Uranus 2324’ (2567)
แต่ดูเหมือนความฝันในการพยายามเนรมิตไซไฟแบบไทยๆ จะยังไม่หมดลงแต่อย่างใด ผู้กำกับ ‘มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล’ ที่แม้จะเพิ่งผ่านผลงานที่มีความเป็นไซไฟผสมอยู่อย่าง ‘มอนโด รัก | โพสต์ | ลบ | ลืม’ (2566) มาไม่นาน ก็ขอสานต่อความกล้าที่จะท้าทายผู้ชมชาวไทยด้วยผลงานไซไฟเต็มรูปแบบอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนใน ‘Taklee Genesis’ ซึ่งถือว่าเป็นวาระสำคัญของประวัติศาสตร์หนังไทย ที่จะมีทั้งผู้กำกับไทย และค่ายหนังอย่าง ‘เนรมิตรหนัง ฟิล์ม’ ร่วมด้วยสตูดิโอระดับโลกอย่าง ‘Warner Bros.’ ที่กล้าบ้าบิ่นกันขนาดนี้
Taklee Genesis ว่าด้วยเรื่องราวของ สเตลล่า (พอลล่า เทเลอร์) แม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกสาว วาเลน (นีน่า-ณัฐชา เจสสิก้า พาโดวัน) ได้ทราบข่าวจาก อิษฐ์ (ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล) เพื่อนสมัยเด็ก ให้เธอกลับมาดูแม่ของเธอที่กำลังป่วยหนักและอาศัยอยู่ในหมู่บ้านดอนหาย ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีเรื่องราวลึกลับภายในป่า อันทำให้พ่อของเธอหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย การกลับมาพบแม่ครั้งนี้ทำให้เธอได้รู้เบาะแสในการตามหาพ่อของเธอ ผ่านคำบอกเล่าที่ว่า “หนึ่งคือ ให้เอากำไลไปเก็บแหวนที่ดอนหาย สอง ให้เอาไปเปิดเครื่อง ตาคลี เจเนซิส ที่ค่ายรามสูร สาม ให้ใส่พิกัดที่เขาให้มาแล้วจะสามารถเดินทางไปพบพ่อได้” ฟังดูเป็นอะไรที่ดูไทยๆ มาก ก่อนที่สิ่งต่างๆ ในหนังจะค่อยๆ พาผู้ชมหลุดออกจากกรอบไปสู่ความเป็นไซไฟแบบจัดเต็มยำใหญ่ใส่สารพัดเท่าที่จะสรรหามาได้
ส่วนหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า Taklee Genesis เข้าท่าเข้าที่เข้าทางกว่าไซไฟไทยเรื่องอื่นๆ คือ สูตรการเล่าเรื่องที่มั่นใจได้ว่าจะสามารถเกาะกุมคนดูให้ติดตามไปกับหนังได้ตลอดรอดฝั่ง แม้ว่าหนังจะมีความยาวถึง 2 ชั่วโมงครึ่งเลยก็ตาม เริ่มจากการใช้การเล่าเรื่องแบบ Hero’s Journey เป็นเส้นเรื่องง่ายๆ ที่ตัวละครใช้ชีวิตแบบคนทั่วไป ตัดสินใจเดินทางออกจากโลกอันสุดแสนธรรมดาไปสู่โลกแปลกประหลาดที่ไม่เคยพบเจอ พบกับจุดหักเหบททดสอบมากมาย และท้อแท้จะยอมแพ้ในที่สุด กระทั่งได้เรียนรู้อะไรบางอย่างให้ลุกขึ้นสู้อีกครั้ง ผ่านบททดสอบและกลับไปสู่โลกเดิมด้วยตัวตนที่เปลี่ยนไปจากตอนแรก นับว่าเป็นสูตรสำเร็จที่ใช้บ่อยในหนังแนวผจญภัย
อีกทั้งยังมีการใส่ตัวขับเคลื่อนอะไรบางอย่างที่มีความสำคัญต่อเนื้อเรื่องให้ตัวละครได้ค้นหาแย่งชิง ซึ่งในทางของนักดูหนังเรียกกันว่า MacGuffin ที่ใช้บ่อยครั้งในหนังที่ประสบความสำเร็จ อย่างแหวนใน The Lord of the Rings, ฮอร์ครักซ์ ใน Harry Potter หรือ Infinity Stones ใน Avengers ในที่นี้ของ Taklee Genesis คือชิ้นส่วนวงแหวนของ Warpball ที่ใช้ในการเดินทางข้ามเวลา โดยถูกกำหนดให้แต่ละชิ้นส่วนอยู่ในห้วงเวลาที่แตกต่างกัน ฉะนั้นด้วยเงื่อนไขเช่นนี้ การที่ตัวละครจะผจญภัยไปสู่ความตื่นเต้นในแต่ละช่วงของหนังได้ ต้องใช้เงื่อนไขของการเดินทางข้ามเวลา และการข้ามเวลานั้นต้องใช้ชิ้นส่วนของวงแหวนที่จะไปต่อในห้วงเวลาถัดไปได้
กลวิธีทำนองนี้กลายเป็นเงื่อนไขที่คนทำหนังวางไว้อย่างแนบเนียน เพื่อตรึงคนดูให้อยู่กับหนัง แม้ว่าจะมีเส้นเรื่องมากมายซับซ้อนซ่อนทับกันยุ่งเหยิง ไหนจะพาร์ตการแสดงของนักแสดงบางคนที่ประดักประเดิด ชวนให้รู้สึกทะแม่งๆ อยู่บ้าง หรือกระทั่งสไตล์ลายมือของผู้กำกับที่อาจจะใส่อะไรขาดๆ เกินๆ เถิดเทิงผิดที่ผิดทางอยู่ไม่น้อย ถึงอย่างนั้นก็ได้กลเม็ดในการเล่าเรื่องทางภาพยนตร์เข้ามาช่วยปกปิดบาดแผล เลี่ยงความสนใจของผู้ชมจนออกมาเป็นผลลัพธ์ที่ปรากฏบนจอ
ความฝันกับจินตนาการถึงอนาคตไซไฟของไทย
หลายคนอาจเห็น Taklee Genesis นำเสนอเรื่องราวที่ล้ำไปกว่าที่พบเห็นบ่อยครั้งในหนังไทย จนคล้ายกับว่าได้นำเอาแนวคิดมาจากบรรดาภาพยนตร์ไซไฟเรื่องดังๆ ของเมืองนอกมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น Back to the Future, Contact, Stargate หรือ Interstellar เองก็ตาม
ด้วยความที่หนังมีกลิ่นอายการผจญภัยแบบไซไฟคลาสสิกในอดีต สไตล์ฝีไม้ลายมือแบบ ‘Robert Zemeckis’ หรือ ‘Steven Spielberg’ ทว่าสิ่งที่ผู้ชมอาจไม่รู้คือ Taklee Genesis ได้หยิบยกแรงบันดาลใจความเป็นไซไฟ เรื่องลี้ลับ และทฤษฎีสมคบคิดมาจากนิตยสาร ต่วย’ตูน หรือ ต่วย’ตูนพิเศษ ซึ่งอาจจะเป็นชื่อที่คนยุคสมัยนี้ไม่ค่อยคุ้นหูกันสักเท่าไหร่ แต่หากย้อนกลับไปในอดีต นิตยสารหัวนี้เป็นนิตยสารยุคคลาสสิกที่อยู่คู่แผงนิตยสารไทยมานานกว่า 50 ปี มีเนื้อหาหลากหลาย เน้นเรื่องสาระเกร็ดความรู้ สารคดี เรื่องดึกดำบรรพ์ ประวัติศาสตร์ เรื่องผี และเรื่องลึกลับอีกมากมาย
นิตยสารอันมีที่มาจากคำว่า ‘การ์ตูนของนายต่วย’ หรือ ‘วาทิน ปิ่นเฉลี่ยว’ ไม่เพียงแต่เป็นหนังสืออ่านเล่น สร้างความเพลิดเพลินแก่ชาวไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้กำกับ มะเดี่ยว ชูเกียรติ จากการอ่านตั้งแต่ยังเด็ก นิตยสารเล่มนี้ช่วยจุดประกายเรื่องราวของสัตว์ดึกดำบรรพ์ อดีตโบราณกาล จินตนาการของโลกอนาคต และเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติ กระทั่งผีแบบไทยๆ ต่วย’ตูนจึงเป็นสื่อที่ช่วยเติมเต็มจินตนาการทุกอย่างให้เชื่อมโยงกันออกมาดังที่ปรากฏใน Taklee Genesis
ด้วยแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นจากนิตยสารในอดีตของไทย ทำให้เห็นว่า Taklee Genesis แม้จะมีรูปฟอร์มที่ดูเหมือนเป็นหนังเมืองนอก แต่แท้จริงกลับไม่ได้ละทิ้งตัวตนความเป็นไทยแต่อย่างใด ต่วย’ตูนพิเศษเป็นหนังสือที่อ่านสนุกด้วยบรรดาเรื่องราวที่เรียกความสนใจผู้อ่านได้ไม่ยาก แถมจับมายำมัดรวมกันและนำเสนอเป็นแนวคิดทฤษฎีแก่ผู้อ่าน ซึ่ง Taklee Genesis เองก็ให้รสชาตินั้นได้ไม่ต่างกัน
การอ้างอิงถึงชื่อ ‘ค่ายรามสูร’ เศษซากมรดกจากยุคสงครามเย็นที่ทหารอเมริกันทิ้งไว้ในเมืองไทย และนำมาสานต่อใส่ทฤษฎีสมคบคิดว่าเป็นสถานที่ทดลองเครื่องมือการข้ามเวลา ‘ฐานทัพอากาศตาคลี’ ที่กลายเป็นชื่อโปรเจกต์ลับ ‘โบราณคดีบ้านเชียง’ ที่ถูกนำเสนอว่าการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ 5,000 ปีก่อนนั้นเป็นอย่างไร
ยังไม่นับรวมภาพจินตนาการเมืองอุดรฯ ในอนาคตอีก 200 ปีข้างหน้าในชื่อ ‘New U-Dawn’ ไหนจะ ‘ซอมบี้’ หรือ ‘ผี’ สัมภเวสีที่ต้องกินของเซ่นไหว้ทุกปี ทั้งหมดล้วนเป็นการยำใหญ่สิ่งเร้นลับต่างๆ จนเกิดเป็นทฤษฎีสมคบคิดแบบไทยๆ ขึ้นมา กลายเป็นจินตนาการอันน่าสนุกเพลิดเพลินในรสชาติที่หนังชาติอื่นคงมอบให้เราชาวไทยไม่ได้
ในวันที่ทั่วโลกมีการนำเสนอหลักการทางวิทยาศาสตร์ในจินตนาการให้เลือกชมกันอย่างมากมาย แล้วสำคัญอย่างไรที่ประเทศโลกที่ 3 อย่างไทยที่ไม่ได้มีวิทยาการ การค้นคว้า การสำรวจที่ก้าวไกล หรือเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเหมือนชาติอื่นๆ จะนำเสนอภาพยนตร์ไซไฟให้เป็นความเพ้อฝันของคนในชาติ
คำตอบของคำถามคงไม่ต่างจากการมีอยู่ของนิตยสารต่วย’ตูนพิเศษ ที่ช่วยเสริมสร้างจินตนาการ ความฝัน และความหวังให้กับผู้คน จนวันหนึ่งคนคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่สานต่อเจตนารมณ์แห่งความหวังให้ชาวไทยเห็นภาพฝันแห่งอนาคตที่ยังมาไม่ถึง แม้ว่าหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นในหนัง อาจจะทำให้บางคนสับสนงุนงง ซื้อ-ไม่ซื้อตรรกะตามบ้าง แต่ภาพยนตร์ไซไฟแต่ละเรื่องก็ไม่ได้นำเสนอหลักการวิทยาศาสตร์ที่เป็นจริงถูกต้องครบถ้วนอยู่แล้ว ดังที่คำกล่าวของ Buckminster Fuller ผู้เป็นทั้งนักออกแบบ สถาปนิก วิศวกร นักเขียน นักคณิตศาสตร์ และนักประดิษฐ์ กล่าวไว้ว่า “เราต้องเป็นผู้ออกแบบอนาคต ไม่ใช่ให้อนาคตมาออกแบบเรา”
การจินตนาการถึงอนาคตใน Taklee Genesis จึงไม่ใช่สิ่งที่สมบูรณ์แบบอย่างแน่นอน เพราะนี่เป็นเพียงการเปิดประตูบานแรกแก่โลกไซไฟของไทยเพียงเท่านั้น ไม่แน่ว่าภาพยนตร์ Taklee Genesis อาจกลายเป็นแบบต่วย’ตูนพิเศษ ที่ช่วยให้คนในยุคนี้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ล้ำสมัยล้ำจินตนาการในอนาคตภายภาคหน้า เพื่อให้ได้มาซึ่งอนาคตที่ดีกว่าก็เป็นได้ สื่อเหล่านี้ถือเป็นแรงสำคัญที่จะช่วยหล่อหลอมให้คนรุ่นต่อๆ ไปกล้ามีความหวังถึงสิ่งที่อยู่เหนือจินตนาการ ต่อยอดแตกแขนงจากภาพที่ชาวไทยเคยสร้างสรรค์ให้ออกมาเป็นอนาคตของไซไฟไทยในรูปแบบใหม่ๆ
เจาะเวลาหาอดีต ย้อนรอยประวัติศาสตร์ไทยที่ถูกลบเลือนหาย
เส้นทางการผจญภัยของเหล่าตัวละครใน Taklee Genesis เริ่มต้นจุดติดต่อมความตื่นเต้นของผู้ชมทันทีที่การเดินทางข้ามเวลาพลันเริ่มขึ้น พวกเขาเดินทางย้อนไปยังยุคก่อนประวัติศาสตร์ 5,000 ปี ที่ทำให้เห็นถึงอารยธรรมการดำรงชีวิตของชาวบ้านเชียงโบราณที่หายสาบสูญไปจากประวัติศาสตร์ ซึ่งถูกแต่งเติมในหนังให้พวกเขาคือกลุ่มคนในอดีตกลุ่มแรกที่ถูกทอดทิ้งไว้ในกาลเวลา พบเจอกับชะตากรรมตามประวัติศาสตร์ที่ทำให้อารยธรรมของพวกเขาสาบสูญ
แม้ว่าเหล่าตัวละครจากยุคปัจจุบันจะรู้กันถึงเรื่องราวของชาวบ้านกลุ่มนี้ แต่ด้วยความที่ชาวบ้านต่างไม่สามารถสื่อสารกับคนจากยุคปัจจุบันได้ สุดท้ายก็กลายเป็นคนไม่มีสิทธิ์มีเสียงเรียกร้องสิ่งใด อีกทั้งชาวบ้านเหล่านี้ยังไม่มีความสำคัญใดๆ ต่อภารกิจตามหาพ่อของสเตลล่า พวกเขาจึงเลือกที่จะปล่อยให้ผู้คนถูกลบเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์
ด้วยเหตุนี้ เรามองว่าชาวบ้านเชียงเป็นเหมือนตาสีตาสา ไม่สามารถต่อรองเพื่อร้องขอการควบคุมชะตาชีวิตของพวกเขาเองได้เลย อีกทั้งยังถูกคนที่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขาทอดทิ้งไปอีก ทั้งๆ ที่ชาวบ้านเชียงนั้นเป็นหลักฐานเครื่องยืนยันชิ้นสำคัญถึงการมีอยู่ของชาวไทยมาอย่างยาวนานบนแผ่นดินประเทศไทย มิใช่มาจากเทือกเขาอัลไตตามที่เคยรู้กันมา ซึ่งท้ายที่สุดเหลือไว้เพียงเศษซากของถ้วยชามรามไหที่ขุดพบเจอในปัจจุบัน และเด็กชายที่ชื่อว่า ‘มอร์ดิ’ ที่ภายหลังเพี้ยนเป็น ‘หม้อดิน’ ตัวละครตัวแทนชาวบ้านเชียงเพียงหนึ่งเดียวที่สามารถเดินทางไปยังยุคต่อไป
เมื่อตัวละครเดินทางข้ามเวลาต่อไปข้างหน้าในอนาคต พวกเขาพบว่าการเปลี่ยนแปลงอดีตส่งผลต่ออนาคตข้างหน้าไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ภาพโลกอนาคตที่ควรจะเป็นสถานที่ที่ดีขึ้นตามกาลเวลา กลับกลายเป็นสถานที่ที่เลวร้ายเกินกว่าที่คนยุคปัจจุบันเคยประสบพบเจอ
กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พยายามก้าวไปสู่อนาคตด้วยพลังแห่งความหวังและความฝัน แต่พลังอำนาจในการกำหนดสิ่งต่างๆ นั้นกลับไม่ได้อยู่กับพวกเขา เพราะผู้คนรุ่นเก่ามีพลังอำนาจที่เหนือกว่า นั่นคือ อำนาจในการเปลี่ยนแปลงลบเลือนประวัติศาสตร์ในอดีต ดั่งคำกล่าวที่ว่า “ผู้ใดควบคุมอดีต ผู้นั้นควบคุมอนาคต ผู้ใดควบคุมปัจจุบัน ผู้นั้นควบคุมอดีต” ในหนังสือเรื่อง 1984 ของ George Orwell
เราจะเห็นได้ว่า เหตุการณ์เวลาในเรื่องผันผวนแปรเปลี่ยนไปอย่างผิดปกติ ทำให้อนาคตที่ควรจะสดใสของคนรุ่นใหม่กลายเป็นโลกดิสโทเปีย เมือง New U-Dawn กลายเป็นสถานที่อันสิ้นหวังของคนรุ่นใหม่ที่ถูกกุมชะตาชีวิตไว้โดยภาครัฐ กลุ่มคนในอนาคตสรุปคำตอบของปัญหาทั้งหมดว่า ต้นตอความเลวร้ายทั้งปวงมาจากการกระทำของคนรุ่นก่อนไปโดยปริยาย
ทั้งนี้ทั้งนั้น เด็กในอนาคตภายภาคหน้าก็ยังคงต้องใช้ชีวิตต่อไปโดยไม่สามารถกำหนดควบคุมยุคสมัยของพวกเขาได้ ไม่ต่างอะไรจากชาวบ้านเชียงในอดีต เพราะหน้าที่การเปลี่ยนแปลงเวลายังคงอยู่ในกำมือของคนปัจจุบัน เห็นได้จากกลุ่มของสเตลล่าที่เป็นผู้ใหญ่กลุ่มเดียวในช่วงเวลาอนาคต ที่สามารถควบคุมการเดินทางข้ามเวลาผ่าน Warpball ได้
แต่ปัญหาการรับมือกับคนรุ่นก่อนที่มีอำนาจในการควบคุมทุกอย่างในยุคปัจจุบันที่สเตลล่าจากมา ก็ทำให้เธอเผชิญภาวะมืดแปดด้านที่จะแก้ไขปัญหาไม่ต่างจากในอนาคตเช่นกัน ทางเดียวที่คนในยุคปัจจุบันพอจะทำได้จึงเป็นการไม่เดินตามรอยเท้าที่ผู้ใหญ่ก่อนหน้าพวกเขาเคยทำและทำให้ประวัติศาสตร์นั้นซ้ำรอยอีก
อีกเส้นเวลาที่โผล่ขึ้นมาในการเดินทางกลับไปแก้ไขสิ่งต่างๆ คือ ช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่เอาเข้าจริงก็เหมือนเป็นช่วงเวลาที่ถูกลบหายไปจากประวัติศาสตร์ไทย ราวกับเหล่าผู้วายชนม์ในเหตุการณ์นั้นไม่เคยมีตัวตนมาก่อน (เคยปรากฏในหนังเรื่องดาวคะนอง) โดยสะท้อนผ่านตัวละคร ก้อง (วอร์-วนรัตน์ รัศมีรัตน์) นักศึกษาผู้ถูกสังหารในเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาและผู้ประท้วงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หลังจากก้องตาย ชีวิตของเขาถูกแปรเปลี่ยนเป็นใครที่เขาเองก็ไม่รู้จัก และถูกสั่งให้ใช้ชีวิตต่อไป เป็นใครก็ไม่รู้ที่ไม่มีทางเติบโตไปสู่อนาคตในวันข้างหน้าได้เลย ต้องยอมรับว่าผู้กำกับชาญฉลาดในการแฝงประวัติศาสตร์ทางการเมืองอันแสนเจ็บปวดเอาไว้ในเรื่องร่วมกับความไซไฟได้อย่างแนบเนียน ทั้งการใส่เหตุการณ์เหนือธรรมชาติที่มีศพตกลงมาจากฟ้าที่บ้านดอนหายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 ซึ่งคือวันเริ่มต้นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
บรรดาศพที่ตกลงมาเปรียบเสมือนการรำลึกถึงผู้สูญหายในเหตุการณ์สลายการชุมนุมครั้งนั้น และปรากฏการณ์นี้ยังมีต่อเนื่องเรื่อยๆ ที่ดอนหาย คล้ายเป็นการรำลึกถึงช่วงเวลาอื่นๆ ที่มีผู้สาบสูญต่อไปไม่สิ้นสุดหากไม่มีใครเปลี่ยนแปลงมัน
สิ่งสุดท้ายที่ผู้วายชนม์อย่างก้องจะเรียกร้องขอจากคนที่กุมชะตากรรมของห้วงเวลาไม่ใช่การย้อนกลับไปแก้ไขเหตุการณ์ทั้งหมด แต่เป็นสิ่งเล็กๆ เพียงแค่คำว่า “อย่าลืมพวกเรา” เท่านั้น
และยิ่งเมื่อเหตุการณ์เวลาในภาพยนตร์ซ้อนทับกันในช่วงสุดท้ายของหนัง ทำให้เกิดเป็นภาพของเด็กหัวเราะใต้ต้นมะขามที่สนามหลวง เสียงปลุกระดมผ่านวิทยุของ ‘ทมยันตี’ หรือบรรดากระสุนของผู้ปราบปรามนักศึกษา ที่ข้ามกาลเวลามาสู่อนาคตอีก 200 ปี ซึ่งปรากฏกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่ยังคงต่อสู้กับอำนาจรัฐ นายทุน และผู้มีอำนาจทางสังคมที่กดทับพวกเขา
กลายเป็นภาพที่ทำให้เห็นว่า แม้เวลาจะผ่านไปยาวนานเท่าไหร่ ความเลวร้ายในอดีตที่ไม่สามารถลบให้หายไปได้ก็ยังคงตามหลอกหลอนสร้างบาดแผลแก่คนในรุ่นต่อไปอยู่เสมอ รวมถึงการต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไป และผู้ที่สูญเสียมากที่สุดในทุกยุคทุกสมัยก็ยังคงเป็นเหล่าเด็กรุ่นใหม่ผู้หวังจะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง
พลังการเดินทางข้ามเวลาใน Taklee Genesis จึงไม่ใช่แค่การฝันละเมอเพ้อพกถึงพลังอำนาจแห่งวิทยาการที่เกิดขึ้นได้เฉพาะในหนังไซไฟอย่างเดียว แต่พลังในการเดินทางข้ามเวลาในที่นี้ทำหน้าที่เป็นเครื่องตอกย้ำความหมายของคำว่า ‘เวลาอยู่ข้างเรา’ ใครก็ตามที่พยายามอยู่เหนือการควบคุมของเวลา ไม่มีทางเข้าใจถึงมันอย่างแท้จริง หากแต่ใครก็ตามที่สามารถใช้ชีวิตอยู่เคียงข้างกับเวลาได้ ผู้นั้นถึงจะเป็นอิสระจากอำนาจทั้งปวง
ถึงกระนั้นแม้เวลาจะอยู่ข้างเรา หากแต่อำนาจนั้นอยู่ข้างใคร
ในห้วงเวลาแห่งความกลัวและโกลาหล การมีความหวังทำให้ชีวิตมีความหมาย
ฉากเปิดเรื่อง Taklee Genesis ไม่ได้เริ่มด้วยความไซไฟที่ห่างไกลจากความเป็นไทยโดยทันที แต่นำเสนอผ่านภาพของพิธีกรรมทางความเชื่อบูชาผีในแถบอีสาน ณ หมู่บ้านดอนหาย
ว่าด้วยการบูชาเซ่นไหว้ภูตผีที่ไม่ใช่เพื่อร้องขอให้ปกปักคุ้มครองหมู่บ้าน แต่เป็นการกระทำเพื่อไม่ให้ผีร้ายตนนี้ออกอาละวาดสร้างความโชคร้ายแก่หมู่บ้าน จุดเริ่มต้นนี้เองที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อที่ปกครองผู้คนด้วยความกลัวซึ่งฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน ผ่านผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้านที่ใช้เรื่องเหนือธรรมชาติมาเป็นอำนาจขู่เข็ญไม่ให้ผู้คนสงสัย ตั้งคำถาม หรือเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ทำกันมา
ทั้งที่แท้จริงแล้วความเชื่อต่างๆ ที่ส่งต่อกันมาก็มิใช่สิ่งที่ถูกต้องแท้จริงเสมอไป แค่มันริเริ่มโดยใครบางคนที่อยู่มาก่อนคนยุคหลัง พ่อของสเตลล่าที่เป็นคนอเมริกัน ผู้ไม่ได้ยึดถือสิ่งเหล่านี้เฉกเช่นคนในพื้นที่ จึงตั้งคำถามว่าเหตุไฉน “ความเชื่อมาจากความกลัว ไม่มาจากความหวัง”
ซีนเหล่านั้นเป็นการสะท้อนภาพของพื้นที่ที่ปกครองความเชื่อด้วยความกลัวมาอย่างช้านาน ผู้ใหญ่หมู่บ้านอย่างลุงจำนูญ (ภูธฤทธิ์ พรหมบันดาล) สั่งห้ามไม่ให้คนในหมู่บ้านตั้งข้อสงสัยถึงพิธีกรรมที่ทำกันมา และปกปิดปีศาจร้าย ‘ลาวัล’ ที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดที่ตนเองมิอาจแก้ไขได้
ลาวัลกลายเป็นผีร้ายแห่งความหวาดกลัวที่ทหารจีไออเมริกันทิ้งเอาไว้ในไทย (คล้ายคลึงกับในเรื่อง Morrison ที่ฉายเมื่อต้นปี) แม้เวลาจะผ่านไปนานเพียงใด แต่ผีปีศาจร้ายอันเป็นผลพวงจากมรดกที่อเมริกาฝากฝังไว้ในยุคสงครามเย็น ที่เคยใช้ปราบปรามคอมมิวนิสต์ก็ยังคงถูกปลุกขึ้นมาสร้างความกลัวให้เกิดเป็นความเชื่อ เป็นค่านิยมในทุกยุคทุกสมัย แม้แต่ในอนาคตมันก็ไม่หายตายจากไป หนำซ้ำยิ่งทวีความชั่วร้ายมากขึ้นเมื่อมีคนคอยเซ่นไหว้บูชา
จนในวันหนึ่งผู้มีอำนาจไม่สามารถควบคุมลาวัลเอาไว้ได้ มันกลายสภาพเป็นไคจูยักษ์ทำลายบ้านเมืองในเส้นเวลาแห่งอนาคต สะท้อนภาพความผิดพลาดของรัฐไทยที่ปกครองด้วยความกลัวมาอย่างช้านาน จนในวันที่ผู้มีอำนาจเหล่านั้นจากไป ปีศาจที่พวกเขาสร้างเอาไว้ก็ยังคงบ่อนทำลายอนาคตที่สดใสของคนรุ่นใหม่
ตีความได้จากภาพไดโนเสาร์ล้านปีที่โผล่มาอยู่ในโลกอนาคต คอยรังควานเด็กในภายภาคหน้าได้อย่างแปลกประหลาดผิดบริบทเหตุการณ์เวลา เป็นการเสียดสีจิกกัดแนวคิดหัวเก่าขนบโบราณที่ไม่ยอมปรับตัว และไม่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ทำตัวเป็นไดโนเสาร์ที่ดำรงอยู่รอดมาคอยจองล้างจองผลาญคนแต่ละยุคสมัยอยู่เสมอ
มากไปกว่านั้น การใส่เพลง ‘คิดถึงบ้าน’ หรือที่หลายๆ คนรู้จักกันในเพลง ‘เดือนเพ็ญ’ เข้ามาในช่วงเวลาโลกอนาคตอีก 200 ปีข้างหน้า ที่เหล่าวัยรุ่นหนุ่มสาวนั่งจับกลุ่มร้องเพลงนี้กันขึ้นมา หากไม่ทราบถึงประวัติความเป็นมาของบทเพลง ผู้ชมคงรู้สึกว่าเป็นการใส่มาอย่างไม่มีที่มาที่ไป ผิดบริบทของหนัง หวังโปรโมตเพลงประกอบหรือเปล่า
แต่หากได้ทราบว่าบทเพลงนี้แต่งขึ้นโดย ‘นายผี’ หรือ ‘อัศนี พลจันทร’ ในยุคเผด็จการจอมพล สฤษดิ์ ที่สภาวะการเมืองและการต่อต้านคอมมิวนิสต์เข้มข้น จนนายผีหลบเข้าป่าลี้ภัยการเมือง ต้องเดินทางจากลาว เวียดนาม ไปถึงจีน ก็คงจะเข้าใจว่าทำไมผู้กำกับถึงเลือกใช้เพลงนี้
คิดถึงบ้าน ถูกเขียนขึ้นเพื่อพรรณนาถึงความรู้สึกคิดถึงบ้าน จนกลายเป็นบทเพลงที่ร้องเล่นกันในหมู่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่หลบลี้หนีภัยในยุคสมัยนั้น และร้องต่อๆ กันมาเรื่อยๆ สู่กลุ่มนักศึกษาปัญญาชนที่เข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม สู่คนยุคอุตสาหกรรมที่ต้องเดินทางจากชนบทต่างจังหวัดมาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ หรือกระทั่งคนไทยจำนวนมากที่จากบ้านเกิดเมืองนอนไปทำงานในดินแดนอื่น เพลงคิดถึงบ้านจึงกลายเป็นหนึ่งมรดกแห่งความหวังที่ส่งต่อจากยุคสู่ยุค เพื่อใช้เป็นขุมพลังต่อสู้กับความกลัว ความโดดเดี่ยว และความแปลกแยก
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาผู้กำกับ มะเดี่ยว ชูเกียรติ ถือว่าเป็นผู้กำกับคนหนึ่งที่มีความคิดริเริ่มบุกเบิกสร้างอะไรหลายๆ อย่างแก่วงการหนังไทยมาเสมอ ตั้งแต่การนำเสนอเส้นแบ่งที่พร่าเลือนระหว่างอาการทางจิตหรือผีวิญญาณใน ‘คน ผี ปีศาจ’ หรือการนำเสนอความรัก LGBTQ+ ก่อนกาลในวันที่ผู้คนยังไม่เข้าใจใน ‘รักแห่งสยาม’
คราวนี้ Taklee Genesis อาจไม่ใช่หนังที่สมบูรณ์แบบอย่างครบถ้วนกว่าเรื่องอื่นๆ แน่นอนว่ามันยังคงมีบาดแผลอยู่บ้าง แต่เราก็เห็นถึงความพยายามอย่างมากที่สุดในการร้อยเรียงเชื่อมโยงโลกไซไฟในภาพยนตร์เข้ากับบริบทหน้าประวัติศาสตร์ไทย ถือเป็นความคิดริเริ่มอีกครั้งที่ผู้กำกับคนนี้มอบให้แก่ชาวไทย
ถึงจะไม่ใช่ในแง่ของการเป็นต้นฉบับออริจินัลความเป็นไซไฟที่มาก่อนกาล แต่เป็นการมอบความหวังให้ผู้คนได้ประจักษ์ดั่งคำกล่าวสำคัญในเรื่องว่า “การมีความหวังทำให้ชีวิตมีความหมาย” การไม่สิ้นหวังกับวงการภาพยนตร์ไทยกลายเป็นอีกหนึ่งสารที่ถูกถ่ายทอดออกมาใน Taklee Genesis ซึ่งผลิดอกออกผลให้ผู้คนเห็นว่า มันมีความหมายแก่ผู้คนที่ยังมีความหวังจะสานต่อความฝันของหนังไทย และบรรดาผู้ชมชาวไทยที่ยังเชื่อมั่นว่าจะได้เห็นความน่าอัศจรรย์ในภาพยนตร์ไทยจากนี้ไปอีกเรื่อยๆ
Sources :
กรุงเทพธุรกิจ | www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/120785
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา | www.thenormalhero.co/tuaytoon
Thairath Plus | plus.thairath.co.th/topic/politics&society/103831
The Cloud | readthecloud.co/ban-chiang-discovery