ชวนลงชื่อยกเลิกภาษีผ้าอนามัย และแจกผ้าอนามัยฟรีให้ผู้มีประจำเดือน เข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้หญิงจำนวนมากที่กำลังเผชิญกับสภาวะขาดแคลน หรือไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับประจำเดือนได้ (Period Poverty) เนื่องจากผ้าอนามัยมีราคาสูงเกินไปเมื่อเทียบกับอัตรารายได้หรือค่าครองชีพ ทำให้ผู้หญิงและเด็กหลายคนต้องสูญเสียโอกาสทางการงานและการศึกษาเมื่อมีประจำเดือน เพราะเหตุนี้ หลายฝ่ายจึงออกมารณรงค์และเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการเก็บภาษีผ้าอนามัยทุกรูปแบบ และผลักดันให้มีนโยบายแจกผ้าอนามัยฟรีให้กับประชาชน ย้อนไปวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ‘ภาษีผ้าอนามัย’ กลายเป็นประเด็นถกเถียงที่สังคมให้ความสนใจในวงกว้าง หลังจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศกฎกระทรวงกำหนดให้ ‘ผ้าอนามัยแบบสอด’ เป็น ‘เครื่องสำอาง’ ตามมาตรา 4 และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 หมายความว่าจะมีการเก็บภาษีสินค้าชนิดนี้เพิ่มจาก 7 เปอร์เซ็นต์ เป็น 30 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียจำนวนมากไม่เห็นด้วย และแสดงความคิดเห็นว่า ผ้าอนามัยไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย แต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันของผู้หญิง และรัฐบาลไม่ควรผลักภาระทางภาษีให้กับประชาชน ทว่า หลังจากเกิดกระแสดราม่าไม่กี่วัน ด้านกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรได้แถลงการณ์ชี้แจงว่า การประกาศให้ผ้าอนามัยแบบสอดเป็นเครื่องสำอางนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี แต่มีจุดประสงค์เพื่อควบคุมสินค้าตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น พร้อมยืนยันว่าผ้าอนามัยแบบสอดไม่ถูกจัดเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย 30 เปอร์เซ็นต์อย่างแน่นอน แต่ยังคงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์เหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม องค์กรเพื่อสิทธิสตรี นักเคลื่อนไหว และประชาชนหลายรายยังคงมองว่า ผ้าอนามัยควรเป็นสินค้าปลอดภาษีที่ผู้หญิงทุกคนสามารถเข้าถึงได้ จึงเดินหน้ารณรงค์และเคลื่อนไหวให้รัฐบาลแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากราคาผ้าอนามัย […]