ตามติด #ม็อบชาวนา เสียงสะท้อนปัญหาภาระหนี้สิน และราคาข้าวตกต่ำของเกษตรกรไทย
คนไทยถูกพร่ำสอนให้สำนึกบุญคุณของชาวนาที่ปลูกข้าวให้ทุกคนกินเสมอมา เพราะข้าวแต่ละเม็ดได้มาอย่างยากลำบาก จึงมีการยกย่องให้เกษตรกรเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ถ้าไม่มีชาวไร่ชาวนาประเทศเราจะอยู่ไม่ได้ แต่ในความเป็นจริง กระดูกสันหลังของไทยกลับถูกละเลยให้ทุกข์ยากและลำบากเพียงลำพัง ทำนามากี่ปีๆ ก็ลืมตาอ้าปากไม่ได้สักที ใครที่ติดตามมูฟเมนต์ม็อบการเมืองในช่วงไม่กี่สัปดาห์นี้ จะเห็นได้ว่าเกษตรกรหลายร้อยคนจากกว่า 36 จังหวัด ได้เดินทางมาปักหลักชุมนุม ‘ม็อบชาวนา’ ที่หน้ากระทรวงการคลัง บริเวณถนนพระราม 6 ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2565 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งช่วยแก้ไขและบรรเทาปัญหาหนี้ ผ่านกระบวนการจัดการหนี้สินของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่มีมติเห็นชอบโครงการดังกล่าว ทั้งที่ค้างคามาเป็นเวลานานกว่า 2 ปีแล้ว นอกจากปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับราคาผลผลิตที่ตกต่ำลงมาตลอด บวกกับสถานการณ์โควิด-19 และการผันผวนของการเมืองไทยที่มีการรัฐประหารและเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีอยู่บ่อยครั้ง ทำให้นโยบายและการจัดการปัญหาฝั่งเกษตรกรรมไม่จริงจังและไม่ต่อเนื่อง เพราะเอาเข้าจริงก็มีเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทยที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2546 นับเป็นเวลาเกือบยี่สิบปีแล้ว แต่สถานการณ์ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ผู้ชุมนุมยืนยันว่าจะปักหลักชุมนุมต่อไป หากยังไม่มีมติจาก ครม. เพื่อให้กองทุนฟื้นฟูฯ เข้ามาช่วยจัดการหนี้สินของเกษตรกรจากธนาคารของรัฐ ด้วยการตัดดอกเบี้ย ลดเงินต้นลง รวมถึงการลดข้อจำกัดที่จะเอื้อให้เกษตรกรชำระหนี้สินได้ในระยะยาว เพราะถ้ารัฐยังไม่มีการจัดการและแผนการรองรับที่ดี อาจทำให้ธนาคารยึดที่ดินของเกษตรกรไทย จนไม่มีที่ดินให้ทำกิน และที่เลวร้ายสุดคือการถูกยึดที่อยู่อาศัย ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของสังคมไทยในระยะยาว ล่าสุดม็อบชาวนาได้เจรจากับทางรัฐบาลแล้ว และคาดว่ามติ ครม.จะออกมาในวันที่ 15 […]