ชีวิตหลังปฏิเสธยาโรคซึมเศร้าและการบำบัดใจด้วยการวาดภาพของ ‘ตูน t_047’ - Urban Creature

ช่วงเย็นในวันอันแสนเหน็ดเหนื่อยจากการโดนพ่นคำแย่ๆ ใส่ เราก้มหน้าฟังเพลงพลางกดโทรศัพท์ระหว่างทางกลับบ้านเพื่อปิดบังความเศร้า ทว่าครึ่งชั่วโมงผ่านไป ขณะที่กำลังเดินลงจากรถไฟฟ้า เราเงยหน้ามองท้องฟ้าอย่างจริงๆ จังๆ และพบกับสีชมพูอ่อนอมส้มที่ให้ความอบอุ่นอย่างบอกไม่ถูก ที่สำคัญเพลย์ลิสต์ที่เราเปิดฟังทิ้งไว้ ยังสุ่มเล่นเพลงดนตรีโฟล์คอย่าง Magic hour จากวง t_047 ในท่อน ‘ในความสวยงามของพระอาทิตย์อัสดง ท้องฟ้ากลายเป็นสีชมพูอมแดงอมส้ม’  เนื้อเพลงไม่กี่คำที่กำลังส่งสัญญาณว่า ท่ามกลางเรื่องแย่ๆ อาจเจอเรื่องดีๆ เข้าสักวัน 

วันนั้นเสียงของ ตูน–ณัฐธีร์ อัครพลธนรักษ์ นักร้องนำวง t_047 และ ศิลปินสไตล์ Alternative pop-rock อย่าง YERM เยียวยาเราได้ชั่วขณะ แต่สิ่งที่เยียวยาและบรรเทาเขาให้ต่อสู้กับความเศร้า เหงา หรือโกรธ กลับไม่ใช่บทเพลง แต่เป็นการวาดรูป สาดสี และใส่อารมณ์ลงไปในงานศิลปะเพื่อบำบัด ‘โรคซึมเศร้า’ ที่เขาเป็น

ตูนเลือกปฏิเสธยาที่หมอทั่วไปใช้ในการรักษา ก่อนค้นพบพลังวิเศษระหว่างได้ลองวาดความในใจลงบนกระดาษที่สามารถบรรเทาทุกอย่างที่เขาเผชิญได้ จนเกิดเป็นอินสตาแกรม Trippysubmarine เรือดำน้ำบนหน้ากระดาษที่หลบซ่อนความเศร้าได้ปลอดภัยที่สุดของตูน

มือวางอันดับ 1 เรื่องคิดมาก

“ยิ่งยอมรับเร็วเท่าไหร่ว่าเราเป็นซึมเศร้า เราก็จะยิ่งหาทางแก้ไขได้เร็ว ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เพราะมนุษย์ทุกคนไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ปกติกันอยู่แล้ว”

นี่คือประโยคแรกๆ ขณะที่เรากำลังนั่งคุยกับตูนใน บ้านข้างๆ Cafe & Gallery คาเฟ่เล็กๆ สีขาวที่โชว์เอกลักษณ์ภาพถ่ายบ้านข้างๆ ที่โด่งดังของเขาได้อย่างลงตัว ตูนในบทบาทเจ้าของร้าน คอยต้อนรับ และส่งยิ้มให้ลูกค้าที่เข้ามาอย่างไม่ขาดสาย จนเราคิดย้อนไปว่ากว่าเขาจะยิ้มได้แบบนี้ เขาผ่านอะไรมาบ้างนะ

“ตอนประถมฯ เรารู้สึกเล็กๆ ว่าเราแปลกแยกและไม่เข้าพวกกับเด็กคนอื่น อยู่มัธยมฯ เราสงสัยว่าทำไมดาราในทีวีถึงเป็นข่าวแบบนี้ ทำไมต้องโกหกนักข่าว พอเข้ามหาวิทยาลัยจนเรียนจบก็รุนแรงขึ้น เพราะโลกโซเชียลมันไว เวลาอ่านคอมเมนต์ชาวเน็ต เห็นคนลงรูป โพสต์แคปชันก็คิดไปแล้วว่าพวกนั้นไม่จริงใจ ทำให้เราอันฟอลโลว่ อันเฟรนด์ไปเป็น 1,000 คน และมองคนรอบข้าง แม้กระทั่งคนที่รักเป็นศัตรู ซึ่งมันแย่มาก รู้ตัวอีกทีวัยทำงานเราก็ทำลายข้าวของ เขวี้ยงแมคบุ๊กใส่กำแพง ต่อยเก้าอี้พังหลังคอนเสิร์ต ควบคุมตัวเองไม่ได้ จนใครๆ ก็อยากให้ไปหาหมอ”

กว่าตูนจะยอมรับความผิดปกติในร่างกาย ช่วงแรกเขาพยายามท่องประโยค “ไม่ได้เป็นอะไรสักหน่อย” ไว้ในใจเพื่อปฏิเสธการหาหมอ เนื่องจากแยกไม่ออกว่าที่เป็นอยู่เกิดจากโรคซึมเศร้าหรือนิสัยคิดมากของตัวเองกันแน่ แต่เลี่ยงได้ไม่นานก็เปิดใจไปพบแพทย์ เพราะปีที่แล้วความรู้สึกดำดิ่งคลืบคลานเข้ามาจนร่างกายแทบรับไม่ไหว

หมอวินิจฉัยว่าตูนป่วยเป็น Dysthymia Depression หรือโรคซึมเศร้าเรื้อรัง แต่เขาเลือกที่จะเดินออกมาจากโรงพยาบาลโดยไม่รับยาสักแผงเดียว

ปฏิเสธยาซึมเศร้า มาจับสีน้ำมันเกลาอารมณ์

ก่อนจะรู้ผลว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า ตูนเล่าให้เราฟังว่าหมอที่ตรวจเขาในวันนั้นล่วงรู้ไปถึงความคิดอย่างกับเป็นหมอดู ตอนนั้นเขาตั้งกำแพงในใจว่าหมอไม่น่าจะเข้าใจเขาและเขาคงไม่เหมือนเคสคนไข้คนอื่น ซึ่งก็มาจากนิสัยที่ชอบคิดว่าตัวเองแปลกแยกตั้งแต่เด็ก จนหมอเริ่มเปิดอกถามตูนว่ากำลังปฏิเสธที่จะฟังอยู่ใช่ไหม เพราะหมอเห็นท่าทีการปฏิเสธตั้งแต่การนั่งกอดอก สีหน้า แววตา หรือท่าทาง ทำให้ตูนกล้าพูดกลับไปตรงๆ ว่าเขาไม่ได้เชื่อหมอเลยด้วยซ้ำ แต่นั่นก็ทำให้เขากล้าที่จะแชร์ความทุกข์ในใจให้หมอฟังเรื่อยๆ จนมาจบที่การวินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง

หลังฟังคำวินิจฉัยราวกับถูกตัดสินจากศาล ความรู้สึกตูนตอนนั้นมีแต่คำสบถปนขำให้กับชีวิตในใจว่า “เชี่ย กูเป็นซึมเศร้าเหรอวะ” แต่เมื่อตั้งสติได้เขาก็ตอบตัวเองได้ว่า ที่ผ่านมาอาการที่อยากต่อยกำแพง เขวี้ยงของ หรือหวาดระแวงกว่าปกติมันเกิดจากอะไร เพราะตอนนี้เขามีปีศาจในตัวที่คอยกลั่นแกล้ง ยั่วยุ และคอยกัดแทะจิตใจให้ลงไปเจอกับความมืดเสมอ

“ผมมียาให้คุณเลือก 2 ชนิด ยาที่ทำให้ไม่สุข ไม่เศร้า ชีวิตนิ่งเรียบ กับยาที่ทำให้หมดอารมณ์ทางเพศ” ประโยคที่เหมือนหลุดมาจากภาพยนตร์จิตวิทยาสักเรื่องเกิดขึ้นจริงกับตูนเมื่อหมอมีทางเลือกให้ 2 ทาง แต่ตูนกลับสร้างทางที่ 3 ขึ้นมาเอง ด้วยการบอกหมอว่าเดี๋ยวจำชื่อยาไปซื้อข้างนอก ทว่าเขากลับบ้านมาโดยไม่ได้ซื้ออะไรเลย เพราะการรับยาแบบนั้นมันทำให้เขารู้สึกว่างเปล่าและกระทบกับงานเพลงที่ต้องใช้อารมณ์ในการแต่ง

“แล้วทำอะไรเป็นอย่างแรก ?” เราถามตูนทันควัน

สิ่งที่ตูนทำคือเลือกจะบอกคนรอบข้างและเพื่อนสนิททุกคนว่าเขาป่วยเป็นอะไร เพื่อให้เพื่อนไม่ตกใจหากเจอการกระทำบ้าบิ่นของเขา ทั้งหลังเล่นดนตรีเสร็จแล้วอารมณ์ค้างจนวิ่งไปต่อยเก้าอี้พลาสติกหัก หรือเตะกีต้าร์ให้พ้นทางเมื่อหงุดหงิดจากวันพังๆ ทว่าวันหนึ่งตูนได้ไปแฮงก์เอ้าท์กับ บาส-องอาจ ส​มบุญ นักร้องนำวง Abandoned House เพื่อนสนิทที่สุดของตูนที่ชอบทำงานศิลปะเป็นทุนเดิม ซึ่งเป็นวันที่บาสหยิบผลงานศิลปะมาให้ตูนได้ซึมซับ

“วันนั้นตลกมาก บาสมานั่งข้างเราพร้อมรูปวาดของมัน มันถามเราว่า ตูนเห็นไหม เห็นบ้านตรงนั้นไหม รู้ไหมหลังไหนบ้านบาส เราก็มองไม่ออกด้วยซ้ำว่ารูปนั้นมันเป็นรูปอะไร หรือมีความหมายอย่างไร เพราะไม่ได้เรียนศิลปะมาโดยตรง แต่ตอนนั้นบาสชวนให้เราลองวาดบ้าง ด้วยความที่บาสเป็นเพื่อนที่เข้าใจเรามากที่สุด เวลามีเรื่องไม่สบายใจ เบอร์แรกที่นึกถึงก็เป็นบาสตลอด ก็เลยลองวาดเล่นๆ สักตั้ง”

ตูนเล่าว่าเขาเริ่มจากการวาดรูป ซื้อสีน้ำมันมาระบาย และละเลงมันไปตามอารมณ์ พอวาดเสร็จก็ส่งให้บาสดู เหมือนส่งการบ้านให้คุณครู

วันที่ 27 สิงหาคม 2562 เป็นวันที่ตูนโพสต์ภาพวาดแรกลงในอินตาแกรม Trippysubmarine ที่เขาเปิดไว้ลงงานศิลปะของตัวเองโดยเฉพาะ จนวาดไป วาดมา ก็นึกสนุกจัด Exhibition งานศิลปะกับบาสในชื่อ ‘อนุบาลสีรุ้ง’ ณ บ้านข้างๆ Cafe & Gallery ของเขาเอง

เดือนสุดท้ายของปี 2562 ตูนโพสต์ความเปลี่ยนแปลงจากการที่เขาได้วาดภาพระบายทุกเรื่องในใจจนกล้าพูดได้เต็มปากว่าศิลปะเนี่ยแหละที่ช่วยบำบัดเขาได้จริง ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว

Trippysubmarine พื้นที่ปลอดภัย พกไปวาดทุกที่ ระบายทุกความรู้สึก

“เราตอบไม่ได้ว่าการวาดรูปมันทำให้เรารู้สึกสบายใจตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะรู้ตัวอีกทีมันก็หมดแรงที่จะเกรี้ยวกราด หมดแรงที่จะไปอารมณ์เสียกับใคร จากที่เคยพยายามซ่อนทุกอย่างที่เราไม่ชอบไว้ในใจ พอได้มาเขียน วาด และระบายมันลงกระดาษ ความรู้สึกเหล่านั้นก็ทุเลาลง ที่สำคัญไม่ต้องทำลายข้าวของแล้วด้วย (หัวเราะ)”

ตูนเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงเรียบๆ แต่ปนรอยยิ้มไว้บนหน้า หากถามว่าตอนนี้เขายังรู้สึกว่าสิ่งที่พยายามจะฉุดเขาลงไปใต้ความมืดยังอยู่ไหม เขาตอบเราชัดว่ายังอยู่ และมันพร้อมจะกลับมาทุกเมื่อ แต่สำคัญที่ว่าเขารู้วิธีจัดการกับปีศาจเหล่านั้นได้ดีขึ้น บางคืนตอนตี 3 เขายังมีอาการนอนไม่หลับ และรู้สึกตัวว่ากำลังถูกกระชากให้ดำดิ่งราวกับคืนนรกแตก ตูนต้องรีบฉีกกระดาษมาวาดความรู้สึกตอนนั้นลงไป วาดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้ว่าคิดอะไรอยู่ เห็นอะไรในหัวเขาก็วาดลงไปแบบนั้นจนกว่าจะหมดแรง

หลังจากผ่านคืนอันเลวร้ายมาหลายคืนตูนก็เริ่มจับจุดได้แล้วว่าแต่ละอารมณ์ที่เกิดขึ้น สามารถบรรเทาได้ด้วยการวาดรูปร่าง รูปทรง หรือสีแบบไหน ช่วงแรกงานของเขาเต็มไปด้วยสีเข้มและการกดน้ำหนักมือแรงๆ เขาบอกว่าเวลาจะใช้สีหรือวาดรูปทรงอะไรต้องซื่อสัตย์กับตัวเองที่สุด เช่น มีคนมายุ่งกับแฟน ก็ขยี้ดินสอ ลากเส้นยุ่งเหยิง ตอบสนองอารมณ์ บางครั้งเบื่อสังคมรอบตัวที่ใครๆ ชอบตัดสินคนจากรูปร่าง ก็จะวาดคนเปลือยผ้าเยอะๆ ใช้สีหนักๆ หรือเติมสีแดงคล้ายเลือดแสดงถึงความพังพินาศ

“มีครั้งหนึ่งเราพกสมุดและสี 1 กล่องไปเดินห้างฯ แล้วเรารู้สึกอึดอัดจากการโดนคนมองเหมือนสงสัยอะไรในตัวเราและเหยียดเราด้วยสายตาจนร้องไห้กลางห้างฯ ทำให้ตัดสินใจนั่งลงและหยิบกระดาษออกมาลองวาดสายตาที่ดูน่ากลัวกว่าสายตาที่เจอ ให้มันทิ่มแทง บาดลึก และหลอกหลอนกว่าสายตาคนพวกนั้น น่าแปลกที่วาดเสร็จก็รู้สึกว่าเมื่อกี้ที่เราเจอก็ไม่เห็นน่ากลัวเท่าไหร่เลยนี่หว่า”

ผู้ชายคนนี้สังเกตตัวเองและทดลองไปเรื่อยๆ เพื่อหาเทคนิคส่วนตัวที่จะใช้ศิลปะต่อสู้กับโรคที่เผชิญ ด้วยการเช็คความรู้สึกตัวเองและวัดความอดทนว่าจะหงุดหงิดไหมถ้าบางส่วนบนหน้ากระดาษมันเว้าแหว่งด้วยการเอาเทปมาแปะ หรือการเติมสีให้เต็มทีละจุด บ้างก็ขีดเส้นไปเรื่อยๆ เพื่อวัดพัฒนาการที่เกิดขึ้นในใจ เมื่อก่อนเขาชอบใช้สีสันจัดจ้านหรือสีดำเข้มที่ถูกขีดข่วนด้วยเล็บเหมือนการแหวกม่านออกจากเงามืด ไม่แม้จะหยิบสีชมพูหรือสีส้มมาใช้ แต่พอวาดไป วาดมา กลับกลายเป็นรักที่จะใช้สีเหล่านั้นและรูปที่สื่อออกมาก็เริ่มสดใส ไม่อึดอัดเหมือนแต่ก่อน เช่น เวลาอยากหลบหนีจากเมืองที่วุ่นวายไปพักที่ไหนสักแห่ง เขาจะเขียนคำว่าวุ่นวายไว้ในจุดเล็กๆ บนหน้ากระดาษ และสร้างบรรยากาศโดยรอบให้เต็มไปด้วยสวนผักที่ปลูกแคร์รอตที่เขาชอบ หรือเลือกใช้สีสดใสที่สื่อถึงความสบายใจในโลกจินตนาการ

ช่วงหลังงานของตูนในอินสตาแกรม Trippysubmarine จึงเริ่มมีความเบามือมากขึ้น และสนุกกับการวาดภาพ เริ่มมีเพื่อนแก๊งที่รักที่สุดเข้ามาในงานของเขา เพื่อเปิดรับคนเข้ามาในพื้นที่แห่งความสนุกแห่งนี้

“พื้นที่บนกระดาษเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย เราสามารถระบายทุกอย่างโดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน แล้วก็มีประโยชน์มากกว่าการไปเพิ่มความทุกข์ให้คนอื่น ไปเหวี่ยงใส่ใคร หรือทำลายข้าวของ”

5 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับการเยียวยา

“เขาไม่ใช่เรา เขาไม่มีวันเป็นเรา เขาเลยไม่เข้าใจเรา” ประโยคนี้เป็นประโยคที่บาส นักร้องนำวง Abandoned House เคยพูดกับตูนไว้หลายครั้งเวลาที่ตูนขอคำปรึกษาเมื่อเจอผู้คนที่ไม่เข้าใจ ช่วงหนึ่งตูนพยายามอยากให้ทุกคนฟังเพลงวงตัวเองเยอะๆ ตั้งความหวังไว้สูง จนทำให้เขาเจ็บปวดไม่น้อย แต่ก็ยอมแพ้ไปเพราะถูกปลดล็อกด้วยประโยคดังกล่าว

5 เปอร์เซ็นต์ที่ตูนรู้สึกว่าถูกปลอบประโลมจากเพื่อนซี้อย่างบาสและงานศิลปะที่บาสชักชวนให้ตูนเห็นลู่ทาง เขาบอกว่าไม่มีทางล่วงรู้ได้เลยว่าคืนไหนที่จะถูกกระตุ้นให้เจอฝันร้าย คืนไหนจะต้องรู้สึกจมดิ่งจากภาพยนตร์สักเรื่อง เพลงบางเพลง หรือเหตุการณ์บางเหตุการณ์ ทุกวันนี้จึงเป็นวันที่เขาต้องระมัดระวังในการใช้ชีวิต เลือกรับคำพูดและความคิดจากคนอื่น ถอดตัวเองจากการเป็นเป้าสายตาตามความคาดหวังของสังคมที่อยากให้เขาเป็นแบบนั้น แบบนี้ ไม่ต้องทำตัวหล่อ ฉลาด เท่ หรืออะไรที่ทำให้ตัวเองเหนื่อย แค่อยู่กับปัจจุบันที่อยากเป็นก็พอ นั่นทำให้ ‘อัตตา’ ของตูนถูกขีดทิ้งไปอย่างสิ้นเชิง เช่นเดียวกับรอยสักบนแขนที่เขาตั้งใจลบความเป็นตัวตนที่เคยแบกไว้หนักอึ้งออกไป

แต่ชีวิตของตูนก็ไม่ได้ไร้สีสันขนาดนั้นสักทีเดียว เพราะเขาบอกว่าความบันเทิงเดียวที่เป็นทางออกของชีวิตคือการติ่งไอดอลหญิงเกาหลีวง Twice !

ตูนตาลุกวาวทันทีตอนเราถามว่าสาวๆ ทั้ง 9 คนใน Twice ตูนเป็นเมนใคร คำตอบของเขาคือ ‘ดาฮยอน’ เพราะเธอเป็นคนที่ทำอะไรก็ดูตลก โก๊ะๆ ปนน่ารักอย่างเป็นธรรมชาติ ที่สำคัญสาวๆ ทุกคนยังเก่งเรื่องการใช้เทคนิคการกวาดสายตาเวลาเล่นคอนเสิร์ต ทำให้คนทั้งฮอลล์รู้สึกว่ากำลังถูกมองด้วยสายตาอันอ่อนหวานทั้งๆ ที่นั่งไกลอย่างไม่น่าเชื่อ

“เราเหมือนมีชีวิตอยู่เพื่อรอดู Twice (หัวเราะ) ครั้งแรกที่เราตกหลุมรักวงนี้ก็คือการได้ฟังเพลง Cheer Up ของพวกเธอ เราเหมือนได้กำลังใจบางอย่างจากตรงนั้น หลังจากนั้นก็ตามฟังทุกเพลง ซึ่งพบว่าโปรดักชั่นโหดมาก เมโลดี้ก็เพราะมาก ฟังทุกวันจนซื้ออัลบั้ม ไปดูคอนเสิร์ตทุกครั้งเวลาพวกเธอมาไทย ที่ประทับใจสุดๆ คงเป็นตอนที่เราไปดูคอนเสิร์ตด้วยลุคที่โคตรดิบ รอยสักเต็มแขน แต่แฟนคลับของสาวๆ ก็ต้อนรับเราดีมาก มีน้องคนหนึ่งมาแจกน้ำเรา แล้วก็มีแฟนบอยที่ดิบๆ เหมือนกันมาร่วมหวีดไปกับเรา ก็เป็นความรู้สึกที่แปลกใหม่และสนุกดี”

ไม่มีใครยังมี ‘ตัวเรา’

“คิดว่าสังคมไทยมองการไปพบจิตแพทย์เป็นแบบไหน ?” เราถามตูนจริงจังหลังจากเฮฮากันมาสักระยะหนึ่ง

ตูนตอบเราว่าสังคมไทยชอบทำให้การไปพบหมอเป็นเรื่องผิด แปะป้ายคำด้านลบ ต่อว่าผู้คนว่าเป็นโรคจิต ส่งผลให้หลายคนเลี่ยงที่จะไปพบหมอ ทั้งๆ ที่ทุกคนก็ไม่ใช่คนปกติกันอยู่แล้ว บางทีคนที่พูดจาร้ายๆ กับคนอื่น ก็ไม่ใช่คนปกติเลยด้วยซ้ำ

“ไม่ต้องแคร์สังคม แคร์ตัวเองดีกว่า ถ้าลองลิสต์ดูว่ามีเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้เราไม่ไป อาจเห็นแค่ไม่กี่ข้อที่มาจากความกลัวที่จะถูกมองว่าเป็นซึมเศร้า กลัวว่าเป็นเรื่องผิด แต่เชื่อว่าจุดหนึ่ง เราจะรู้ว่าคนที่เราควรแคร์มากที่สุดก็คือตัวเรา ยอมรับมันดีกว่า เราเชื่อว่าทุกคนจะเจอทางออกดีๆ กันคนละแบบ บางคนเหมาะกับการใช้ยา หรือบางคนอาจจะมีวิธีบรรเทาทางอื่นนอกเหนือจากนี้

“โลกในปัจจุบันอาจไม่ใช่โลกที่คุณต้องการไปชั่วชีวิต แต่ต่อให้ตาย ชาติหน้าก็อาจไม่ใช่โลกที่คุณต้องการอยู่ดี อาจเป็นโลกที่ล้อมด้วยคนที่ไม่เข้าใจเหมือนเดิมก็ได้ งั้นถ้ามันจะห่วย ก็ยอมรับว่าโลกมันห่วย แล้วค้นหาจุดที่ไม่ห่วยให้เจอแค่จุดเล็กๆ เสี้ยวเดียว แล้วพาตัวเองไปอยู่ตรงนั้นกันเถอะ”

ก่อนจากกันเรายื่นสมุดให้ตูนวาดภาพความรู้สึกตอนนี้ให้ดู เขาวาดรูปนกที่ถูกล่ามโซ่เหมือนถูกกักขัง และอธิบายให้ฟังว่าตอนนี้เขารู้สึกหลุดพ้นจากทางโลก ถ้าให้เปิดประตูแล้วเดินออกไปเรื่อยๆ อย่างไร้วิญญาณก็ทำได้ แต่สิ่งที่รั้งเขาไว้ให้อยู่กับโลกความเป็นจริงตอนนี้คือทุกคนที่เขาเคยสร้างความผูกพันไว้ ทั้งครอบครัว แฟน และเพื่อน ที่ทำให้เขายังไหลไปตามโลก ยังอยากมีชีวิตอยู่ด้วยร่างที่มีความรู้สึก และยังอยากเป็นนกที่คอยสร้างความคิดใหม่ๆ ให้คนในโลกนี้ดีขึ้น อย่างการสัมภาษณ์วันนี้ที่ทำให้คนรู้การมีอยู่ของศิลปะบำบัด ก็เป็นความรู้สึกดีๆ เล็กๆ ที่ได้แชร์เรื่องราวที่กระตุ้นความรู้สึกบางอย่างในใจคนอ่านได้ไม่น้อย ซึ่งก็มีเราที่นั่งสัมภาษณ์ตรงข้ามเขาแล้วคนหนึ่ง


Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.