สวีเดนตัดต้นไม้เยอะสุดแต่สิ่งแวดล้อมยังสมบูรณ์ - Urban Creature

วันที่ได้รับโจทย์จากกองบรรณาธิการ Urban Creature ให้ตามหาคำตอบว่า ‘ประเทศไหนตัดต้นไม้เยอะ แต่ยั่งยืนที่สุด’ ไม่ทันได้กดเสิร์ชกูเกิล ก็ใช้ความรู้ (เท่าที่มี) ตัดสินไปแล้วว่า ‘ไม่มี’ 

แต่เอาเข้าจริงพอนั่งค้นคว้าหามรุ่งหามค่ำ สารพัดตัวเลขและข้อมูลถาโถมจนระบบปฏิบัติการสมองเกือบ Error ก็พบข้อมูลที่น่าสนใจจนอยากค้นต่อ 

“สวีเดนเป็นเจ้าแห่งการส่งออกไม้เป็นอันดับ 3 ของโลก” 

แต่สวีเดนก็เป็นประเทศที่สิ่งแวดล้อมดีจนติดท็อปของโลกเหมือนกัน

สรุปแล้วรักษ์โลกจริงหรือเปล่าวะ 

เพราะจำได้ว่าสมัยเรียนหนังสือคุณครูสอนว่าอย่าตัดต้นไม้ทำลายป่า เพราะสัตว์ป่าจะไร้ที่อยู่อาศัย ทำลายความสมบูรณ์ของธรรมชาติ และส่งผลต่อการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก ซึ่งปัญหาที่ตามมาอาจใช้เวลาแก้มากกว่าการปลูกต้นไม้ขึ้นมาใหม่ จนเข้าใจว่า ‘คน’ และ ‘ป่าไม้’ ต้องแยกขาดออกจากกันเพื่ออนุรักษ์ป่าไม้ไว้ให้ธรรมชาติยังคงอยู่แบบเดิม แล้วทำไมสวีเดนถึงยิ่งตัดต้นไม้เท่าไหร่ ยิ่งกอดตำแหน่งตัวท็อปด้านสิ่งแวดล้อมเอาไว้

ตัดต้นไม้ ≠ ทำลายป่า เสมอไป

ก่อนไปดูแนวคิดการสร้างป่าของสวีเดน เราขอเสนอความน่าสนใจเล็กๆ ของประเทศสวีเดนให้ฟัง นั่นคือ การใช้อุตสาหกรรมป่าไม้เป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศ คิดเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ทั้งสร้างงานให้กับประชากรในประเทศ และสร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลจากการส่งออก แต่ลองค้นต่อไปอีกสักนิด เราพบว่าสวีเดนมีพื้นที่ประเทศทั้งหมด 40.8 ล้านเฮกตาร์ แต่มีพื้นที่ป่าไม้ครอบคลุมมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และมีต้นไม้ประมาณ 8.7 หมื่นล้านต้น ซึ่งเพิ่มขึ้นมาสองเท่าเมื่อเทียบกับจำนวนต้นไม้ 100 ปีก่อน 

กว่าจะมีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ขนาดนี้ สวีเดนเคยเผชิญหน้ากับวิกฤตพื้นที่ป่าขนาดใหญ่หดหายมาก่อน ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เพราะประชากรในสวีเดนใช้พื้นที่ป่าเป็นแหล่งอาหาร แหล่งล่าสัตว์ แหล่งเชื้อเพลิง ทำไม้แปรรูปสำหรับใช้ในบ้าน รวมไปถึงการทำอุตสาหกรรม ซึ่งสวีเดนขาดมาตรการฟื้นฟูทำให้พื้นที่ป่าลดลงเร็วมาก (ใส่ ก.ไก่ ล้านตัว)

ทางรัฐบาลสวีเดนเห็นวิกฤตที่เกิดขึ้น จึงออก ‘Forestry Act’ หรือพระราชบัญญัติป่าไม้ เพื่อควบคุมและบริหารจัดการระบบป่า โดยมีหน่วยมีงานที่ชื่อว่า Swedish Forest Agency (SFA) เป็นผู้รับผิดชอบงานป่าไม้ทั้งหมดของประเทศ ซึ่งแก่นหลักของนโยบายจาก SFA คือการสร้างสมดุลระหว่างตัวเลขเศรษฐกิจและการอนุรักษ์ธรรมชาติควบคู่ไปด้วยกัน โดยจัดสรรเจ้าของผืนป่าทั้งหมด 4 ส่วน

  1. วิสาหกิจครอบครัว จำนวน 320,000 ครัวเรือน (คิดเป็น 48 เปอร์เซ็นต์)
  2. มูลนิธิ หรือองค์กรป่าไม้ (คิดเป็น 26 เปอร์เซ็นต์)
  3. อื่นๆ เช่น คริสตจักร สมาคมที่แสวงหากำไร และไม่แสวงหากำไร (คิดเป็น 6 เปอร์เซ็นต์)
  4. ภาครัฐ (คิดเป็น 22 เปอร์เซ็นต์) แต่มอบอำนาจให้บริษัท Sveaskog ซึ่งรัฐเป็นเจ้าของ และเป็นเจ้าของผืนป่ารายใหญ่ในสวีเดนดูแล 14 เปอร์เซ็นต์

เพราะความสัมพันธ์ระหว่างคน ผืนป่า และธุรกิจ ของสวีเดนถูกเชื่อมเข้าหากัน อยู่ร่วมกันจนสร้างความยั่งยืนให้ทุกฝ่ายในระยะยาว เช่น เปิดพื้นที่ป่าไม้ให้ประชากรใช้ประโยชน์ได้อย่างเสรีภาพ หรือการเข้าถึงป่าไม้สำหรับพักผ่อนและท่องเที่ยว ไปจนถึงการเปิดพื้นที่ป่าให้ประชาชนเข้าไปเก็บผลผลิตเพื่อนำมาขายได้ แต่มีกฎเหล็กอยู่หนึ่งข้อ คือทุกคนต้อง ‘ใช้แล้วปลูกคืน’

ทาง SFA ออกนโยบาย ‘Planting for Next Generation’ ที่กำหนดให้การตัดต้นไม้หนึ่งต้น ต้องปลูกเพิ่มอย่างน้อยสามต้น โดยแบ่งออกเป็น 4 ช่วง 

  1. การฟื้นฟูผืนป่า (Regenerating) อายุต้นไม้ 0 – 10 ปี : หลังจากตัดต้นไม้ออกไป ต้องมีการฟื้นฟูผืนป่าโดยปลูกป่าทดแทน ซึ่งใช้วิธีการหว่านเมล็ด และการงอกใหม่ตามธรรมชาติผสมกันไป
  2. การตัดขยายระยะป่าโดยไม่หวังผลการค้า (Pre-commercial thinning) อายุต้นไม้ 5 – 20 ปี : ในแต่ละปีจะมีการกำจัดต้นไม้อายุน้อยออก เพื่อลดความหนาแน่น และให้ต้นไม้ที่เหลืออยู่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่ ซึ่งไม้ที่ได้จากการตัดจะทำประโยชน์ทางการค้าไม่ได้
  3. การตัดขยายระยะป่า (Thinning) อายุต้นไม้ 20 – 70 ปี : คล้ายกับการตัดแบบข้อ 2 แต่ไม้ที่มีอายุระหว่างนี้สามารถตัดแล้วนำไปใช้ในเชิงธุรกิจได้ เช่น เก็บผลเบอร์รี แหล่งท่องเที่ยว ประโยชน์ทางการค้า
  4. ป่าเก่าแก่ อายุต้นไม้ 70 – 100 ปี : จะถูกตัดทิ้งแล้วนำไปแปรรูปเป็นโปรดักต์ หรือวัสดุก่อสร้าง

สวีเดนตัดไม้เยอะแค่ไหน? 

ต้องบอกเลยว่าอุตสาหกรรมป่าไม้ของสวีเดนมีการนำไม้ไปแปรรูปมากกว่า 100 ต้นต่อชั่วโมง และทุกปีจะมีการโค่นป่าประมาณ 85 ล้านลบ.ม. หรือเทียบเท่ารถบรรทุกไม้คันใหญ่ 1.5 ล้านคันต่อปี ซึ่งจำนวน 40 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ ถูกแปรรูปให้กลายเป็นไม้เพื่อนำไปทำวัสดุก่อสร้าง หรือทำเฟอร์นิเจอร์


ส่วนอีก 35 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ ถูกแปรรูปให้เป็นเยื่อกระดาษสำหรับทำหนังสือพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ที่ใช้กระดาษประเภทอื่นๆ และ 8 – 9 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือถูกนำไปเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่เปลี่ยนเป็นไฟฟ้าและพลังงานความร้อน ซึ่งหลังจากการตัดต้นไม้ในแต่ละปี จะมีการปลูกกล้าอย่างน้อย 380 ล้านต้น เพื่อทดแทนต้นไม้ส่วนที่ถูกตัดไป

แต่ที่น่าสนใจคือ สวีเดนมีรอบอายุไม้ยาวนานถึง 75 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยที่มีสภาพอากาศแบบ Tropical Forest ซึ่งปลูกต้นไม้ได้โตเร็วกว่า แต่กลับมีอายุอยู่ที่ 30 ปีเท่านั้น แถมป่าไม้สวีเดนยังกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไม่น้อยกว่า 155 ล้านตันต่อปีอีกด้วย

แน่นอนว่าตัวเลขการตัดต้นไม้ของสวีเดนเป็นตัวเลขที่สูง และยังเป็นประเทศที่ใช้ไม้เยอะ ส่งออกเยอะ แต่เขามีวิธีการฟื้นฟูผืนป่าได้น่าสนใจ และน่านำมาปรับใช้กับประเทศไทยที่ทำให้คน ผืนป่า ธุรกิจ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน 

Sources : 

Forestry Act 
Innoforest
Royal Thai Embassy Stockholm
Skogsstyrelsen
Sveaskog 
Swedish Forest Industries
Swedish Wood
World’s Top Exports

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.