เมื่อหลายวันก่อนหน้านี้เราคงได้ยินข่าวว่าปากคลองตลาดต้องปิดชั่วคราว เพื่อเคลียร์พื้นที่ทำความสะอาดตลาด เพราะเกิดการติดเชื้อโควิด-19 ภายในพื้นที่ แน่นอนบรรดาพ่อค้าแม่ค้าได้รับผลกระทบไปเต็มๆ รายได้จากการขายดอกไม้ลดลงไปเป็นศูนย์ในวันที่ต้องปิดตลาด แต่ใช่ว่าชาวปากคลองจะท้อถอย กลับเกิดเป็นแคมเปญชวนมาซื้อดอกไม้จากปากคลองตลาดแบบออนไลน์จากเว็บไซต์ flowerhub.space พร้อมติดแฮชแท็ก #letsbuyflowers ที่กลายเป็นอีกหนึ่งหนทางเอาตัวรอดจากวิกฤตครั้งนี้
เราจึงชวน ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หรืออาจารย์หน่องซึ่งคลุกคลีใกล้ชิดทำโปรเจกต์กับชาวปากคลองตลาดมานาน เพื่อถามสารทุกข์สุกดิบกันว่าเป็นอย่างไร ยังไหวกันอยู่หรือเปล่า
วิกฤตครั้งใหญ่ของมนุษย์ปากคลองฯ
ปากคลองตลาด คำนี้เมื่อพูดถึงก็นึกถึงบรรยากาศความคึกคักของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่มาเลือกซื้อกันอย่างไม่ขาดสาย ดอกไม้นานาชนิดเรียงรายให้เห็นจนเลือกไม่ถูก และยังรวมไปถึงตลาดค้าส่งผักและผลไม้ก็มารวมอยู่บริเวณนี้ด้วย ถ้าจะบอกว่าจุดนี้คือแหล่งงานและแหล่งเงินมหาศาลก็คงจะไม่เกินจริง
จากสถานการณ์โควิด-19 กลายเป็นมรสุมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นอาจารย์หน่องบอกกับเราว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ปากคลองตลาดปิด ตั้งแต่เปิดตลาดมาไม่ว่าจะวิกฤตครั้งไหน ปากคลองตลาดก็ยังสู้ผ่านกันมาได้ แต่ครั้งนี้กลับไม่เหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา แม้ตอนนี้จะกลับมาเปิดเป็นปกติแล้วก็ตาม
“พูดแล้วยังขนลุกอยู่เลย อย่างที่บอกปากคลองตลาดเปิดมาสี่สิบกว่าปี ไม่เคยปิดร้านกันเลย เพิ่งมีเมื่ออาทิตย์ที่แล้วที่ต้องปิดจริงๆ เรียกว่าสาหัสที่สุดในชีวิตของคนปากคลองตลาด แต่ก็ต้องยอมเจ็บเคลียร์พื้นที่ทำตามกฎให้ทุกอย่างเรียบร้อยจะได้กลับมาเปิดอีกครั้ง สถานการณ์ล่าสุดคือตลาดตรีเพชรตรงข้ามสวนกุหลาบที่ปิดไปก่อนหน้านี้เขากลับมาเปิดได้แล้ว ตลาดส่งเสริมเกษตรไทย ตลาดยอดพิมาน ก็ทยอยปรับปรุงเพื่อจะกลับมาขายของกันได้เหมือนเดิม
ภาพ : Humans of Flower Market : มนุษย์ปากคลองฯ
ภาพ : Humans of Flower Market : มนุษย์ปากคลองฯ
“จริงๆ ถ้าไม่รวมวิกฤตจากโควิด-19 ชาวปากคลองตลาดเขาปรับตัวกันมาเยอะพอสมควรนะ น้ำท่วม ชุมนุมก็ผ่านกันมา ตัวอาจารย์เองก็เริ่มทำโปรเจกต์ที่ปากคลองตลาดในช่วงพีกเหมือนกันประมาณปี 2559 เป็นช่วงที่เริ่มจัดระเบียบพื้นที่ คือย้ายจากขายของบนถนนเข้ามาอยู่ในตลาดหรือในร้านให้หมด นี่คือจุดเริ่มต้นของอาจารย์ที่เข้ามาทำโปรเจกต์ตรงนี้เลย เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนของคณะสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หลักสูตรสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
“ตอนนั้นนักศึกษาที่เขาอยากจะเข้าไปสัมภาษณ์พ่อค้า แม่ค้า รวมถึงลูกค้าที่มาซื้อดอกไม้ รวบรวมแล้วเอามาทำเป็น Photoessay ที่บอกเล่าความสัมพันธ์ของพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของบนทางเท้า และผู้คนที่อยู่โดยรอบ สุดท้ายมันก็เลยออกมาเป็นโปรเจกต์เพจเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า Humans of Flower Market : มนุษย์ปากคลองฯ คือต้องบอกก่อนว่าเราไม่ได้มองไปในเชิงดราม่า ซึ่งในบริบทของความถูกต้องการรุกล้ำทางเท้ามันไม่ถูกอยู่แล้วแหละ แต่มันสามารถปรับปรุงแก้ไขร่วมกันได้
“เราอยากจะคลี่ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ว่า เวลามีคนขายของบนทางเท้า ร้านขายอาหารสตรีทฟู้ด อาหารตามสั่งทั้งหลายก็ตามมาอยู่ที่นี่ แถมยังสั่งให้ไปส่งตามร้านต่างๆ ในปากคลองฯ ได้ด้วยมันเป็นวัฒนธรรมหนึ่งเลย กลุ่มนี้เขามาก่อนกาลนะ (หัวเราะ) มาก่อน Grab, Line Man ซะอีก แต่พอเกิดวิกฤตมันเลยกระทบกันเป็นทอดๆ คนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับปากคลองตลาดมันไม่ใช่พ่อค้า แม่ค้าแล้วมันมากกว่านั้น”
เราเองชีวิตส่วนตัวก็วนเวียนอยู่กับปากคลองตลาดอยู่บ่อยครั้งจนรู้สึกผูกพันไปแล้วก็อยากเป็นกำลังใจ และหวังว่าชาวปากคลองตลาดจะผ่านวิกฤตครั้งนี้กันไปได้
ภาพ : Humans of Flower Market : มนุษย์ปากคลองฯ
ดอกไม้สดโลดแล่นบนออนไลน์ #letsbuyflowers
หากเคยมีโอกาสไปปากคลองตลาด คงจะมีความรู้สึกเดียวกันว่า อยากได้ดอกไม้แบบนี้ต้องไปร้านไหน? ราคาเท่าไหร่? แล้วถ้าถามแม่ค้าจะดุหรือเปล่า? ความรู้สึกแบบนี้จะหายไป เพราะปากคลองตลาดเปลี่ยนไป เพียงแค่เรานั่งอยู่ที่บ้านก็เลือกซื้อดอกไม้สดๆ จากปากคลองได้เลย
“บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่าปากคลองตลาดมีเว็บไซต์ออนไลน์ด้วย ซึ่งตอนแรกที่เริ่มทำมันยังไม่สมบูรณ์หรอก เรียกว่าเป็นน้องใหม่ในวงการเลยแหละ แต่พอดีกับช่วงนั้นทางคณะสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ก็เลยเกิดเป็นโปรเจกต์ย่านวัฒนธรรมเกาะรัตนโกสินทร์ขึ้นมา ซึ่งอาจารย์ก็มีส่วนร่วมในโปรเจกต์นี้ด้วย เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำเว็บไซต์ flowerhub.space ซึ่งต่อยอดมาจากโปรเจกต์ Flower Lab ที่เด็กๆ คิดกันขึ้นมา เพื่อเป็นหน้าร้านออนไลน์ให้กับพี่ๆ พ่อค้า แม่ค้า แล้วก็เป็นพื้นที่เก็บข้อมูลดอกไม้และร้านค้าของชาวปากคลองตลาด ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ได้เป็นโปรเจกต์ใหญ่อะไร นักศึกษาเขาก็เริ่มเก็บข้อมูลร้านค้าไปเรื่อยๆ ตามถ่ายรูปกันเองไม่ก็ขอภาพจากร้าน ยุคแรกคือแอนะล็อกมากแต่ก็ทำกันไปเรื่อยๆ ตอนนี้สองปีผ่านไปก็มีประมาณสี่สิบถึงห้าสิบร้านแล้ว
“ถ้าลองเข้าไปในเว็บไซต์ flowerhub.space ก็จะมีทั้งแผนที่ร้าน ชนิดของดอกไม้แยกเป็นสัดส่วน เรื่องเล่าตั้งแต่ปีแรกๆ รูปถ่ายตอนจัดระเบียบ กิจกรรมที่เคยทำ ไปจนถึงเรื่องราวของพ่อค้าแม่ค้าที่พบรักกันที่นี่ คือเว็บไซต์ไม่ได้มาในรูปแบบค้าขายอย่างเดียว มันคือชีวิตมันคือความทรงจำของพวกเขาด้วย ซึ่งเมื่อก่อนแทบไม่มีใครสนใจออนไลน์เลย แต่อาจารย์ดันทุรังทำต่อไป (หัวเราะ)
“พอโควิด-19 มาแรกๆ ทุกคนก็ยังไม่ทันได้คิดอะไรหรอก แต่พอมันเริ่มกินเวลานานเริ่มส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวัน ทุกคนก็รู้แล้วแหละว่าสถานการณ์นี้มันวิกฤตกว่าที่คิด ส่วนตัวอาจารย์ก็ต้อง Work from Home เหมือนกัน ตอนนั้นรู้สึกเฉามากคือมันมากกว่าเหงาไปแล้ว ก็เลยแก้เฉาด้วยการซื้อดอกไม้ในเว็บไซต์ flowerhub.space แล้วก็ถ่ายรูปเล่นๆ อัปลงเฟซบุ๊กตั้งแคปชัน ตามด้วย #letsbuyflowers ทำทุกครั้งที่ซื้อเลย ยังไม่พอชวนคนอื่นด้วยนะ แบบไปสิ ไปซื้อดอกไม้สิ ปากคลองตลาดซื้อออนไลน์ได้แล้วนะ ขายของมากกกก (หัวเราะ)
“แรกๆ ก็ยังเงียบอยู่ก็เข้าใจได้ว่าดอกไม้มันไม่ใช่ปัจจัยหลัก มันเป็นสินค้าอีกขั้นหนึ่งเลย แต่พอนานไปคนก็เริ่มหันมาสนใจสินค้าออนไลน์มากขึ้นนะ พ่อค้าแม่ค้าเขาก็เริ่มตื่นตัวกัน ถ่ายภาพสวยขึ้น ทำข้อมูลไว้เป็นชุดๆ เผื่อลูกค้าถาม มีลายน้ำที่เป็นไลน์ร้านค้าอยู่ในภาพด้วยซึ่งอันนี้อาจารย์เซอร์ไพรส์มาก แถมตอบไลน์ไวมากต่างจากเมื่อก่อนที่รอสามชั่วโมง จนลูกค้าทักมาในเพจมนุษย์ปากคลองฯ ว่าทำไมแม่ค้าไม่ตอบไลน์กันเลย (หัวเราะ) แต่ตอนนี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้วทุกคนพร้อมมาก”
หลังจากอาจารย์หน่องแนะนำให้ลองเข้าไปดูในเว็บไซต์ flowerhub.space ก็รู้สึกแปลกๆ อยู่เหมือนกัน อาจจะต่างกับการเลือกซื้ออาหารนิดหน่อย แต่พอนั่งดูดอกไม้แต่ละร้านก็เพลินไปอีกแบบ ดอกไม้ที่เราเห็นสวยๆ ในปากคลองตลาดบางครั้งก็อยากได้แต่ไม่รู้ว่าชื่ออะไร ไม่รู้แม้กระทั่งความหมาย (ที่สำคัญไม่กล้าถาม) เพิ่งมารู้เอาตอนที่เข้าไปที่เว็บไซต์นี่แหละ
มนุษย์ปากคลองเจนฯ ใหม่ ไม่ดุ ทักได้ ตอบไวด้วยนะ
ปากคลองตลาดนอกจากขึ้นชื่อในเรื่องความหลากหลายของดอกไม้ ที่ไม่ว่าอยากได้อะไรที่นี่มีหมดทุกอย่าง แถมยังขึ้นชื่อเรื่องของความดุของพ่อค้าแม่ค้าด้วย
“อืม นี่ก็เป็นอีกมุมที่อาจารย์เพิ่งรู้เหมือนกัน อย่างตัวอาจารย์เองหรือในวัยใกล้เคียงกันคือสี่สิบแล้ว เราจะไม่กังวลเกี่ยวกับการถามราคากับคนขาย พอไปเดินกับลูกศิษย์เขาก็บอกว่า ไม่ค่อยกล้าถามราคากลัวแพง กลัวโดนดุ ซึ่งความจริงแล้วพ่อค้าแม่ค้าปากคลองตลาดเขาไม่ได้หงุดหงิดนะ เสียงดังมากกว่า บางคนเลยตกใจแล้วเกิดความรู้สึกกลัวขึ้นมา คอนเฟิร์มว่าเขาไม่ได้ดุกันนะถามได้
“ขั้นตอนการสั่งซื้อดอกไม้ออนไลน์ก็ไม่ยาก พอเรากดเข้าไปในเว็บไซต์ก็จะมีลิสต์ของร้านค้า หรือจะเลือกตามชนิดของดอกไม้ก็ได้เหมือนกัน เราถูกใจอันไหนก็กดติดต่อซื้อขายกับร้านค้าได้โดยตรงเลย แต่การซื้อดอกไม้แบบออนไลน์มันจะต่างกับอาหารนิดหน่อย อันดับแรกคือเรื่องราคาที่มันไม่นิ่งแต่ไม่มีแวตเพิ่มนะ ราคาขายออนไลน์เหมือนขายที่หน้าร้านเป๊ะเลย แต่มันจะเป็นเรื่องความสดใหม่มากกว่า เช่น ดอกเดียวกันในช่วงเช้ากับเย็นราคาก็ต่างกันแล้ว
“เพราะฉะนั้นในมุมพ่อค้าแม่ค้าการมานั่งเปลี่ยนราคามันเป็นไปได้ยาก ทางทีมเลยตัดสินใจว่า flowerhub.space เป็นหน้าร้านออนไลน์ให้แล้วหลังจากนั้นก็ไปคุยกันต่อนะ คือมันมีบทสนทนาเกิดขึ้นมากมายแน่นอน เช่น วันนี้ที่ร้านมีอะไรบ้าง ถ่ายภาพรวมๆ มาให้หน่อยสิ มันเลยยังมีความเป็นแอนะล็อกผสมอยู่ด้วย พอคุยรายละเอียดตกลงราคากันเรียบร้อยแล้วก็เรียกรถไปรับได้เลย
ภาพ : Humans of Flower Market : มนุษย์ปากคลองฯ
“ที่ผ่านมาทุกคนกระตือรือร้นกันมาก พ่อค้าแม่ค้าที่นี่เขามีสกิลสู้ชีวิตสูง ไม่ใช่มานั่งงอมืองอเท้าร้องไห้อยู่เฉยๆ แน่นอน ตัวอาจารย์เองก็คอยสนับสนุนพวกเขาต่อไปเรื่อยๆ เหมือนที่เคยทำมา”
แม้วันนี้ปากคลองตลาดจะกลับมาเปิดได้เหมือนเดิมแล้ว แต่เราเชื่อว่าช่องทางการขายออนไลน์สำหรับพ่อค้าแม่ค้าก็ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยเพิ่มรายได้ สำหรับใครที่คิดถึงปากคลองตลาด แต่ยังไม่กล้าที่จะไปซื้อของด้วยตัวเองลองสั่งออนไลน์ผ่าน flowerhub.space แล้วอย่าลืมรีวิวพร้อมใส่ #letsbuyflowers มาอวดกันบ้างล่ะ
Website : https://flowerhub.space/
ร่วมแจมโปรเจกต์ Urban Guide : Survive Together เพียงส่งเรื่องราวร้านเด็ด แบรนด์ดีมาหาเราได้ที่ : http://m.me/UrbanCreatureTH