Super Seniors ผู้สูงวัยเยอะ สวัสดิการน้อย - Urban Creature

Super Seniors

ถ้าเด็กในวันนั้นคือผู้ใหญ่ในวันนี้ ดังนั้นผู้ใหญ่ในวันนี้ก็คือ ‘ผู้สูงอายุ’ ในวันหน้าแบบที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เช่นเดียวกัน

ยิ่งในทุกวันนี้ที่สภาพคล่องทางการเงินของคนส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ ไหนจะภาวะเงินเฟ้อที่สูงสวนทางกับรายได้ ทำให้เราหลายคนต้องใช้เงินแบบเดือนชนเดือน หรือบางเดือนอาจไม่พอเลยด้วยซ้ำ แบบนี้จะเก็บเงินก้อนไว้ใช้ชีวิตในช่วงสูงวัยได้ยังไงกันฃ

และปัญหาเหล่านี้ยังเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้วัยรุ่นหลายคนเริ่มวางแผนการใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายของตัวเองกันไว้แต่เนิ่นๆ เพราะดูเหมือนปัจจัยและบริบทต่างๆ ในสังคมไทยจะไม่ค่อยส่งเสริมให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีกันสักเท่าไหร่

คอลัมน์ Overview ประจำเดือนสิงหาคมนี้ ขอพาทุกคนไปสำรวจสถานการณ์ประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย ไปจนถึงสิทธิและสวัสดิการที่คนเหล่านี้จะได้รับจากภาครัฐ และมองหาบ้านพักหลังสุดท้ายอย่างบ้านพักคนชราที่ผกผันไปตามเม็ดเงินในกระเป๋าในบั้นปลายชีวิตไปพร้อมๆ กัน

01 | ไทยเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด

Super Seniors

หลายคนอาจจะได้ยินกันมาตลอดว่าไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย แต่กับเหตุการณ์ในปัจจุบันไม่ใช่แค่ ‘กำลัง’ แต่ประเทศไทยของเราได้ก้าวเข้ามายืนในสังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัวแล้ว

เพราะจากการสำรวจประชากรในประเทศไทยปี 2023 พบว่า ประเทศของเรามีประชากรทั้งสิ้น 71,801,279 คน และในจำนวนนี้มีกลุ่มคนที่อยู่ในเกณฑ์ ‘ผู้สูงอายุ’ หรือกล่าวคือ บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย มากถึง 16,405,119 คน โดยแบ่งเป็นเพศชาย 7,297,175 คน และเพศหญิง 9,107,944 คน

ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จะพบว่า จำนวนผู้สูงอายุในประเทศมีสัดส่วนจากประชากรทั้งหมดมากถึง 22.85 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ทำให้ปัจจุบันสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า ไทยเราได้เข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยระดับสุดยอด’ (Super Aged Society) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เพราะเกณฑ์การแบ่งชื่อเรียกสังคมสูงวัยจากสัดส่วนของประชากรอายุ 60 – 65 ปีขึ้นไปขององค์การสหประชาชาติ ได้ให้คำนิยามของสังคมสูงวัยระดับสุดยอดไว้ว่า คือสังคมที่ประชากรสูงวัยมีมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศนั่นเอง

และจากการสำรวจของ ‘กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA)’ ยังพบว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในโลกอีกด้วย โดยเหตุการณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยในอนาคตอย่างแน่นอน หากทางรัฐไม่มีการเตรียมความพร้อมในการวางนโยบายที่เหมาะสมกับคนในกลุ่มนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ

02 | เบี้ยผู้สูงอายุที่ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต

Super Seniors

เบี้ยผู้สูงอายุเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2009 ในสมัยรัฐบาลของ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ เป็นการเริ่มจ่ายเบี้ยให้กับผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเดือนละ 500 บาท ก่อนจะถูกปรับขึ้นเป็นการจ่ายแบบขั้นบันไดโดยเริ่มต้นที่ 600 บาท ในสมัยรัฐบาลของ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’

และจากวันนั้นถึงวันนี้ ประเทศไทยก็ยังคงค่าเบี้ยผู้สูงอายุไว้ที่ตัวเลขเดิมเสมอมา ได้แก่
– ผู้ที่มีอายุ 60 – 69 ปี จะได้รับเบี้ยอัตรา 600 บาท/คน/เดือน
– ผู้ที่มีอายุ 70 – 79 ปี จะได้รับเบี้ยอัตรา 700 บาท/คน/เดือน
– ผู้ที่มีอายุ 80 – 89 ปี จะได้รับเบี้ยอัตรา 800 บาท/คน/เดือน
– ผู้ที่มีอายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับเบี้ยอัตรา 1,000 บาท/คน/เดือน

แม้ว่ารัฐให้สิทธิและสวัสดิการผู้สูงอายุอื่นๆ อย่างการลดค่าโดยสารประจำทาง การกู้ยืมเงินทุนปลอดดอกเบี้ย เงินลดหย่อนภาษีแก่บุตร ยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ หรือขอรับเงินช่วยเหลือด้านอาหารและเครื่องนุ่งห่มมาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในบางส่วนได้ แต่จำนวนเงินเพียง 600 – 1,000 บาทตามที่รัฐจัดสรรให้ก็คงไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตของพวกเขาในแต่ละเดือนอยู่ดี

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา ทางกระทรวงมหาดไทยยังปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยให้กับผู้มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ว่าผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามกฎหมายด้วย จากเดิมที่แค่มีสัญชาติไทย มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และไม่ได้เป็นผู้รับเงินบำเหน็จ-บำนาญ ก็สามารถขอรับเบี้ยผู้สูงอายุได้แล้ว

เป็นความเคลื่อนไหวที่อาจสะท้อนให้เห็นว่า รัฐไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุในประเทศเท่าที่ควร เพราะการปรับเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุให้เข้าถึงยากขึ้น ถือเป็นการยกเอาเรื่องของการประหยัดงบประมาณเป็นที่ตั้ง มากกว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ซึ่งทำให้เห็นว่าประเทศไทยไม่มีวิธีรับมือกับปัญหาสังคมสูงวัยระดับสุดยอดที่เรากำลังเผชิญหน้ากันอยู่ในทุกวันนี้ได้ดีเท่าที่ควร

03 | คุณภาพในบั้นปลายชีวิตขึ้นอยู่กับเงินเก็บ

Super Seniors

ลำพังแค่สิทธิ สวัสดิการ และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่รัฐมอบให้ คงไม่สามารถทำให้ใครหลายคนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีในช่วงหลังเกษียณอย่างแน่นอน

จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คุณภาพบั้นปลายชีวิตของเราล้วนขึ้นอยู่กับจำนวนเงินเก็บในช่วงเวลาก่อนหน้าด้วยกันทั้งนั้น เพราะการจะเข้าพักในบ้านพักคนชราเพื่อใช้ชีวิตอย่างมีความสุขภายใต้การพยาบาลที่ดี มีคนดูแล 24 ชั่วโมง ก็จำเป็นต้องมีเงินก้อนรวมอยู่ด้วย

เนื่องจากจำนวนบ้านพักคนชราที่จัดสรรขึ้นโดยรัฐ หรือที่เรียกว่า ‘ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.)’ ที่สามารถเข้าอยู่ได้ฟรีและเสียค่าบริการเพียงเล็กน้อยนั้นมีทั้งหมดเพียง 12 แห่งทั่วประเทศ แถมเงื่อนไขการเข้ารับบริการยังมีความยุ่งยากที่ต้องพิสูจน์สถานะความยากจนร่วมด้วย ทำให้จากการสำรวจจำนวนผู้สูงอายุใน ศพส. ปี 2020 มีเพียง 1,285 รายเท่านั้น และยังมีผู้สูงอายุที่รอใช้บริการอยู่อีกถึง 4,145 ราย

ทำให้ผู้ที่ประสงค์อยู่บ้านพักคนชราต้องมองหาตัวเลือกอื่นจากทางเอกชนที่เปิดบ้านพักในรูปแบบที่คล้ายกับของรัฐ แต่ผู้อยู่อาศัยสามารถเลือกคุณภาพชีวิตที่ต้องการได้ตามกำลังทรัพย์ของตัวเอง โดยทั่วไปบ้านพักผู้สูงอายุของเอกชนจะแบ่งเป็นแบบทั่วไปและไฮเอนด์ ที่มีเงื่อนไขการเข้าพักแตกต่างกันออกไปอีกที

โดยบ้านพักผู้สูงอายุเอกชนแบบทั่วไปมักจะมาในรูปแบบที่จะต้องจ่ายค่าเช่าเป็นรายเดือน เริ่มต้นอยู่ที่ 10,000 บาท/เดือน ไปจนถึง 65,000 บาท/เดือน หรือบางที่อาจมีค่าแรกเข้าก่อนเข้าพักที่อาจสูงถึง 200,000 – 650,000 บาท แบบไม่รวมโปรแกรมสุขภาพ ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าส่วนกลาง

นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีโครงการบ้านจัดสรรหรือโรงพยาบาลมากมายที่กระโดดมาเล่นในตลาดบ้านพักผู้สูงอายุมากขึ้น โดยเน้นไปที่สภาพแวดล้อมและการดูแลในระดับไฮเอนด์ เพื่อจับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีเงินก้อนและต้องการความสะดวกสบาย ซึ่งมีทั้งแบบรายเดือน เริ่มต้นที่ 26,000 บาท/เดือน ไปจนถึงการเช่าสิทธิสูงสุด 30 ปี หรือขายขาด เริ่มต้นที่ 1.1 ล้านบาท ไปจนถึง 35 ล้านบาทเลยทีเดียว

Sources : 
BBC | t.ly/YJGj5
Info Portal | t.ly/_nEG9
PPTV | t.ly/iM8Ur
Population Pyramid | t.ly/nPFDa
UNFPA | t.ly/FLaNT
Money Buffalo | t.ly/G8xUx
กรมกิจการผู้สูงอายุ | www.dop.go.th/th
ระเบียบกระทรวงมหาดไทย | t.ly/jwhW_


Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.