Sunne Voyage เรือไม้นำเที่ยวดีไซน์เก๋แห่งระยอง - Urban Creature

คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการพาร่างกายไปพักผ่อนที่ทะเล แล้วให้สายลม แสงแดด และเสียงคลื่นกระทบฝั่งช่วยบำบัด ภาพวิถีชีวิตแห่งท้องทะเลกำลังดำเนินไปข้างหน้า ทั้งครอบครัวมาพักผ่อนริมหาด ลูกเล็กเด็กแดงวิ่งเล่นบนชายหาด และเรือประมงหลายสิบลำจอดเทียบท่ารอเวลาไปหาปลายามค่ำคืน

สิ่งหนึ่งที่เห็นอยู่บ่อยครั้งคือสีสันสดใสของเรือประมง กลายเป็นภาพจำของทะเลไทยไปโดยปริยาย ทำให้ วินเนอร์-วินชนะ พฤกษานานนท์ Creative Director Koh Munnork Private Island และหนึ่งในเจ้าของธุรกิจเรือนำเที่ยว Sunne Voyage อดสงสัยไม่ได้ว่า เหตุใดเรือประมงถึงมีแค่สีฉูดฉาด รวมถึงธุรกิจเรือท่องเที่ยวทำไมดูคล้ายกันไปหมด แล้วพอเป็นไปได้ไหมที่จะสร้างอัตลักษณ์และเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจเหล่านี้

เขาจึงใช้หัวด้านความคิดสร้างสรรค์ที่เคยเรียนจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กับหัวด้านธุรกิจที่สืบทอดมาจากครอบครัว มาสร้างเรือไม้ท่องเที่ยว ‘Sunne Voyage (ซัน วอยาจ)’ ด้วยการชูดีไซน์ร่วมสมัย โชว์สีธรรมชาติของเนื้อไม้ ใช้ฝีมือช่างเรือท้องถิ่นคราฟต์งานไม้ทุกชิ้น รับคนท้องถิ่นมาร่วมงาน พร้อมโปรแกรมล่องเรือสุดชิลให้ธรรมชาติเข้ามาช่วยชาร์จแบต เพื่อดึงคนมาเที่ยวระยองและสร้างการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้ทะเลระยองครึกครื้นกว่าเดิม

รวมทีม Sunne Voyage

หากเดินเตร็ดเตร่แถวท่าเรืออ่าวมะขามป้อม อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ท่ามกลางเรือประมงสีสันแบบ Maximal เรือไม้ Sunne Voyage กลับเป็นเรือขั้วตรงข้ามที่เน้นความมินิมอลเป็นหลัก ซึ่งวินเนอร์ฟูมฟักโปรเจกต์เรือท่องเที่ยวระยอง ก่อนมาร่วมทีมกับอเวนเจอร์อีก 4 คน ซึ่งรู้จักกันจากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ แก๊บ-ธัญญ์ ภัคพงษ์พันธุ์ชัย, แคท-กิตติธัช สุดประเสริฐ, กัน-กัญจน์ สุวรรณสิทธิ์ และ นิด-นิตยา ชนานุกุล

วินเนอร์-วินชนะ พฤกษานานนท์

“เราเริ่มทำคนเดียวมาก่อน มีแรงบันดาลใจมาจากความขัดใจในสีเรือประมงและได้เห็นเรือท่องเที่ยวที่บาหลี เรือเขาสวยมาก สวยมากๆ บวกกับเรื่องธุรกิจว่าทำไมบ้านเขาถึงดึงลูกค้ากลุ่มที่มีรายได้สูงเข้ามาใช้จ่ายในพื้นที่ได้ นั่นเป็นเพราะว่ามีของดีขาย ซึ่งเมืองไทยเองก็มีเรือไม่กี่ลำอยู่ทางภาคใต้ แต่ราคาสูงมากจนคนทั่วไปอาจจะจับต้องไม่ถึงเลย 

“ประจวบกับความคิดในตอนนั้นว่าถ้าวันหนึ่งมีเงินคงทำเรือลำหนึ่งในพื้นที่ของเกาะมันนอกที่เราทำอยู่แล้ว มีธุรกิจอะไรสักอย่างที่แตกต่างจากเดิม และทำอย่างไรให้โปรเจกต์ดึงดูดคนเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ตอนนั้นเราเชื่อมั่นในตัวเองมากว่า โห คอนเซปต์ Sunne Voyage แม่งเจ๋งแน่นอน เพราะไม่มีใครทำเรือไม้แบบนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือทำมาตั้งนานไม่เสร็จสักที ย้ำคิดย้ำทำเพราะอินกับงานนี้มากเลยตัดสินใจว่าเราต้องมีทีม เพราะถ้าได้คนเก่งเข้ามาช่วยจะยิ่งทำให้มันออกมาได้เร็วและดีขึ้น”

วินเนอร์เอ่ยปากชมว่า ข้อดีของทีม Sunne Voyage คือทุกคน ‘เรื่องมาก’ พร้อมย้ำคำว่ามากให้กับฉันอีกหลายครั้ง เป็นสัญญาณบอกว่าไอ้ความเรื่องมากนี่แหละ ทำให้เรือท่องเที่ยวของพวกเขาออกมาดูดีทุกจุด ซึ่งความเก่งกาจเฉพาะทางของแต่ละคนทำให้ธุรกิจนี้ไปได้ไกลกว่าที่วินเนอร์วาดฝันไว้เสียอีก 

“ผมรับผิดชอบหน้างานเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการเขียนแบบ คุมก่อสร้าง การเทรนพนักงาน หรือการบริการลูกค้า ส่วนพี่นิดดูแลเรื่องความสวยงามของพร็อป และช่วยเรื่อง PR ส่วนพี่แคทจะดูแลเรื่องการจัดการทุกอย่างให้เป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นแพลนคอนเทนต์ ตารางเวลาการออกทริป ถือว่าเป็นเจ้าแห่งแพลนเนอร์มากๆ

“ถัดมาคือพี่กัน เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ที่มีของมากๆ ทำทุกอย่างได้เร็วและออกมาสวย เขาสื่อสารจิตวิญญาณของ Sunne Voyage ได้ดี สุดท้ายคือพี่แก๊บดูแลเรื่อง PR, คอนเทนต์ และความสวยงามโดยรวม ทุกคนมีความเก่งเฉพาะด้าน แต่สิ่งหนึ่งที่มีเหมือนกัน คือหัวด้านดีไซน์

“ทุกคนเอนจอยกับการได้มองของสวยๆ งามๆ และมีส่วนในการออกแบบเรือ เพราะตอนแรกเราทำเรือออกมาแบบหนึ่ง ซึ่งเราเน้นความ Practical แต่ทุกคนก็งัดเอาความสวยงามมาเบลนด์ให้เข้ากัน จนทำให้ทุกอย่างมันออกมาเพอร์เฟกต์ ผมรู้สึกโชคดีมากๆ”

ผนวกงานดีไซน์กับงานช่างฝีมือ

หลังจากรับลูกค้ากลุ่มแรก ปัจจุบัน Sunne Voyage มีอายุ 8 เดือนอย่างเป็นทางการ แต่ก่อนหน้านั้นพวกเขาใช้เวลาเตรียมการนานถึง 2 ปีกว่า เพราะภารกิจตามหาเรือที่ใช้เวลานานกว่าที่คิด เนื่องจากเรือประมงแต่ละที่ไม่เหมือนกัน จึงต้องหาทรงที่เหมาะกับการทำเรือท่องเที่ยวและสามารถทำให้สวยได้ในแบบที่พวกเขาตั้งใจ ซึ่ง Sunne Voyage เป็นเรือไม้ไซซ์กลางที่โดนโละทิ้ง เพราะกฎหมายการประมงอนุญาตให้เฉพาะเรือขนาดเล็กหาปลาในพื้นที่

“ผมเคยคิดว่าเราเอาเรือประมงลำไหนมาดัดแปลงก็ได้ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เลย ต้องบอกก่อนว่าผมเขียนแบบไว้คร่าวๆ ว่าเรือจะออกมาหน้าตาประมาณไหน แต่เรื่องความปลอดภัยและเรื่องเกี่ยวกับเรือ ชั่วโมงบินเราน้อยกว่าคนในพื้นที่ ผมเลยปรึกษาทั้งไต้ก๋ง และช่างทำเรือประมง เรียกว่าเอาความสามารถด้านการดีไซน์ของเรา มารวมเข้ากับความ Practical ของเขา เพราะถ้าไม่มีเขามันจะไม่เกิดเรือซันวอยาจขึ้นเลย

“ชาวประมงต้องออกไปหากินกลางทะเล เวลาทะเลเกรี้ยวกราดมันอันตรายมาก เพราะฉะนั้นเรือประมงต้องแข็งแรง ไม้ต้องดีและแห้ง ช่างจึงต้องมีความชำนาญมาก ส่วนใหญ่หัวเรือเชิดและสูงมาก ยิ่งข้างหน้าสูงเท่าไหร่ ยิ่งสู้คลื่นได้ดี แต่พอมาทำเรือท่องเที่ยวดันไม่เหมาะ เพราะจะทำให้เราเดินยากมาก บางทีต้องคลานขึ้นไป ทำให้ต้องหาเรือทรงอื่นที่เอามาแปลงเป็นพื้นที่ใช้สอยได้ เรามองหาเรือประมาณเกือบปีกว่าจะเจอเรือที่ใช่และราคาเหมาะสม”

แน่นอนว่าช่างเรือประมงคุ้นชินกับเรือหาปลา หรือเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ แต่เรือ Sunne Voyage ไม่ต่างอะไรกับ ‘แกะดำ’ ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าตอนกางแบบให้ช่างเรือดู เขาสงสัยไหมว่าวินเนอร์กำลังทำอะไร สิ้นประโยคเขาพยักหน้าและตอบว่า “ใช่” อย่างไม่ลังเล 

“ช่วงที่เขาลากเรือขึ้นไปบนคานเรือ มีเรือประมงสีๆ อยู่เต็มไปหมดเลย วันแรกเรากางแบบคุยกับช่างเงียบๆ พักหลังเริ่มมีคนอื่นเดินเข้ามาดูว่าทำอะไร ทำไม่ได้หรอก และใช่ครับ ทำไม่ได้ บางทีทำแล้วเสีย แก้แล้วแก้อีกอยู่อย่างนั้น บางจุดแก้สี่รอบเลยครับ (หัวเราะ)”

วินเนอร์เสริมว่าเขากับช่างเรือมีกระทบกระทั่งกันบ้างในช่วงแรก และทุกครั้งที่กลับมาเรือ Sunne Voyage จะเปลี่ยนหน้าตาไปเสมอ เพราะในมุมของช่างเรือมองว่าไม่สวยเขาเลยเปลี่ยนให้ ซึ่งวินเนอร์เล่าให้ฟังและอดหัวเราะกับเหตุการณ์เซอร์ไพรส์ในอดีตไม่หาย

“คำว่าสวยของเรามันไม่เหมือนกัน เราค่อยๆ ปรับกันว่าต้องเคารพการตัดสินใจ ผมรู้ว่าสิ่งนี้มันขายได้ แล้วผมเองก็ต้องยอมรับในฝีมือการเข้าลิ่มไม้ที่สวยมากของเขา ถ้าเราไปเจอช่างเฟอร์นิเจอร์จะยิงตะปูเข้าไปเพื่อยึดมัน แต่อันนี้ช่างเรือเข้าได้เนี้ยบมาก ไม่มีรอยตะปูเลย 

“หรือแม้กระทั่งเคาน์เตอร์บาร์ พวกผมโดนบ่นเลย เพราะนี่คือไม้ชิ้นใหญ่หนึ่งชิ้นแล้วไสออกมาให้เป็นทรงโค้ง ซึ่งที่เห็นบนเรือคือแฮนด์เมดหมดเลยนะ ถึงแม้ตอนแรกเขาจะบอกเราว่าทำยาก แต่พอให้ทำจริงๆ เหมือนเขาได้ระเบิดของออกมา นี่คือสิ่งที่เราเห็นแล้วตื่นเต้นมาก ผมบอกเลยว่าถ้าเรือดังช่างต้องดังไปพร้อมกับผม”

แก่นหลักคือการดื่มด่ำกับธรรมชาติ

การเติบโตท่ามกลางป่าคอนกรีตมาค่อนชีวิต เห็นความเร่งรีบของคนเมือง และการใช้เวลาอยู่บนถนนมากกว่าการนั่งอยู่ในบ้าน ทำให้เวลาเราพาร่างกายไปปะทะสายลม แสงแดด เห็นทะเลน้ำใสและท้องฟ้าอันกว้างขวางชนิดที่ไม่มีอะไรมาบดบังกลับกลายเป็นเรื่องแปลกใหม่ และโหยหาทุกครั้งเวลาเผชิญหน้ากับมรสุมปัญหาชีวิต จนอยากแบกร่างไปให้ธรรมชาติช่วยฟื้นฟู

เช่นเดียวกับวินเนอร์ที่พูดอย่างเต็มปากว่า ‘ระยอง’ คือ ‘บ้าน’ เพราะเขาค้นพบความสุขอันแตกต่างระหว่างการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองกับผืนทะเล ซึ่งหัวใจสำคัญของเรือ Sunne Voyage คืออยากให้คนออกมาอยู่กับธรรมชาติ ได้ระเบิดประสาทสัมผัสทั้งห้า และดื่มด่ำไปกับวิวทิวทัศน์ที่ไม่ได้เห็นบ่อยครั้งในเมืองหลวง แถมยังเป็นที่ท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ อีกต่างหาก ซึ่งเขาอยากให้ลูกค้าได้เผชิญความสุขแบบเดียวกัน

“เราอยากให้คนที่มาขึ้นเรือ Sunne Voyage ชื่นชมธรรมชาติ นึกถึงตอนที่ได้จุ่มน้ำทะเลสีเขียวใส สัมผัสทรายขาวละเอียดนุ่มเท้า มีลมพัดเอื่อยๆ บรรยากาศสบายๆ มีแค่เรากับท้องทะเล นี่คือสิ่งที่เราอยากให้คนสัมผัสได้บ่อยๆ บางทีคนอาจจะไม่รู้ตัวว่าเรากำลังมีความสุขกับสิ่งนั้นอยู่ มารู้ตัวอีกทีคือกูอยู่ในน้ำแล้วอะ (หัวเราะ) ผมว่านี่คือเสน่ห์ของมัน”

ฉันใช้เวลาล่องเรือราว 5 ชั่วโมง Sunne Voyage พาเราไปเยือนเกาะมันใน เกาะมันกลาง และเกาะมันนอกตามลำดับ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ตกผลึกได้หลังจากการไปเที่ยว คือ การเอนจอยไปกับธรรมชาติรอบกาย 

ไม่ว่าจะเป็นการนอนอาบแดดแบบไม่แคร์ความร้อนจากดวงอาทิตย์ การนั่งรับลมทะเลไม่กลัวผมกระเซอะกระเซิง การลอยคออยู่ในทะเลน้ำใส โดยมีเสื้อชูชีพเป็นเพื่อนคู่ใจ หรือการชมพระอาทิตย์ตกบนดาดฟ้า ทั้งๆ ที่มันก็คือพระอาทิตย์ดวงเดิมที่เคยเห็นในกรุงเทพฯ แต่กลับรู้สึกพิเศษกว่าเดิมหลายเท่า ทำให้ยืนยันประโยคของวินเนอร์ว่าเขาพูดไม่ผิดเลยสักนิด

เรือประมงเก่า สู่ธุรกิจเรือท่องเที่ยวสมัยใหม่

“เราไม่ได้อยากให้คนมาทำธุรกิจเหมือนกันแล้วแข่งกันเอง นั่นคือสิ่งที่ทุกพื้นที่เป็น มีทัวร์วันเดย์ทริปเหมือนกัน มีเรือยอช์ตเหมือนกัน ทั้งๆ ที่บ้านเรามีทรัพยากรที่สุดยอดมาก ทะเลสวย อุดมสมบูรณ์ ถ้าเรามีอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ สร้างเป็นมูลค่าแล้วขาย อาจจะรับกลุ่มเป้าหมายจากทั่วมุมโลกได้เหมือนกัน”

วินเนอร์บอกว่า ภาพใหญ่ของธุรกิจที่เขามองหาคือทำให้อำเภอแกลงมีอัตลักษณ์ทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ บวกกับหัวด้านธุรกิจ ทำให้เขาเห็น ‘โอกาส’ ที่ไม่มีใครเลือกทำเรือไม้ท่องเที่ยวแบบเขามาก่อน แถมไม่เบียดเบียนกับธุรกิจเดิมในพื้นที่ จึงไม่มีเหตุผลที่เขาจะไม่คว้ามันเอาไว้

การทำเรือท่องเที่ยวของวินเนอร์ไม่อยากให้ธุรกิจ Sunne Voyage จบแค่การหารายได้เข้ากระเป๋าแล้วรวยอยู่คนเดียว แต่อยากสร้างงานให้คนในพื้นที่ และดึงดูดคนมาเที่ยวทะเลใกล้กรุงเทพฯ เพียง 3 ชั่วโมง แต่เต็มอิ่มกับความสวยงามและความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ แล้วมีศักยภาพมากพอที่จะเป็นพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อให้เศรษฐกิจระยองโตขึ้น

“การอนุรักษ์ในที่นี้ไม่ใช่แค่เชิงสิ่งแวดล้อม แต่รวมไปถึงภูมิปัญญาของระยองจริงๆ สมมติว่าคุณได้มาเที่ยวดำน้ำ 3 เกาะเหมือนเดิม แต่ได้กินอาหารท้องถิ่น ผลไม้จากสวนระยอง หรือขนมทานเล่นบนเรือ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวแบบกระจายรายได้ เพราะนอกจากคนในพื้นที่ ผู้ประกอบการแวดวงอื่นๆ เช่น ที่พัก ร้านอาหารถิ่น สวนผลไม้ ร้านของฝากก็ได้รับลูกค้าไปด้วย เราว่าเป็นจุดดึงดูดที่น่าสนใจมาก”

“ขายใคร”
“ขายอะไร”
“พาลูกค้าไปทำอะไร”
“รับลูกค้าแค่สิบคนจะเวิร์กเหรอ”

ในวันที่เรือไม้ Sunne Voyage ปล่อยสู่สายตาผู้คน หลายคนเข้ามาถามวินเนอร์ด้วยความสงสัย เพราะธุรกิจเรือท่องเที่ยวละแวกนั้นรับลูกค้า 80 คนต่อรอบ ขณะที่เขารับเพียง 10 คนต่อรอบเท่านั้น จึงไม่แปลกที่ชาวบ้านจะคิ้วขมวดว่า วินเนอร์เอากำไรมาจากไหนกัน

“กลับไปตอนนู้นผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเวิร์กไหม (หัวเราะ) แล้วธุรกิจเรือท่องเที่ยวเดิมที่มีประสบการณ์กันมาก่อนมองว่าไม่เวิร์ก เพราะผมรับลูกค้าแค่สิบคน ทั้งๆ ที่ไซซ์เรือของ Sunne Voyage เขามองว่ารับได้ 40 คนสบายเลย อีกอย่างคือเห็นพระอาทิตย์ตกกันทุกวัน เลยไม่เข้าใจว่าใครจะเสียเงินมาดูล่ะ”

นอกเหนือจากทีมอเวนเจอร์ผู้ปลูกปั้นเรือท่องเที่ยว Sunne Voyage ยังมีพาร์ตของการบริการที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เรียกว่าเป็นความพิเศษในความธรรมดาก็ไม่ผิด เพราะ Sunne Voyage ไม่ได้ชูเรื่องการบริการ Luxury แคร์จำนวนดาว แต่ใช้ ‘ความปลอดภัย’ เป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจเรือท่องเที่ยว เพราะการออกเรือ 1 ครั้งคือการรับผิดชอบชีวิตคน

Sunne Voyage มองหาคนรอบรู้เรื่องทะเล เพราะท้องทะเล หินใต้น้ำ คลื่นลม กระแสน้ำ ความอันตรายของแต่ละที่ไม่เหมือนกัน และให้ความสำคัญกับการจ้างงานคนท้องถิ่นเป็นอย่างแรก ไม่ว่าจะเป็นคนในอ่าวมะขามป้อม แม้แต่ไต๋เรือก็เป็นคนอ่าวจึงมั่นใจได้ว่าการออกเรือแต่ละครั้งปลอดภัยแน่นอน

ส่วนพนักงานทุกคนบนเรือเป็น ‘Certified Lifeguard’ มีความรู้ความสามารถเรื่องการช่วยชีวิต การช่วยเหลือฉุกเฉิน รวมไปถึงเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินทุกคนบนเรือต้องดูห้องเครื่อง และขับเรือแทนกันได้ ซึ่งกว่าจะได้คนทำงานบริการตรงคุณสมบัติตามต้องการ เล่นเอาเหนื่อยพอสมควร แต่นี่คือสิ่งที่ Sunne Voyage ให้ความสำคัญ

หลังจากเปิดบริการเรือ Sunne Voyage ให้แล่นบนผืนน้ำทะเล เหล่านักท่องเที่ยวต่อแถวรอสัมผัสประสบการณ์กันขวักไขว่เป็นเครื่องการันตีว่าสิ่งที่พวกเขาตั้งเป้าหมายเอาไว้มันเวิร์ก รวมถึงการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยเอาความเก่งของแต่ละคนออกมาดันการท่องเที่ยวทะเลระยอง แล้วสร้างความหลากหลายให้กับธุรกิจ และยุติวงจร ‘แข่งกันขายถูก’ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

ถึงแม้ที่กล่าวมาข้างต้นจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ Sunne Voyage พิสูจน์ตัวเองว่าไม่ใช่แค่ ‘ธุรกิจ’ แต่ทำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่มองเห็นศักยภาพอีกมุมหนึ่งของตัวเอง ว่าไม่ต้องขายถูกเพื่อเอาจำนวนลูกค้าเยอะ แต่ขายแพงขึ้นมาเล็กน้อย ลดจำนวนคน แล้วเพิ่มคุณภาพ ซึ่งกลายเป็นเรื่องดีที่พวกเขาได้พูดคุย แลกเปลี่ยนแนวทางการทำธุรกิจกันมากขึ้น และยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวทะเลในจังหวัดระยองให้ดีกว่าเดิม 

รีสอร์ตเกาะมันนอกธุรกิจคู่ขนานเรือท่องเที่ยว

ระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่วินเนอร์สร้างธุรกิจเพื่อชวนคนมาเที่ยวระยองอย่างเรือ Sunne Voyage โลกคู่ขนานของ Koh Munnork Private Island ที่เขาเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวอย่างเต็มตัว ซึ่งทั้งสองธุรกิจมีเป้าหมายเดียวกัน คือให้ลูกค้าได้ดื่มด่ำกับธรรมชาติไร้การปรุงแต่ง และสร้างงานให้กับคนในพื้นที่

ตัวรีสอร์ตเป็นธุรกิจที่ปรับวิถีชีวิตร่วมกับธรรมชาติได้เป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแยกขยะ การใช้หลอดกระดาษ หรือการใช้สบู่แบบ Plant-based ที่ดีต่อลูกค้าและสิ่งแวดล้อม ซึ่งวินเนอร์มีความมุ่งมั่นอยากผลักดันให้รีสอร์ตแห่งนี้ ‘กรีน’ มากกว่าที่เป็นอยู่

“ถ้าคิดว่านี่คือเดอะซิมส์เราอยากให้ Output ออกไปเป็นศูนย์หมดเลย อยากเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย พลังงานโซลาร์เซลล์ เครื่องกำจัดเศษอาหาร การบำบัดน้ำให้เอากลับมาหมุนเวียนใช้ในเกาะได้ หลังคากักเก็บน้ำฝนได้ การคัดแยกขยะนอกจากเอาไปขายแล้ว เอามาทำโปรดักต์อย่างอื่นได้หรือเปล่า เอาเปลือกไข่มาทำน้ำยาล้างจาน ทำประมงยั่งยืนหาอาหารทะเลให้ลูกค้า ชวนชาวประมงในเดอะซิมส์มาหาวิธีส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกัน

“แต่พอดีว่าโลกแห่งความเป็นจริงมันเลื่อนแท็บไม่ได้ (หัวเราะ) ผมว่าถ้าได้อย่างนั้นมันสนุกเลยนะ คงไม่ขอออกไปไหนอีกแล้ว เวลาคนมาเยี่ยมบ้านก็ชวนไปหาปลากัน น่าสนใจมากๆ เรารู้สึกว่าธุรกิจไปกับสิ่งแวดล้อมได้ วันนี้มันยังเป็นจุดเริ่มต้นมากๆ รู้สึกว่าตัวเรายังมาได้แค่คืบเดียวจากสิบก้าวที่เราอยากไป แต่ด้วยหัวธุรกิจของเรา ก็อยากให้มันพาเราไปถึงโลกเดอะซิมส์ของเราให้ได้สักวันหนึ่ง”

สิ่งหนึ่งที่เราจับจุดได้หลังจากการสัมผัสชีวิตบนเรือ Sunne Voyage และรีสอร์ตเกาะมันนอก 2 วัน 1 คืนคือเรื่องของธรรมชาติ ไม่ว่าเราจะเดินไปทางไหนธรรมชาติก็อยู่ล้อมรอบตัวเราเสมอ จนนึกภาพไม่ออกว่าถ้าวันหนึ่งเราไม่มีทะเลสีคราม น้ำใสๆ ต้นไม้เขียวชอุ่ม หรือหาดทรายสีขาวนวลจะเป็นอย่างไร 

“อีกอย่างเราไม่เคยนิยามอะไรเลย แก่นมันมีแค่คุณได้อะไรกลับไป เราหวังว่าเขาจะได้พลังชีวิตกลับไปเต็มหลอด แล้วตระหนักว่าอยากรักษามันไว้ อยากให้เขารู้ว่ามันมีคุณค่า และนี่คือสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนควรจะทำ”

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.