หลายคนคงคุ้นเคยกับอุปกรณ์แบบสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวันต่างกันไป ตั้งแต่สมาร์ตวอตช์ ที่วัดก้าวเดิน จนถึงแว่นตาอัจฉริยะ หรือในด้านสุขภาพการแพทย์จะคุ้นเคยกับเครื่องมือทางการแพทย์อย่างอุปกรณ์จับชีพจรหรือวัดความดัน
ถ้าหากหลายคนไม่ถนัดสวมใส่อุปกรณ์ หรือพวกเครื่องวัดต่างๆ ใหญ่เทอะทะ ไม่สะดวกต่อผู้ใช้
จะเป็นอย่างไรหากอุปกรณ์ต่างๆ จะเชื่อมโยงกับร่างกายได้แนบเนียนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานมากยิ่งขึ้น? แต่การจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้ สิ่งที่ต้องไปดูคือตัวแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ข้างในที่เป็นเหมือนหัวใจที่หล่อเลี้ยงอุปกรณ์ทั้งหมด
ก่อนหน้านี้ ได้มีความพยายามพัฒนาแผงวงจรภายในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้แข็งแรง-ทนทาน ประมวลผลข้อมูลได้มากขึ้น รวมถึงทำให้ขนาดเล็กลงแต่ความจุความเจ๋งมากขึ้น หรือกระทั่งการพัฒนาให้ยืดหดได้เพื่อนำไปใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องการความยืดหยุ่นในการใช้งาน
เพียงแต่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้คือคลื่นความถี่ที่รองรับแผงวงจรนั้นต่ำจนเป็นอุปสรรคต่อการส่งถ่ายข้อมูล ลองจินตนาการว่าเหมือนการต่ออินเทอร์เน็ตสมัยก่อนนั่นแหละ (ถ้าใครเกิดทัน) กว่าจะส่งข้อมูลกันได้ หรือเข้าหน้าเว็บไซต์ก็ต้องรอนานหลายนาที
แต่วันที่ 8 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา วิศวกรจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยเคย์โอ ประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมกันพัฒนาแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ยืดหดได้ที่มีคลื่นความถี่สูง 13.56 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเพียงพอสำหรับการเชื่อมต่อสัญญาณและส่งต่อข้อมูลอย่างรวดเร็วได้สำเร็จ
นาโอจิ มัตสิชิสะ (Naoji Matsushiha) หนึ่งในคณะผู้วิจัยได้เปิดเผยผ่านนิตยสาร Nature ไว้ว่าหลังจากที่ทดลองใส่ตัวส่งสัญญาณความถี่เข้ากับแผงวงจรที่ยืดหดได้มากกว่าผิวหนังของมนุษย์ถึง 40% นั้น การถ่ายทอดข้อมูลเป็นไปได้อย่างราบรื่น และทำให้เขารู้สึกตื่นเต้นมากเพราะในอนาคตอาจจะพัฒนาเทคโนโลยีนี้เข้ากับสิ่งอื่นๆ ในชีวิตประจำวันได้มากและเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น
นี่อาจจะเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของเทคโนโลยีที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอาจจะรวมถึงความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันของพวกเรา ต้องติดตามกันต่อไป!