เรื่องเล่า ‘Now Normal’ ในวันที่กรุงเทพฯ ปรับวิถีชีวิตใหม่ - Urban Creature

เมื่อสี่เดือนที่แล้ว คนกรุงเทพฯ เป็นอย่างไรบ้าง ?

เหี่ยวเฉา เบื่อหน่าย และไร้เงิน คงเป็นสิ่งแรกๆ ที่เราประสบพบเจอเมื่อวันที่คำว่าล็อคดาวน์ เพราะวิกฤตโควิด-19 คืบคลานเข้ามาถึง ซึ่งหลังจากวันนั้นชีวิตของเราเต็มไปด้วยสิ่งใหม่ที่เรียกว่า ‘New Normal’ หรือวิถีชีวิตแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการใส่แมสก์ การเว้นระยะห่าง การพกเจลออกอฮอล์ล้างมือ ซึ่งการใช้ชีวิตแบบใหม่มานานหลายเดือน จนเกือบเปลี่ยนคำว่า ‘New Normal’ ให้เป็น ‘Now Normal’

| เรื่องเล่าในวันที่กรุงเทพฯ ไร้เสียง

“เมื่อก่อนพี่เคยคิดว่าอยากให้กรุงเทพฯ เงียบกว่านี้สักนิด แต่พอเงียบจริงๆ กลายเป็นว่ามันน่ากลัวกว่าที่เราคิด”

แก๊ป-เทพรักษ์ จันทร์อำนวยชัย ศิลปินเจ้าของนิทรรศการ The Silence Project “Covid19 19.00” พูดถึงความรู้สึกของตัวเองต่อกรุงเทพฯ หลังจากสะพายเป้แบกกล้องเก็บภาพวิกฤตการณ์โควิดตามสถานที่สำคัญ ซึ่งวันนั้นเป็นวันที่เขารู้สึกว่าป่าปูนแห่งนี้น่ากลัวกว่าที่คิด

ภาพถ่ายของแก๊ปถูกติดตั้งบนผนังชั้น 2 ที่ The Shophouse 1527 กับเรื่องเล่าในวันแรกที่รัฐบาลประกาศปิดพื้นที่สำคัญ เพื่อสกัดกั้นและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งทำให้เมืองที่เคย ‘มีชีวิต’ กลับ ‘ไร้สีสัน’ ไปชั่วพริบตา 

ถ้าหากจ้องมองภาพถ่ายของพี่แก๊ปที่อยู่ตรงหน้าอย่างถี่ถ้วน จะทำให้เรานึกหวนถึงวันปกติของคนกรุงเทพฯ สะพานลอยสกายวอร์คที่มองเห็น ‘ทะเลสีแดง’ จากไฟท้ายรถรถยนต์นับร้อยคัน เยาวราชที่เจี๊ยวจ๊าวและเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือแสงสีเสียงบนถนนข้าวสารที่เปิดต้อนรับนักท่องราตรีตลอดทั้งคืน แต่เมื่อโรคระบาดเข้ามา ทำให้ทุกสิ่งต้องปิดประตูหนีเหลือเพียงความเงียบ และเมืองร้างผู้คนที่ชวนขนหัวลุกเมื่อต้องเจอกับตัวเอง

หลายคนอาจมองว่าข้อดีของมันอาจมีมากกว่าที่คิด ทั้งกรุงเทพฯ ถนนโล่ง คนแออัดน้อยลง เดินทางสบายมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเราโยนข้อดีด้านกายภาพเมืองทิ้งไป จะรับรู้ว่าในวันที่กรุงเทพฯ ไร้เสียง มันสร้างผลกระทบต่อปากท้องของแรงงานและเศรษฐกิจย่อยยับกว่าที่คิด จนอยากสร้างเครื่องเร่งเวลาเพื่อให้เมืองรีบกลับมาเป็นแบบเดิมโดยไว ถึงแม้ว่าเวลากำลังเยียวยาเมืองอย่างช้าๆ แต่สุดท้ายมันก็ไม่สามารถกลับมาเหมือนเก่าได้

“ตอนที่พี่หยุดอยู่ตรงสยาม มีคนเดินเท้าเข้ามาถามทางว่า หมอชิตไปทางไหน เมื่อพี่บอกไปก็คุยกับเขาเพิ่มเติม แล้วมารู้ทีหลังว่าเขาเดินมาจากบางนา เพราะไม่มีรถโดยสารประจำทางวิ่งเลยสักอย่างเดียว”

แก๊ป-เทพรักษ์ จันทร์อำนวยชัย

| เรื่องเล่าความไม่ปกติที่กำลัง ‘ปกติ’

“สติกเกอร์สีแปะเสื้อ เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว”

คำพูดขำๆ ที่กลายเป็นตลกร้ายในชีวิตจริงกับนิทรรศการ C2H5OH(75%) หรือเอทิลแอลกอฮอล์ ที่สะท้อนเรื่องราวชีวิตประจำวันของเราว่าเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง หลังจากเจอสถานการณ์โรคระบาด โดยอ้างอิงจากปัจจัย 4 สิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ 3 ช่างภาพ คือ เหนือ-เข็มทิศ บำรุงราษฎร์, โอม-อนวัช เพชรอุดมสินสุข และประทัด-ธนพงษ์ พิสิฐสิฬษ์ ต้องการอยากสื่อให้เราเห็น

หลังจากเดินดูนิทรรศการภายในห้องคูหาที่ติดตั้งภาพถ่ายขนาบสองข้าง ถูกเว้นระยะห่าง 2 เมตร โดยหยิบยกเอามาตรการ ‘Social Distancing’ มาล้อเลียนให้เห็นการ ‘เว้นว่าง’ ในชีวิตประจำวันแบบใหม่ของเราด้วย พร้อมทั้ง ‘Installation Art’ ชวนสะดุดตาอย่าง ‘พระพุทธรูป’ ที่มีสติกเกอร์สีแปะเต็มตั้งแต่เศียร ไปจนถึงฐานพระ ซึ่งประทัดบอกกับเราว่าเขาได้แรงบันดาลใจมาจากตอนไปเดินห้างฯ 

“ปกติจะมีพระพุทธรูปตั้งเพื่อให้คนเข้าไปปิดทอง แต่ปรากฎว่ามีเด็กคนหนึ่งหยิบสติกเกอร์จากเสื้อตัวเอง เอาไปแปะบนพระพุทธรูปแทนทองคำเปลว”

โดยคนเสพงานอย่างเรามองว่าการหยิบมาเล่นในงานทำให้คนดูอิมแพ็คมากพอสมควร เสมือนเป็นสิ่งเปรียบเปรยว่าขนาดพระพุทธรูป ที่คนต่างกราบไหว้บูชาก็ยังต้องติดสติกเกอร์ เพื่อสแกนเชื้อโรคเหมือนกัน ส่วนของแกลอรี่ในแต่ละภาพนั้นเป็นแนวประชด เสียดสี และล้อเลียนวิถีชีวิตแบบใหม่ที่เริ่มใช้กันมาสักพักและยังมองไม่เห็นถึงวันหมดอายุของมัน

แล้วเราเปลี่ยนวิถีชีวิตไปมากแค่ไหนกันนะ ?

ลองทบทวนตลอดระยะเวลา 5 เดือน มันมีสิ่งที่ผุดขึ้นมาหลายอย่าง เริ่มจากเราต้องใช้หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าติดตัวไปทุกหนแห่งจนกลายเป็น ‘ใบหน้าใหม่’ แทนที่ไปแล้ว จากเมื่อก่อนแค่เรามองเห็นก็รู้ทันทีว่าเป็นใคร แต่ตอนนี้เหมือนกำลังเล่นเกมโชว์ ‘The Eyes มองตาก็รู้ใคร’ ที่ต้องเดาว่าดวงตาคู่นั้นใช่คนรู้จักหรือเปล่า

แม้แต่อาหารการกินที่พึ่งพาเดลิเวอรี่มากกว่าเก่า ตื่นเช้ามาต้องคอยไถแอปฯว่าวันนี้จะกินอะไรดี ห้องหับเต็มไปด้วยแพคเกจจิ้งอาหารจากหลายเจ้า ผิดกับเมื่อก่อนที่ออกไปเดินพิจารณาอาหารหน้าร้านไปเรื่อยเปื่อย แล้วค่อยตัดสินใจลงมือกิน พร้อมทั้งสติกเกอร์หลากหลายสีสัน ถ้าเอามาสะสมเป็นสแตมป์เซเว่นแทนได้ คงใช้แลกของรางวัลกันน่วม

เหนือ-เข็มทิศ บำรุงราษฎร์, โอม-อนวัช เพชรอุดมสินสุข และประทัด-ธนพงษ์ พิสิฐสิฬษ์

เมื่อเราใช้ชีวิตกับสิ่งเหล่านี้มากขึ้น จะเริ่มมองว่าเป็นเรื่องปกติในชีวิต ทั้งที่ความจริงแล้วมันไม่ปกติเลยสักนิดเดียว ซึ่งนิทรรศการเอทิลแอลกอฮอล์นอกจากความเพลินหูเจริญตาแล้ว ยังกระแทกกระทั้นและเสียดสีนโยบายป้องกันโรคที่เปลี่ยนชีวิตเราไปตลอดกาล

| เรื่องเล่าที่อยากให้เข้าไปสัมผัสเอง

หากใครที่อยากเข้าไปสัมผัสเรื่องราวของกรุงเทพฯ กับโปรเจกต์ ‘Now Normal’ โครงการศิลปะที่จัดแสดงถึงมุมมองเรื่องราวต่างๆ ระหว่างช่วงสถานการณ์โควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงด้านวิถีชีวิต หรือกายภาพเมืองก็ตาม จากกลุ่มศิลปินต่างๆ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงสิงหาคม ซึ่งครั้งนี้เป็นคิวของ 2 โปรเจกต์ The Silence Project “Covid19 19.00” และ C2H5OH (75%) ที่จัดแสดงระหว่างวันที่ 10-26 กรกฎาคม 2563 เวลา 11.00 น. ถึง 19.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์) ที่ The Shophouse 1527 และ MOD1559

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.