เมื่องานศิลปะยุค Renaissance ถูกเซาะออกจากการแช่แข็งในบริบทเดิมๆ สู่บริบทการรับรู้ใหม่ในเรื่องของ “Culture” และการอยู่รวมกันในเมือง ที่มีเลเยอร์ของวัฒนธรรมอันหลากหลายทับซ้อนวนเวียนกันอยู่ แต่เหตุไฉนจึงสามารถอยู่ร่วมกันได้ ?
หากพูดถึงงานศิลปะในประเทศไทยโดยใช้ เทคนิค Collage ศิลปะแห่งการตัดแปะในปัจจุบัน “นักรบ มูลมานัส” คงเป็นที่รู้จักของใครหลายๆ คน กับภาพงานศิลปะคุ้นตาจากนิทรรศการในหอศิลป์ หรือตามภาพประกอบในนิตยสาร อย่างการสร้างผลงานด้วยภาพของ โยฮัน เฟอร์เมร์ “โมนาลีซาจากทางเหนือ” ที่สวมใส่ชฎาของไทย หรือภาพเสาชิงช้าผสานกับภาพ The Happy Accidents of Swing หนึ่งในภาพระดับมาสเตอร์พีซของยุค French Rococo
| นักสร้างภาพ(ประกอบ)
การเริ่มทำงานศิลปะในวัย 23 ปี ของ “นักรบ มูลมานัส” โดยใช้เทคนิคการ Collage ส่งผลงานไปยัง Magazine ต่างๆ เพื่อที่จะได้ทำงานเกี่ยวกับภาพประกอบ จนกระทั่งมีผลงานเป็นที่รู้จักใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เขายังคงใช้ “ความงามของสุนทรียภาพ แทนการสื่อของสารบางอย่าง” ในเรื่อง “Culture” วัฒนธรรมและการอาศัยอยู่รวมกันในพื้นที่ที่มีเลเยอร์หลากหลายซ้อนทับกันอยู่ในเมืองเรื่อยมา
ซึ่งนักรบ มูลมานัส เล่าว่า “ในเมืองไทยมีทั้งสิ่งที่เราชอบและไม่ชอบ รวมถึงสิ่งสวยงามและไม่สวยงามซ่อนอยู่ บางสิ่งบางอย่างถูกวางอย่างระเกะระกะบนการเดินทางที่พบเจอได้ทั่วไปในแต่ละวันทั้ง ศาสพระภูมิ, ศาลเจ้าจีน,โบสถ์ฝรั่ง หรือมัสยิดที่เกิดการทับซ้อนในพื้นที่เดียวกัน แม้กระทั่งเชื่อชาติของพ่อเราที่เป็นคนไทยแม่เป็นคนจีน ถือเป็นความผสมผสานกันในวิถีชีวิตของมนุษย์”
| ผลงานชิ้นใหม่ในคอนเซ็ปต์ สงกรานต์ไทย และเจตนาแท้จริงที่ซ่อนอยู่
การสร้างสรรค์ที่เกี่ยวเนื่องกับเทศกาลวันสงกรานต์ถูกหยิบมาเล่น โดยสื่อสารเรื่องมิติของการขนทรายเข้าวัด, การใส่ชุดลายดอก รวมถึงการฉีดน้ำที่สีลม ข้าวสาร มาผสมผสานกับ Character จากศิลปะโลกตะวันตก โดยการหยิบยืมภาพวาด Mona Lisa ในยุคเรเนซองส์ โดยเปลี่ยนบริบทภาพ Mona Lisa เป็นถือปืนฉีดน้ำซะ และขายผลไม้บนรถเข็นแทน เพื่อให้คนเข้าถึงจะเห็นว่ามันเป็นสิ่งใกล้ตัวที่เกิดขึ้นบนท้องถนน ให้เป็นเหมือนการทำลายกรอบบางอย่างที่ไม่ได้มีเจตนาทำลายล้างภาพงานศิลปะชิ้นเก่าแต่อย่างใด เพียงเจตนาแท้จริงที่ซ่อนอยู่คือ การปรับเปลี่ยนบริบทภาพวาดชิ้นเก่า ที่บางคนคิดว่ามันไกลตัว ให้รู้สึกว่างานศิลปะมันอยู่ใกล้ตัวมนุษย์ในยุคสมัยนี้ ที่ดำรงอยู่ในบริบทอันน่าขบขัน โดยตัวผลงานจะนำเสนอโลก Contemporary Art และ Mass มีการแบ่งส่วนทั้งสองฝั่งของเนื้องาน ที่มีความผสมผสานโลกทั้งสองนี้เข้าไว้ด้วยกัน
| เหตุผลการหยิบยืมผลงานประวัติศาสตร์ชิ้น Masterpiece ?
การเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ศิลปะทำให้นักรบรู้สึกถึงผลงานเก่าๆ ที่ยังคงอยู่ในยุคปัจจุบัน และเป็นที่รู้จักของหลายๆ คน เพราะ “ศิลปะคือ สิ่งที่มีคุณค่าในตัวเอง” รูปภาพ Masterpiece เหล่านั้น ล้วนมีเรื่องราวมีความโดดเด่นที่เป็นอมตะ ทุกครั้งที่หยิบยืมมาใช้จึงเป็นเหมือนการที่เราได้ศึกษาภาพเหล่านั้นจริงๆ ที่คงความหมายเดิม หรือมุมมองแต่ละคนที่มีอยู่แบบเดิมๆ แต่เมื่อเราพลิกแพลงเพื่อสร้างความหมายเดิมให้เปลี่ยนไปในบริบทที่แปลกใหม่มากขึ้น มันคือความสนุกที่เราได้หยิบสิ่งที่มีคุณค่า ที่มีความหมายอยู่แล้วมาเปลี่ยนความหมายของตัวมันเอง
การศึกษาชิ้นงาน Masterpiece เป็นการศึกษาเพื่อดัดแปลงให้เกิด Composition ในรูปแบบหนึ่งของนักรบ รวมทั้งหาความหมายที่มาของภาพนั้นๆ เมื่อภาพนั้นยังอยู่ในบริบทเดิม ทำให้เขารู้สึกว่าภาพนั้นอาจดูน่าเบื่อ จึงเลือกที่จะเปลี่ยนบริบทนั้นๆในมุมมองที่ใกล้ตัว
ซึ่งศิลปะยุคเรเนซองส์บางคนก็อาจจะไม่ได้รู้จัก จึงเป็นการเลือกมาสร้างผลงานเพื่อนำเสนอบริบทใหม่ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพื่นที่ในเมือง หรือความเป็นไทยและอื่นๆ ที่ใกล้ตัว เพื่อให้คนค้นหาคว้าเพิ่มว่า แท้จริงแล้วคือภาพนั้นมีที่มาและมีความหมายว่าอย่างไร
| การเปลี่ยนบริบท
การเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทไทยจากความตึงเครียดจริงจังให้กลายเป็นอารณ์ขัน และบางอารมณ์ขันก็เปลี่ยนให้กลายเป็นจริงจังคือ สร้างค่าความรู้สึกที่กลับกัน อย่างภาพของ Mona Lisa ภาพเขียนสุภาพสตรีที่มีรอยยิ้มอันเป็นปริศนาถ้าปล่อยให้ Mona Lisa เป็น Mona Lisa ภาพอาจจะถูกแช่แข็งอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าเราหยิบภาพนั้นมาทำให้มันมีความเป็นไทยที่อยู่ในโลกปัจจุบัน ทำให้ภาพ Mona Lisa เกิดร่างอวตารเยอะแยะหลากหลายที่น่าสนใจเป็นการคิดริเริ่มการสร้างสรรค์
| สร้างสรรค์ vs อนุรักษ์
สิ่งที่สวยงาม และความแปลกที่วนเวียนอยู่ในโลกของเราชั่งมีความขัน เมื่อเราปรับเปลี่ยนภาพเก่าให้สามารถอยู่ในโลกปัจจุบันได้ นักรบบอกกับเราว่า “ลึกๆ แล้วอาจจะมีสิ่งเหล่านั้นบ้างแต่คงไม่ถึงกับเป็น “การอนุรักษ์ หรือว่า สร้างสรรค์” แต่เลือกที่จะหยิบสิ่งที่สวยงามให้คนอื่นได้เห็นมากกว่าเพราะ ความเป็นวัฒนธรรม เป็นสมบัติของประชาชนซึ่งบางคนอาจหลงลืมไป” ให้คนได้กลับมาหันมอง
| กรุงเทพฯเมืองของ นักรบ มูลมานัส
“เรารู้สึกว่ากรุงเทพเป็นเหมือน Comfort Zone ของเรา สมมุติว่า ถ้าเราไปอยู่ที่อื่นอย่างเมืองนอก เราจะไม่รู้สึกสบายแบบนี้ เพราะสำหรับเรามันคือ พื้นที่ที่สามารถทำอะไรก็ได้ที่เราอยากทำ อาจจะไม่ต้องมีระเบียบวินัยในการใช้ชีวิตมากเท่าไร ทุกสิ่งทุกอย่างมันง่าย …ถ้าคุณคิดว่ามันง่าย”