Startup Village เปลี่ยนที่ว่างในอัมสเตอร์ดัมเป็นหมู่บ้านสตาร์ทอัปจากคอนเทนเนอร์มือสอง - Urban Creature

การจะสร้างคอมมูนิตี้ของสตาร์ทอัปให้เกิดขึ้นได้จริง นอกจากต้องการการสนับสนุนอย่างเอาจริงเอาจังจากรัฐแล้ว ยังจำเป็นต้องมีพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำงานของเหล่าสตาร์ทอัปด้วย 

โปรเจกต์ Startup Village หรือหมู่บ้านสตาร์ทอัปในอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นอีกโปรเจกต์หนึ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นโครงการเปลี่ยนพื้นที่ร้างให้กลายเป็นศูนย์รวมเทคโนโลยีชั้นนำของเมือง โดยที่ใช้งบประมาณการก่อสร้างอย่างจำกัด แต่ทำออกมาแล้วเวิร์กสุดๆ 

Startup Village หรือหมู่บ้านสตาร์ทอัป เป็นส่วนหนึ่งของ Amsterdam Science Park ที่รวมผู้ประกอบการ สตาร์ทอัป งานวิจัย และนวัตกรรมเอาไว้ที่เดียว ทำให้ที่นี่เป็นพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะกับการสร้างสรรค์ ต่อยอด และพัฒนาเทคโนโลยีของเหล่าสตาร์ทอัปภายในประเทศ เพราะรวมคนเจ๋งๆ จากหลายด้านเอาไว้กว่า 55 บริษัท 

Startup Village Amsterdam
Startup Village Amsterdam

เปลี่ยนที่ว่างเป็นหมู่บ้าน

โปรเจกต์นี้เริ่มต้นเมื่อปี 2016 โดย Julius Taminiau สถาปนิกชาวเนเธอร์แลนด์ ผู้ริเริ่มโครงการหมู่บ้านสตาร์ทอัปได้รับโอกาสจาก UvA Ventures Holding และ Amsterdam Science Park ให้มาทำโปรเจกต์หมู่บ้านให้เกิดขึ้นจริง โดยการพลิกฟื้นพื้นที่ดินร้างและว่างเปล่าแห่งนี้ให้เป็นพื้นที่ใช้สอยที่มีประโยชน์สำหรับสตาร์ทอัปและคนที่สนใจเรื่องนวัตกรรมในเมืองอัมสเตอร์ดัม

ก่อนจะย้ายกลับมาที่เนเธอร์แลนด์ Julius เคยทำงานในลอนดอนให้กับ Carl Turner Architects ในระหว่างการออกแบบและสร้าง Pop Brixton พื้นที่สร้างสรรค์ สตูดิโอ และพื้นที่สาธารณะในย่านบริกซ์ตันที่ทำจากตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นต้นแบบการออกแบบที่เปลี่ยนย่านให้มีชีวิตชีวาได้ด้วยงบประมาณที่จำกัด

Pop Brixton
Pop Brixton พื้นที่สาธารณะที่ทำจากตู้คอนเทนเนอร์ในย่านบริกซ์ตันกรุงลอนดอน
Startup Village Amsterdam
แผนผังของ Pop Brixton พื้นที่สาธารณะที่ทำจากตู้คอนเทนเนอร์ในย่านบริกซ์ตันกรุงลอนดอน

Julius คิดว่าตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าเป็นพื้นที่ออฟฟิศที่เหมาะสมกับสตาร์ทอัป เพราะมีขนาดใหญ่พอๆ กับที่โรงรถ เหมาะจะเป็นออฟฟิศแห่งแรกของสตาร์ทอัป เพราะในอดีต Apple และ Microsoft ก็เริ่มต้นมาจากจุดเล็กๆ ในโรงรถเช่นกัน 

เธอจึงวางตู้คอนเทนเนอร์เหล่านี้ไว้ใกล้ๆ กัน เพื่อให้เกิดเป็นหมู่บ้าน เกิดการรวมตัวของผู้คน ทำให้เกิดคอมมูนิตี้สตาร์ทอัป สร้างบรรยากาศของการร่วมมือ แลกเปลี่ยนความรู้ สร้างสรรค์ผลงาน และสร้างแรงบันดาลใจให้กันและกัน 

ออกแบบพื้นที่ให้คนอยากทำงาน

นอกจากพื้นที่ที่เป็นออฟฟิศแล้ว หมู่บ้านแห่งนี้ยังมีพื้นที่ส่วนกลางที่สนับสนุนให้เหล่าสตาร์ทอัปได้มาพบปะและทำความรู้จักกันมากขึ้น เช่น ร้านกาแฟ ห้องประชุม และ Co-working Space ที่เปิดให้คนนอกหมู่บ้านและนักศึกษาเข้ามาใช้ได้ฟรี 

ตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้เป็นออฟฟิศจะถูกวางไว้รอบนอก ส่วนลานจัดกิจกรรมกลางแจ้งจะอยู่ตรงกลางหมู่บ้าน เป็นพื้นที่จัดอีเวนต์ได้ทั้งเรื่องวิชาการและความบันเทิง จะมีกิจกรรมเวียนกันจัดเรื่อยๆ ทุกวันศุกร์เพื่อกระตุ้นให้คนในหมู่บ้านได้สร้างปฏิสัมพันธ์กัน ไม่ใช่แค่ทำงานกันอย่างเดียว สามารถจัดกิจกรรม Networking บรรยาย หรือสัมมนา จัดคอนเสิร์ตเล็กๆ ฉายภาพยนตร์ ย่างบาร์บีคิว กินอาหาร ดื่มเบียร์ หรือทำอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่แค่ทำงาน 

Startup Village Amsterdam
Startup Village Amsterdam
Startup Village Amsterdam

โปรเจกต์การออกแบบพื้นที่ด้วยตู้คอนเทนเนอร์อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่น่าสนใจคือจากปี 2019 หมู่บ้านสตาร์ทอัปมี 35 บริษัท ปัจจุบันก็เพิ่มขึ้นเป็น 55 บริษัทแล้ว พิสูจน์ให้เห็นว่าการสร้างคอมมูนิตี้ของสตาร์ทอัปอาจไม่ใช่ความหรู ล้ำ หรือตึกที่ไฮเทค แต่เป็นความพร้อมของพื้นที่ และอยู่ที่ว่ามีใครอยู่ร่วมในหมู่บ้านนี้กับเราบ้าง

จากวันแรกถึงวันนี้หมู่บ้านสตาร์ทอัปได้เพิ่มขนาดพื้นที่จากเดิมถึง 2 เท่า มีสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และปัจจุบัน Startup Village ให้ความสำคัญกับ AI, Data Science และเทคโนโลยี Blockchain มีบริษัทและธุรกิจด้านนี้ในเนเธอร์แลนด์เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ 

แม้ในช่วงแรกหมู่บ้านสตาร์ทอัปจะมีไว้สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้น แต่ปัจจุบันบริษัทใหญ่บางแห่งก็เข้ามาตั้งออฟฟิศที่นี่ด้วยเช่นกันเพราะต้องการอยู่ท่ามกลางคนที่ก้าวหน้าในเรื่องเทคโนโลยี และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ กันอยู่เสมอ ทำให้บริษัทใหญ่เหล่านี้ได้ไอเดียและพาร์ตเนอร์ใหม่ตามไปด้วย

พื้นที่หด ยืด ขยายได้เรื่อยๆ

Startup Village ออกแบบมาให้เป็นหมู่บ้านที่ปรับเปลี่ยนได้เรื่อยๆ ด้วยตัวโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อน แค่เอาตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งมือสองมารีโนเวตทั้งภายในภายนอกใหม่ สามารถห่อหุ้มและตกแต่งได้หลายวิธีและจัดวางได้ตามความต้องการ ถ้าการใช้พื้นที่ในอนาคตไม่ตอบโจทย์แปลนเดิมที่วางไว้ ก็ยกไปวางที่ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ใช้งาน จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการก่อสร้างอาคารชั่วคราวที่มีต้นทุนต่ำและต้องการความรวดเร็ว

Startup Village Amsterdam
แผนผังของ Startup Village Amsterdam
Startup Village Amsterdam
ขนาดคอนเทนเนอร์ใน Startup Village Amsterdam

ตู้คอนเทนเนอร์ มีให้เลือก 4 ขนาด ได้แก่ 2.4 x 6 เมตร, 4.8 x 6 เมตร, 2.4 x 12 เมตร และ 4.8 x 12 เมตร ขนาดเล็กสุดเหมาะสำหรับสตาร์ทอัปที่เพิ่งเริ่มต้นและต้องการมีพื้นที่ออฟฟิศราคาประหยัด ส่วนขนาดอื่นๆ ก็สามารถนำมาต่อกันเพื่อต่อเติมได้หากบริษัทมีการเติบโตขึ้น

ข้อดีของการใช้ตู้คอนเทนเนอร์มือสองในการทำออฟฟิศคือต้นทุนที่ต่ำ ใช้พลังงานน้อย และใช้ซ้ำได้เรื่อยๆ เพราะเป็นโครงสร้างที่ทนมาก ทำให้เกิดบรรยากาศการทำงานที่เป็นอิสระ สตาร์ทอัปรุ่นใหม่รู้สึกเหมือนทำงานที่บ้าน มีพลังที่จะพัฒนา สร้างสรรค์ เติบโต และเป็นมืออาชีพมากกว่าการทำงานที่อยู่ในคอกออฟฟิศแบบเดิม 

Startup Village Amsterdam
หลังคา Green Roof ช่วยระบายความร้อนและรองรับน้ำฝน
Startup Village Amsterdam
การตกแต่งภายในคอนเทนเนอร์ของ Startup Village Amsterdam

ตู้คอนเทนเนอร์ที่นำมาใช้เป็นตู้ชนิดส่งสินค้า มีขนาดใหญ่พอๆ กับโรงรถ และมีหน้าต่างที่กว้างมาก เมื่อเทียบกับออฟฟิศปกติ ทำให้คนทำงานในห้องนี้ได้รับแสงสว่างมากกว่า ที่นี่ไม่ได้ให้แค่ตู้คอนเทนเนอร์เปล่าๆ แต่ถูกปรับพื้นที่ใช้สอยให้พร้อมใช้งาน มีเฟอร์นิเจอร์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อมสำหรับการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมาแล้ว 

ถึงแม้ว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการชั่วคราว แต่ทุกอย่างจะไม่สูญเปล่าและกลายเป็นขยะแน่นอน เพราะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้แม้จะผ่านไป 10 ปี ไม่ว่าจะเป็น ตู้คอนเทนเนอร์ขนส่ง ฐานรากของพื้นที่ที่ไม่มีเสาเข็ม มีแต่กระเบื้องคอนกรีต และอื่นๆ ที่สำคัญคอนเทนเนอร์เป็นฉนวนอย่างสมบูรณ์ กันอากาศ และให้ความร้อนด้วยพลังงานต่ำ ในฤดูร้อนสามารถเปิดหน้าต่างทั้งสองด้านเพื่อให้มีอากาศถ่ายเทได้ หลังคาเป็น Green Roof ที่ช่วยให้ห้องเย็นขึ้น และยังเป็นตัวกั้นน้ำฝนและตัวกรองอากาศได้อีกด้วย

Sources :
Amsterdam Science Park
proof of the sum
Startup Village
UrbanNext

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.