Urban Creature x UN Women
บ่อยครั้งที่การทำงานคอลัมน์ประจำจังหวัดจะเต็มไปด้วยความสนุกสนาน แม้จะคุยกันเรื่องธุรกิจแต่บรรยากาศจะคล้ายการไปเยี่ยมญาติที่ให้ความเอ็นดูพวกเรา มานั่งปรึกษาหารือกันฉันมิตร ยิ่งเป็น พี-พีรพงษ์ เกษกุล เจ้าของแบรนด์ศรีลำดวน ผ้าทอจากศรีสะเกษที่อยู่ในวัย 23 ปี ไม่ถึงกับเรียกว่าเป็นรุ่นราวคราวเดียวกันได้เต็มปาก แต่ก็อยู่ในวัยใกล้เคียงกัน ทำให้บรรยากาศก็ยิ่งครื้นเครงเข้าไปอีก
เรื่องราวปูมหลังของพีต้องบอกว่าน่าสนใจอย่างมากครับ อย่างแรกคือเขาเป็นวัยรุ่นที่เรียกตัวเองว่าเด็กแว้นได้อย่างเต็มปาก ที่จับผลัดจับผลูมาจับกี่ทอผ้าเพราะอยากหาเงินไปแต่งรถมอเตอร์ไซค์ แต่เผอิญว่าทำออกมาแล้วดันติดตลาด ขายหมดเกลี้ยงตั้งแต่ครั้งแรก และมีออเดอร์ยาวต่อเนื่องเป็นหางว่าว จึงชวนเพื่อนสิงห์มอเตอร์ไซค์นี่แหละมาช่วยกันทอผ้าเพื่อหาเงินไปแต่งรถ
แถมพอปักผ้าไปทอผ้ามาสไตล์ของศรีลำดวนก็เริ่มโดดเด่น เพราะใช้สีหวานโทนพาสเทล ใส่แล้วดูเป็นวัยรุ่น มีการผสมผสานลายผ้าโบราณหลายประเภทมาไว้ในผืนเดียวกันจนฮิตติดลมบน ช่างฝีมือที่มาร่วมงานก็เยอะขึ้นเรื่อยๆ นับร้อยชีวิต
ที่สำคัญคือตัวเลขนี้ไม่ได้หมายถึงคนทำงานอย่างเดียวนะครับ แต่หมายถึงชาวนาที่ข้าวออกไม่ตรงตามฤดูได้มีรายได้อีกทาง หมายถึงช่างฝีมือที่ส่วนมากคือผู้หญิงได้มีอาชีพเป็นหลักเป็นแหล่ง และหมายถึงการพาคนอีสานที่จากบ้านเกิดไปทำงานที่กรุงเทพฯ อย่างไม่เต็มใจ ให้กลับมาทอผ้าด้วยกันที่นี่ ไม่ต้องอึดอัดลำบากใจทำงานที่ตัวเองไม่ได้ชอบเพื่อเลี้ยงชีพตัวเองและส่งเสียครอบครัวอีกต่อไป แต่กลับมาอยู่ที่บ้าน ทำงานพร้อมหน้าพร้อมตากันไปเลย
เราจึงขอเดินทางจากมหานครมาหาคำตอบให้ถึงที่ นั่งลงหน้าบ้านเจ้าตัวฟังเรื่องเล่าของพีว่า เขาไปทอผ้าท่าไหน บิดมอเตอร์ไซค์ยังไง ศรีลำดวนถึงมาได้ไกลขนาดนี้
ผ้าทอสามัญประจำบ้าน
พีและคุณยายที่มานั่งฟังเป็นเพื่อนหลายเล่าย้อนความให้ฟังว่า ผ้าทอของศรีสะเกษฝังรากลึกในวัฒนธรรมของคนที่นี่มาช้านาน ถ้านับถอยหลังไปตามความทรงจำก็มีอายุร่วมร้อยปี เจ้าของแบรนด์ศรีลำดวนเห็นผ้าทอมาตั้งแต่เด็ก ส่วนคุณยายเองก็ผูกพันมาตั้งแต่เริ่มจำความได้เช่นกัน
“สมัยก่อนชาวบ้านจะทำไว้ใส่เอง แต่ประมาณยี่สิบกว่าปีที่แล้ว พระพันปีหลวง (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) เสด็จมาที่ภูพาน คนทั่วภาคอีสานก็ไปรวมตัวอยู่ที่นั่น ไปขายผ้ากันเป็นสิบวัน ยายที่นั่งอยู่ตรงนี้ก็ไปด้วย เรียกว่าทิ้งไร่ทิ้งนาไปเลย (ฮา) เขาบอกกันว่าสนุกมาก
“ตอนที่ท่านมาถือเป็นตลาดแรกที่ส่งเสริมเรื่องการขายผ้า หลังจากนั้นก็มีกลุ่มนายทุนเข้ามาสนใจผ้าทอมากขึ้น คนไทยก็รู้จักผ้าของที่นี่มากขึ้นตามไปด้วย” พีเล่า
หลังจากนั้นเป็นต้นมาวัฒนธรรมผ้าไหมไทยสไตล์อีสานก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในหมู่ข้าราชการ หรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่ต้องมีผ้าไหมไทยชุดเก่งไว้ออกงานเสมอ วัยรุ่นสีเกด (ศรีสะเกษ) แห่งบ้านน้อยนาเจริญ บอกว่าในจังหวัดแถบนี้ทั้งสุรินทร์หรือบุรีรัมย์จะมีวัฒนธรรมร่วมกัน รูปแบบผ้าจึงมีความคล้ายคลึงกันตามไปด้วย จะต่างกันตรงแพตเทิร์นมากกว่า เช่น ความถี่ของผ้า หรือการใช้สี
“สืบทอดมาจากโบราณ ไม่ได้แตกต่างกันมาก สีและการย้อมจะต่างแบบเห็นได้ชัดเจน เพราะขึ้นอยู่กับความเค็มของดิน ความเป็นกรดด่างที่ไม่เหมือนกัน
“ถามว่าการทอต่างกันไหม ก็ไม่ มัดหมี่เหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันตรงลายนี่แหละ ศรีสะเกษจะมีลายประจำท้องถิ่น เช่นลายดอกลำดวน ก็จะเน้นกันไปทางนี้ บางลายที่ศรีสะเกษเรียกหมี่ใบไผ่ สุรินทร์เรียกผ้าโฮล เรียกต่างกันแต่ลายเหมือนกัน แค่ของศรีสะเกษอาจจะลายใหญ่ขึ้นมา แต่ของสุรินทร์จะออกเล็กหน่อย”
อีกหนึ่งความโดดเด่นที่เห็นได้ชัดจากผ้าทอศรีสะเกษคือการย้อมครั่ง ซึ่งเป็นสีที่ได้จากแมลงตัวเล็กๆ ที่ชอบไปเกาะอยู่ตามยางไม้ของต้นจามจุรี จะให้สีแดงสวย โดดเด่นเกินใครยามสวมใส่
แต่นั่นเป็นเรื่องของอดีตไปแล้วครับ ปัจจุบันพีเซย์โนให้สีสดๆ ทะลุทะลวงสายตา เพราะมองว่าใส่แล้วแก่ แบบว่ามันดูสูงอายุ มองมุมไหนก็ไม่ถูกใจวัยรุ่น อดีตนักบิดอย่างเขาบอกตรงๆ ว่ารับไม่ได้…
จากเด็กแว้นซิ่งอยู่ริมท้องนา กลายเป็นมือทอผ้าประจำตำบล
“เห็นมาตั้งแต่เด็กครับ (ยิ้ม) ซึมซับมาตั้งแต่เด็ก” ไม่ต่างจากครอบครัวในตำบลบ้านน้อยนาเจริญที่โตมากับการทอผ้า เรียกได้ว่าไปเกาะแกะ ถามนู่นนั่นนี่ตามสไตล์เด็กน้อยมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เอาเข้าจริงพอโตขึ้นมาหน่อยถึงวัยไปโรงเรียนก็ไม่ได้สนใจอะไรมากมาย เน้นใช้เวลากับเพื่อนฝูงเสียมากกว่า
สำหรับพี การมีมอเตอร์ไซค์ทั้งที จะเอาไว้ขี่อย่างเดียวถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เขาบอกว่า เหมือนเป็นแฟชั่นของโรงเรียนที่ทุกคนต้องแต่งรถ วัยรุ่นสีเกดชี้ให้ดูมอเตอร์ไซค์ที่จอดอยู่ข้างๆ แล้วถามพวกเราว่า คิดว่าตรงไหนเปลี่ยนได้บ้าง ผมเปลี่ยนหมด สเตอร์ เครื่อง เบาะเขาให้มาดีๆ ผมก็เอาไปทำหมด ค่าแต่งแพงกว่าค่ารถด้วยซ้ำ
“ไม่แต่งไม่ได้ ขี่เดิมๆ ไปคนอื่นมองก็อายเขาหมด ล้อเล้อ โช้ก กระจก นอต มีอะไรจะเปลี่ยนได้เปลี่ยนหมด แทบจะได้เปิดบริษัททำรถเองแล้ว
“บังโคลน กันสะบัดมีหมด เบาะเดิมๆ เขาให้มาขี่ไม่สนุก เปลี่ยนหมดครับผม ต้องผ่าเครื่องผ่าอะไรอีก ตัวสีแดงผมก็แต่งเป็นแสนอยู่เหมือนกัน เป็นความสุขครับ ทุกข์บ้างบางที (หัวเราะ) มันจะได้เป็นสีสันของชีวิต” พีกล่าวด้วยรอยยิ้ม
แต่ใครจะไปเชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่ปี วัยรุ่นสีเกดที่แต่งรถแทบไม่ได้แตะมอเตอร์ไซค์คันเก่งอีก และเปลี่ยนจากสับเกียร์มาเป็นเหยีบกี่ทอผ้าเรียบร้อยแล้วครับ
“ก่อนหน้านี้ก็เรียนครับ เรียนเสร็จก็มาเลี้ยงไก่ตามสไตล์เด็กเกษตร จุดเปลี่ยนอยู่ตรงที่ในหมู่บ้านไม่มีคนไปอบรมโครงการพัฒนาชุมชนที่กรุงเทพฯ หมู่บ้านเราได้โควตามาสามคน เพื่อนไปคนเดียวมันก็เหงาก็เลยชวนกันไปไม่ได้คิดอะไรหรอก แต่ทีนี้พอกลับมาต้องปักผ้าไปส่งหนึ่งผืน ผ้าหนึ่งผืนความยาวสามเมตร แต่เอาขึ้นเครือแล้วปักได้สี่สิบกว่าเมตร แล้วอีกสิบๆ ผืนจะเหลือไว้ทำไมเราก็ต้องทำให้เสร็จ
“จากนั้นก็เอาไปขายที่งานจังหวัดแล้วก็ลองตั้งราคาดู ไม่ได้รู้ไม่ได้คิดถึงอะไรมากมาย แต่ปรากฏว่าขายหมดเกลี้ยงได้เงินมาสี่ห้าหมื่นบาท แล้วก็มีคนออเดอร์ให้ทำต่อด้วย ก็เริ่มทำตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเลย ตอนแรกทำเพราะมอเตอร์ไซค์นี่แหละ (หัวเราะ) ตอนนั้นรถมาก่อนเพราะเราต้องใช้ไปเรียนไง แต่ตอนนี้ไม่ค่อยเหลือแล้วนะ น้องเอาไปขี่พังหมดแล้ว”
กล่าวได้เลยว่าเพราะรถเวฟนี่แหละ แบรนด์ศรีลำดวนถึงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาทีละเล็กละน้อย
‘ศรีลำดวน’ แบรนด์และสีประจำจังหวัดของศรีสะเกษ
รายได้หลักหมื่นจากการนำผ้าไปขายที่งานจังหวัดจนหมดเกลี้ยง และมีออเดอร์รอขึ้นเครืออีกหลายผืน เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดยิ่งกว่าชัด ว่าผ้าทอศรีลำดวนไปได้ไกลกว่านี้แน่ๆ พีจึงเริ่มกลับมาจริงจังกับการทอผ้า
ทีแรกก็ทำเพื่อหาเงินมาแต่งสองล้อคันเก่งนี่แหละ ทำไปทำมาสองมือกับแรงเดียวมันคงซิ่งได้ไม่ทันใจ เลยเริ่มชักชวนเพื่อนๆ และคนในชุมชนให้มาทำงานด้วยกัน
“จ้างพวกกลุ่มแต่งรถนี่แหละ พวกกันทั้งนั้น กับคนที่ไปอบรมด้วยกัน เพราะทีแรกเราก็จ้างแม่เพื่อน ตัวมันก็ต้องช่วยอยู่แล้ว จ้างกันเป็นวันให้ห้าร้อยบาท ก็ไม่ค่อยอยากทำกัน แต่พอทอได้สี่ห้าเมตรก็มาเบิกเงินแล้วได้เยอะขึ้นก็เริ่มทำกันมากขึ้น
“คนแถวนี้ว่างงานเยอะ เราก็ให้เขามาช่วย จากที่เราทำรายได้วันหนึ่งสองสามพัน มันก็เยอะขึ้นมาเรื่อยๆ เหมือนกัน ก็คิดว่าตัวเองมาไกลมากเหมือนกันนะจากตอนแรกที่เป็นแค่เด็กน้อย”
ปัจจุบันไม่ใช่แค่คนในหมู่บ้านที่ทอผ้าให้กับศรีลำดวน แต่มีช่างฝีมือนับร้อยคนกระจายตัวไปจังหวัดข้างเคียง เพราะผ้าไหมไทยก็แยกไปหลายประเภททั้งหมี่ขิด จก ยก มุก ในเมื่อแต่ละชุมชนเก่งคนละทางก็ต้องหาคนที่เหมาะกับงานนั้น มีข้ามประเทศไปจ้างบรมครูจาก สปป.ลาวด้วย เพราะเก่งในเรื่องการทำผ้าจกมาก ชนิดที่หาคนจกละเอียดขนาดนี้แทบไม่ได้ในเมืองไทย
ผู้ประกอบการผ้าทอประจำตำบลเล่าที่มาของชื่อศรีลำดวนว่า ศรีสะเกษมีจุดเด่นเรื่องดินภูเขาไฟที่อยู่ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ มีต้นมะเกลือที่ชาวบ้านจะใช้เป็นวัตถุดิบในการทำสี และในแถบบ้านน้อยนาเจริญจะมีป่าชุมชนกินพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ ซึ่งจะมีต้นลำดวนเยอะมาก ซึ่งหมอยาก็มักจะเอาเปลือกต้นลำดวนมาต้มเพื่อทำยาบำรุงปอด บำรุงไต และสลายนิ่ว
“พอเขาต้มยามันจะเป็นสีส้มจี๊ดเลย ผมเห็นแล้วก็เลยอยากลองเอาเปลือกลำดวนมาต้มบ้าง พอออกมาแล้วสีมันก็สวยเลยเป็นส้มโอลด์โรส ก็เลยไปเสนอจังหวัดเขาก็ถามว่าย้อมมาจากอะไร จนสุดท้ายกลับมาได้ชื่อว่าใช้ศรีลำดวนสิ เพราะย้อมมาจากต้นลำดวน แต่คำว่าสีเราใช้ศรีสะเกษนะ จะได้ดูว่าเป็นของเรา”
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาศรีลำดวนก็กลายเป็น 1 ใน 5 แบรนด์ผ้าประจำจังหวัด 1 ใน 5 เบญจสีประจำจังหวัดด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะสงสัยใช่ไหมครับว่าแล้วเด็กแว้นคนหนึ่ง ถึงจะคุ้นเคยและเติบโตมาในครอบครัวที่ทอผ้า แต่ก็ไม่ได้ทำจริงจังเป็นอาชีพขนาดนั้น พ่อกับแม่ก็เข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ แล้วทำไมผ้าถึงได้ขายดิบขายดีตั้งแต่แรก ผ่านเวลามาสี่ห้าปีก็ขายออกทุกล็อต มาฟังคำตอบจากปากพีดีกว่าครับ
“ไม่รู้ว่าขายดีหรือไม่ดี แต่ไม่เคยมีผ้าติดบ้านสักผืน (หัวเราะ) รู้ว่าอาทิตย์ที่แล้วพายายไปบวชนาคกำพร้าไม่มีผ้าใส่นะ ต้องขี่รถไปเอาผ้ากับรุ่นน้องที่อำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์ ยายไม่มีนุ่งจริงๆ นะพี่ ผมไม่รู้ไปไหนหมด”
ถึงจะขายดีแค่ไหนแต่เจ้าของแบรนด์ศรีลำดวนไม่เคยหยุด เพราะมองผ้าทอเป็นแฟชั่น เป็นสินค้าที่ต้องมีการพัฒนาตลอดเวลา
“ศรีลำดวนคนจะนึกถึงผ้าขิดกับผ้าจก ทำเท่าไหร่ก็ไม่พอ (ยิ้ม) ทำอะไรก็ช่างทำให้คนที่ซื้อของเราไปแล้วต้องกลับมาซื้อใหม่ ผมว่าที่กลับมาซื้อเป็นเพราะทั้งความซื่อสัตย์แล้วก็ความแปลกใหม่ของเรา ความสำเร็จละ ซื้อเราไม่ได้ได้แค่เงินแต่ต้องได้ใจด้วย เราต้องซื้อใจเขากลับมาให้ได้ด้วย ลูกค้าบางคนซื้อมาเป็นร้อยสองร้อยผืน เราไม่ได้ทำแค่ผ้าแบบเดิม ไม่ได้ทำสีและทำลายแบบโบราณ ลายไหนขายได้แล้วก็ยังทำลายใหม่ด้วย”
ผ้าไหมที่ใส่แล้วไม่แก่ ใช้สีพาสเทล และผสานหลายเทคนิคเข้าด้วยกัน
ผ้าไหมฉบับปรับปรุงใหม่ที่ศรีลำดวนคิดค้นขึ้นมาคือการผสานเทคนิคที่โดดเด่นของผ้าไทยแต่ละชนิดเข้าไป เช่น การทำผ้าขิดแบบเพิ่มเทคนิคของการจกหรือผ้ามัดหมี่เข้าไปด้วย ซึ่งพีบอกว่าเป็นเรื่องที่คนปกติไม่ทำกัน เพราะลำพังเทคนิคของแต่ละอย่างก็ยากแล้ว
“เป็นรูปแบบเดิมแต่ว่าปรับใหม่ จากเดิมที่ลายแต่ละลายแยกกันคนละผืน เราแทรกให้มาอยู่ในผืนเดียวกัน จากเลยที่เคยกว้าง ก็กลายเป็นมีความละเอียดเยอะขึ้น
“บางทีลูกค้าก็รีเควสอยากให้ลายผ้าที่เขาชอบมาอยู่ในผืนเดียวกัน เราทำให้ได้หมดเลย ที่สำคัญคือเขาใส่ออกมาแล้วมันไม่เหมือนใคร
“หันไปทางไหนเจอแต่คนใส่มัดหมี่ ถ้าเราใส่หมี่ขิด ใส่หมี่จก มันไม่เหมือนใคร เขาก็ชอบ ความมั่นใจต้องมา เวลาใส่ไปอย่าให้ใครทักมา อุ๊ย อันนี้ฉันมีแล้ว ไม่ (เสียงเข้ม) รู้สึกไม่แฮปปี้ ถ้าทักว่าสวยจังซื้อมาจากไหน นั่นแหละใช่เลย ลูกค้ายิ้มมีความสุขก็กลับมาสั่งกับเราอีก เราแค่เอาลายดั้งเดิมมาเพิ่มเติมให้เป็นรูปแบบใหม่ แต่ยังอยู่ในฐานของความเป็นดั้งเดิม”
อย่างที่บอกไปข้างต้นครับ ว่าการคุยกับพีเป็นเรื่องที่สนุกและครื้นเครง มียิงมุก ตบมุกตลอด เรื่องสีผ้านี่วัยรุ่นสีเกดของเราก็ยกตัวอย่างได้เห็นภาพเหมือนกัน
เขาบอกว่าสีผ้าไหมโบราณสมัยก่อนจะเข้มและเด่นมากๆ ถ้าแดงก็เป็นแดงแบบโลกลืม คือถ้าสีแดงก็จะแดงแบบเป็นน้ำแดงเลย เขียวก็เขียวเข้มราวกับน้ำเขียว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนรุ่นใหม่จะไม่นิยม ก็เลยเริ่มปรับตามที่ตัวเองชอบก่อนเป็นอันดับแรก ให้อ่อนลงมาอยู่ในโทนพาสเทล เพิ่มความหวานและคู่สีอยู่ในโทนเดียวกันให้ได้มากที่สุด
“ทำไมต้องหวาน ต้องไม่แก่ เอ้าถ้าใส่แล้วแก่ใครมันจะอยากใส่ (ฮา) สีที่หวานมันก็จะอยู่ในโซนพาสเทลทั้งหมด ก็ให้ช่างทำ แต่ไหมผมจะเป็นคนเลือกเอง เพราะสีเราย้อมให้ไปแล้วไปทิ้งไว้ให้ ยังไงก็ออกมาเป็นโทนสีที่เราย้อมไว้อยู่แล้ว ให้เขาไปจับคู่สีเอาเอง ผมจะมีหลักให้ยึดไว้เหมือนกัน หนึ่ง ก็คือต้องหวาน สอง ใส่แล้วไม่แก่ สาม อย่าให้ออกมาแล้วโดด ยึดสามหลักนี้ก็พอ
“ที่จริงต้องบอกว่าขายให้คนทุกวัย แต่คนสมัยใหม่ไม่ได้ชอบสีเข้มอยู่แล้ว คนเมืองก็ไม่ได้ชอบสีเข้ม สีแบบนี้ก็เลยเข้ากันได้กับทุกคน วัยรุ่น วัยทำงาน พ่อแม่ คุณตาคุณยายก็ซื้อหมด ที่จริงเราก็ได้ไอเดียหลายอย่างจากลูกค้าเหมือนกัน พยายามปรับให้เข้าตามยุคตามสมัย เพราะเราไม่ใช่ว่าจะรู้ไปหมดทุกเรื่อง ไม่ใช่จะเก่งไปทุกเรื่อง”
พอหันไปถามคุณยายที่ทั้งนั่งฟัง นั่งอมยิ้ม และสั่งน้ำแดงโซดา (ที่สีแดงจริงๆ) มาเลี้ยง ก็บอกว่าผ้าที่หลานทอกับผ้าที่ยายทอก็ไม่ได้ต่างกันหรอก มีพื้นฐานเดียวกัน
“รู้สึกว่างามนะ แปลกตา ลายแบบนี้เมื่อก่อนไม่มีหรอก บอกหลานตลอดว่าเอาไปขายเถอะไม่ต้องเก็บไว้ ที่บอกว่าไม่มีผ้าใส่ทีแรกพีก็จะเอามาให้นี่แหละ แต่ยายก็บอกว่าเอาไปขายเถอะลูก” คุณยายเล่า
ผ้าไทยที่ช่วยให้คนอีสานได้กลับบ้าน
อาจเป็นเพราะคาแรกเตอร์ของผู้ก่อตั้งแบรนด์ที่ทำให้วิธีการทำงานของศรีลำดวนมีความเป็นกันเองสูงมาก วิธีการทำงานกับช่างของพีคือปล่อยพื้นที่ให้โชว์ฝีมือได้เต็มที่ ส่วนวิธีการตรวจงานก็เหมือนกับการไปเยี่ยมบ้านเพื่อน ไปนั่งล้อมวงกินตำบักหุ่งกันเสียมากกว่า บรรยากาศแบบนายจ้างลูกจ้างไม่มีให้เห็นในศรีลำดวน
“เวลาไปดูช่างทอผ้านี่ไม่ได้ไปแป๊บเดียวนะ ไปเป็นชั่วโมง บางทีไปเป็นวัน นั่งคุยกันอยู่นั่นแหละ หัวเราะกันอยู่นั่นแหละ ส้มตำนู่นนี่นั่น นั่งคุยกัน ไปแบบครอบครัว ไม่ได้เป็นแบบนายจ้างลูกจ้าง ผมว่ามันเป็นอะไรที่มีความสุขมากกว่าการทำงานที่อื่น
“การที่เขาทำงานให้เรา ชิ้นงานแต่ละชิ้นมันออกมาดีทั้งหมด ร้อยเปอร์เซ็นต์ จะมีแค่สามสี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นแหละที่ผิดพลาด แต่เราก็ไม่ได้โกรธกันนะ เราบอกเสมอว่าเป็นเรื่องปกติ ผิดเป็นครู ถ้าผิดบ่อยๆ เดี๋ยวมันจะเป็น ผอ. (ฮา)
“ตอนนี้ก็เริ่มปล่อยแล้วจะได้ไม่กดดัน ขึ้นผืนใหม่จะได้ทำได้เลย มีปัญหาอะไรบางทีช่างก็จะโทรมาหา เราก็รู้อยู่แล้วว่าปัญหามันจะออกมาเป็นแบบไหน ผมบอกช่างที่ทอด้วยกันอยู่ตลอดว่าผมไม่ได้ขายผ้าถูกนะ แล้วผมไม่ได้บวกกำไรแค่ห้าร้อยบาท ผมต้องได้กำไรอย่างน้อยสองถึงสามร้อยเปอร์เซ็นต์”
“แต่ก่อนยังไม่เป็นแบรนด์มันก็ไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่พอทำขึ้นมาก็รู้สึกว่าเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้คนที่ทำแบบนี้มีรายได้เยอะขึ้น ที่เขาอยากทำกับเราก็เพราะว่าเราให้ค่าจ้างโอเคกว่าที่อื่น ให้ตามชิ้นงาน ไม่ได้ให้ตามเวลา คนอื่นให้วันละสามร้อย เราให้ไปเลยเมตรละห้าร้อยบาท อย่างน้อยวันหนึ่งได้แน่ แต่ถ้าทำได้เยอะมันก็ได้เยอะเข้าไปใหญ่”
อย่างที่พีบอกไปว่าถ้าทำเยอะก็จะได้เยอะตามไปด้วย เฉลี่ยแล้วช่างฝีมือหนึ่งคนจะมีรายได้เข้ามาอย่างน้อย 10,000 บาทต่อเดือน แต่ 15,000 – 20,000 ก็มีให้เห็นเป็นเรื่องปกติเหมือนกัน
“แล้วแต่คุณเลยทอมาเท่าไหร่ผมรับหมด บางคนเขาไม่เบิกเลยเป็นเดือนมาตู้มเดียวสามหมื่นบาท เจ็บนะครับ (ฮา) มาหลายคนเงินแสนก็ปลิวไปเลย ถ้าเกิดว่าขายของแล้วได้เยอะผมก็เพิ่มให้อีก คนละพันสองพันไม่รวมกับค่าทอนะให้เฉยๆ เผื่อเอาไว้กินอะไร เขาก็มีกำลังใจ อยากทอผ้าให้เรา อยากทำงานกับเรา
เราไม่ได้เลี้ยงแค่กาย แค่ตัว เราเลี้ยงครอบครัวเขา เลี้ยงใจเขาด้วย เราต้องเลี้ยงให้หมด ถ้าเราเลี้ยงไม่หมดมันก็จะเหนื่อยกับการทำงาน (ให้เพิ่มเหมือนเป็นโบนัสเหรอ – เราถาม) ผมว่ามันมากกว่าโบนัส มันเป็นครอบครัวไปแล้ว คนทั้งร้อยคนเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน มีงานอะไรนี่ก็มาช่วยหมด โดยที่ไม่ต้องพูดเยอะ ตอนผมขึ้นบ้านใหม่ก็มาช่วยกันหมด เหมือนเป็นผลกำไรที่เราทำ ก่อนที่จะเป็นผู้รับเราก็ต้องเป็นผู้ให้ก่อน ผมว่ามันก็โอเคดีนะครับ มันรู้สึกว่าทำงานแบบครอบครัวดีกว่าการเป็นนายจ้างกับลูกจ้าง”
พีเล่าว่า คนศรีสะเกษไม่มีใครอยากเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ ที่จำใจต้องไปเพราะถ้าอยู่ที่นี่มันไม่มีงานจริงๆ แต่ถ้าอยู่บ้านแล้วสร้างรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมได้ ก็ไม่มีใครเหมือนกันที่จะไม่อยากกลับมา
หากนับเป็นรายบุคคล แบรนด์ผ้าศรีลำดวนก็ช่วยให้คนอีสานกลับมาอยู่บ้านนาได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
“นอกจากทำนา ทอผ้าก็กลายเป็นอาชีพหลักไปแล้ว เพราะมันเลี้ยงครอบครัวได้ จากที่เข้าไปทำงานโรงงานในกรุงเทพฯ ก็กลับมาทอผ้าแทน ลูกเต้ากลับมา แม่ก็กลับมา นี่อย่างพ่อกับแม่ผมแต่ก่อนก็อยู่กรุงเทพฯ ตอนนี้ก็กลับมาทำกันหมดแล้วกลับมาทำกับเราเยอะอยู่นะยี่สิบสามสิบคนแล้ว แล้วตอนนี้ส่วนมากก็เป็นผู้หญิงนี่แหละที่มาทำกับเรา”
ผ้าที่ถักทอคุณภาพชีวิตผู้หญิงให้ดีขึ้น
ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทำนา หรือเลี้ยงควายเป็นอาชีพหลักของผู้ชาย ซึ่งรับหน้าที่หลักในการหาเงินเข้าบ้านด้วย ส่วนผู้หยิงจะรับหน้าที่เป็นลูกมือและแม่บ้านมากกว่า คือจะรับหน้าที่เป็นลูกมือไปช่วยเลี้ยงควาย ช่วยทำนาบ้างตามโอกาส แต่ไม่ได้มีอาชีพเป็นของตัวเองจริงๆ ยิ่งพอฤดูกาลผันเปลี่ยนฝนตกไม่ตรงเวลา นาข้าวเสียหายก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องหอบข้าวของไปทำงานในกรุงเทพฯ
แต่พอผลประกอบการของศรีลำดวนดีขึ้นก็ต้องการคนทอผ้ามากขึ้น พีจึงเริ่มชักชวนทั้งแม่ๆ ในหมู่บ้าน หรือผู้หญิงในตำบลที่มีฝีมือด้านการทอผ้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้วให้มาร่วมงานด้วยกัน จนหลายคนมีอาชีพหลักเป็นของตัวเองและสามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมช่างฝีมือของศรีลำดวนถึงมีผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ และเราสามารถพูดได้เลยว่าศรีลำดวนมอบทั้งพื้นที่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้หญิงในบ้านน้อยนาเจริญ
“กับคนแถวนี้ผมจะบอกเสมอว่าทำไปเหอะ อย่างน้อยๆ ก็ได้อยู่กับครอบครัว จะไปอยู่กรุงเทพฯ ให้เขาด่าเราทำไม ทำงานไม่ตรงเวลาไม่ได้ตามสเปกก็โดนด่าแล้ว อยู่บ้านเราอยากทำเมื่อไหร่ก็ทำ ทอผ้ามันเป็นงานที่ง่าย อยากทำก็ทำไม่อยากทำก็นอน รายได้มันก็มาตามความสามารถของเราเอง
“บางบ้านนี้ผัวเขาก็เป็นพ่อค้าเลี้ยงวัวด้วย เมียก็ช่วยดูวัวให้เหมือนกัน ถ้ารายได้เข้ามาสองทางมันก็เยอะขึ้น จากที่จะหาคนเดียวรายได้มันก็เพิ่มมาเยอะขึ้นอยู่แล้ว อยู่ที่นี่ถ้าเกิดได้หมื่นหนึ่งคือเหลือนะครับ ถ้าไม่ซื้อหวยเยอะ (หัวเราะ)
“มันเป็นเรื่องของความภูมิใจด้วยนะ ได้อยู่กับลูกกับผัวเขา ได้อยู่กับบ้าน กับดินเกิด อยู่กับนากับที่ของตัวเอง ได้อยู่กับพี่กับน้อง อยู่นู่นมันไม่ได้อยู่กับใคร ตื่นเช้ามาก็ทำงานๆๆ กินข้าวนอน เป็นแบบนี้ทั้งวัน
“อยู่นี่ไม่อยากทำอะไรก็ไปนั่งคุยกัน โมเมนต์แบบนี้มันไม่ได้มีอยู่ในเมืองหรอก เที่ยงมาก็เรียกกันกินส้มตำ (หัวเราะ) แต่ก่อนส้มตำตำอยู่กลางหมู่บ้าน เสียงมาถึงนี่ ร้องเรียกกัน มันก็มีความสุข
“เขาพูดกันว่าเหมือนตายแล้วมีพี่น้อง ไม่เหมือนอยู่ตรงนู้น ไม่มีใคร ถ้าตายก็เผาทิ้งไป อยู่นี่อย่างน้อยๆ ก็มีญาติมาดูใจก่อนตาย คนอีสานเขาคิดแบบนี้ก็เลยมาอยู่บ้าน มาอยู่กับความเรียบง่าย ไม่ได้ดิ้นอะไรมากมาย และมีกินนะ บ้านไม่ได้เช่า ข้าวไม่ต้องซื้อทุกมื้อ ตัดปัญหาไปได้เยอะแล้ว”
ไม่ใช่แค่ผู้หญิงในหมู่บ้านที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความภาคภูมิใจในงานที่ตัวเองได้ทำและสร้างคุณค่า แต่เพื่อนฝูงและวัยรุ่นในหมู่บ้านก็พลอยได้อานิสงส์จากแบรนด์ศรีลำดวนตามไปด้วย เงินจากผ้าส่งลูกหลานชาวศรีสะเกษให้เข้าถึงการศึกษามากขึ้นด้วย
“รู้สึกว่าส่งเพื่อนเรียนจบมาหลายคนแล้วนะ จ่ายค่าเทอมแม่ก็โทรมา “ได้เวลาจ่ายค่าเทอมแล้วเด้ออ” เราก็โอนไปให้ บางทีตัวมันเองก็โทรมา “เบิกหน่อยแน บ่มีเงินละ” ก็แซวว่าเหมือนกูเป็นพ่อมึงเนาะ (หัวเราะ)”
UN Women ร่วมกับ Urban Creature นำเสนอธุรกิจประจำจังหวัดที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้หญิง และความเสมอภาคทางเพศในภาคธุรกิจและเศรษฐกิจ
ศรีลำดวนคือแบรนด์ผ้าทอชุมชนที่เกิดจากเด็กแว้นผู้ต้องการหาเงินไปแต่งรถมอเตอร์ไซค์ จนจับพลัดจับผลูได้รวมตัววัยรุ่นของหมู่บ้านมาทอผ้าหารายได้แต่งรถไปด้วยกัน พร้อมรับซื้อผ้าทอจากแม่ๆ มาจำหน่ายภายใต้แบรนด์ศรีลำดวน ทำให้ผู้หญิงและคนในชุมชนมีรายได้ ไม่ต้องโยกย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมือง รวมถึงได้สร้างมูลค่าให้ลายผ้าทอประจำหมู่บ้านพร้อมสืบสานวัฒนธรรมผ้าทอไปในตัว
WeEmpowerAsia คือโครงการที่องค์การเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (European Union) ให้ร่วมหาโอกาสเพื่อให้ผู้หญิงในประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำและมีส่วนร่วมในภาคธุรกิจมากยิ่งขึ้น โครงการนี้มุ่งเน้นกระตุ้นให้ภาคธุรกิจตระหนักถึงคนทุกเพศ (gender-responsive) โดยเริ่มจากการปฏิบัติตามหลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรี (Women’s Empowerment Principles/WEPs) รวมทั้งกระชับสายสัมพันธ์ระหว่างตลาดในภูมิภาคเอเชียและยุโรปผ่านการค้า และห่วงโซ่อุปทาน (supply chains) ที่สามารถตอบสนองผู้บริโภคได้ทุกเพศ