เสียงบำบัด เพราะคลื่นเสียงโกหกไม่ได้ - Urban Creature

ถึงผู้อ่านที่รัก ทั้งที่ตั้งใจกดเข้ามาอ่านหรือผ่านพบเข้าโดยบังเอิญ…ฉันรู้ว่านี่อาจเป็นช่วงเวลาทุกข์ใจของใครบางคน ชีวิตปนเปพายุฝนจนคุมสติไม่ไหว งานถาโถม ปัญหาส่วนตัว อกหักซ้ำๆ แทบลืมดูแลใจ หรือจำไม่ได้ว่าครั้งสุดท้ายที่หัวเราะดังๆ ออกมาคือตอนไหนกันแน่ แต่อย่าเพิ่งท้อเลยนะ ที่ผ่านมาทำดีที่สุดแล้วรู้ไหม 

หากฉันเอ่ยแค่ประโยคให้กำลังใจลอยๆ อาจจะดูนามธรรมและช่วยเพิ่มกำลังใจคนได้ไม่มาก จึงอยากแนะวิธีดีๆ ให้ผู้อ่านและตัวฉันเองที่บางครั้งก็รู้สึกแย่เปลี่ยนมารู้สึกดีได้ไม่ยากด้วย ‘เสียงบำบัด’ กับ ดร.ศุภลักษณ์ เข็มทอง หรือ อาจารย์ป๊อป อาจารย์นักกิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ใช้เวลาศึกษาเรื่องคลื่นเสียงกับจิตใจมนุษย์ถึง 20 ปี จนรู้ว่า ‘เสียง’ คลายความเศร้าได้โดยไม่ต้องกระดกเหล้าให้ลืมเรื่องเครียด


01 ‘เสียงบำบัด’ เพราะคลื่นเสียงโกหกไม่ได้

สายตาโกหกไม่ได้ฉันใด คลื่นเสียงก็โกหกไม่ได้ฉันนั้น

เสียงบำบัด คือ การนำคลื่นเสียงที่พัฒนาขึ้นจากคลื่นความถี่ของสมองมาใช้เยียวยาจิตใจคนที่มีปัญหาด้านอารมณ์ โดยจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากนักกิจกรรมบำบัดที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านคลื่นเสียง คลื่นสมอง และทักษะชีวิต เพื่อมองภาพรวมว่าสมอง จิต และร่างกาย ไปด้วยกันหรือเปล่า ยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ตึงเครียดแค่ไหน และมีความสามารถในการปรับตัวอย่างไร

“ตอนเราสัมผัสเส้นเลือดหรือวัดชีพจร เราอาจจะได้ยินว่ามันเต้นเร็วหรือช้า นั่นเรียกว่าเสียงในร่างกาย คลื่นเสียงหรือคลื่นสมองก็เช่นกัน มันส่งเสียงอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเราไม่ได้ใช้เครื่องมือที่มีอิเล็กโทรดยี่สิบตำแหน่ง ตรวจคลื่นไฟฟ้า เราก็คงไม่ได้ยินอะไรเลย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสมองปรับตัวกับร่างกายได้ไหม

“นักกิจกรรมบำบัดที่ฝึกเรื่องจิตใต้สำนึกมาเยอะๆ จะสามารถเอามืออังศีรษะคนไข้ ตามตำแหน่งของสมอง และรับรู้ถึงคลื่นความร้อนที่แผ่ขึ้นมา ยิ่งถ้าคนไข้คิดมาก จะร้อนขึ้นมาเลย”

ก่อนอาจารย์ป๊อปจะมาเป็นอาจารย์นักกิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล เขาใช้เวลาร่ำเรียนเฉพาะทางด้านกิจกรรมบำบัดจิตสังคมจากออสเตรเลีย และภาควิชากิจกรรมบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนพบความมหัศจรรย์ของเสียงที่ทำให้เขารู้ว่าคนไข้กำลังคิดบวก คิดลบ หรือมีอารมณ์แบบใดอยู่ ซึ่งอารมณ์ของมนุษย์ซับซ้อนมากในด้านวิทยาศาสตร์ เพราะจำแนกได้ถึง 108 อารมณ์ แต่โดยทั่วไปสามารถแบ่งอารมณ์ได้ 3 อย่าง คือ กลัว โกรธ และเศร้า

“ลองพูดออกมาให้รู้สึกคิดบวก” หรือ “ไหนลองชมตัวเองดูซิ” เป็นประโยคตัวอย่างที่อาจารย์ป๊อปใช้ถามคนไข้พร้อมขออนุญาตบันทึกวิดีโอไว้ 3 นาที เพื่อวัดน้ำเสียง ว่าเสียงนั้นๆ และคลื่นสมองทำงานได้ดีจริงไหม ทว่าบางคนพูดชมตัวเองเท่าไหร่ คลื่นเสียงที่ราวกับเป็นเครื่องจับเท็จ ก็ชี้ชัดอยู่ดีว่าคุณกำลังโกหก! เพราะคลื่นสมอง 4 ประเภท กลับฟ้องร้องคุณเข้าอย่างจัง ทั้งคลื่นเบตา (Beta Brainwave) บอกว่าคุณคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลไหม คลื่นอัลฟา (Alpha Brainwave) บอกว่าคุณสบายใจอยู่หรือเปล่า คลื่นทีตา (Theta Wave) บอกว่าคุณมีสมาธิและจิตใจเข้มแข็งไหม และคลื่นเดลตา (Delta Wave) ที่ส่งสัญญาณบอกให้พักผ่อนบ้าง


02 4 คลื่นเสียงในสมอง อะไรมีแล้วดี
อะไรมีแล้วทุกข์

ฉันร้องโหทันทีตอนอาจารย์ป๊อปบอกถึงความอัจฉริยะของคลื่นสมองที่จับเท็จคนได้ จึงซักไซ้อาจารย์ป๊อปต่อว่า 4 คลื่นเสียงหรือคลื่นสมองในหัวเรา อะไรมีเยอะแล้วดี อะไรมีมากแล้วทุกข์ จนได้ข้อสรุปคร่าวๆ ดังนี้

คลื่นเบตา – ถ้าคุณเป็นคนบ้างาน อุดอู้อยู่กับหน้าจอคอมและออฟฟิศ แคร์เจ้านาย แคร์เพื่อน แคร์ทุกคน แต่ไม่เคยแคร์ตัวเองเลย เส้นยึกยือสีแดงในสมองกว่า 20 ตำแหน่ง จะพันยั้วเยี้ย วุ่นวายเต็มไปหมด นั่นเป็นสัญญาณบอกว่าคุณมีภาวะย้ำคิดย้ำทำและแทบไม่คิดบวกกับตัวเองเลย

คลื่นอัลฟา – ถ้าคุณเป็นมนุษย์ชอบรับฟังคนอื่นโดยไม่ตัดสิน และให้กำลังใจตัวเองเก่งเป็นที่หนึ่ง แสดงว่าคุณมีคลื่นอัลฟาเยอะ ซึ่งคลื่นชนิดนี้เรียกอีกอย่างว่า ‘คลื่นสุขภาพดี’ ยิ่งมีเยอะยิ่งผ่อนคลาย โดยนักกิจกรรมบำบัดจะวัดคลื่นนี้ด้วยการดูการกระเพื่อมตั้งแต่หน้าอกถึงท้องของคนเมื่อเปล่งเสียง อา อู โอ ยาวๆ 3 รอบ ซึ่งใครมีคลื่นอัลฟาเยอะ เวลารู้สึกแย่ จะฟื้นตัวได้เร็ว

คลื่นทีตา – ถ้าคุณเห็นเพื่อนร้องไห้แล้วเข้าไปปลอบโดยไม่เศร้าตามเขา เพราะหากเศร้าจะดึงให้เพื่อนเข้มแข็งไม่ได้ และยังมีความคิดรอบคอบ ไม่ฟุ้งซ่านเวลาเจอสถานการณ์หวั่นไหว ยินดีด้วย คุณมีคลื่นทีตาเต็มเปี่ยม อาจารย์ป๊อปบอกว่าบางบริษัทใหญ่ๆ ในต่างประเทศถึงขนาดตรวจวัดคลื่นทีตาก่อนรับเข้างาน เพราะคนกลุ่มนี้จะมีอารมณ์มั่นคง เข้มแข็ง และสมาธิเป็นเลิศ

คลื่นเดลตา – ถ้าก่อนเข้านอน คุณมีอาการกลอกตาเร็วขึ้น เพราะความถี่ในสมองลดลง ดวงตากำลังสับสนว่าฉันจะหลับหรือจะตื่นดี จนท้ายที่สุดหลับไปพร้อมความฝันแทบทุกวัน นั่นบอกได้ว่าคุณมีคลื่นเดลตาน้อยเหลือเกินซึ่งเกิดจากอาการคิดมาก เศร้า และโทษตัวเองในหัวอยู่บ่อยๆ เพราะคลื่นเดลตาได้สมญานามว่าเป็นคลื่นแห่งการหลับที่สงบ หากหลับลึกโดยไม่มีความฝันนั่นเรียกว่าการหลับที่ดี แต่ถ้าไม่ คุณต้องบำบัดการนอนโดยใช้คลื่นเดลตาแล้วแหละ


03 เรียกสติด้วยการกลืนน้ำลายและเคี้ยวข้าว

ถึงผู้อ่านที่รัก…ในที่สุดก็เดินทางมาถึงช่วงที่อยากแนะนำให้อ่านมากที่สุด เพราะฉันก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่าการกลืนน้ำลาย เคี้ยวข้าว กอดตัวเอง บอกรัก ส่งเสียงฮัม หัวเราะ หรือที่อาจารย์ป๊อปเรียกว่า ‘เสียงในร่างกาย’ มันช่วยเพิ่มคลื่นทั้ง 4 ประเภทที่ดีต่อใจ ดีต่อร่างกาย และดีต่อคนที่อยากจะลืมเรื่องเศร้าได้ด้วย

“เรียกสติด้วยการกลืนน้ำลายและเคี้ยวข้าว” ฉันตั้งชื่อบทนี้เพราะสิ่งสำคัญแรกที่ทำให้ผู้อ่านของฉันก้าวข้ามผ่านเรื่องราวต่างๆ ได้จำเป็นต้องพึ่งสติ และอาจารย์ป๊อปเรียกเสียงนี้ว่า ‘เสียงแห่งสติ’

“ฟังเสียงกลืนน้ำลายทำให้ผ่อนคลายได้นะ คนที่อยู่ในภาวะเครียดมากๆ น้ำลายจะแห้ง เหนียว เหมือนสำนวนกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ซึ่งเราสามารถเรียกน้ำลายกลับมาแค่เอามือปิดปาก นำนิ้วโป้งไว้ใต้คาง แล้วกระดกนิ้วขึ้นให้สะเทือนบริเวณใต้คาง กระตุ้นและเขี่ยคางเบาๆ น้ำลายจะหลั่งออกมา พอชุ่มปากให้ก้มคอเล็กน้อย และกลืนลงไปเพื่อฟังเสียงน้ำลาย

“เมื่อฟังเสียงน้ำลายเสร็จ ตอนกินข้าวให้เคี้ยวข้าวคำละยี่สิบวินาที เราจะเพิ่มคลื่นทีตาในสมอง แล้วทำให้นิ่งขึ้น มีสติขึ้นได้ ถ้าฝึกบ่อยๆ” อาจารย์ป๊อปกล่าว


04 คลายเศร้าด้วยการกอดตัวเองและบอกรัก

ครั้งแรกที่ฉันได้ยินชื่อ ‘The Butterfly Hug’ หรืออ้อมกอดผีเสื้อที่ใช้กอดตัวเองยามเศร้าหรือพบเจอเหตุการณ์สะเทือนอารมณ์ คือตอนดูซีรีส์เกาหลี It’s Okay to Not Be Okay ที่พระเอกจับมือขวาของนางเอกไขว้บ่าด้านซ้ายของเธอ และมือซ้ายไขว้บ่าด้านขวา แล้วตบเบาๆ ซึ่งอาจารย์ป๊อปบอกว่าสิ่งนี้ช่วยปลอบประโลมได้จริง 

แต่ขอเสริมอีกนิดว่า หากอยากเพิ่มคลื่นอัลฟาให้เอามือไขว้ไว้ที่คอ เพราะบริเวณคอจะมีสมองส่วนการหายใจที่กั้นสมองอยู่ จากนั้นเอามือขวาที่อยู่ด้านซ้ายเคาะ 1 ที เอามือซ้ายเคาะด้านขวา 2 ที ทำสลับไปเรื่อยๆ จนครบ 8 ที เสียงจากการเคาะ หรือเรียกว่า ‘เสียงแห่งความรัก’ เป็นวิธีกอดตัวเองที่ดีที่สุด และหลังเคาะเสร็จหากเปล่งเสียง “รักตัวเองให้มากๆ” 8 ครั้ง ให้สมองได้ยินสิ่งที่เราพูด ก็จะยิ่งช่วยให้ความเศร้าบรรเทาลง


05 ความจำดีเพราะเสียงฮัม

‘เสียงสุขภาพ’ แค่ชื่อก็รู้แล้วว่าต้องมีดี ซึ่งวิธีการเรียกเสียงสุขภาพที่เพิ่มคลื่นอัลฟาและทีตาไปพร้อมๆ กัน คือ ‘การฮัม’ 

“เสียงฮัม หรือ การฮัมเพลง มันจะเก็บลมหายใจขณะปิดปาก ทำได้ง่ายๆ ด้วยการออกเสียง อืออออ (ยาวๆ) คล้ายเสียงผึ้ง ช่วงแรกอาจจะไม่คุ้น ให้ลองฮัมสั้นๆ ก่อนครั้งแรก ครั้งที่สองให้เอานิ้วชี้อุดจมูกรูขวาแล้วออกเสียงให้ยาวขึ้น ครั้งที่สามให้เอานิ้วชี้อุดจมูกรูซ้ายแล้วออกเสียงเหมือนเดิม และครั้งสุดท้ายให้ปิดทั้งสองรูแล้วออกเสียงอีกยาวๆ”

การฮัมเสียงทั้ง 4 รอบจะช่วยให้เกิดการสั่นสะเทือนที่กกหูเทียบเท่ากับการฟังเสียงคลื่นอัลฟาและคลื่นทีตา ช่วยให้สมองซีกซ้ายและขวาทำงานสมดุล ป้องกันอาการหลงๆ ลืมๆ ได้


06 หัวเราะฟื้นความสุข เคาะกลางอกและประโยค “หายเศร้านะ”

เพิ่งรู้เหมือนกันว่าถ้าไม่มีเรื่องให้ขำ แล้วตั้งใจหัวเราะออกมาทั้งอย่างนั้น ก็ช่วยเพิ่มความสุขได้จริง ซึ่งมันเรียกว่า ‘เสียงแห่งความสุข’ 

หายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้ และปล่อยเสียงหัวเราะออกมา 4 ครั้ง ถ้าเศร้ามากๆ ให้เพิ่มเป็น 8 ครั้ง ทำแบบนี้ก่อนนอน จะช่วยลดคลื่นเบตาและเพิ่มคลื่นอัลฟาให้เรากลับมาสดใสในเช้าวันถัดไป จริงๆ แล้วเสียงหัวเราะเป็นเสียงที่เด็ก 5 ขวบแรกควรได้ยินมากที่สุด เพราะเสียงหัวเราะจะช่วยให้ต่อมไทมัสที่เป็นต่อมด้านอารมณ์ไม่สะสมความเครียด ทว่าเด็กหลายคนถูกพ่อ-แม่ทำให้ร้องไห้ตั้งแต่เด็ก นั่นจะทำให้เด็กเติบโตมาโดยมีภาวะเครียดง่าย

ซึ่งการเอามือเคาะกลางอกที่มีต่อมไทมัสอยู่ตามจังหวะ ไม่ช้าไป ไม่เร็วไป เวลาเราร้องไห้ พร้อมกับพูดให้กำลังใจตัวเองว่า “หายเศร้านะ”, “เข้มแข็งนะ”, “เก่งมากแล้ว” เสียงของการเคาะและเสียงที่พูดออกมาจะเข้าไปที่สมอง ช่วยลดความตระหนกตกใจลงได้

อาจารย์ป๊อปแนะว่า หากอยากปลอบใครให้ลองใช้วิธีนี้ดูแทนการลูบหลัง เพราะการลูบหลังจะช่วยในการจดจำความเศร้า ณ ช่วงเวลานั้นมากขึ้น หรือถ้าไม่ได้สนิทกันถึงเคาะกลางอกได้ ให้เริ่มเคาะที่ตัวเองแล้วบอกให้เพื่อนเคาะตามไปด้วย


07 สวมหูฟัง ฟังเสียงจาก ‘กกหู’ ผ่านแอปพลิเคชัน

หากวิธีที่กล่าวมาทั้งหมดไม่เห็นผล อาจารย์ป๊อปแนะนำแอปพลิเคชัน ‘Smiley Sound’ แอปฯ ฟังเสียงฟรีที่มีให้โหลดใน App Store หรือ Google Play โดยสามารถเลือกฟังเสียงตามปัญหาความเศร้าต่างๆ ที่อาจารย์ทำการวิจัยร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่าช่วยลดความกลัว บรรเทาความเศร้า จัดการความโกรธ พัฒนาสมอง หรือแก้อาการนอนไม่หลับได้

ภายในแอปพลิเคชันจะมีหลากหลายเสียงพร้อมอาการต่างๆ ให้เลือก โดยอาจารย์ป๊อปพัฒนาแต่ละเสียงจากประสบการณ์ฟังเสียงคนไข้กว่า 1,000 คน ด้วยวิธี Binaural Beats หรือการยกเคสตัวอย่างที่มีปัญหาความโกรธ ความเศร้า หรือตามอาการต่างๆ ไปวัดคลื่นสมอง จากนั้นเอาคลื่นสมองทั้ง 4 ประเภทที่มีปัญหา กลับมาแปลงเป็นเสียงดนตรีที่ผ่อนคลาย

“ดนตรีที่ว่าผมเอามาจากการบำบัดคุณพ่อที่เป็นอัลไซเมอร์ โดยฝึกคุณพ่อเล่นไวโอลินและแมนโดลิน ที่ก่อนป่วยเขาเล่นได้ไพเราะ แต่พอป่วยก็ลืมไปหมด จึงต้องฝึกคุณพ่อใหม่แปดชั่วโมงต่อเพลง ร่วมสามเดือน ซึ่งแบ่งเป็นดนตรีที่พ่อรู้สึกเศร้า ดนตรีที่พ่อรู้สึกมีสติ ดนตรีที่พ่อรู้สึกดี หรือดนตรีที่ฟังแล้วโมโห เพราะผู้ป่วยอัลไซเมอร์ถือเป็นต้นแบบของทุกอารมณ์ที่ผิดปกติ การได้มาซึ่งเสียงดนตรีที่ออกแบบโดยคนที่มีปัญหาจริงๆ แล้วใช้เทคโนโลยีการตัดต่อเสียงกับคลื่นสมอง ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยทางด้านอารมณ์ต่างๆ ผ่อนคลายได้”

อาจารย์ป๊อปยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าสมมติบางคนเจอคลื่นเบตาเยอะมาก เขาก็ต้องปรับคลื่นเบตาให้เป็นคลื่นอัลฟา แล้วเอามาผสมกับเสียงดนตรี จนออกมาเป็นเสียงละ 7 นาที ที่ช่วยให้คลื่นสมองปรับเปลี่ยนได้ แต่ข้อสำคัญคือต้องฟัง 4 วันติดต่อกัน เพื่อให้สมองเกิดการเรียนรู้ และหากใช้หูฟังที่ใส่บริเวณกกหูหรือกระดูกพอดีอย่าง Bone Conduction Headphones ฟังตอนกลางคืน โกรทฮอร์โมนในสมองก็จะแก้ไขความคิด คืนสติ และคืนหัวใจที่สงบกลับมาสู่ผู้อ่านทุกคนได้

ป.ล. ถ้าทำติดต่อกัน 4 วัน อย่างสุดความสามารถแต่ไม่เห็นผล การพบคุณหมอหรือปรึกษานักกิจกรรมบำบัดให้ช่วยวัดคลื่นเสียงที่เหมาะกับตัวเองโดยเฉพาะก็เป็นอีกหนึ่งวิธีรักษาที่น่าสนใจดีนะ

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.