เสียงขับร้องเพลงลูกกรุงที่ผมได้ยินอย่างไม่ตั้งใจ ทำให้ขาของผมก้าวตามไปอย่างอดใจไม่ได้ อาจเพราะความทรงจำในวัยเยาว์ที่ทำให้ผมหวนรำลึกถึงท่วงทำนองและ เสียงเพลงอันคุ้นเคย
ร้านคาราโอเกะเป็นแหล่งรวมตัวของผู้สูงอายุที่ล้วนมีความชอบในสิ่งเดียวกัน บางคนมาเพื่อร้องเพลง บางคนมาเพื่อนั่งฟัง และบางคนมาเพื่อคลายเหงา มาบ่อยจนสถานที่แห่งนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและความทรงจำ
น่าเสียดายอยู่ไม่น้อยถ้าสิ่งเหล่านี้กำลังจะสูญหายไปตามกาลเวลา เพราะสำหรับผม สิ่งเหล่านี้เปรียบได้ว่าเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่ผมผ่านมาเพื่อบันทึกช่วงเวลาหนึ่งไว้เท่านั้น
ทั้งหมดเกิดจากความบังเอิญอย่างไม่ตั้งใจ ในวันที่ท้องฟ้าปลอดโปร่งเหมาะแก่การออกไปข้างนอก วันนั้นผมมีธุระที่ไม่ค่อยสำคัญเท่าไรนักที่ต้องออกไปทำ ผมโบกมือเรียกรถแท็กซี่จากหน้าคอนโดฯ แห่งหนึ่งย่านเตาปูน จุดหมายปลายทางคือวังบูรพา โชเฟอร์เลือกใช้เส้นทางผ่านหน้ารัฐสภา ซึ่งในเวลานั้นเองถนนเส้นนั้นมีการขุดถนนเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าอยู่พอดี ฝุ่นตลบอบอวลไปทั้งสองข้างทาง บดบังทัศนียภาพอันแสนสดใสของวันนั้นไป
เวลาล่วงเลยมาเกือบชั่วโมงเศษๆ กับการที่ผมนั่งอยู่ในรถที่การสัญจรบนถนนเป็นไปอย่างยากลำบาก พร้อมกับสภาวะท้องไส้ปั่นป่วนของตัวเองที่ส่งสัญญาณให้รับรู้ว่าต้องการห้องน้ำที่ใกล้ที่สุด ผมตัดสินใจบอกกับลุงโชเฟอร์ว่าขอลงรถตรงตลาดศรีย่าน
ก่อนอื่นผมต้องขอแนะนำตัวกับท่านผู้อ่าน เพื่อที่จะไม่ให้เกิดความสงสัยกันไปมากกว่านี้ว่าตัวผมเองนั้นคือใคร มาจากไหน ผมเป็นคนไทยเชื้อสายจีน เติบโตมาในย่านสำเพ็งเยาวราช พออายุสิบสามปีก็ย้ายที่อยู่มาอยู่แถวสี่แยกพิชัย (แถวๆ ตลาดศรีย่านนั่นแหละ) นั่นทำให้ผมมีความชำนาญพื้นที่ละแวกนั้นอยู่พอสมควร
ผมรีบเดินปรี่เข้าไปหาห้องน้ำที่ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่แห่งหนึ่งในย่านนั้น ภาพในหัวของผมเมื่อเข้าไปที่ห้างฯ แห่งนั้น ทำให้นึกย้อนถึงวันวานสมัยยังเด็กที่ได้แวะเวียนมาใช้บริการและซื้อของเล่นเป็นบางครั้งบางคราว แต่นั่นเป็นเพียงภาพในความทรงจำเท่านั้น เพราะสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าคือภาพห้างฯ ที่เปลี่ยนไปจนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิมอยู่เลย
ศูนย์อาหารที่แทบจะร้าง ประตูมู่ลี่ของร้านค้าต่างๆ ปิดลง หลงเหลือไว้แต่ร่องรอยของป้ายที่บอกว่าร้านค้าเหล่านั้นเคยเป็นร้านเครื่องเสียงมาก่อน ในขณะเดียวกัน ผมได้ยินเสียงเพลงที่ไม่สามารถห้ามไม่ให้ตัวเองเดินตามเสียงเหล่านั้นไป
“แม้นใจเอื้อเชื่อคำน้ำใจ จะไม่เปลี่ยนกลาย คล้ายน้ำตกหลั่งไหลไม่วาย รักคงไม่หน่ายแนบเคียงทุกครา ขอรักจนกว่าชีวาสลายลาญ” เนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลงวิมานรักห้วยแก้ว โดย ‘ชรินทร์ นันทนาคร’ และ ‘เพ็ญศรี พุ่มชูศรี’ ที่ผมได้ยินในตอนนั้นล่องลอยมาพร้อมร้านคาราโอเกะที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า ผมตัดสินใจเปิดประตูเข้าไปทันที
ผนังของร้านประดับด้วยภาพของนักร้องเพลงลูกกรุงในสมัยก่อน เวทีที่ถูกจัดเหมือนกำลังมีงานสังสรรค์ ผ้าม่านสีฟ้าถูกประดับไปด้วยข้อความที่มีรูปลักษณ์เหมือนย้อนเวลาไปหลายสิบปีก่อน “เชิญร้องและอมตะนิรันดร์กาล เพื่อความสุข เพื่อความบันเทิง เพื่อมิตรภาพ”
ภายในร้านตอนนั้นเหลือเพียงคุณลุงคุณป้าอยู่แค่สี่คน บางคนขึ้นไปร้องเพลง บางคนนั่งฟังเพียงอย่างเดียว ตัวผมเองนั้นหาที่นั่งฟังอย่างสงบ พร้อมทำหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ดี คุณป้าท่านหนึ่งเห็นผมเข้าก็เลยเข้ามาพูดคุยด้วยความสงสัย ว่าคนหนุ่มอย่างผมมาทำอะไรในร้านที่มีแต่ผู้สูงอายุและเพลงเก่า
มันคงเป็นเรื่องแปลกไม่ใช่น้อยที่ยุคนี้จะเห็นคนหนุ่มอย่างผมนั่งฟังเพลงลูกกรุงอย่างตั้งอกตั้งใจ แต่สำหรับผมนั้นมันคือความเพลิดเพลิน และเป็นความทรงจำที่ดีในวัยเยาว์ เหมือนที่กล่าวไปแล้วว่าผมโตมาในย่านสำเพ็งเยาวราชที่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากห้างฯ ดิ โอลด์ สยาม เท่าไหร่ ที่ห้างฯ นั้นเป็นสถานที่ที่ผมไปทานข้าวและใช้เวลากับครอบครัวในทุกๆ เย็นหลังโรงเรียนเลิกเสมอ
หลายคนที่อาจตามข้อมูลไม่ทัน ผมต้องขออธิบายก่อนว่า ในยุคสมัยนั้นมีคาราโอเกะตั้งอยู่ในศูนย์อาหารและห้างสรรพสินค้ามากมาย ทำให้ผู้คนร้องคาราโอเกะกันจนเป็นเรื่องปกติ สิ่งนี้เองที่ทำให้ผมค่อยๆ ซึมซับกับท่วงทำนอง และหลงเสน่ห์ของเพลงลูกกรุงอย่างไม่รู้ตัว
“บ้านคือวิมานของคน ถึงแม้ยากจน ก็ต้องดิ้นรน อย่าจนปัญญา หาบ้านสักหลัง ที่พอประทังชีวา เพื่อสนิทในนิทรา ให้ตื่นมามองโลกชื่นใจ” บทเพลงบ้านของเรา (สวลี ผกาพันธุ์) ถูกขับร้องโดยคุณป้าท่านหนึ่งในร้าน
หลังจากที่เพลงจบลง ผมเข้าไปชวนคุณป้าพูดคุยและสอบถามถึงความเป็นมาของร้านว่ามาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร ทำให้ผมทราบว่าร้านนี้จริงๆ แล้วเปิดมาได้เพียงสองปีเท่านั้น ก่อนหน้านี้ร้านเคยอยู่ที่ดิ โอลด์ สยาม มาก่อน แต่เพราะพิษเศรษฐกิจหลังการระบาดของ Covid-19 ทางร้านต้องหาพื้นที่ใหม่ที่มีค่าเช่าถูกลง ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาก็เป็นลูกค้าประจำที่ตามมาจากที่เก่า บางคนอยากมาร้องเพลง บางคนอยากมาเจอเพื่อน บางคนมาเพื่อคลายเหงา มาบ่อยจนสถานที่แห่งนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว
เวลาล่วงเลยมาพอสมควรจนผมเต็มอิ่มกับเสียงเพลง ก่อนจากกันคุณลุงคุณป้าในร้านได้แนะนำผมให้รู้จักกับสถานที่ที่เป็นศูนย์รวมคาราโอเกะเพลงลูกทุ่ง-ลูกกรุงย่านบางแค
“ค่ำคืนนี้ไม่มีแม้แต่เงาเธอ พี่เผลอกายเฝ้ายืน ไร้คนเกี่ยวก้อยแสนเศร้าสุดฝืน ทนเฝ้ายืนกลืนน้ำตา” เนื้อร้องส่วนหนึ่งจากเพลงรักริงโง (สุรพล สมบัติเจริญ) ที่ผมได้ยินทันที หลังจากเดินทางมายังสถานที่ที่เป็นศูนย์รวมคาราโอเกะเพลงลูกทุ่ง-ลูกกรุงย่านบางแคตามคำแนะนำของคุณป้า
ที่นี่น่าสนใจมากสำหรับผมเพราะได้เห็นร้านคาราโอเกะไม่ต่ำกว่าสิบร้านซ่อนตัวอยู่ในอาคารติดแอร์กลางตลาดสด
ผมก้าวเท้าตามเสียงเพลงเข้าไปในร้าน ซื้อน้ำเปล่าขวดละ 10 บาท พร้อมจับจองที่นั่งเพื่อฟังเพลงถัดไป คุณลุงคุณป้าโต๊ะข้างๆ เห็นผมมาคนเดียวจึงชวนไปนั่งด้วยกันพร้อมพูดคุยเรื่องสัพเพเหระ
สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ในวันนั้นคงหนีไม่พ้นเรื่องของดนตรีและเสียงเพลง คุณลุงที่ชวนผมไปนั่งด้วยบอกกับผมว่า ข้อดีของร้านคาราโอเกะแบบนี้คือการได้มาเจอเพื่อนหรือคนใหม่ๆ พร้อมกับเสียงดนตรีหรือเพลง ไม่ว่าจะเป็นลูกกรุงหรือลูกทุ่ง เมื่อมาอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มันไม่มีการแบ่งแยก ทุกคนเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นคนมีเงินหรือไม่มีเงิน มาร้องหรือมาฟัง ทุกๆ คนล้วนเท่ากันและเป็นเพื่อนกันได้เสมอ
สุดท้ายแล้ว ตัวผมเองก็เสียดายอยู่ไม่ใช่น้อยถ้าสิ่งเหล่านี้กำลังจะสูญหายไปตามกาลเวลา เพราะสำหรับผม สิ่งเหล่านี้เปรียบได้ว่าเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่ผมผ่านมาเพื่อบันทึกช่วงเวลาหนึ่งไว้เท่านั้น