ลงชื่อ คัดค้าน CPTPP #NoCPTPP - Urban Creature

คุณเรียกร้องประชาธิปไตยด้วยวิธีไหน?

บางคนไปชุมนุมเพื่อแสดงพลัง บางคนใช้สมาร์ตโฟนในมือเป็นช่องทางแชร์ข้อมูลข่าวสาร บางคนใช้เสียงของตัวเองโพสต์ถึงปัญหาบ้านเมืองให้คนได้คิดตาม และบางคนใช้ศิลปะหรือเนื้อเพลงขับเคลื่อนสังคม สำหรับใครที่ไม่มั่นใจว่าคุณมี ‘สิทธิ์’ อยู่ในมือ โปรดจงเชื่อมั่นในเสียงของตัวเอง 

Urban Creature ขอเป็นหนึ่งเสียงแสดงจุดยืนอยู่ข้างประชาธิปไตย จึงอยากแนะนำหนึ่งวิธีแสดงพลังที่เห็นเป็นรูปธรรม นั่นคือการ ‘ลงชื่อ’ คัดค้าน เรียกร้อง และเสนอร่างเพื่อการเปลี่ยนแปลง เพราะพวกเราเชื่ออย่างเต็มหัวใจว่าลายเซ็นของทุกคนเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นที่อยากเห็นคนในประเทศไทยทุกคนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต

เพราะอนาคตที่ดี ใครๆ ก็อยากมี และคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นสิ่งที่ทุกคนควรมี


01 #NoCPTPP #คัดค้านCPTPP

CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership คือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก 

แม้ข้อดีของ CPTPP จะเพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยไปยังประเทศที่ไม่เคยมีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย เช่น แคนาดา และเม็กซิโก ดึงดูดการลงทุนจากประเทศสมาชิก CPTPP และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อเสียที่ตามมา

Greenpeace ประเทศไทย ได้สรุปผลกระทบหากประเทศไทยเข้าร่วมภาคี CPTPP ไว้ว่า ถือเป็นการยอมรับอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 ที่เสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์อาหารปนเปื้อน เนื่องจากอนุสัญญานี้เปิดโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรมนำพันธุ์พืชของไทยไปใช้ประโยชน์ โดยไม่จำเป็นต้องรับรองความปลอดภัย

แต่สิ่งที่แย่คือ เกษตรกรรายย่อยจะถูกตัดสิทธิ์ในการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ หากเก็บเมล็ดพันธุ์ด้วยตัวเองจะมีโทษอาญาจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 แสนบาท ห้ามขายผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปโดยไม่แบ่งกำไรให้เจ้าของพันธุ์ (นายทุน) ซึ่งผลกระทบนี้จะรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ยาที่แปรรูปจากพืชสมุนไพร ทำให้ประเทศสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ อาชีพนักปรับปรุงพันธุ์พืชตกงาน รวมถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของเกษตรไทยพังทลาย เมล็ดพันธุ์ในประเทศจะมีราคาสูงขึ้น 2 – 6 เท่า และอาหารที่เราทุกคนได้กินจะแพงขึ้น เนื่องจากการเพิ่มสูงของต้นทุนการปลูก

Greenpeace ประเทศไทย ชวนทวงคืนความยุติธรรมให้เกษตรกรรายย่อย ด้วยการลงชื่อคัดค้าน CPTPP เพื่อไม่ให้เกิดการตัดสิทธิพื้นฐานของเกษตรกรซึ่งนำไปสู่ความเดือดร้อนต่อประชาชนที่เป็นผู้บริโภคทั้งประเทศ


02 ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด

ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ (พ.ร.บ.อากาศสะอาด) เกิดขึ้นโดย ‘เครือข่ายอากาศสะอาด’ หรือกลุ่มคนจิตอาสาทั้งนักวิชาการและภาคประชาชน ที่ใช้ความรู้ของตนศึกษาความรู้เกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิ์ ‘หายใจอากาศสะอาด’ (Right to breathe clean air) 

นอกจากนี้ในร่างพระราชบัญญัติฯ ยังมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนมีสิทธิ์ทราบข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศและผลกระทบของคุณภาพอากาศที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สิทธิในการมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการกำหนดนโยบาย จัดทำกฎหมาย และกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาด รวมถึงสิทธิในการเข้าถึงและได้รับความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม 

ที่ผ่านมาภาครัฐแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศไม่ตอบโจทย์ประชาชน เช่น ไม่มีกฎหมายบังคับเรื่องการปรับเกณฑ์มาตรฐานของฝุ่น PM 2.5 เป็นระยะ ปัญหาการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ที่บังคับใช้ด้วย ‘ดุลพินิจ’ ไม่ยอมประกาศเขตควบคุมมลพิษ แม้สถานการณ์มลพิษทางอากาศในขณะนั้นจะอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายรุนแรงต่อชีวิตคนในพื้นที่แล้วก็ตาม อีกทั้งยังมีการประกาศเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นใหม่ และอนุญาตให้โรงงานที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนดำเนินการต่อได้


03 ค้าน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับแก้ไข

– หากประชาชนขอข้อมูลจำนวนมาก บ่อยครั้ง หรือสร้างภาระจนเกินสมควร หน่วยงานรัฐมีสิทธิ์ไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารนั้นให้ประชาชน
– ห้ามเปิดเผยข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันกษัตริย์
– ห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความมั่นคงของรัฐ ทหาร และการป้องกันประเทศ รวมถึงการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย
– การเข้าถึงเอกสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเงิน หรือการคลังของประเทศขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่
– หากฝ่าฝืน โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ทั้งหมดนี้เป็นเนื้อหาใน ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ โดยเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และจะนำไปเสนอให้รัฐสภาต่อไป แม้จะขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 35 ที่กล่าวว่า “บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ”

ถ้าเกิดกฎหมายฉบับนี้ถูกบังคับใช้ เสรีภาพในการได้รับข้อมูลข่าวสารของประชาชนจะหายไป ‘ภาคีนักเรียนสื่อ’ จึงสร้างแคมเปญรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ change.org เพื่อคัดค้านไม่ให้ประชาชนถูกจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และช่วยให้สื่อมวลชนรายงานข่าวตามความจริง


04 ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี

ถ้าคุณเชื่อเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ชนชั้น และทุกวิชาชีพ คุณจะเชื่อว่า “Sex work is work.” เพราะทุกงานเป็นคนเท่ากัน

ภาคประชาชนนำโดย ‘มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์’ รวบรวมรายชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ทำให้การค้าบริการทางเพศโดยสมัครใจไม่เป็นความผิดอาญา (Decriminalization) เพื่อให้ผู้ค้าบริการทางเพศเข้าถึงสิทธิและความคุ้มครองเฉกเช่นแรงงานทั่วไป อีกทั้งไม่ถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ ดังนี้

1. ผู้ให้บริการทางเพศไม่มีความผิดจากการติดต่อหรือชักชวนให้ซื้อบริการทางเพศของตน แต่หากทำให้เสียความสงบเรียบร้อยและความเดือดร้อนในสถานที่สาธารณะจึงจะมีความผิด
2. นายหน้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 282 ระวางโทษจำคุก 1 – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หากกระทำไปโดยใช้อุบายหลอกลวงหรือข่มขืน มีความผิดตามมาตรา 283 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 400,000 บาท โดยทั้งสองกรณีจะต้องระวางโทษหนักขึ้นหากได้กระทำต่อเด็กหรือเยาวชน 
3. เจ้าของ ผู้ดูแล หรือผู้จัดการค้าประเวณีไม่มีความผิดจากการควบคุมดูแลกิจการค้าประเวณี แต่บุคคลดังกล่าวไม่สามารถรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าทำงาน หรือปล่อยให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์เข้ามาใช้บริการได้
4. ผู้ใช้บริการทางเพศที่กระทำชำเราผู้ให้บริการทางเพศโดยที่ผู้ให้บริการไม่ยินยอม มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 80,000 – 400,000 บาท 


05 ปกป้องนักศึกษา ม.เชียงใหม่ จากข้อหา 112

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา นักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ และ นักศึกษา ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดแสดงผลงานศิลปะ ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่อธิการบดีและคณบดีคณะวิจิตรศิลป์กลับรื้อถอนและทำลายงานศิลปะเกี่ยวกับการเมืองของนักศึกษา ซึ่งขัดต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษา

ล่าสุด วันที่ 2 พ.ค. ปี 2564 นักศึกษาเจ้าของผลงาน 2 คน ได้รับโทรศัพท์จากตำรวจ แจ้งให้ไปรายงานตัวคดี 112 และ พ.ร.บ.ธง โดยที่ไม่มีหมายเรียก ทั้งนี้ทนายฝ่ายนักศึกษาได้ยื่นเอกสารขอเลื่อนวันรายงานตัวจากเดิมมาเป็นวันที่ 11 พ.ค. ปี 2564 ซึ่งนักศึกษาคนดังกล่าวได้เข้ารับทราบข้อหาเป็นที่เรียบร้อย

โมงยามนี้การแสดงออกทางศิลปะเพื่อตั้งคำถามต่อสังคม ถูกปิดกั้นความคิดอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งๆ ที่ “ศิลปะไม่เคยเป็นขี้ข้าใคร หรือเป็นสื่อโฆษณาชวนเชื่อของใคร”

ร่วมลงชื่อปกป้องนักศึกษา ปกป้องศิลปะ และปกป้องเสรีภาพที่มนุษย์ทุกคนพึงมี

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.