ถ้าให้ย้อนถึงความทรงจำที่ประทับใจในวัยเด็ก เชื่อว่าหลายคนคงหวนนึกถึงกิจกรรมที่เคยเล่นสนุกจนลืมเวลา รวมไปถึงงานอดิเรกที่เคยหลงใหลและมีสมาธิกับมันมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพการ์ตูน การเล่นดนตรี การเล่นกีฬา ไปจนถึงการเล่นเกมสารพัดรูปแบบ สำหรับบางคน สิ่งเหล่านี้ยังกลายเป็นแพสชันที่ติดตัวพวกเขาไปจนโต หรือไปไกลถึงขั้นทำเป็นอาชีพก็มี
‘อิกคิว-สิทธิกร ปรีชาวุฒิเดช’ ชายหนุ่มท่าทางอารมณ์ดีคนนี้ คือหนึ่งในนั้น
เรารู้จักอิกคิวผ่านโพสต์ประชาสัมพันธ์เวิร์กช็อป ‘ตามาญโญในตัวต่อจิ๋ว’ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในงาน ‘เสาร์สนามไชย Saturday Happening’ ที่มิวเซียมสยาม เวิร์กช็อปนี้สะดุดตาเราเป็นพิเศษ เพราะเป็นการสอนต่อ ‘เลโก้จิ๋ว (Miniblock)’ จากผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมของมาริโอ ตามาญโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียนผู้ออกแบบตึกมิวเซียมสยาม เช่น สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง สถานีรถไฟสวนจิตรลดา พระที่นั่งอนันตสมาคม และสถานีรถไฟกรุงเทพ พูดง่ายๆ ว่าเป็นการย่อไซซ์อาคารไทยให้กลายเป็นโมเดลจิ๋วสีสันน่ารักที่สาวกตัวต่อกับของกุ๊กกิ๊กต้องตาเป็นประกายวิบวับแน่นอน
เมื่อลองหาข้อมูลเพิ่มเติม เราก็พบว่าอิกคิวคือจิตแพทย์ที่มาเป็นวิทยากรเฉพาะกิจให้เวิร์กช็อปนี้ เนื่องจากความหลงใหลในศาสตร์และศิลป์ของการต่อเลโก้มาตั้งแต่เด็ก จนได้พัฒนางานอดิเรกให้มีความออริจินัลและจริงจังมากขึ้นผ่านการออกแบบเลโก้จิ๋วจากสถาปัตยกรรมไทยและต่างประเทศ โดยเขาได้รวบรวมผลงานทั้งหมดไว้ในเพจ Qbrick Design
เรานัดหมายกับอิกคิวเพื่อพูดคุยทำความรู้จักเจ้ามินิบล็อกเหล่านี้ให้มากขึ้น ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบอันซับซ้อน ไปจนถึงการต่อประกอบให้สำเร็จ คุณค่าของตัวต่อจิ๋วในมุมมองของเขาเป็นแบบไหน อะไรที่ทำให้เขามีแพสชันและมิชชันต่อตัวประกอบจิ๋วขนาดนี้ เราขอชวนทุกคนไปฟังคำตอบพร้อมกัน
ปัดฝุ่นเลโก้วัยเด็ก
อิกคิวเริ่มต้นด้วยการเล่าย้อนไปถึงช่วงเวลาหลังจากเรียนจบคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาได้กลับไปทำงานเป็นจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส บ้านเกิดของตัวเอง
ในเวลาว่างจากงานประจำช่วงนั้น ทำให้อิกคิวตัดสินใจนำชิ้นส่วนเลโก้ที่เคยต่อเล่นตั้งแต่เด็กมาปัดฝุ่นใหม่ พยายามทำให้กลับมาเป็นชิ้นงานที่สมบูรณ์ให้ได้มากที่สุด
“ผมชอบต่อเลโก้มาตั้งแต่ ป.1 สมัยนั้นผมจะประกอบตัวต่อเหล่านี้ให้เป็นรูปร่างตามหน้ากล่องที่ซื้อมา แต่ถ้าอยากชาเลนจ์ตัวเองอีกหน่อย ก็จะรื้อโมเดลที่ต่อเสร็จแล้ว และนำชิ้นส่วนมาต่อใหม่เป็นแบบที่คิดค้นขึ้นมาเอง แต่หลังจากเข้า ม.1 ผมมุ่งกับการเรียนมากขึ้น ทำให้มีเวลาเล่นเลโก้น้อยลง ถึงอย่างนั้นก็ยังต่อมาเรื่อยๆ ติดตามแค็ตตาล็อกใหม่ๆ ตลอด
“พอได้มีโอกาสกลับมาต่อเลโก้ช่วงที่ทำงานเป็นจิตแพทย์เมื่อปี 2560 ผมก็ยังรู้สึกสนุกและท้าทายกับของเล่นเหล่านี้เหมือนเดิม ด้วยความที่อยากทำสิ่งนี้ต่อไปเรื่อยๆ เลยไปซื้อเลโก้เซตทัชมาฮาลมาต่อดู แต่โมเดลของเลโก้มีสเกลค่อนข้างใหญ่ และมีราคาสูง ผมเลยนึกถึงอีกทางเลือกหนึ่งอย่างมินิบล็อก ซึ่งเป็นตัวต่อไซซ์ค่อนข้างเล็ก ไม่ใหญ่เทอะทะเกินไป ราคาถูก และมีหลักการต่อที่ง่ายกว่าเลโก้”
ตะลอนหาวัตถุดิบและออกแบบแปลน
หลังจากกลับมาสานต่อแพสชั่นวัยเด็กได้แล้ว อิกคิวก็เริ่มทำโปรเจกต์ต่อมินิบล็อกเป็นสถาปัตยกรรมทั้งหมด 30 ชิ้นที่เขาออกแบบแปลนเองทั้งหมด ไม่ใช่การซื้อตัวต่อสำเร็จรูปมาประกอบตามคู่มือเหมือนแต่ก่อน โดยปฐมฤกษ์ของโครงการนี้คือการต่อ ‘พระเมรุมาศรัชกาลที่ 9’
อิกคิวได้อธิบายให้เราฟังถึงขั้นตอนหลักๆ ของการต่อมินิบล็อกที่แบ่งเป็น 3 พาร์ต ได้แก่ การเลือกสถาปัตยกรรมที่จะลงมือทำ การซื้อวัตถุดิบ และการออกแบบแปลน
“เราต้องตั้งโจทย์ก่อนว่าจะต่ออะไร จากนั้นต้องรู้ว่าอาคารหรือสถาปัตยกรรมที่จะต่อมีสีหลักๆ อะไรบ้าง ต้องใช้ปริมาณเยอะขนาดไหน เพื่อที่เราจะได้วางแผนซื้อวัตถุดิบอย่างตัวต่อจิ๋วได้ถูก แนะนำว่าให้ไปซื้อที่เมก้า พลาซ่า สะพานเหล็ก เพราะราคาถูกที่สุดเท่าที่ผมหาได้แล้ว
“ส่วนขั้นตอนสุดท้ายเป็นเรื่องของการออกแบบ ก่อนลงมือประกอบผมต้องพรินต์แบบออกมาตั้งไว้ โดยเริ่มจากการหาแปลนของสถาปัตยกรรมนั้นๆ ในอินเทอร์เน็ตเพื่อถอดแบบเข้าสู่กระดาษกราฟ ซึ่งอุปกรณ์ชิ้นนี้ช่วยชีวิตผมได้เยอะเลยเพราะมีลักษณะเป็นพิกเซล ทำให้ง่ายต่อการทำงาน ผมจะออกแบบแปลนทั้งด้านบนและด้านข้างไปพร้อมๆ กัน จากนั้นจะเริ่มต่อทีละชั้น จากชั้นที่หนึ่งไปเรื่อยๆ จนสำเร็จเป็นชิ้นงาน”
เมื่อถามถึงการลดสเกลสถาปัตยกรรมขนาดมหึมาให้เหลือเพียงตัวต่อไซซ์เท่าฝ่ามือว่าขนาดไหนเข้ามือที่สุด อิกคิวตอบว่าส่วนตัวเขาชอบลดสเกลให้เหลือ 1 ต่อ 175 เพราะชิ้นงานจะดูสมส่วนพอดี แถมการเติมรายละเอียดก็ทำได้ง่ายขึ้น แต่อย่างพระบรมมหาราชวังสเกลจะเป็น 1 ต่อ 260 ซึ่งเล็กลงมาหน่อย เพื่อที่เวลาตั้งชิ้นงานรวมกัน มันจะดูมีพลัง เพราะทุกชิ้นมีขนาดในสเกลเดียวกันหมด ทำให้เปรียบเทียบความยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรมแต่ละชิ้นได้ว่าแตกต่างกันยังไง
เติมไฟด้วยแรงบันดาลใจจากรอบโลก
เราเชื่อว่าศิลปินส่วนใหญ่ไม่ว่าจะมือสมัครเล่นหรือมืออาชีพ ล้วนต้องคอยมองหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ เพื่อเติมไฟให้การทำงานสร้างสรรค์ของตัวเองอยู่เสมอ เมื่อถามถึงไอดอลด้านการประกอบตัวต่อของอิกคิว นายแพทย์กึ่งศิลปินก็ตอบอย่างไม่รีรอว่า ‘คริสโตเฟอร์ ตัน (Christopher Tan)’ ศิลปินชาวมาเลเซียผู้ออกแบบตัวต่อดังระดับโลกนั่นเอง
“คริสโตเฟอร์ ตัน ทำงานด้านนี้มานานกว่าสิบปีแล้ว เขาออกแบบตัวต่อให้บริษัท nanoblock ผมชอบดูผลงานของเขาเพื่อหาไอเดียมาต่อยอดให้งานของตัวเอง แต่ผลงานของคริสโตเฟอร์กับผมจะแตกต่างกัน เขามักออกแบบตัวต่อรูปทรงอาหาร ขนม หรือตุ๊กตาขนาดจิ๋วๆ น่ารักๆ แต่ของผมเป็นสายตึกและอาคารมากกว่า
“นอกจากนี้ผมยังมีงานจัดแสดงตัวต่อที่เป็นอีกแรงบันดาลใจด้วย อย่างเมื่อปี 2560 ผมเดินทางไปสิงคโปร์เพื่อร่วมงาน ‘PIECE OF PEACE World Heritage Exhibit Built with LEGO® Brick Singapore 2017 Satellite Exhibition’ ซึ่งเลโก้ได้ร่วมมือกับนานาชาติเพื่อสร้างตัวต่อสิ่งมหัศจรรย์ของโลกและมรดกโลกเพื่อจัดแสดงในงานนี้
“ส่วนที่ประทับใจที่สุดคือการไปเยือน LEGOLAND ที่มาเลเซีย เพราะผมได้พลังกลับมาเยอะมาก ตอนนั้นผมตั้งใจจะต่อมินิบล็อกนครวัด เลยอยากไปดูว่าที่เลโก้แลนด์เขามีวิธี รูปแบบ สไตล์ และศิลปะอย่างไรในการต่อนครวัด อีกอย่างเมื่อสองสามปีก่อน ผมก็เดินทางไปนครวัด ที่กัมพูชาจริงๆ เพื่อสำรวจรายละเอียดและสัมผัสบรรยากาศจากสถานที่จริงด้วย”
ขณะเดียวกัน อิกคิวยังชอบอ่านหนังสือสถาปัตยกรรมและหมั่นหาไอเดียการออกแบบล้ำๆ จากเว็บไซต์ Pinterest และเพจต่างๆ เรียกว่าศึกษาหาความรู้เติมให้ตัวเองไม่ขาดเลยทีเดียว
เราเชื่อแล้วว่าจิตแพทย์คนนี้คลั่งไคล้บรรดาตัวต่อและสถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์จริงๆ เพราะเขาลงทุนกับการหาความรู้เรื่องนี้แทบทุกมิติ แถมตอนพูดถึงประสบการณ์ไปเยือนเลโก้แลนด์ ดวงตาก็เป็นประกาย อินเนอร์ก็เต็มไปด้วยแพสชัน เหมือนได้นั่งคุยกับแฟนพันธุ์แท้ตัวต่อจิ๋วยังไงยังงั้น
ใส่ความเป็นไทยให้เหล่าตัวต่อจิ๋ว
ระหว่างที่บทสนทนาดำเนินไป เราสังเกตเห็นว่าผลงานหลายชิ้นของอิกคิวเป็นสถาปัตยกรรมไทย เช่น วัดไชยวัฒนาราม เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ วัดอรุณฯ วัดพระแก้ว เสาชิงช้า เป็นต้น เมื่อถามต่อจึงได้รู้ว่านี่คือความฝันตั้งแต่เด็กๆ ของเขาที่อยากแปลงความเป็นไทยให้อยู่ในรูปแบบตัวต่อพลาสติกเหมือนที่ต่างประเทศทำบ้าง
“ตัวต่อของเมืองนอกเขามักจะมีสถาปัตยกรรมและศิลปวัฒนธรรมของชาติเขา อย่างบริษัทนาโนบล็อกของญี่ปุ่น เขาทำโมเดลแทบจะทุกอย่าง ตั้งแต่วัฒนธรรม อาหารการกิน การละเล่น ตึกและอาคาร ผมเลยอยากเป็นส่วนหนึ่งที่สานต่อสไตล์ไทยให้ตัวต่อเหล่านี้ ถ้าตามที่วางแผนไว้ผมอยากทำมินิบล็อกแลนด์มาร์กของ 77 จังหวัดในไทย เผื่อว่ามันจะกลายเป็นไอคอนของประเทศ หรือเป็นของฝากให้ชาวต่างชาติก็ได้”
อิกคิวยังเชื่ออย่างเต็มเปี่ยมอีกว่า การทำมินิบล็อกสไตล์ไทยจะมีประโยชน์ต่อสังคมไทยไม่มากก็น้อย “ผมอยากให้ตัวต่อจิ๋วเป็นตัวกลางที่ทำให้ผู้คนและสังคมได้หันกลับมามองศิลปวัฒนธรรม ตึกโบราณ เรื่องราวเก่าๆ ของประเทศไทย อาจใช้คำว่าร่วมรำลึกถึงประวัติศาสตร์ที่มากกว่าแค่ตัวตึกก็ได้ เพราะตึกแต่ละแห่งล้วนมีเรื่องราวและที่มา ถ้าเรารู้ข้อมูลเหล่านั้น ผมคิดว่ามันจะช่วยกำหนดว่าสถาปัตยกรรม หรือ Soft Power ในอนาคตของไทยควรไปในทิศทางไหน
“ผมคิดว่าตึกที่สร้างใหม่ทุกวันนี้ไม่ค่อยสวย ไม่ค่อยคลาสสิกเท่าไหร่ เดาว่าคนออกแบบอาจไม่รู้ว่ารากเหง้าของตัวอาคารคืออะไร ควรจะออกแบบยังไงต่อ เหมือนเขาอยากสร้างก็สร้างไปเลย มันไม่ยูนีก ซึ่งผมเองก็อยากเห็นกรุงเทพฯ มีเอกลักษณ์เหมือนยุคสมัยของย่านเจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร ที่ออกแบบบ้านเรือนให้คล้ายกัน ซึ่งมันมีเสน่ห์มากเลย แต่ทุกวันนี้ต่างคนต่างสร้าง ภาพรวมของเมืองเลยดูไม่ค่อยเข้ากัน ผมอยากให้ทุกคนรักเมืองไทย หมั่นสังเกตดูว่ามันมีเรื่องราวดีๆ อยู่ในนั้น”
มินิบล็อกที่เป็นมากกว่าของเล่น
ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม 2563 อิกคิวได้บันทึกเส้นทางการต่อมินิบล็อกและโปรเจกต์ของเขาไว้อย่างละเอียด โดยได้เผยแพร่ให้คนที่สนใจอ่านผ่านกระทู้พันทิป มีทั้งเวอร์ชันภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อให้คนเข้าถึงเรื่องราวของเขากับเจ้าตัวต่อนี้ให้มากขึ้น
ประโยคเริ่มต้นของกระทู้เขียนไว้ว่า ‘เลโก้จิ๋วเป็นมากกว่าของเล่น มันคืองานศิลปะ’ ซึ่งเราคิดว่าเป็นข้อความที่ทรงพลังและมีความหมายซ่อนอยู่ไม่น้อย จึงขอให้อิกคิวอธิบายขยายความให้ฟังอีกหน่อย
“ผมคิดว่าคนทั่วไปอาจมองเลโก้เป็นของเล่น พวกเขามองไม่ออกว่ามันเป็นงานศิลปะได้ยังไง อาจเป็นเพราะว่าเวลาที่เราลงมือทำ มันดูเหมือนเราเล่นต่อตามแบบมากกว่า แต่ถ้ามองไปถึงแก่นของเลโก้จริงๆ มันคือการที่เรามีวัตถุดิบอะไรบางอย่างและสร้างสรรค์มันด้วยมือของเรา
“ผมเปรียบเทียบว่าเลโก้จิ๋วพวกนี้คือสีน้ำหรือดินน้ำมัน เป็นวัตถุดิบประเภทหนึ่งที่เราสามารถเอาไปรังสรรค์เป็นอะไรต่อก็ได้ ซึ่งสำหรับผมมันคือการรังสรรค์ผลงานสถาปัตยกรรม”
จากงานอดิเรกสู่เวิร์กช็อปงานสร้างสรรค์
เป็นเวลากว่า 5 ปีนับตั้งแต่อิกคิวนำเลโก้วัยเด็กกลับมาเล่นใหม่ และเริ่มโปรเจกต์ออกแบบ 30 สถาปัตยกรรมจากมินิบล็อก จากนั้นจึงค่อยๆ ขยับขยายจนตอนนี้มีทั้งหมดมากกว่า 50 ชิ้นแล้ว
งานอดิเรกส่วนตัวของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงคนรักตัวต่อมากขึ้น หลังจากมีโอกาสร่วมงานกับ ‘มิวเซียมสยาม’ เพื่อจัดเวิร์กช็อป ‘ตามาญโญในตัวต่อจิ๋ว’ ในงาน ‘เสาร์สนามไชย Saturday Happening’ ภายใต้แนวคิด ‘ร้อยปีตึกเรา’ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานตระหนักถึงคุณค่าและได้รับแรงบันดาลใจในการรักษาวัฒนธรรม มรดกภูมิปัญญา รวมถึงสถาปัตยกรรมของไทยอย่างยั่งยืน
“เมื่อประมาณต้นปี 2565 ผมติดต่อทางทีมมิวเซียมสยามว่าอยากจัดแสดงผลงาน ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ก็ยินดีให้จัดแสดง ผมเลยตัดสินใจทำตัวต่ออาคารมิวเซียมสยามเวอร์ชันเต็มโชว์ด้วย
“นอกจากจัดแสดงผลงานแล้ว ทางมิวเซียมสยามอยากให้เราร่วมจัดเวิร์กช็อปด้วย เราเลยได้คุยกันว่าลักษณะของกิจกรรมควรจะเป็นแบบไหนดี ทางทีมงานก็แนะนำว่าทำสถาปัตยกรรมของมารีโอ ตามาญโญ ดีไหม เพราะตามาญโญคือสถาปนิกที่ออกแบบอาคารมิวเซียมสยาม รวมถึงสถาปัตยกรรมเก่าแก่ของไทยหลายแห่ง ผมเองก็คิดว่าเป็นไอเดียที่ดี เพราะสถานที่เหล่านี้ล้วนมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และคุณค่าทางจิตใจสำหรับผมด้วย”
อิกคิวบอกกับเราว่าเขารู้สึกดีใจมากที่ทางมิวเซียมสยามให้พื้นที่จัดแสดงผลงานและจัดเวิร์กช็อปสอนออกแบบบรรดาสถาปัตยกรรมจิ๋ว และเขาหวังว่ากิจกรรมนี้จะเป็นอีกหนึ่งงานอดิเรกที่คนไทยหันมาสนใจมากขึ้น
“พื้นที่ศิลปะด้านนี้ยังไม่ค่อยมีคนเข้าถึงหรือรู้จักกัน ส่วนใหญ่เด็กๆ จะไปเรียนร้องเพลงเรียนเต้นมากกว่า ผมขอเรียกมินิบล็อกว่าเป็นศิลปะทางเลือกแล้วกัน เพราะมันอาจเหมาะกับคนบางกลุ่ม แม้ว่าคนสนใจอาจจะน้อยหน่อย แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะผมอยากสร้างอะไรใหม่ๆ ให้วงการศิลปะในประเทศไทย อยากให้ทุกคนเห็นว่าสังคมของเราไม่ได้มีแค่การร้องรำทำเพลง การเดินแบบ แต่เรามีวิธีนำเสนองานศิลปะได้ตั้งหลายอย่าง
“สำหรับเด็กหรือคนที่เข้าร่วมเวิร์กช็อป ผมไม่ได้หวังว่าเขาจะทำด้านนี้จริงจังแบบผม แต่อยากให้พวกเขาจุดประกายว่ามีคนทำงานศิลปะแบบนี้อยู่ มีคนคิดต่างไปด้วย ผมอยากให้พวกเขาได้ฟีลลิงแบบนี้ เพื่อที่จะเอากลับไปต่อยอดงานอดิเรกหรือทำตามความฝันของตัวเอง ถ้าได้ผลลัพธ์แบบนี้ ผมก็ดีใจแล้ว”
เวิร์กช็อป ‘ตามาญโญในตัวต่อจิ๋ว’ ครั้งถัดไปจะจัดในวันเสาร์ที่ 3 กันยายน 2565 และวันเสาร์แรกของเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายน 2565 ลงทะเบียนและติดตามรายละเอียดได้ที่ Museum Siam และ Qbrick Design