สวนเขียวขจีที่อุดมไปด้วยผักปลอดสารพิษและต้นมะพร้าวสูงเสียดฟ้า เบื้องล่างเป็นบ่อน้ำที่มีปลาหลายร้อยตัวแหวกว่าย ด้านข้างมีโรงเพาะเห็ด และมีบ้านไม้หลังเล็กตั้งอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของธรรมชาติ คลอเคล้าด้วยสายลมอ่อน และเสียงนกร้องบ้างในบางที ซึ่งหากมองด้วยตาเปล่า ใครจะคิดว่าสถานที่แสนร่มรื่นแห่งนี้คือ ร้านชาบู
ชวนทุกคนมาเปิดหม้อ ลิ้มรสชาติชาบูตำรับไทยๆ ที่ บ้านสวนอบอวลรัก ร้านชาบูละแวกซอยประชาอุทิศ 14 ที่มีน้ำซุปสูตรลับให้เลือกถึง 14 รสชาติ พร้อมเปิดให้คนทานเดินถือตะกร้าสำหรับเก็บผักปลอดสารมาใส่หม้อชาบูร้อนๆ ทานคู่กับวัตถุดิบสด ใหม่ และคุณภาพดี เพราะ พี่นพ-นพพร นิตย์ยั่งยืน เจ้าของร้านบอกกับเราว่า ความสุขคือการได้ทำชาบูที่อร่อยทั้งรสชาติและเต็มอิ่มด้วยคุณภาพให้คนทุกวัยได้ทาน
.
บ้านสวน
“แวะไปเก็บเห็ดกันก่อนไหมครับ ฝนยังตกปรอยๆ อยู่” พี่นพชวนเราเข้าชมโรงเพาะเห็ดด้วยใบหน้ายิ้มแย้มเป็นกันเอง ระหว่างรอหม้อชาบูที่ล้นด้วยน้ำซุป 3 รสชาติมาเสิร์ฟ เขาเล่าต่อว่า เดิมทีที่นี่เป็นสวนเก่าของคุณพ่อคุณแม่ แต่เมื่อท่านอายุมากขึ้นแล้วทำไม่ไหว จึงเปลี่ยนมาทำฟาร์มเห็ดได้ประมาณ 6-7 ปี ซึ่งเห็ดทุกชนิดที่ปลูกนั้นปลอดสารพิษ และทำเองทุกขั้นตอน
ไม่ว่าจะเป็นการทำก้อนเพาะจากขี้เลื่อย รำ และภูไมท์ (กลุ่มของหินแร่ภูเขาไฟ) อัดกันจนแน่นก่อนนำไปนึ่งด้วยหม้อนึ่งความร้อน 100 องศาเป็นเวลา 4 ชั่วโมง ตามด้วยหยอดเชื้อจนเต็มแล้วเปิดดอกเห็ด ก่อนที่จะเก็บเมื่อถึงเวลาและส่งขึ้นร้านอาหารบนห้างสรรพสินค้า และเพราะการเพาะเห็ดปลอดสารส่งตามร้านอาหาร จึงทำให้พี่นพรู้สึกว่า เมื่อเห็ดของฟาร์มสดจนส่งตามร้านที่มีมาตรฐานได้ ก็น่าจะเอามาทำอาหารขายเองได้เหมือนกัน
“เรารู้สึกว่าเมื่อเห็ดเราสดจนส่งตามร้านที่ได้มาตรฐานแล้ว หากเอามาทำชาบูหรือเอามาทำอาหารก็จะมีความได้เปรียบกว่าที่อื่น ประกอบกับที่นี่มีสวนอยู่แล้ว ก็อยากจะพัฒนาสวนให้กลายเป็นสวนผักปลอดสารด้วยครับ
ซึ่งเมื่อก่อนตรงนี้เป็นสวนหมาก กล้วย มะพร้าว และใบเตย จึงเปลี่ยนให้เป็นสวนผัก ปรับหน้าดินใหม่ แต่ยังคงท้องร่องสวนเดิมไว้ และก็เหลือผลไม้บางชนิดไว้ เช่น ต้นมะพร้าว”
หลังจากปรับหน้าดินเสร็จ เป้าหมายแรกของพี่นพคือการหว่านเหล่าเมล็ดพันธ์ุผักลงแปลงที่เหมาะกับการทานคู่ชาบู จำพวกกวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักวอเตอร์เครส ตำลึงหวาน ผักโขม พริก มะนาว โหระพา มะเขือเทศ ผักชีฝรั่ง เห็ดต่างๆ รวมทั้งผลไม้ อย่างมะม่วง และข้าวโพด
และด้วยความชุ่มฉ่ำของสวนที่ล้อมรอบ และผักที่โตวันโตคืน เมื่อเปิดร้านชาบู พี่นพจึงเปิดให้ลูกค้าถือตะกร้าเก็บผักสดกันฟรีๆ แต่ขอแค่มาเก็บกันอย่างไม่ต้องคาดหวัง เพราะที่ร้านปลูกผักโดยปล่อยให้โตตามธรรมชาติ เน้นเรื่องความปลอดภัยด้วยการบอกลาสารเคมี หากบางครั้งไม่มีผักให้เก็บก็อยากขอให้เข้าใจกัน
เราชอบความรู้สึกที่ได้รับรู้ว่า ผักที่สวนของเราไม่มียาฆ่าแมลงปนเปื้อน และถ้ามันโตจะรู้สึกดีมาก แต่บางทีมันก็ไม่โตเพราะแมลงกินหมดก่อน
“เราเป็นร้านอาหารที่เกิดขึ้นมาจากสวน เราปลูกตามธรรมชาติเลยครับ ยาฆ่าแมลงก็ไม่ฉีด ถ้าปลูกไปแมลงลงเสียทั้งสวนเราก็ต้องยกแปลงใหม่ ซึ่งถ้ามองก็จะเห็นว่ารูปร่างมันสวยน้อยกว่า รสชาติก็อาจจะไม่ได้ดีกว่าทั่วไป ฉะนั้นอาหารที่นี่จะเป็นตามฤดูกาล ดังนั้นบางครั้งมาต่างเวลากันก็อาจจะได้เก็บผักที่ต่างกัน เพราะเราอยากให้ได้ทานของที่ควรได้ทานในช่วงเวลานั้น ถ้าไปฝืนธรรมชาติเขาก็จะไม่สดอร่อยครับ”
.
อบอวล
หอมฉุยตลบอบอวลเมื่อน้ำซุปในหม้อชาบูที่ยกมาเสิร์ฟเดือดได้ที่ ซึ่งน้ำซุปทั้ง 14 ชนิดพี่นพเป็นคนคิดสูตรขึ้นมาเองทั้งหมด ฟังแล้วอาจนึกว่าเขาจบเฉพาะด้านอาหารมา แต่เปล่าเลย เพราะเจ้าของร้านชาบูบ้านสวนอบอวลรักคนนี้ เรียนจบจากคณะนิติศาสตร์ต่างหาก แต่เพราะใจรักการทำอาหาร เลยเปลี่ยนจากการจับกระดาษว่าความ มาเข้าครัวเฝ้าหน้าเตา
“เราชอบทำอาหารครับ เลยคิดว่าถ้าจะขายอาหารสักอย่างมันต้องเริ่มจากความชอบ เพราะทุกวันนี้มีร้านชาบู ปิ้งย่าง บิงซูตามกระแสเกิดขึ้นมากมาย แต่เมื่อไม่ได้เริ่มจากความชอบก็จะปิดตัวลงที่หลัง ดังนั้นเมื่อเราทำร้านชาบู เลยเริ่มจากการไปตระเวนชิมจนทั่วก็รู้สึกว่ามันเป็นรสชาติชาบูที่คล้ายๆ กัน พอเรามาทำเอง ด้วยความที่ชอบทำอาหาร เลยอยากเปิดร้านเป็นน้ำชาบูแบบไทยๆ ที่ให้รสชาติที่แตกต่างครับ
ซุปชาบูคิดเองหมดเลย เปิดมาปีแรกมี 4 ชนิด พอปีที่ 2 ก็เพิ่มมาเป็น 8 ชนิด แล้วช่วงต้องปิดร้านจากโควิด-19 ก็มีเวลาคิดเพิ่มมาอีกเป็น 14 น้ำซุปครับ
เมื่อถามถึงน้ำซุปแรกที่คิดได้ เขาตอบด้วยสายตาเป็นประกายว่า ต้มยำน้ำข้นมะพร้าวอ่อน ที่เริ่มจากการมองว่าในสวนที่บ้านนั้นมีอะไร แน่นอนว่ามีมะพร้าวที่ปลูกมาตั้งแต่สวนเดิมของคุณพ่อคุณแม่ เลยหยิบมาทดลองทำน้ำต้มยำ จนได้น้ำซุปชาบูต้มยำมะพร้าวอ่อนแสนเข้มข้น และหอมหวานมันด้วยรสขาติของมะพร้าว สามารถราดกินกับข้าวสวยร้อนๆ ได้เลยล่ะ
นอกจากนี้ยังมีบางน้ำซุปที่เป็นสไตล์จีน เพราะอากงอาม่าเดินทางข้ามน้ำมาจากเมืองจีน เมื่อเข้าครัวทำอาหาร พี่นพมีโอกาสได้ไปดู รวมถึงครอบครัวเคยทำโต๊ะจีนมาก่อน จึงนำมาปรับใช้กับสูตรน้ำซุป อย่าง น้ำซุปสามก๊ก ที่เราลองสั่งมาชิม ซึ่งประยุกต์มาจากเต๋าเต้ยนึ่งบ๊วย แต่ผสมผสานความเป็นไทยลงไปเพื่อเพิ่มความเผ็ดอ่อนๆ ด้วยการใส่พริกขี้หนู และสมุนไพรไทย ซึ่งตัดกับรสเปรี้ยวของบ๊วยได้อย่างลงตัว
ได้เวลาชิมเราค่อยๆ ใส่ผัก ตามด้วยเนื้อหมู และอาหารทะเลชิ้นโต ซึ่งเหล่าวัตถุดิบนี้พี่นพออกไปจ่ายตลาดทุกเช้า เพื่อคัดเลือกด้วยตัวเองอย่างพิถีพิถัน เริ่มตั้งแต่เหล่าผักนานาชนิดที่มีทั้งปลูกเองอย่างปลอดสารพิษ และเลือกเจ้าประจำที่การันตีคุณภาพ รวมถึงเห็ดจากโรงเพาะในสวนซึ่งเชื่อว่าหลายคนไม่เคยลิ้มลองมาก่อน อย่างเห็ดนางรมทอง เห็ดนางรมชมพู เห็ดนางรมสีเทา และเห็ดนางฟ้าภูฏาน นอกจากนี้ยังเปิดให้คนมาทานเข้าเก็บเห็ดเป็นรอบ มีช่วง 10.00-14.00 น. และ 12.00-16.00 น. ราคาการเก็บเพียงแค่ 20-30 บาทขึ้นอยู่กับชนิดเห็ดนั่นเอง
ด้านเนื้อสัตว์ก็สดอร่อย เนื้อหมูจะเลือกใช้แบบปลอดสารจากโรงงานประจำ สั่งสไลด์พิเศษ 2 นิ้ว เพื่อเคี้ยวแล้วได้ความนุ่มละมุน ด้านของทะเลจะไปเลือกสดทุกวัน ดูร้านที่สะอาดไว้ใจได้ และแทบจะไม่แช่แข็งเอาไว้หากไม่จำเป็น จะมีเพียงอาหารทะเลเมืองนอก อย่างหอยแมลงภู่นิวซีแลนด์
เมื่อทุกอย่างสุกเข้าที่ เราลงมือทานเพื่อลิ้มน้ำซุปเข้มข้น หอมถึงเครื่อง เนื้อหมูนุ่มได้เทกซ์เจอร์กำลังดี ไม่บางจนละลายและไม่หนาเกินจนเหนียว รวมถึงผักต่างๆ ก็สด กรอบ ยิ่งนานเข้ายิ่งเคี่ยวให้น้ำซุปชาบูหวานหอมเข้าไปใหญ่ นอกจากนี้ยังมีเมนูเด็ดอย่างเห็ดทอดกรอบ ที่นำเห็ดซึ่งเพาะเองมาชุบแป้งบางๆ ทานคู่กับน้ำจิ้มซีฟู้ดอร่อยอย่าบอกใคร รวมทั้งยังมีส้มตำกุ้งสด ที่มีกุ้งตัวโตเต็มจาน ฉ่ำด้วยมะเขือเทศในสวน และน้ำส้มตำแซ่บถึงใจจนต้องสูดปาก
นอกจากอาหารคาว ยังมีขนมไทยฝีมือคุณแม่พี่นพให้ทานตบท้าย ที่จะหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปตามแต่ละอาทิตย์ เพราะเลือกใช้วัตถุดิบจากสวนที่ปลูกตามฤดูกาล อย่างช่วงนี้มะพร้าวออกลูกดก ก็จะมีขนมที่มีส่วนผสมของมะพร้าวเป็นส่วนใหญ่ เช่น ขนมต้ม ซึ่งขนมจะมีเยอะในวันหยุดสุดสัปดาห์ ด้านรสชาติไม่ต้องอธิบายยาว เพราะพี่นพเล่าว่า ลูกค้าบางคนโทรมาจองขนมก่อนจองโต๊ะชาบูเสียอีก
.
รัก
เพราะรักในอาหาร จึงอยากให้ผู้คนได้ทานอาหารคุณภาพดี สิ่งไหนที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคพี่นพจึงไม่รอช้าคัดสรรมาเสิร์ฟ เราจึงเปิดประเด็นเรื่องอาหารปลอดภัยคุยกับเขา ว่าสิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริงไหม
ยากนะครับ เรามีเพื่อนเป็นเกษตรกรหลายคน จึงได้รู้ว่าเพราะผู้บริโภคเป็นคนบังคับให้เกษตรกรต้องใช้ยาฆ่าแมลง ความจริงไม่มีเกษตรกรคนไหนอยากใช้ เพราะว่ายาแพงนะครับ แต่ที่เขาต้องใช้ เพราะเราเป็นคนบังคับเขา ลองนึกถึงผักกวางตุ้ง 2 สวนวางคู่กัน สวนหนึ่งใบเขียวบ้าง เหลืองบ้าง มีรู แต่อีกสวนใบเขียวสวย ไม่มีรู ถามคนซื้อจะหยิบกองไหนครับ ?
ทุกคนลองตอบกันในใจดูว่าจะหยิบกองไหน เพราะสำหรับเรา เป็นธรรมดาที่เราจะมองหาผักที่รูปร่างสวยกว่า สมบูรณ์กว่า นอกจากนี้พี่นพยังบอกต่อว่า เพราะเป็นแบบนั้นกองแรกที่ไม่ค่อยสวยจึงถูกตัดราคาถูกกว่ากองที่สวย ดังนั้นเกษตรกรก็ต้องทำ
อยากให้ทำความเข้าใจก่อนว่า ยาฆ่าแมลงคือสิ่งที่ถูกใช้กันอยู่แล้วในทุกเกษตรกรรมนะครับ ซึ่งจริงๆ เขามีการกำหนดช่วงทิ้งผักให้ยาหมดก่อนตัด 7-14 วัน แต่เพราะกลไกราคาตลาดที่รอไม่ได้ เลยต้องรีบตัดก่อนทั้งที่ยังไม่ถึงกำหนด
พี่นพยังเล่าต่อว่า เพราะราคาตลาดมีกลไกลที่ขึ้นลงตลอดเวลา ช่วงไหนได้ราคาขายดี เกษตรกรก็ต้องรีบตัดไปขาย อย่างเมื่อวานตลาดไทบอกว่า ผักกาดหอมขายได้ราคา 15 บาท แต่เช้านี้ราคาขึ้นเป็น 25 บาท แม้จะเพิ่งฉีดยาไปเมื่อวาน ก็ต้องยอมตัด เพราะหากรอจนหมดรอบของสารเคมีตกค้าง ราคาอาจตกไปเหลือ 10 บาท ซึ่งสิ่งนี้ไม่มีอะไรการันตีได้ ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคทุกคนควรทำ คือการล้างให้เยอะที่สุดจนผักนั้นสะอาด
“เราทำร้านอย่างไม่ค่อยคิดถึงเรื่องตัวเลขเท่าไหร่ คิดแค่ว่าได้อยู่บ้าน ได้อยู่กับสวน กับสิ่งที่เราชอบ ส่วนเรื่องกำไรเราไม่ได้คาดหวังขนาดนั้นครับ เพราะ บ้านสวนอบอวลรัก อยากให้ทุกคนมาทานอาหารด้วยความอบอุ่น และอบอวลไปด้วยรักในครอบครัวมากกว่า” พี่นพกล่าวทิ้งท้ายบทสนทนาก่อนพาเราเดินชมสวนพร้อมกับความอิ่มท้องและอิ่มใจ
บ้านสวนอบอวลรัก
เลขที่ 75 ซ.ประชาอุทิศ 14 กรุงเทพฯ 10140
เปิดทุกวัน 10.00 – 21.00 น. (แนะนำโทรสั่งจองล่วงหน้า)
โทร: 086 994 3655
Line : @baan14
Facebook : บ้านสวนอบอวลรัก