ประชาธิปไทป์ ฟอนต์สะท้อนการเมืองไทย - Urban Creature

การเมือง กำลังพร่าเลือนแทบไม่เห็นอนาคต
ประชาชน กำลังลุกขึ้นตั้งคำถามถึงความบิดเบี้ยวของสังคม
การเรียกร้อง กำลังยกระดับทะลุเพดานเพื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ
ตัวอักษร จึงกำลังช่วยกู่ร้องเพื่อ #ประชาธิปไตย

ภาพถนน และกำแพงที่ดาษดื่นไปด้วยตัวอักษร และถ้อยคำต่างๆ นานา รูปประโยคนับร้อยที่ถูกพิมพ์ลงโซเชียลมีเดียเพื่อแสดงความคิดเห็น แน่นอนว่าผู้เขียนย่อมรู้สึกเมื่อลงมือ และผู้อ่านก็ย่อมรู้สึกเมื่อได้ไล่สายตาผ่านสระและพยัญชนะเหล่านั้น ทุกมวลความรู้สึกที่เกิดเป็นผลพวงจาก ‘ศาสตร์ตัวอักษร’ อีกหนึ่งเครื่องมือซึ่งถูกประกอบสร้างเพื่อสะท้อนตัวตน ความรู้สึก และความคิดของใครสักคนหนึ่ง

เช่นเดียวกับตัวอักษรจาก ประชาธิปไทป์ (Prachathipatype) เพจของนักออกแบบตัวอักษรที่พ่วงด้วยตำแหน่งอาจารย์ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ตัวอักษรมาอย่างเข้มข้น เขาตัดสินใจร่วมงานกับกราฟิตี้ตัวท็อปในวงการสตรีทอาร์ตด้านเทคนิคฉลุ Headache Stencil เพื่อให้ตัวอักษรและศิลปะเปล่งเสียงให้ดังที่สุดไปพร้อมประชาชน การเมือง การเมือง

.

| ตัวอักษรกำลังส่งเสียง
การเมือง-ประชาธิปไทป์
ประชาธิปไทป์ (ซ้าย) Headache Stencil (ขวา)

ย้อนกลับไปปี 2018 ประชาธิปไทป์ทำผลงานศิลปะวิพากย์วิจารณ์การเมืองเพื่อจัดแสดงใน วันสากลแห่งการเข้าถึงข้อมูล (International Day for Universal Access to Information)  แต่กลับมีสายตรงขอให้เบามือกับงานชิ้นนี้ลงหน่อย นั่นทำให้เขารู้สึกแย่มาก รวมกับเมื่อภาพข่าวออกไป รูปใบหน้าศิลปินกลับโดดเด่นกว่าผลงาน

“ในกลุ่มไลน์เพื่อนสมัยเรียนแคปภาพข่าวมาถามว่า มีทหารไปเยี่ยมบ้านมึงยัง ? ผมรู้สึกว่ารัฐประสบความสำเร็จกับการทำให้เชื่อในสิ่งนี้มาก ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น”

นอกจากนี้ในฐานะอาจารย์ผู้สอนด้านการออกแบบ เขาได้เห็นพลังความตื่นรู้ของคนเจเนอเรชันใหม่ด้านการสื่อสารเชิงสัญญะ รวมกับความต้องการทำงานเพื่อสะท้อนการเมืองไทย เลยตัดสินใจสร้างเพจประชาธิปไทป์ ซึ่งทำงานร่วมกับทีมกราฟิก และ Headache Stencil เพื่อออกแบบตัวอักษรให้กลายเป็นอาวุธแห่งการเรียกร้อง 

“ผมชอบทำงานด้วยตัวอักษรอยู่แล้ว พยายามที่จะหาความเป็นไปได้ในการนำตัวอักษรไทยไปใช้ในสเกลใหญ่ๆ เพราะหากสังเกตกันแทบจะไม่มีเลย ทั้งที่เราอยู่ในประเทศไทยที่มีตัวอักษรโดดเด่น ถูกปลูกฝังมาว่าเราควรภูมิใจในภาษาและวัฒนธรรมของตัวเอง แต่ลองดูสิ นิตยสารที่คนอ่านหรือเวลามีโฆษณาก็มักจะใช้ภาษาอังกฤษ ดังนั้นผมเลยตั้งใจให้การสร้างชุดตัวอักษรครั้งนี้ มันสามารถนำไปใช้ในสเกลใหญ่เพื่อสะท้อนเรื่องราวบางอย่างออกไปได้”

ร่วมงานกับ Headache Stencil ได้อย่างไร ? เชื่อว่าเมื่ออ่านจุดเริ่มของประชาธิปไทป์แล้วคงสงสัยเหมือนกัน เราจึงหันไปถาม Headache Stencil ที่นั่งอยู่ด้านข้าง คำตอบคือพวกเขาเจอกันที่การจัดงานครั้งแรกของเขาที่ The Jam Factory 

“งานนั้นเป็นเรื่องสะท้อนการเมืองเลย เพราะเรารู้สึกว่าประชาชนกำลังโดนปิดปาก ศิลปินต้องเซนเซอร์งานตัวเองเยอะขึ้น เลยชวนเพื่อนๆ ที่เคยทำงานเสียดสีการเมือง รวมไปถึงอาจารย์ (คำสรรพนามที่เขาใช้เรียกประชาธิปไทป์) ก็เอางานด้านการเมืองมาร่วมแจมด้วยกัน” อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจทำงานกับประชาธิปไทป์ เพราะตลอดการทำงานด้านฉลุ (Stencil) มีจุดอ่อนคือเรื่องตัวอักษร เนื่องจากการทำลายฉลุมีรูปแบบตายตัว ดังนั้นการทำฟอนต์เลยเป็นจุดอ่อนที่สุดของเขา

.

| ธรรมนูญในตัวอักษร
การเมือง-ประชาธิปไทป์

“ศิลปะกับการเมืองมันอยู่คู่กันมาตลอด อย่างไม่สามารถแยกออกจากโครงสร้างทางอำนาจได้”

เราคุยกันต่อถึงเรื่องตัวอักษรกับอำนาจซึ่งทางประชาธิปไทป์บอกว่า ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะและการออกแบบ จะมีคอนเซปต์ Democratization of Tools หรือ การทำให้เครื่องมือเป็นประชาธิปไตยหรือเป็นของประชาชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนต้องหัดเขียนตัวอักษร พอเริ่มมีเทคโนโลยีการพิมพ์ต้องแกะบล็อก พัฒนาสู่การคิดค้นระบบการหล่อตัวหนังสือด้วยตะกั่วของโยฮัน กูเตนเบิร์ก เรื่อยมาจนวันนี้ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงตัวอักษร และใช้สิ่งนี้เป็นช่องทางการแสดงออกได้ด้วยตัวเองอย่างอิสระ

ยิ่งไปกว่านั้นหากมองในภาพกว้างจะค้นพบว่า ศิลปะและการออกแบบคือสิ่งที่ผูกพันกับอำนาจอย่างแยบยล อย่างสมัยเรเนซองส์ หากสังเกตให้ดีผลงานชิ้นมาสเตอร์จะต้องเกี่ยวโยงกับศาสนจักรหรือมีอำนาจรัฐคอยอุปถัมภ์ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก คนที่ทำงานศิลปะจึงต้องสละเวลามาทำ และเมื่อเวลาผ่านไปอำนาจถูกถ่ายโอนลงสู่เศรษฐี งานศิลปะจึงเต็มไปด้วยเรื่องเล่าศาสนา กษัตริย์ และภาพเศรษฐี 

“ศิลปะในประเทศไทยก็เป็นเช่นนั้นครับ งานที่เห็นกันทั่วไปว่ามีความเป็นไทยแบบประณีตบรรจง ตัวอักษรบางตัวที่เป็นเอกลักษณ์ลายไทย มันจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีโครงสร้างทางอำนาจและการเมืองคอยอุปถัมภ์ค้ำจุนศิลปินอยู่”

อำนาจที่ควบคุมศิลปะยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อถึงวันที่ศิลปะและงานออกแบบเริ่มมีอิทธิพลชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการออกแบบตัวอักษร ทำให้ฝั่งอำนาจรัฐ โดยเฉพาะรัฐที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จนั้นต้องการการสื่อสารภาพลักษณ์ที่มีความเฉียบคม คงที่ และสร้างภาพจำเพื่อปลูกฝังประชาชนภายใต้อาณัติ ตัวอักษรจึงถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการปลูกฝัง อบรมให้คนอยู่ภายใต้อำนาจทางการเมืองของรัฐ เช่น นาซี ตัวอักษรที่ประชาธิปไทป์เอยปากชมเลยว่า

“หากเราตัดเจตนาออกไป มันมีความเท่ ความหล่อฉิบหายของฟอนต์ ตราสัญลักษณ์ และเครื่องแบบ หรือแม้กระทั่งวิดีโอสวนสนามที่กล้องสมัยก่อนยังไม่มีถ่าย Dolly ก็ยังทำออกมาได้สวยขนาดนั้น” 

ดังนั้นเขาจึงมองว่า งานศิลปะและการออกแบบมีบทบาทมากในการปลุกกระแสชาตินิยม ความรักพวกพ้อง ความมองตัวเองเหนือคนอื่น มันกลายเป็นเครื่องมือและกลายเป็นอาวุธในการสื่อสาร นี่จึงเป็นอีกจุดสำคัญที่เขาสร้างตัวตนประชาธิปไทป์ขึ้นมา เพื่อผลิตอาวุธในการสื่อสารทางการเมืองผ่านเหล่าพยัญชนะและสระหลายสิบตัว

.

| ทางม้าลายและหัวหาย
การเมือง-ประชาธิปไทป์
ฟอนต์ทางม้าลาย

เพราะรัฐมองไม่เห็นหัวประชาชน แบบอักษรทางม้าลายและหัวหายจึงเกิดขึ้น นี่คือคำโปรยเบื้องต้นที่ประชาธิปไทป์เขียนสเตตัสไว้หน้าเพจ เพื่ออธิบายถึงที่มาที่ไปของการทำฟอนต์ที่ชื่อทางม้าลายและหัวหาย ก่อนนำความคับข้องใจของการถูกเมินเฉยมาหลอมรวมเข้ากับการตีความและความสร้างสรรค์ เพื่อสร้างชุดตัวอักษรให้ประชาชนดาวน์โหลดไปใช้ได้กันฟรีๆ

ฟอนต์ทางม้าลาย มันมีตัวออริจินัลซึ่งออกแบบไว้อยู่แล้วสำหรับใช้ในการเคลื่อนไหวเรื่องไม่เอาทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เลยเลือกตั้งใจทำฟอนต์ให้ใหญ่ หนัก และตันที่สุด เพื่อสื่อถึงการบดบังทัศนียภาพ แล้วผมก็เอามาดัดแปลงให้เข้ากับสถานการณ์การเมืองใช้เวลาประมาณ 1 เดือน พอปล่อยออกไปภาพแรกการตอบรับดีมาก เลยผลิตขึ้นมาเป็นฟอนต์ให้คนใช้กัน” 

หลังจากนั้น ประชาธิปไทป์เล่าให้เราฟังต่อถึงขั้นตอนการออกแบบอักษรทางม้าลาย ที่เริ่มจากการเขียนให้ครบตัวอักษร ครบสระ และต้องคำนึงถึงระยะห่างของช่วงตัวอักษร เพื่อให้ล้อไปกับสภาพทางม้าลายจริง พร้อมกับสร้างคาแรกเตอร์ให้ชัดเจนพอเพื่อเป็นที่จดจำ และสำหรับชื่อเขาเล่าปนขำว่าตอนแรกคิดจะตั้งว่า ‘ศักดินา’ แต่เพราะขณะนี้ประชาชนกำลังโดนมองข้าม มันก็เหมือนทางม้าลายที่คนเดินแล้วไม่ว่ารถคันไหนก็ต้องหยุดให้ ไม่ว่าใครก็ต้องปลอดภัย แต่ในประเทศไทยกลับไม่ศักดิ์สิทธิ์ มีข่าวคนโดนรถชนตายตรงทางม้าลายที่อโศก ก็เหมือนกับการพูดและการแสดงออกความคิดทางการเมืองในบ้านเราที่ไม่เคยปลอดภัยเลยสักนิด 

การเมือง-ประชาธิปไทป์
ฟอนต์หัวหาย

ฟอนต์หัวหาย เป็นฟอนต์ที่เกิดขึ้นเร็วมาก เราตีความหมายจากคำว่า ‘ประชาชน’ ซึ่งจริงๆ แล้วคำคำนี้ความหมายกว้างมาก เพราะนั่นรวมถึงเยาวชน ผู้ประกอบการ ผู้ใช้แรงงาน และใครต่อใครอีกจำนวนเยอะมากๆ ที่รัฐไม่เห็นหัวพวกเขา เลยกลายเป็นไอเดียที่ว่า เราจะใช้คำว่าไม่เห็นหัวกับฟอนต์”

สารบัญ คือแบบอักษรที่เขาเลือกเอามาตัดหัวออก นัยสำคัญเพราะมันคือตัวอักษรที่ใช้ในเอกสารราชการ ส่วนเหตุผลรองคือสารบัญเป็นฟอนต์ที่คนคุ้นเคยอยู่แล้ว แม้ตัดหัวก็ยังสามารถอ่านเข้าใจได้ ดูรู้เรื่อง และสวย รวมทั้งยังเป็นฟอนต์ที่เปิดฟรี และอนุญาตให้ดัดแปลงได้ การนำมาตัดหัวให้หายคงไม่ต้องกังวลเรื่องลิขสิทธิ์  ดังนั้นการทำฟอนต์หัวหายเลยใช้เวลาไม่ถึงสัปดาห์ โดยการกางฟอนต์ทั้งหมดออกมาแล้วเล็งเพื่อตัด ซึ่งพอปล่อยออกไปกระแสตอบรับดีมากทีเดียว และแน่นอนว่าเราก็เป็นหนึ่งในอีกจำนวนหลายคนที่โหลดมาใช้

.

| พ่นลายฉลุลงถนน
photo credit: Foto_momo

เมื่อตัวอักษรเสร็จก็ถึงเวลาที่มันจะทำหน้าที่เป็นอาวุธทางการสื่อสาร ประชาธิปไทป์ทำงานร่วมกับ Headache Stencil อย่างเต็มพลัง เพื่อให้ถ้อยคำเปล่งเสียงไปพร้อมประชาชนเพื่อเรียกคืนประชาธิปไตย และ ‘เผด็จการจงพินาศ’ ใน #ม็อบ19กันยา คือประโยคแรกที่อาวุธตัวอักษรเริ่มจู่โจม

“การทำงานวันนั้นมันกระทันหันมากครับ คือผมได้รับการติดต่อจากเพื่อนคนหนึ่งใน #ม็อบ19กันยา ให้ไปพ่นคำให้หน่อย ซึ่งตอนแรกเตรียมคำว่า “เผด็จการจงพินาศ” แต่ก็เปลี่ยนเป็น “ศักดินาจงพินาศ” เพราะมันจะครอบคลุมทั้งระบบ”

หลังจากนั้นเขานำโจทย์ไปให้ทางประชาธิปไทป์ว่าต้องใหญ่ พ่นง่าย โครงสร้างไม่ซับซ้อน และมีเอกลักษณ์เฉพาะ ประชาธิปไทป์จึงเพิ่มรอยบากลงไปที่แบบอักษรสักหน่อย และเพิ่มลีลาดุดันให้เข้ากับสไตล์งาน Headache Stencil

พ่นแต่ละครั้งใช้เวลานานแค่ไหน ? คือสิ่งที่ติดใจเราจนต้องเอ่ยปากถาม คำตอบปนเสียงหัวเราะคือ อยู่ที่อารมณ์ล้วนๆ กำหนดไม่ค่อยได้เท่าไหร่ ถ้าอันไหนอินก็จะเสร็จไว เพราะหลักการทำงานจริงๆ ค่อนข้างใช้เวลานานพอสมควร เริ่มจากการได้คำ ได้ประโยคมาแล้ว นำไปพรินต์กระดาษตามบล็อก หลังจากนั้นเอาลงถนน ซึ่งจะใช้เวลานานช่วงพ่นที่บางคำสเกลใหญ่หลายเมตร 

Headache Stencil

“ออกมาพ่นถนนมีแต่คำหยาบ”

“ออกมาเขียนทั้งทีทำไมไม่ทำให้สร้างสรรค์”

นี่คือคำวิจารณ์ที่หลายคนพูดเมื่อได้เห็นตัวอักษรขนาดยักษ์และอีกนับร้อยคำจากฝีมือของประชาชนที่ปรากฎบนพื้นถนน ซึ่งในมุมมองกราฟิตี้อย่าง Headache Stencil เขาบอกเราว่า “การพ่นถนนมันคือการแสดงออกอย่างสันติ”

“บางคนอาจมองสันติวิถีแตกต่างกันไป บางคนมองรวมไปถึงคำว่าสุภาพ แต่สันติวิธีของผมคือการไม่มีคนเจ็บ ไม่มีคนตาย ดังนั้นการพ่นถนนก็เป็นสันติวิธีอย่างหนึ่ง แล้วยังมีประเด็นที่คนบอกว่า จะพ่นถนนก็ให้มันเป็นงานศิลปะหน่อย ไม่ใช่มีแต่คำด่า เราเลยต้องอธิบายว่า เฮ้ย ต้นกำเนิดของกราฟิตี้ มันเริ่มจากการโดนสังคมกดทับ แล้วเขาไม่มีเครื่องมือจะสู้ในมือ เลยต้องออกไปพ่นบนกำแพง หรือตามทรัพย์สินสาธารณะเพื่อส่งข้อความของพวกเขาออกมา ดังนั้นถ้ากราฟิตี้มันคือศิลปะ ลายบนถนนที่ไปเขียนด่าทั้งหมดมันคือกราฟิตี้นะ นั่นก็คือศิลปะ”

เมื่อถามเรื่องความสวยงาม เขาตอบกลับด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า “ความสวยกับศิลปะเป็นเรื่องที่ไม่ต้องไปนิยามมันเลย เพราะความสวยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน” อย่างการพ่นคำลงถนน เขามองว่าลายมือเหล่านั้น คือลายมือที่แต่ละคนเขียนมาทั้งชีวิต ไม่ว่าใครก็ไม่มีสิทธิ์เอารสนิยมไปจำกัดว่าสิ่งไหนใช่หรือไม่ใช่ศิลปะ

.

| นี่คือการไถ่บาปจากคนเจนฯ X

หลังคุยเรื่องการชุมนุมไปสักพัก แน่นอนว่าประเด็นใหญ่คงไม่พ้น ‘พลังของคนรุ่นใหม่’ ซึ่งเขาทั้งสองรวมถึงเราก็เชื่อจนหมดใจว่า นี่คือการต่อสู้อย่างไม่เกรงกลัวที่น่าชื่นชม 

“ทุกวันนี้เราทำงานศิลปะการเมือง บางทีเรากลัวโดนจับ (หัวเราะ) แต่เด็กที่อยู่ในม็อบ หรือเด็กรุ่นใหม่บางคนเขาไม่กลัวโดนจับแล้วนะ เขาไม่กลัวที่จะติดคุก” Headache Stencil เกริ่นเมื่อพูดเรื่องคนเจเนอเรชันใหม่ ก่อนเล่าต่อว่า พลังของคนรุ่นใหม่มีกลิ่นควันไหม้ของความร้อนแรงซ่อนอยู่ หลายคนที่อยู่ในม็อบคือเจเนอเรชันที่โดนพ่อแม่ลากไปม็อบเป่านกหวีด สิ่งนี้กลายเป็นจุดด่างพร้อยของเด็กบางคน เขาจึงมีสิทธิ์โกรธที่เคยโดนพาไปทำอะไรที่เขาไม่รู้ และวันนี้พวกเขามาเพื่อชดเชยจุดด่างในชีวิตตรงนั้น

“ผมคิดว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ อาจเป็นการไถ่บาปของคนเจนฯ X ก็ได้” – ประชาธิปไทป์

เขาพูดต่อว่า “ผมรู้สึกว่าการที่ผมเป็นส่วนหนึ่งของคนรุ่นผมที่ปล่อยให้สังคมพาความขัดแย้งมาถึงตอนนี้ จนเด็กรุ่นใหม่ต้องออกมา นั่นแปลว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างสิวะ อย่างมีเพื่อนหมอคนหนึ่งเป็นคนสุภาพมาก แต่เขาโทรมาหาแล้วเล่าด้วยน้ำเสียงโมโหมาก ตอน #ม็อบ16ตุลา เขาไปช่วยดูหลังเหตุการณ์ฉีดน้ำสลายชุมนุม แล้วบอกว่าดึงเด็กออกมาได้ 5-6 คน พาไปส่งโรงพยาบาลบริเวณนั้น แต่มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งยังคงร้องไห้แล้วตัวสั่นไม่เลิก สิ่งนี้มันเกินไป เขาเลยคิดว่าอะไรที่เขาทำได้ เขาจะทำ รวมถึงผมด้วย ผมจะทำตัวอักษรเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเรียกร้อง ให้เด็กๆ ไม่ต้องมาเจออะไรแบบนี้อีกแล้ว เฮ้อ เป็นการสัมภาษณ์ที่ผม emotional มากเลย” 

.

| ศิลป์อิสระ

โดนเซนเซอร์งาน โดนแจ้งข้อหา โดนลบทิ้ง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับงานศิลปะหลายสิบชิ้นที่วิพากษ์วิจารณ์การเมือง หรืออะไรบางอย่างที่แตะต้องไม่ได้ ซึ่งทั้ง ประชาธิปไทป์ และ Headache Stencil เห็นตรงกันว่า อิสรภาพคนทำงานศิลปะค่อนข้างจำกัด เพียงแค่วิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างทางอำนาจหรือโครงสร้างทางสังคม ชีวิตคุณจะมีปัญหาขึ้นมาทันที อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ดีใจที่ช่วงนี้ได้เห็นการเคลื่อนไหวของ #ศิลปะปลดแอก ทั้งยังคาดหวังว่าต่อไปสังคมจะมีพื้นที่เปิดกว้างทางศิลปะมากขึ้น รัฐบาลควรตั้งใจผลักดันให้ศิลปะเปิดกว้างอย่างไร้ข้อจำกัดจริงจัง ส่งเสริมศิลปะ เพื่อสักวันถ้าการเมืองดีจริงๆ อย่างที่ฝันใฝ่ เพดานการทำงานศิลปะจะสูงขึ้น เพื่อไม่ต้องมีคำว่า ‘ใต้ดิน’ อีกต่อไป 

และในฐานะคนทำงานเฉพาะด้านตัวอักษรที่เป็นทั้งคนคิดเบื้องหลังและคนพ่นคำเบื้องหน้า เขาทั้งสองยังหวังว่า ถ้าคนทั่วไปในสังคมให้คุณค่ากับตัวอักษรและงานกราฟิตี้มากขึ้น พื้นที่ทำงานให้กับนักออกแบบตัวอักษรและศิลปินในสังคมคงมีมากขึ้น

“ถ้าการเมืองดี ถ้าเขาเข้าใจ ศิลปะและการออกแบบจะทำได้และเข้าถึงได้ง่ายกว่านี้”

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.