‘PingHatta’ อาร์ตติสต์ผู้วาดภาพต่อสู้กับมาตรฐานความงาม - Urban Creature

ครั้งหนึ่งฉันเคยโดนบูลลี่ ทั้งสีผิว รูปร่าง หรือแม้แต่หน้าตา ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องภาพลักษณ์ที่ ‘ความสวย’ ของฉันไม่ตรงตามมาตรฐานสังคม มันค่อยๆ สะสมจนฉันหมดความมั่นใจ และละเลยการดูแลตัวเอง เพราะต่อให้ทำไปก็คงไม่มีใครสนใจในสิ่งที่ฉันเป็น

เมื่อโลกทั้งใบคอยกำหนดสร้างเช็คลิสต์ค่านิยมความสวยหล่อให้สม่ำเสมอ ฉันจึงกลายเป็นเหยื่อของมาตรฐาน ‘ความงาม’ ที่ผู้หญิงต้องผิวขาว ขาสูงยาว หน้าอกกลมสวย หรือผิวพรรณต้องไร้รอยตำหนิ แต่สำหรับ ‘ปิ๊ง-เปี่ยมรัก หัตถกิจโกศล’ ผู้กำลังต่อสู้กับ ‘Beauty Standard’ โดยมี ‘ภาพประกอบ’ เป็นอาวุธและกระบอกเสียงอันทรงพลัง เพื่อส่งให้คนทุกเพศมีความมั่นใจในตัวเอง เพราะว่าความงามไม่ใช่สิ่งที่ควรถูกตีกรอบ

ปิ๊ง-เปี่ยมรัก หัตถกิจโกศล

จากการจับงานแฟชั่นสู่การสร้างภาพประกอบ

“มาถึงจุดหนึ่งมันทำให้เราหันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง
ว่า ‘แฟชั่นคืออะไร’ มันเป็นเส้นบางๆ ระหว่างการสร้างพลังให้ผู้หญิง (Empower) หรือให้ผู้หญิงเป็นแค่วัตถุทางเพศ (Objectify Woman) ว่านี่เรากำลังออกแบบเสื้อผ้าให้ผู้หญิงใส่แล้วมั่นใจ หรือเราแค่ออกแบบมาให้ผู้ชายซื้อให้ผู้หญิงกันแน่”

การตั้งคำถามของ ‘ปิ๊ง-เปี่ยมรัก หัตถกิจโกศล’ หรือ ‘ปิ๊งหัตถะ’ นักวาดภาพประกอบผู้เคยทำงานอยู่ในวงการแฟชั่นและเห็นเรื่องราวของมันมาสักระยะ แต่กลับต้องถอยออกมาตั้งหลักเพื่อทบทวนจุดที่ตัวเองกำลังทำอยู่ว่าเธอทำแฟชั่นไปเพื่ออะไร ก่อนจะหันมาสร้างงานศิลป์เกือบเต็มตัว

“สมัยประถมฯ เพื่อนก็จะเข้ามาแบบว่าเปี่ยมรักวาดรูปให้หน่อย เราก็แบบได้ ! เธอทำการบ้านเลขให้เราเป็นข้อแลกเปลี่ยน (หัวเราะ)”

ปิ๊งเริ่มเล่าถึงความหลงใหลในศิลปะ เธอจับดินสอวาดรูปมาตั้งแต่ยังจำความได้ เพราะคนในครอบครัวเป็นศิลปินเลยทำให้เติบโตมากับแวดวงศิลปะ และค่อยๆ ซึมซับความสนุกเหล่านั้นจนมาถึงทางเลือกสำคัญในชีวิตมัธยมศึกษาตอนปลาย ว่าจบไปจะเรียนต่อคณะอะไรดี ซึ่งวินาทีนั้น ‘แฟชั่น’ คือคำตอบ

“คิดอยู่นานมากว่าถ้าอนาคตเราจะเป็นศิลปินในชีวิตจริงมันจะสมเหตุสมผลไหม คือมันมีทัศนคติอะไรบางอย่างของสังคมที่คนจะเหมารวมว่าอาชีพศิลปินมักจะไส้แห้งอะไรอย่างนี้ ตอนนั้นปิ๊งเลยก้าวเข้ามาสู่โลกของดีไซน์ มันคือการนำศิลปะกับธุรกิจมารวมกัน”

ปิ๊งตัดสินใจไปเรียนแฟชั่นที่นิวยอร์ก เพื่อขยับไปรู้เรื่องแฟชั่นดีไซน์มากขึ้น แต่กลับคิดว่าแฟชั่นคงไม่ใช่ทางของเธอ จนกระทั่งมาเจอจุดเปลี่ยนช่วงเรียนมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 3 กับวิชาเลือกสอนทำชุดชั้นใน ซึ่งทำให้ปิ๊งอินกับมันมากถึงกับเอ่ยปากว่า

“มันเหมือนเจอรักครั้งแรกเลย”

ซึ่งฉันเชื่อว่าเวลาเราได้ใส่ชุดชั้นในที่ชอบ ถึงแม้ว่ามันจะอยู่ภายใต้ร่มผ้า มันก็สามารถระเบิดความมั่นใจและความสุขของเราออกมาได้ เพราะมันเป็นสิ่งแรกที่ทุกคนได้สวมใส่ และเป็นสิ่งสุดท้ายที่ทุกคนถอด ซึ่งปิ๊งมองเห็นถึงการหยิบศิลปะและแฟชั่นมารวมกันให้เกิดการใช้งานได้ ทำให้การออกแบบชุดชั้นในคือทางเดินต่อไป

“ปิ๊งเห็นว่ามันเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้ใช้ศิลปะและการดีไซน์เพื่อทำให้ชีวิตที่ไม่ใช่แค่ผู้หญิงให้เขามีการพัฒนาชีวิต (Improve Life) ทำให้เขามั่นใจ และรู้สึกเซ็กซี่”

| เปิดมุมมองความหลากหลาย ณ นิวยอร์ก

“ความหลากหลายของนิวยอร์กเกอร์เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จุดประกายให้เรามองเห็นความไม่เหมือนกันของผู้คนมากขึ้น ซึ่งมันเปิดโลกมุมมองของเรามาก และต้องขอบคุณประสบการณ์ตรงนั้นที่ทำให้เราเห็นว่าเขาใช้ชีวิตอย่างไร แต่งตัวอย่างไร และมีความคิดอย่างไร เรียกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งที่อยากให้ปิ๊งนำเสนอ ‘ความงามในความแตกต่าง’ แล้วหล่อหลอมตัวตนของปิ๊งออกมาให้เป็นภาพในปัจจุบัน”

| ‘ความงาม’ คือ ‘ความปัจเจก’

คุณนิยามคำว่า ‘ความงาม’ ว่าอะไร ?
นี่คือคำถามที่ฉันอยากถามผู้อ่านทุกท่าน 

เพราะการให้ความหมายของความงามแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน แต่สำหรับฉันมันคือสิ่งที่เป็นปัจเจกบุคคล เราสามารถสร้างมาตรฐานความสวยของตัวเองขึ้นมาได้ โดยไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับค่านิยมที่สังคมสร้างขึ้นมา ซึ่งตัวของปิ๊งก็มองคำนิยามของความงามเหมือนกับฉัน

“ทุกคนสวยในแบบของเขาอยู่แล้ว ปิ๊งคิดว่ามันคือเรื่องความมั่นใจที่เรารู้สึกมีความสุขกับการเป็นเรา เราไม่สามารถเอาแบบที่เราเป็นอยู่ไปเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่ใครไม่รู้ตั้งมันขึ้นมา ปิ๊งว่ามันมีอะไรมากกว่านี้ แต่ปิ๊งเข้าใจว่าทุกคนมีด้านที่ไม่มั่นใจ ยกตัวอย่างสมัยก่อนปิ๊งจะกังวลเรื่องแผลเป็น แต่ปิ๊งคิดว่าเพราะแผลเป็นเนี่ยแหละที่ทำให้ปิ๊งเป็นแบบนี้ ซึ่งรู้สึกอยากขอบคุณทุกประสบการณ์ที่เกิดขึ้นมา เรามีสีผิวแบบนี้ เรามีหน้าตาแบบนี้ ไม่อยากให้เราไปโฟกัสแค่เรื่องภายนอก”

| Undressed to Dress Up

ปิ๊งได้ถ่ายทอดเรื่อง ‘ความงามในความหลากหลาย’ ผ่านนิทรรศการ Undressed to Dress Up เป็นคอลเลกชันภาพประกอบใหม่ล่าสุดที่ปิ๊งสร้างขึ้นระหว่างช่วงล็อคดาวน์โควิด-19 ซึ่งเน้นไปที่รูปร่าง สีผิว และเสื้อผ้า ขณะที่คอลเลกชันเก่าๆ จะมีองค์ประกอบหลายอย่างมากๆ แต่ครั้งนี้จะทำให้คนดูลงลึกและมองเห็นดีเทลของแบบมากยิ่งขึ้น และยังพูดถึงประเด็นช่างฝีมือตัดเย็บเสื้อผ้าอีกด้วย

“มันเป็นซีรีส์ที่ทำให้เราปลดเปลื้องอะไรหลายๆ อย่าง รวมถึงตัดทอนองค์ประกอบเยอะมาก เพื่อให้คนโฟกัสไปบนตัวแบบ อย่างเรื่องสีผิวของนางแบบหรือนายแบบจะทำอย่างไรให้เขาโดดเด่นขึ้นมา โดยที่เขาจะใส่สีอะไรก็ได้ที่เขาต้องการ เพราะโลกของแฟชั่นมันไม่มีตำรวจมานั่งจับผิดและมันคือเรื่องของเขา”

มันทำให้ฉันนึกถึงประโยคที่เคยได้ยินตอนเด็กว่า “อีกาคาบพริก” เป็นความหมายที่เหยียดหยามคนผิวเข้มว่าไม่คู่ควรกับสีฉูดฉาด ซึ่งฉันพยักหน้าเห็นด้วยกับปิ๊งซ้ำๆ ว่าในโลกความเป็นจริงฉันจะใส่อะไรก็ได้ที่ฉันอยากใส่

ถ้าหากลองดูภาพวาดประกอบบนผนังของปิ๊ง ฉันมองเห็นความแตกต่างของตัวแบบแต่ละภาพ ซึ่งมันไม่ได้ทำให้ฉันมองว่าทำไมภาพนี้ไม่สวยเพราะไม่เป็นไปตามพิมพ์นิยม แต่มันทำให้ฉันรู้สึกว่าไม่ว่าคุณจะรูปร่างอย่างไร สีผิวแบบไหน แต่งตัวอย่างไรก็สร้างความงามขึ้นมาได้ในแบบที่คุณเป็นคุณ

“ปิ๊งว่าภาพวาดประกอบทุกภาพเป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นบน Lookbook หรือป้ายโฆษณาของประเทศไทย คนไหล่กว้าง คนผิวดำ และคนรูปร่างอวบ ซึ่งปิ๊งอยากเปลี่ยนภาพจำของแฟชั่นว่า ทุกคนสามารถแฮปปี้ในแบบที่เราเป็น คุณไม่จำเป็นต้องวิ่งตามภาพอุดมคติของแฟชั่นที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ โอเค เราอาจจะทำได้ระยะหนึ่งเดี๋ยวมันก็เปลี่ยนใหม่ แต่สไตล์มันอยู่ได้ตลอดไป ไม่ต้องแคร์ว่าคนอื่นเขาจะคิดอย่างไร”

| ซ่อนความยั่งยืนภายใต้ภาพประกอบ

แม้ปิ๊งจะถ่ายทอดความงามในความแตกต่างออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน แต่เธอได้สอดแทรกเรื่อง ‘แฟชั่นกับความยั่งยืน’ ลงไปบนตัวของแบบด้วยเช่นกัน ซึ่งฉันถึงกับอ้าปากเหวอ ถ้าหากไม่ได้มานั่งคุยกับปิ๊งวันนี้คงไม่รู้ว่าเสื้อผ้าแต่ละชิ้นในภาพนั้นมีที่มาอย่างไร และอยากสะท้อนอะไรให้คนดูได้เห็น

“แฟชั่นหรือแม้แต่วงการอื่นๆ ต่างก็มีมาตรฐานความงามที่แคบมาก หรือไซซ์ไม่ครอบคลุมถึงคนทุกกลุ่ม รวมไปถึงวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่มีปัญหา เพราะเราเห็นสภาพโรงงาน กระบวนการผลิตและความสิ้นเปลือง แล้วสร้างขยะของแฟชั่นที่เกิดขึ้น ซึ่งมันสร้างพฤติกรรม Throw away Economy คือซื้อมาใส่ครั้งเดียวแล้วเก็บหายไปตลอดกาล ทำให้เราไม่ตระหนักว่ากว่าจะเป็นเสื้อหนึ่งตัวมันมีที่มาอย่างไร มีใครอยู่เบื้องหลังมันบ้าง”

“สิ่งที่ปิ๊งเลือกเสื้อผ้ามานำเสนอในรูปภาพ เพื่อต้องการมองถึงช่างฝีมือ ความคิดของดีไซเนอร์ว่าเขามีไอเดียอย่างไรถึงนำเสนอเสื้อผ้าแบบนี้ เช่น เขาใช้วัตถุดิบที่มีความยั่งยืน หรือเขาให้อะไรกลับไปถึงห่วงโซ่ของแฟชั่นบ้าง แต่มันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น หลายครั้งที่ภูมิปัญญาท้องถิ่นถูกกลืนหายไปกับ Fast Fashion เพราะเขาผลิตได้เร็วกว่า มีเทคโนโลยีมาทดแทนได้ กลายเป็นว่าเราไม่ได้รู้สึกชื่นชมเสื้อผ้าหรือสิ่งของอีกต่อไป”

Mara Hoffman คือดีไซเนอร์ที่ปิ๊งชอบ ในมุมการออกแบบและการนำเสนอกว่าจะออกมาเป็นหนึ่งชิ้นได้อย่างไร อย่างชุดเขาเป็นภาพพิมพ์มือจากชุมชนหนึ่งที่เขาทำงานด้วย เป็นธุรกิจครอบครัวหนึ่งในประเทศอินเดีย และทุกๆ ปี เขาจะพัฒนาคอลเลกชันให้ความสำคัญกับชุมชนนั้นๆ รวมถึงเรื่องคนกลางว่าสุดท้ายกำไรมันเข้ากระเป๋าใครบ้าง ซึ่งเขาทำให้เรารู้สึกชื่นชมกับสินค้า 1 ชิ้นได้ อีกอย่างคือการทำให้ Zero-Waste เศษผ้าที่เหลือเอาไปทำอะไรต่อได้บ้าง เพื่อเป็นสินค้าที่มีชิ้นเดียวบนโลก”

หลังจากฉันได้นั่งพูดคุยกับพี่ปิ๊งชั่วโมงกว่าๆ ลงลึกในเรื่องของการสร้างคำนิยามของความงามแบบใหม่ที่อยากนำเสนอ ฉันรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น และค่อยๆ ปลดล็อคความไม่มั่นใจที่ยังคงคั่งค้างออกไปช้าๆ ถ้าหากใครสนใจอยากเห็นผลงานภาพวาดของปิ๊ง หัตถะ ผ่านนิทรรศการ Undressed to Dress Up สามารถเช้าชมได้ฟรี ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธันวาคม ที่ ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ชั้น 2 ห้อง 248 

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.