ติดสอยห้อยตาม ‘บัว-วรรณประภา ตุงคะสมิต’ ผู้นิยามตัวเองว่าเป็นอาชีพรับจ้างทั่วไป แต่เรา (ไม่) แอบเรียกว่า ‘ศิลปินตัดกระดาษ’ ผู้สร้างลวดลายบนผืนกระดาษตั้งแต่ตั๋วรถเมล์ ลอตเตอรี่ ใบเสร็จทางด่วน ไปจนถึงพร็อพประกอบฉาก พร้อมคุยถึงเรื่องศิลปะปลายใบมีดด้วยเทคนิค ‘Paper-cutting’ กับการเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจ Collagecanto ที่เริ่มจาก ‘งานอดิเรก’ สู่โอกาสที่เปิดกว้างให้คนได้เห็นฝีมือ
รอบกายเต็มไปด้วยงานศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นบนผืนผ้าแคนวาส และใช้สีเป็นตัวเติมเต็มภาพวาดให้สมบูรณ์ แต่เมื่อเราได้เจองานของ ‘Collagecanto’ ลายเส้นอันแสนถี่ยิบผ่านหน้าเฟซบุ๊กก็ทำให้ต้องกดเข้าไปดู เพราะงานศิลป์ที่ทำขึ้นถูกร่างและสร้างลวดลายด้วย ‘คัตเตอร์’
จากงานอดิเรกสู่ Collagecanto
ช่วงสายของวันอาทิตย์ เราติดสอยห้อยตาม ‘พี่บัว-วรรณประภา ตุงคสมิต’ มานั่งพูดคุยในร้านกาแฟถึงเรื่อง ‘Paper-cutting’ หรือศิลปะการตัดกระดาษอย่างจริงจัง ที่บอกว่า ‘จริงจัง’ นั่นเป็นเพราะเราสองคนเคยเจอกันมาก่อนหน้า แต่ยังไม่ได้มีโอกาสลงลึกถึงงานกระดาษ นี่จึงเป็นการวนมาพบกันเป็นครั้งที่สอง
“เราฝึกงานแมกกาซีน แล้วรอบตัวเรามีแต่คนที่ทำงานแวดวงศิลปะ ทำให้รู้สึกว่าอยากทำอะไรเป็นของตัวเองดูบ้าง แต่วาดรูปก็ได้ตามสไตล์เราเลยคิดว่าตัดกระดาษเล่นดีกว่า เพราะมันเป็นสิ่งที่เราพอจะทำได้ก็เอาไปเสิร์ชกูเกิลว่าการตัดกระดาษอะไรที่น่าทำบ้าง
และมาสรุปเป็นที่คอลลาจ”
พี่บัวค่อยๆ เล่าถึงการได้ลงมือจับงานกระดาษครั้งแรก ที่ไม่ได้เริ่มจากการ ‘ฉลุ’ หรือการตัดลวดลายลงบนกระดาษเหมือนที่ทำอยู่ กลับกลายเป็นงาน ‘คอลลาจ’ ต่างหากที่พี่บัวเลือกเป็นเทคนิคแรกที่ได้ลงมือจับ
“ช่วงนั้นที่ทำเสร็จ เราจะเอาไปโพสต์ในบล็อกพร้อมกับกลอนเปล่า (Canto) ทำแบบนี้อยู่ทุกวันพบว่ามันคลายเครียดดี สนุก และตื่นเต้นที่ได้เรียนรู้จนกลายเป็นงานอดิเรกเราไปเลย มันเลยเป็นที่มาของชื่อเพจ Collagecanto”
กว่าจะได้มาจับงานฉลุกระดาษจริงๆ จังๆ เวลามันก็ผ่านไปสักพัก แต่ทุกอย่างที่เราได้เห็นทั้งหมดนั้น คือการได้เรียนผิดเรียนถูกจากประสบการณ์ของตัวเอง เพราะสมัยนั้นไม่มีตำรา ไม่มีเวิร์กช็อป มีเพียงแค่อินเตอร์เน็ตที่พอจะคลำหาเอาได้ พี่บัวถึงกับเอ่ยปากว่า ‘เป็นความโชคดี’ ณ ตอนนั้นที่อย่างน้อยมีพอช่องทางให้ค้นหาอยู่บ้าง ไม่อย่างนั้นก็คงไม่มีงานฉลุกระดาษของ ‘บัว สมิต’ มาให้เราเห็นแน่
“เรียกว่าตอนนั้นเรียนรู้ด้วยตัวเองก็ไม่ผิด เพราะเมื่อก่อนไม่มีเวิร์กช็อปเหมือนสมัยนี้ แต่ย้อนกลับไปตอนนั้น ถ้ามีคลาสสอนก็คงไม่มีตังค์เรียนอยู่ดี เพราะทำงานก็ไม่ได้เงินเยอะ เดชะบุญเป็นอินเตอร์เน็ตก็พอละ หรือไปร้านหนังสือเปิดดูเอา (หัวเราะ)”
ตัดฉีกกรีดเป็นของใกล้ตัว
พอเราถามพี่บัวถึงความหมายของ
‘ศิลปะการตัดกระดาษ’ ว่าคืออะไร
พี่บัวตอบเราว่า “มันคือศิลปะที่มีกระดาษเป็นตัวกลาง และใช้คัตเตอร์ กรรไกร หรือการฉีกทำให้เกิดลวดลายขึ้น ” และคำตอบสุดท้ายซึ่งทำให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนมากที่สุดคือ “ศิลปะที่เราได้จับต้องมาตั้งแต่เด็ก”
ใช่ ! ใช่เลย ! ไม่ว่าจะเป็นการฉีก ตัดแปะ หรือกรีดลงบนกระดาษ ล้วนแต่เป็นเทคนิคศิลปะเบื้องต้นที่ได้ลงมือทำตั้งแต่เล็กยันโต เราอาจไม่ต้องมองถึงชิ้นงานหนึ่งชิ้นก็ได้ เพราะแค่ตัดกระดาษสีให้เป็นรูปดอกไม้ เพื่อเอาไปตกแต่งบอร์ดวิชาการก็นับว่าเป็นศิลปะการตัดกระดาษ พอนึกได้อย่างนั้นก็รู้สึกเลยว่าเราอยู่กับมันมาโดยที่ไม่รู้ตัวเลยจริงๆ
พี่บัวเสริมว่าถ้าหากมองในแง่วัฒนธรรมล่ะก็งานตัดกระดาษจีน หรือลายฉลุของไทยตามงานบุญต่างๆ ก็อาจทำให้หลายคนร้องอ๋อขึ้นมาได้ ความจริงแล้วศิลปะการตัดกระดาษไม่แตกต่างจากการวาดภาพหนึ่งภาพ เพียงแค่เปลี่ยนอุปกรณ์จาก ‘ดินสอ’ มาเป็น ‘คัตเตอร์’
(อุปกรณ์) น้อยแต่มาก
“พี่ชอบเพราะอุปกรณ์น้อย ไม่ต้องลงทุนเยอะ (หัวเราะ)”
กว่าจะสร้างลวดลายละเอียดถี่ยิบออกมาให้เราเห็น อุปกรณ์คู่ใจของพี่บัว คือ คัตเตอร์ กระดาษ และแผ่นรองตัด ด้วยจำนวนอุปกรณ์ไม่เยอะจนปวดหัว เรื่องราคาอยู่ในจุดที่จ่ายได้ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้พี่บัวชอบการฉลุกระดาษ ซึ่งมันเหมาะแก่การเริ่มต้นเพื่อเป็นงานอดิเรกได้อย่างดี
“หลักการทำงานศิลปะตัดกระดาษมันก็คล้ายกับการวาดรูปนั่นแหละ ปกติเราวาดภาพมันก็มีแค่กระดาษกับดินสอ แต่อันนี้เปลี่ยนมาเป็นกระดาษกับคัตเตอร์แทน”
นอกจากนี้พี่บัวมองว่าการสร้างงานฉลุกระดาษ เรื่องอุปกรณ์ก็สำคัญ อย่างคัตเตอร์มีหลายแบบการหยิบมาใช้ขึ้นอยู่กับวัสดุของเราว่ามีความหนา-บาง ถ้าหากมีความบางมากต้องใช้คัตเตอร์แบบปากกาจะจับถนัดกว่า และใบมีดต้องคมอยู่เสมอ หรือคัตเตอร์แบบเหลี่ยมเหมาะกับการตัดงานที่มีความหนา เพราะลงน้ำหนักได้เยอะกว่า
“เราจะหยิบกระดาษอะไรมาทำในงานก็ได้ ตั้งแต่ตั๋วรถเมล์ ไปจนถึงกระดาษสา แต่สิ่งเหล่านี้มันไม่ได้มีทฤษฎีให้เราอ่าน ถึงอ่านก็ไม่เข้าใจภาคปฏิบัติ ทุกอย่างเราต้องลองลงมือทำแล้วความผิดพลาดต่างๆ จะสอนให้เราเข้าใจเอง”
ส่วนแง่ของเทคนิค ถามว่ามีอะไรเป็นพิเศษไหม คำตอบคือ
“ไม่ได้มีเทคนิคตายตัว เพราะเราเชื่อว่าแต่ละคนมีจะเทคนิคไม่เหมือนกัน”
ยิ่งเล็กยิ่งละเอียดยิ่งชอบ
ถ้าสังเกตงานของพี่บัวดีๆ จะเห็นว่าลายส่วนใหญ่ถูกฉลุออกไปจนเหมือนกับเส้นดินสออย่างไรอย่างนั้น ทั้งการฉลุออกเป็นจดหมาย หรือการฉลุรายละเอียดให้เล็กจนเป็นรูปเซลล์ต่างๆ ซึ่งหากให้คนเขียนมาลองฉลุดูล่ะก็เป็นอันต้องเพ่งจนปวดตาแน่ๆ ในทางกลับกันสิ่งนี้กลายเป็น ‘ความท้าทาย’ และ ‘ของโปรด’ สำหรับพี่บัวไปโดยปริยาย
อย่างผลงานที่จัดแสดงชิ้นล่าสุด My micro collection (My favorite food series) ภาพจำลองผ่านกล้องจุลทรรศน์ที่ทำเป็นเซลล์อาหารที่ชอบ เช่น ไข่ดาวแฝด กุ้งแช่น้ำปลา บัวลอย ซึ่งการนำเสนออกมาในวงกลมมันต่างออกไปจากงานที่พี่บัวเคยทำมา แต่ยังคงดีเทลอันแสนละเอียดยิบได้เหมือนเดิม เผลอๆ มากกว่าเดิมอีกด้วย
“ปกติคอนเซปต์การทำงานแต่ละครั้งจะมาจากเรื่องที่เราชอบและสนใจก่อน อาจจะเป็นงานที่เราชอบสไตล์ สี หรือบางทีก็มีหัวข้อคำต่างๆ หรือตั้งต้นมาจากวัสดุ เช่น ลอตเตอรี่ กระดาษสา แล้วอยากลองเอามาฉลุดู ซึ่งพักหลังๆ จะชอบทำงานมีดีเทลเล็กๆ เช่น ลายลูกไม้ ไมโครสโคป”
พี่บัวยังเสริมทิ้งท้ายว่า “จริงๆ งานฉลุกระดาษ หรือตัดกระดาษจะทำลายอะไรก็ได้ ไม่มีผิดถูก ไม่มีกฎตายตัว มันขึ้นอยู่กับความชอบของตัวเราเองว่าอยากทำอะไร”