ล้วงลึกสกรีนพรินต์แบบเนิร์ดๆ ที่ The Archivist - Urban Creature

กระดาษพื้นขาวถูกวางเป็นฐานด้านล่าง ก่อนติดตั้งบล็อกสีเหลืองสะดุดตาให้เข้าประจำที่ เผยให้เห็นช่องว่างเล็กๆ กระจายตัวอยู่บนอาร์ตบอร์ดที่หากดูด้วยระยะไกลๆ จะพอเห็นเป็นรูปร่าง (เกือบ) ชัดเจน ขาดแค่หมึกหลากสีที่เอามาปาดลงบนช่องว่างเพื่อเติมเต็มภาพพรินต์สกรีน

“วางกระดาษ ทาบบล็อก ปาดสี แล้วผึ่งให้แห้ง”

สารพัดขั้นตอนที่สร้างงานซิลค์สกรีนจากหนึ่งแผ่น ค่อยๆ ก่อร่างเป็นสิบแผ่นและทวีคูณไปจนถึงร้อยแผ่น คอยทำซ้ำต่อไปเรื่อยๆ จนเสร็จ ซึ่งระหว่างที่เรากำลังรอกระดาษแห้ง ‘มิน-มิญชญา ชโยสัมฤทธิ์’ หนึ่งในศิลปินภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนจากสตูดิโอ The Archivist ได้เตรียมติดตั้งบล็อกอันใหม่ เพื่อลงสีอื่นๆ เพิ่ม

จากการนั่งสังเกตอยู่รอบนอก แล้วคอยมองมินบรรจงสกรีนแผ่นต่อแผ่นอย่างช่ำชอง ทำให้เรานึกถึงคำว่า ‘ปาด’ ซึ่งเป็นคำกิริยาที่บ่งบอกถึงเทคนิคการซิลค์สกรีน (Silkscreen Printing) ได้อย่างดี งานพิมพ์ที่อาศัยหลักการทำงานแบบมี ‘แม่พิมพ์พื้นฉลุ’ ให้หมึกผ่านลงไปติดบนวัสดุที่ใช้พิมพ์ โดยอาศัยแรงคนสกรีนออกมาเป็นภาพหนึ่งภาพ ซึ่งเทคนิคที่เราเห็นในวันนั้นเกิดจากการบ่มเพาะด้วยตัวของมินเอง

เริ่มจากงานอดิเรกสู่อาชีพภาพพิมพ์

“เราเรียนด้านกราฟิกดีไซน์มาโดยตลอด
ไม่เคยจับงานภาพพิมพ์มาก่อนเลย”

มินเล่าถึงสมัยเรียนให้ฟังว่าก่อนจะมาจับเทคนิคซิลค์สกรีน เขาถนัดด้านออกแบบกราฟิกดีไซน์มาตั้งแต่ปริญญาตรีจนจบปริญญาโท ซึ่งก่อนเรียนจบเขาค่อนข้างให้ความสนใจเรื่องคุณค่าของการผลิตงานด้วยมือ จึงออกมาเป็นโปรเจกต์จบที่ ‘เปรียบเทียบการวาดด้วยมือกับการใช้คอมพิวเตอร์วาด’ แล้วยังเป็นจุดเริ่มต้นของคำตอบหลังเรียนจบว่า

“อยากทำอะไรต่อไป”

ระหว่างทางที่กำลังค้นหาสิ่งที่อยากทำ มาประจวบเหมาะกับเพื่อนชวนไปลงเวิร์คชอป ‘พิมเสื้อสกรีน’ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ หรือพื้นฐานงานสกรีนทุกอย่าง มินรับมาแล้วเอาจุดนั้นมาปรับใช้กับกระดาษ ทำให้จากคนที่พอเข้าใจงานสิ่งพิมพ์ กลายมาเป็นคนที่คลุกคลีงานภาพพิมพ์อย่างจริงๆ จังๆ โดยมินมองว่าตัวเองได้ก้าวเท้าขึ้นบันไดไปอีกหนึ่งขั้น จากวันนั้นเข้าสู่การเปิดสตูดิโอปีที่ 7 ไม่ว่าจะเป็นการหัดขึงบล็อก ไปจนถึงปัญหานอกตำราเรียน ซึ่งทุกอย่างเกิดขึ้นผ่านการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

“ในวันแรกที่ลงมือทำ ทุกอย่างมันเละเทะไปหมด
แต่เราพยายามมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอยากให้ออกมาสำเร็จ”

รอบรู้งานซิลค์สกรีน

เราพูดคุยถึงการก้าวเข้าสู่วงการซิลค์สกรีนของ The Archivist สักระยะ มินค่อยๆ ถ่ายทอดความรู้เรื่องพรินต์ให้ฟัง ทั้งเรื่องพื้นฐานไปจนถึงเทคนิคเฉพาะที่หาไม่ได้จากงานพิมพ์ผ่านเครื่องพรินต์ทั่วไป ความรู้สึกที่อยากรู้เรื่องงานสกรีนกลับเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เราค่อยๆ ประมวลผลตามคำอธิบายของมิน ที่ตอนนี้จะกลายเป็นครูมิน (จำเป็น) ไปโดยปริยาย

“หลักการการทำงานพิมพ์หรือภาพพิมพ์
เราต้องคิดแยกว่าคือส่วนไหนที่ต้องพิมพ์ (Printing area) กับส่วนไหนที่ไม่พิมพ์ (Non-Printing area)”

ลำดับแรกสุดของการทำซิลค์สกรีนไม่ใช่การขึงบล็อก แต่ตั้งต้นด้วย ‘การสร้างอาร์ตเวิร์ค’ ถ้าเรียกแบบเข้าใจง่ายๆ คือชิ้นงานออกแบบของเรานั่นแหละ ซึ่งทุกครั้งก่อนทำบล็อกสกรีนต้องมานั่งแกะเลเยอร์ว่า 1 ชิ้นงานจะถูกแบ่งออกมาได้ทั้งหมดกี่สี เพื่อนำไปทำบล็อกตามจำนวนสีนั้นๆ หรืออย่างบางสีที่เมื่อเอามาทับกันแล้วเกิดการผสมออกมาเป็นอีกสีหนึ่งก็ทำให้ลดจำนวนบล็อกลงได้อีก

“1 บล็อกเท่ากับ 1 เลเยอร์”

พอเรารู้เลเยอร์สีทั้งหมด ก็ถึงเวลาที่ต้องมาลำดับแผนว่าควรพิมพ์สีไหนก่อน-หลัง เพราะผลลัพธ์ที่ได้จะออกมาไม่เหมือนกัน ซึ่งมินเสริมว่ามันจะเชื่อมมาถึงวิธีการทำบล็อกด้วย เนื่องจากการทำบล็อกจะต้องใช้แผ่นฟิล์มแบบ ‘ฟิล์มโพสิทีฟ (Positive flim)’ สำหรับการฉายบนกล่องไฟ เพื่อทำให้เกิดลวดลายของเลเยอร์นั้นๆ โดยส่วนที่ต้องการพิมพ์จะถูกพิมพ์เป็นสีดำ สำหรับบังแสงไฟไม่ให้โดนแม่แบบ และจะออกมาเป็นลายที่เราต้องการพิมพ์

เมื่อเราได้บล็อกเป็นที่เรียบร้อย ก็ถึงเวลาผสมสี ซึ่งมินบอกว่าเนื้อสีเกิดจาก ‘เม็ดสี (Pigment)’ ไปผสมกับ ‘มีเดียม (Medium)’ เพื่อให้ความหนาแน่นของหมึกลดลง โดยมีเดียมมีทั้งหมด 2 แบบ คือแบบทึบ และแบบใส อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับลำดับการลงสีก่อน-หลังด้วย

“เราสามารถเอาพิกเมนต์ไปผสมกับมีเดียมใส 100% ก็ได้หรือใช้แบบทึบ 100% ก็ได้ ซึ่งเวลาที่สีถูกสกรีนทับบนกระดาษจะให้ผลลัพธ์ต่างกัน เช่น ลงสีแดงทึบแล้วตามด้วยสีเหลืองใสจะออกเป็นพื้นแดงเหลือบส้มใส หรือถ้าหากเอาสีแดงทึบทับสีเหลืองทึบจะออกเป็นสีแดง ยกเว้นสีใสจะลงก่อนหรือหลังก็ได้ เพราะผลลัพธ์ออกมาเหมือนกัน”

ความสนุกของงานสกรีนอีกหนึ่งอย่างที่ส่งผลต่อการซิลค์สกรีน คือ กระดาษ เพราะถ้าหากพิมพ์สีเดียวกันแต่ใช้กระดาษคนละแบบ เช่น สี หรือเทกเจอร์ มันจะให้ความสดใสต่างกัน ฉะนั้นสิ่งที่เราผสมลงไปสามารถควบคุมความโปร่งใส (Opacity) ได้ตามต้องการ

“อยากจะทำอะไรก็ได้
เพราะไม่มีอะไร custom ได้เท่านี้อีกแล้ว”

มินค่อยๆ เล่าให้ลูกศิษย์ตาใสแจ๋วคนนี้นั่งฟังอย่างช้าๆ และคอยสังเกตทีท่าว่านักเรียนที่นั่งผงกหัวงึกๆ อยู่ตรงหน้าจะสงสัยตรงไหนหรือเปล่า ซึ่งมินย้ำกับเราเสมอว่ามันคือเรื่องพื้นฐานที่ต้องรู้ของการทำซิลค์สกรีน แต่เราสัมผัสได้ถึงความสนุกผ่านชิ้นงานที่วางเรียงรายอยู่บนโต๊ะ

เพิ่มความเนิร์ดเรื่องงานพิมพ์ให้ถึงกึ๋น

มาถึงเรื่องเทคนิคเฉพาะตัวของซิลค์สกรีนกันบ้างที่ส่วนตัวเราเองก็ยังไม่รู้ เพราะเป็นสิ่งที่คนต้องลงมือทำเท่านั้นถึงจะมองเห็น ซึ่งอย่างแรกคือการทำ Trapping หรือการชดเชยอาร์ตเวิร์ค โดยสาเหตุมาจากการคลาดเคลื่อนของกระบวนการพิมพ์ ซึ่งมินบอกว่าต้องทำพื้นที่สีหนึ่งสีให้กินพื้นที่ขยายขึ้น เพื่อให้พื้นที่ของสองสีลงล็อกกันพอดี

“ถ้าเราทำอาร์ตเวิร์คให้พอดีกัน เวลาลงสีมันจะมีขอบเหลือสีขาว ซึ่งไม่ว่าจะเป็นถุงเบอร์เกอร์ หรืองานศิลปะที่ใช้หลักการนี้ เขาจะชดเชยเอาไว้ เพื่อป้องกันการเหลื่อมกัน”

อีกเทคนิคหนึ่งที่เกิดขึ้นจากมุมมองของมินที่คลุกคลีอยู่กับการสกรีนแทบตลอดเวลา บังเอิญสังเกตว่า ‘ทำไมเส้นตรงที่พิมพ์กลับไม่คม’ เมื่อลองไปค้นกลับพบว่าผ้าสกรีนเป็นมุ้งลวดละเอียด ถ้าหากเอาเส้นตรงไปวางทับมันจะไม่ขนานกับเส้นของผ้าสกรีนและจะเกิด ‘ลายเสื่อ’ คืออาการของสีซ้อนไม่ตรงกัน ดังนั้นมินจึงต้องเอียงบล็อกสกรีนเล็กน้อย เพื่อหลบเอฟเฟกต์นั้น นี่จึงเป็นที่มาของ ‘องศาการวางบล็อก’ เพื่อให้เกิดความเนี๊ยบขั้นสุดของชิ้นงาน

แต่ข้อจำกัดของงานซิลค์สกรีนก็มีมาให้เห็นอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการทำปริมาณมากๆ อาจทำให้แม่พิมพ์สึกหรอส่งผลให้ชิ้นงานที่ออกมาไม่คมเท่าเดิม หรืองานที่อยากให้มีความเหมือน ‘งานพิมพ์จากเครื่องพรินต์’ ก็อาจไม่เหมาะกับเทคนิคนี้ เพราะสีเยอะเกินจะทำให้แยกเลเยอร์สีมาทำบล็อกไม่ได้ แม้สุดท้ายชิ้นงานจะออกมามีความใกล้เคียงกัน แต่ก็ยังมีความแตกต่างในแง่ของกระบวนการผลิตที่ซิลค์สกรีนไม่ใช่แค่การกดสั่งพิมพ์แล้วจบไป

ทดลองแลกเปลี่ยนจัดเก็บคือความสนุกที่อยากทำต่อไป

“อะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับงานสกรีน ?”

“เราว่าทุกอย่าง เราว่ามันเป็นเทคนิคที่ดึงดูดคนเพราะดูสนุก แต่จริงๆ มันมีงานเบื้องหลังอีกเยอะมากที่ต้องเก็บกวาดและเรียนรู้”

มินเสริมว่าภาพพิมพ์ทำให้เขาเป็นคนละเอียดลออขึ้น ถ้าทดลองในสิ่งที่อยากทำ แล้วยังได้แลกเปลี่ยนสตูดิโอกับเพื่อนวงการพรินต์ประเทศอื่นๆ ซึ่งจะมีเอกลักษณะเฉพาะตัวต่างกันออกไป มันคือความสนุกอย่างหนึ่งที่มินชื่นชอบ

“เรามีเพื่อนที่เขาอยู่อินเดีย อารมณ์งานจะต่างกับสายยุโรป และอเมริกามากๆ เพราะเขาเน้นเรื่องภูมิปัญญามากกว่า ขณะที่ยุโรปมีเครื่องจักรเยอะมาก แม่พิมพ์ทุกอย่างมีมาตรฐาน ค่อนข้างซีเรียสจริงจัง ส่วนทางฝั่งออสเตรเลียเป็นงานมันๆ กราฟิตี้แน่นๆ ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่เราว่าสนุกและดูได้เรื่อยๆ เลย”

สิ่งหนึ่งที่ทำให้มินยังคงทำนอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนระหว่างสตูดิโอ คือ ‘โจทย์’ ของงานพิมพ์ที่เข้ามาเรื่อยๆ พ่วงด้วยความสนุกของการคลี่คลายอาร์ตเวิร์คในทุกๆ ครั้ง และความท้าทายที่ต้องเผชิญคือ ‘การทำซ้ำ’ เพราะการสกรีนต่อภาพไม่ใช่ครั้งเดียวแล้วจบ แต่มันคือการคิดเป็นตัวเลขออกมาว่า 1 งาน มีทั้งหมดกี่เลเยอร์ ต้องทำกี่รอบ มันคือการทำซ้ำเดิมไปเรื่อยๆ ที่บางครั้งก็เกิดการหน่วงขึ้นมาบ้าง เพราะต้องใช้แรงงานคนเป็นหลัก

“แต่มันก็ยังสนุกนะ (หัวเราะ)”

เราใช้ระยะเวลานั่งสัมภาษณ์มินประมาณชั่วโมงเศษ แต่เหมือนได้เข้ามาเรียนหลักสูตรซิลค์สกรีนฉบับรวบรัด ซึ่งทำให้เราเข้าใจทั้งพื้นฐานของงานพิมพ์และเทคนิคเฉพาะตัวของงานสกรีนด้วยมือได้อย่างดี โดยตลอดระยะเวลา 7 ปีของมินและสตูดิโอ The Archivist พ่วงมากับการเป็น ‘นักอารักษ์’ ผู้ต้องจัดเก็บ ดูแล บันทึก นั่นคือความตั้งใจที่อยากบันทึกผลงานทุกชิ้นเอาไว้ เพราะฉะนั้นงานแทบทุกชิ้นของสตูดิโอจะจดว่าใช้กระดาษอะไร พิมพ์กี่สี พิมพ์ปีไหน และเก็บรักษางานพรินต์ให้อยู่สภาพดีแล้วอยู่ได้นาน ซึ่งตอบโจทย์คำว่า ‘Archive’ ที่เป็นที่มาของชื่อสตูดิโอ

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.