อลิสา ฉุนเชื้อ The Resonance 2020 - Urban Creature

เคยสังเกตไหม ว่าดวงตาของเราสีอะไร
เคยสังเกตไหม ว่าไฝบนตัวเรามีตรงไหนบ้าง
เคยสังเกตไหม ว่าความเครียดทำให้หน้าตาไม่สดใสหรือเปล่า
เคยสังเกตไหม ว่าเรากัดเล็บทุกครั้งเวลาเจอภาวะกดดัน

จะมีสักกี่ครั้งในชีวิตของเรา ที่หันมาสังเกตร่างกายตัวเองอย่างจริงจัง รอยแผลเป็น สภาพจิตใจ หรือบริบทรอบกายเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่ง ‘นุ้ย-อลิสา ฉุนเชื้อ’ Visual Artist ผู้สำรวจร่างกายและเบื้องลึกจิตใจของตัวเอง นำมาตีความใหม่ แล้วบอกเล่าผ่านศิลปะ โดยที่เราไม่ต้องอยู่ในเหตุการณ์ชีวิตของเธอก็เข้าใจได้

ฉันยืนมองโปรเจกต์ The Resonance ผลงานชิ้นล่าสุดของอลิสา ปรากฏลายเส้นที่วาดซ้ำกันไปมาอย่างเป็นระบบระเบียบบนกระดาษขนาด A3 ซึ่งถูกแขวนบนฝาผนังของแกลเลอรี SAC Gallery อ่านคำโปรยทำให้รู้ว่า งานชุดนี้ล้วนได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘รอยเย็บแผล’ บนร่างกายของผู้ป่วยใกล้ตัว ซึ่งปลุกความสนใจของฉันต่อศิลปินอยู่ไม่น้อย จึงไม่รีรอที่จะต่อสายตรงถึงอลิสาเพื่อทำความรู้จักมุมมองของศิลปินให้ลึกซึ้งกว่าก่อน

The Resonance (2020)

อลิสา คือศิลปินที่สมุดสเก็ตช์เต็มไปด้วย Mind Mapping

วินาทีที่ฉันดูสมุดสเก็ตช์ของอลิสากลับต้องแปลกใจ เพราะสมุดของเธอเต็มไปด้วยร่องรอยขีดเขียน Mind Mapping ประโยค และคีย์เวิร์ดสั้นๆ ทั่วหน้ากระดาษ หลังจากอลิสาเปิดสมุดของเธอให้ฉันดู เธอก็หลุดขำถึงความย้อนแย้งในอาชีพศิลปินของตัวเอง

“เราทำ Mind Mapping เพื่อขุดเบื้องลึกจิตใจของตัวเองออกมา มันเริ่มจากตอนทำธีสิส อาจารย์ที่ปรึกษาเขาให้เขียนสิ่งที่อยู่ในหัว เพราะการเขียนคือการเรียบเรียงความคิด ไม่จำเป็นต้องเป็นคำ หรือประโยคก็ได้ แค่เขียนคำสั้นๆ ออกมา

“เวลาเจอหนึ่งเรื่อง มันมีความรู้สึกเข้ามาเยอะมาก เราเลยเขียนทุกอย่างลงสมุดให้หมด ความรู้สึก เจออะไรมา แล้วค่อยมาจับกลุ่มว่าอันไหนสำคัญบ้าง ซึ่ง Mind Mapping จะบอกทุกอย่างในโครงสร้างความคิดของเรา พอทำวิธีนี้มันเวิร์กมาก เพราะถ้าเราไม่ทำจะไม่มีทางเจอแก่นจริงๆ ของตัวเราเลย ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสมุดสเก็ตช์ของเราจึงเป็นสมุดที่ไม่มีรูปเลย”

กายภาพ-ร่างกาย-จิตใจ
คือแกนเรื่องในการทำงานศิลปะของอลิสา

สมุดสเก็ตช์ของอลิสา

อลิสาเล่าให้ฟังว่า เธอใช้วิธีคิดในการทำงานแบบ Self-thought คือคิดจากตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว หรือเรื่องครอบครัว โดยมองจากมุมมองขนาดเล็ก ไปหามุมมองขนาดใหญ่ เพราะเธอเชื่อว่าหากมองตัวตนอย่างเข้าใจ ทุกอย่างจะเป็นพลวัตเชื่อมโยงกับบริบทสังคมอื่นๆ ได้

ที่สำคัญ อลิสาเสริมว่าผลงานทุกชิ้นไม่ได้ตะโกนออกจากตัวงาน แต่คือการขุดลงไปข้างล่างให้ถึงแก่นจริงๆ ซึ่งทุกชิ้นมาจากประสบการณ์ส่วนตัว แต่เธอปรับให้กลายเป็นงาน Universal ที่ไม่ว่าคุณเป็นคนชาติพันธุ์ไหน เพศไหน อายุเท่าไหร่ ก็มีประสบการณ์ร่วมไปด้วยกันได้ โดยมีวิธีคิด 2 แบบ

แบบที่หนึ่ง-คิดจากวัตถุ เพราะเธอสนใจโลกของวัตถุ โดยเปรียบเทียบว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ตั้งอยู่ในโลกของกายภาพ ใช้ชีวิตอยู่ใต้กฎฟิสิกส์ และแรงโน้มถ่วงของโลกเหมือนวัตถุอื่นๆ ซึ่งเล่าถึงกระบวนการ วิธีเลือก การมองเห็น และการใช้เคมีภัณฑ์

แบบที่สอง-คิดอย่างมีที่มาที่ไป มาจากแรงบันดาลใจของเธอหรือมีการวิจัย แล้วทำกระบวนการอะไรบางอย่าง เพื่อเปลี่ยนความคิดเป็นอย่างอื่น

อลิสาเฝ้ามองชีวิตในโรงพยาบาล เพราะความจำเป็น

อันที่จริง ฉันรู้จักชีวิตศิลปิน ‘อลิสา ฉุนเชื้อ’ คร่าวๆ จากงานเสวนา ร่างก(ล)ายในดรออิ้ง ผ่านผลงาน The Resonance ทำให้ฉันเข้าใจว่าเธอสนใจเฝ้ามองชีวิตในโรงพยาบาล แต่ความจริงแล้ว เธอไม่ได้สนใจเลยสักนิด แต่เป็นเพราะเธอต้องเฝ้าคนป่วยผู้เป็นคนที่รักนานหลายเดือน จึงหยิบเรื่องราวระหว่างอยู่โรงพยาบาลมาเล่าเป็นงานศิลปะ

Overdose (2018) เป็นผลงานชิ้นแรกที่เธอเข้าร่วมโปรเจกต์ ‘Early Years Project’ ที่จัดขึ้นโดยหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) และยังเป็นผลงานชิ้นแรกที่เธอหยิบประสบการณ์ในโรงพยาบาล มาตีความเป็น Performance Art ซึ่งเธอจุดประกายไอเดียมาจากคำว่า ‘What is time?’ 

“เราตั้งคำถามกับจุดเริ่มต้นผลงาน Overdose ว่าช่วงเวลาที่ยากลำบากในชีวิตของเราคืออะไร เกิด แก่ เจ็บ หรือตาย ซึ่งเรามองว่าความทรมานมากๆ ในการมีชีวิตของมนุษย์ คือ เวลาเจ็บป่วย อีกอย่างเราเคยใช้ชีวิตในฐานะคนเฝ้ามองคนป่วย ซึ่งมันทรมานมาก หนึ่งวันเหมือนหนึ่งปี หนึ่งเดือนเหมือนสิบปี เพราะเราไม่ใช่แพทย์ เราตอบไม่ได้ว่าเขาจะเสียไหม หรือเขาจะหายหรือเปล่า ทุกอย่างมันคือการรอไปเรื่อยๆ

“ชีวิตของเราและคนป่วยที่เรารักในตอนนั้น
เหมือนทุกอย่างถูกแช่แข็ง ไม่มีพรุ่งนี้ ไม่มีอดีต

“เรากลับมาคิดถึงผลงานต่อว่าประติมากรรมคือศิลปะที่ถูกแช่แข็งไว้ก็จริง แต่มันไร้ชีวิต นี่จึงเป็นเหตุผลว่าเราอยากทำ Performance Art และเอาคนที่มีชีวิตมาทำให้ดูเหมือนไม่มีชีวิต”

อลิสาเปิดภาพผลงาน Overdose ให้ฉันดู สิ่งที่เห็นคือห้องสี่เหลี่ยม มีม่านใสบังอยู่ตรงทางเข้า หากมองจากด้านนอกเข้าไปด้านในจะเห็นความเลือนราง มองไม่ชัด ให้ความรู้สึกคล้ายกับการเฝ้ามอง ‘ชีวิต’ ในห้อง ICU ที่โรงพยาบาลทุกๆ วัน รวมไปถึงการใช้ ‘สีเขียว’ เพราะวงการแพทย์ระบุว่าเป็นสีที่ช่วยเบรกสีเลือดให้เป็นสีน้ำตาล และยังสื่อถึง ‘การแช่แข็ง’ ซึ่งอลิสาเสริมว่าทุกอย่างในห้องไม่ใช่การแสดง เพราะเธอต้องการให้คนดูเห็นฉากชีวิตที่หยิบมาฉายซ้ำๆ โดยใช้เวลา 5 ชั่วโมง และคนดูตีความอย่างไรก็ได้

“Overdose เป็นโปรเจกต์ที่เราต้องการให้คนใช้การมองเห็นเต็มๆ เพราะเราไม่ได้เล่าเรื่อง ไม่มีเสียง ไม่มีไดอะล็อกพูด ซึ่งตอนจบนิทรรศการ เราไม่ได้ทำ Performance ต่อ และทุกอย่างในห้องไม่หลงเหลืออะไรเลย”

หลังจากโปรเจกต์ Overdose ประสบความสำเร็จ Wake up in nothingness (2018) จึงเป็นอีกหนึ่งผลงานที่อลิสาเล่าให้ฉันฟังด้วยความตื่นเต้น เพราะเป็นครั้งแรกที่เธอได้เดินทางไปต่างประเทศ และยังเป็นครั้งแรกที่ได้ไปภายใต้โครงการศิลปินพำนัก (Artist Residency) เป็นเวลา 1 เดือนที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งคราวนี้เธอยังคงเล่าเรื่องทางการแพทย์ผ่านงานศิลป์อีกครั้ง โดยหยิบเอา ‘ความหมายของการมีชีวิตอยู่ในเชิงปรัชญา’ มาตีความ ที่สำคัญ อลิสาบอกว่าประเทศเยอรมนีเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์เรื่องการแพทย์แข็งแรงมาก ยิ่งทวีคูณความสนใจของเธอมากขึ้นไปอีก

Wake up in nothingness (2018)
Wake up in nothingness (2018)

“พิพิธภัณฑ์ที่เราไปจัดแสดงเคยเป็นห้องสมุดที่พี่น้องตระกูลกริมม์ (Brothers Grimm) นักประพันธ์เรื่อง สโนวไวต์ ทำงานมาก่อน และเราลงลึกไปถึงว่านิยายกอทิกได้แรงบันดาลใจมาจากข้อถกเถียงทางการแพทย์และการค้นพบทางการแพทย์ในช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งเขามีประเด็นเรื่อง Suspended Animation หรือภาวะจำศีล เพื่อหาคำตอบว่าร่างกายที่ตายแล้วจะยังกลับมามีชีวิตอยู่ได้ไหม เราจึงหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาทำงาน

สินค้ามือสองของจากตลาดเยอรมัน คือ ของตกค้างจากอดีต
ตัวอลิสา คือ คนที่อยู่ในสภาวะจำศีลรอวันตื่น
หัวใจครอบด้วยฝาแก้ว คือ การรักษาทางการแพทย์ในอนาคต

Wake up in nothingness (2018)

“อวัยวะในอนาคตของมนุษย์จะเป็นอย่างไร
ถ้าอวัยวะภายในเราสร้างเครื่องป้องกันได้”

คำถามที่จุดประกายไอเดียให้อลิสามุ่งหน้าทำโปรเจกต์ ‘Unseen Viscera’ (2018) และเป็นผลงานแรกที่ทำเรื่อง ‘มลพิษ’ ผนวกกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของมนุษย์ ซึ่งเป็นงานที่อลิสาไปทำโครงการศิลปินพำนักที่ประเทศเวียดนาม และเกิดไซนัสกำเริบเพราะฝุ่น

Unseen Viscera’ (2018)

เพราะร่างกายของคนเราต้องต่อสู้ดิ้นรนกับการติดเชื้ออวัยวะภายในที่มองไม่เห็น รวมไปถึงความสนใจของอลิสาในเรื่องมานุษยวิทยาชีวการแพทย์เป็นทุนเดิม ทำให้เกิดไอเดีย ‘อวัยวะเทียม’ ขึ้น เธอจึงเปรียบให้ ‘ร่างกายของมนุษย์’ เสมือน ‘โรงงานผลิตอวัยวะ’ และใช้วัสดุ ‘ไฟเบอร์กลาส’ เป็นตัวเชื่อมโยงกับอวัยวะเทียม ซึ่งประกอบไปด้วยสมองแฝด และโพรงจมูกที่มีตัวกรองอากาศ

Unseen Viscera’ (2018)

ต้องเล่าก่อนว่า หลังจากการเป็นศิลปินพำนักในประเทศเวียดนาม อลิสาก็หยุดทำงานไปสักระยะ เพื่ออยู่กับตัวเองหลังเหตุการณ์สูญเสียคนที่รักไป แต่ความโหยหาศิลปะยังล้นเหลือ จนกระทั่งเธอปล่อย The Resonance (2020 – onging) ที่ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ การวาดเส้น ประติมากรรม และเสียง ซึ่งเธอบอกกับฉันว่าไม่ต้องการทำอะไรที่ต้องคิดเยอะ หรือซับซ้อนมาก แล้วดรออิ้งให้ตอบโจทย์แนวทางการทำงานศิลปะมากที่สุด และในฐานะที่อลิสาเป็นแฟนตัวยงของเนื้อหนัง เธอจึงหยิบกระบวนการรักษาทางการแพทย์มาเป็นโจทย์อีกครั้ง

“ก่อนหน้านั้นเราสูญเสียคนที่รักไป ซึ่งตลอดระยะเวลาการรักษา เราจะเห็นรอยหัตถการบนเนื้อตัวของเขาตลอด เช่น เจาะ ผ่า หรือเย็บ ซึ่งไม่ว่าจะรักษาเสร็จสิ้น หรือตายไป มันจะทิ้งร่องรอยบางอย่างเอาไว้บนร่างกายที่ไม่เพียงแค่แผลเป็น แต่ผนึกไปด้วยเรื่องของความทรงจำและสิ่งที่เรามีประสบการณ์ต่อแผลนั้นๆ ทำให้เราสนใจการเย็บแผล”

The Resonance (2020)

รอยเย็บไม่ได้เล่าเรื่อง แต่แสดงให้เห็นว่าอลิสา
กลับมาจากความสูญเสียได้อย่างไร

“ร่างกายมีความออร์แกนิกอยู่ในตัว เวลาเราถูกบาดมันไม่ได้เป็นระบบระเบียบเหมือนตอนเย็บ เพราะการเย็บค่อนข้างเป็นแพตเทิร์น แล้วศัลยแพทย์มีวิธีการเย็บที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งภาพเราไม่ได้สื่อเรื่องรอยเย็บอย่างโจ่งแจ้ง แต่มันเล่าถึงกระบวนการที่ทำให้เราจดจ่อ การดึงตัวเองกลับมามีสมาธิขณะทำงาน เพื่อฟื้นฟูอะไรบางอย่าง โดยงานก่อนหน้าคือการคิดแล้วลงมือทำ แต่ครั้งนี้คือการลงมือทำเลย

The Resonance (2020)
The Resonance (2020)

“ชิ้นถัดมาเป็นประติมากรรม ซึ่งมันเกิดขึ้นตอนที่เราอยากอ่านหนังสือ และอยากรู้ว่าหมอเขาเล่าเรื่องอะไรกัน จนไปเจอหนังสือเรื่อง When Breath Becomes Air คีย์เวิร์ดของเขาคือ ‘Disastrous’ แปลว่า สภาวะแตกสลาย หมายถึงการที่ครอบครัวได้ฟังคำวินิจฉัยของลูกชายว่าเป็นสภาวะสมองตาย มันคือจักรวาลที่ล่มสลายของพ่อแม่

The Resonance (2020)

“เราเลยคิดต่อว่า การเจ็บป่วยหรือการตายของคนคนหนึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ร่างกายของเขา แต่ส่งผลมาถึงคนรอบๆ ตัว ซึ่งทั้งสองผลงานดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ความจริงแล้วมันทิ้งร่องรอยไว้ในความทรงจำของเรา และร่างกาย”

The Resonance (2020)

อลิสา คือ ผู้กระตุกความคิดให้สนใจเรื่องสิทธิร่างกายของตัวเอง

ผลงานทุกชิ้นที่อลิสาปล่อยออกมาพูดถึงเรื่องร่างกาย ปรัชญา และชีวิต ซึ่งตีความได้ตามประสบการณ์ของผู้รับชม แต่ตัวของฉันเองก็อดสงสัยไม่ได้ว่า “ในฐานะศิลปิน จริงๆ แล้วผลงานของอลิสาอยากสะท้อนอะไรให้กับคนดู”

อลิสาไม่รีรอกับคำถามของฉัน และตอบอย่างหนักแน่นว่า “เราต้องการสะกิดให้คนดูหันกลับมามองตัวเองในเชิงลึก และตระหนักถึงสิ่งที่เป็นของเราจริงๆ เพราะสิ่งที่หลงเหลืออยู่กับเรา มันคือตัวเรา เรามีสิทธิทุกอย่างในตัวของเรา ไม่ว่าจะเป็นการรักษา หรือการตาย แค่เริ่มต้นจากตัวเองมันเชื่อมไปถึงบริบทอื่นๆ ของสังคมต่อไปได้ เช่น การที่เราอยู่ประเทศนี้ เราได้รับสิทธิ เสรีภาพที่เป็นพื้นฐานของชีวิตอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์หรือเปล่า

“เราเสียเวลาชีวิตของเราไปเท่าไหร่ กับการเจ็บป่วย สิ่งที่มันควรซัปพอร์ตเชิงระบบโครงสร้างทางสังคม มันทำได้จริงไหม ถึงแม้เราจะไม่ได้พูดถึงระบบสาธารณสุขเลย แต่งานจะช่วยสะกิดให้กลับมาคิดว่าเราได้รับสิ่งที่ดีไหมในสิ่งที่เราควรได้ ซึ่งสิ่งเล็กๆ จะขยายให้คนตั้งคำถามต่อระบบอื่นๆ ว่าร่างกายเรา ชีวิตเราเจอแบบนี้ มันเป็นเพราะว่าเราดูแลตัวเองไม่ดีจริงหรือเปล่า หรือเราดูแลตัวเองดีมากแล้ว แต่ได้อะไรกลับมา”

ตลอดการสัมภาษณ์ 2 ชั่วโมง อลิสาช่วย ‘สะกิด’ ให้ฉันหันกลับมาตั้งคำถามหลายๆ อย่างกับชีวิตในตอนนี้ว่า

ทำไมฉันต้องใส่หน้ากากอนามัยมานานกว่า 1 ปี 
ทำไมฉันต้องใช้ชีวิตบนความกลัวโควิด-19 ทั้งๆ ที่ฉันดูแลตัวเองมาอย่างดีตลอด
ทำไมเวลาตื่นขึ้นมาตอนเช้า ฉันเห็นฝุ่นหนาจนแทบมองไม่เห็นยอดตึก
ทำไมฉันต้องก้มหน้าเดินบนฟุตพาท เพราะกลัวตกหลุม
และอลิสายังชวนฉันทบทวนว่า แม้การหายใจซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานในชีวิต แต่เราได้รับอากาศบริสุทธิ์เพื่อหายใจแล้วหรือยัง

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.