เรื่องเล่าคลุกตัวโน้ตของ “ปูม” Seen Scene Space - Urban Creature

ปูม-ปิยสุ โกมารทัต’ หลายคนคุ้นเคยเขาในฐานะผู้ก่อตั้ง Seen Scene Space โปรโมเตอร์จัดคอนเสิร์ตที่พาศิลปินนอกกระแส โซนเอเชียมาให้คนฟังเพลงในไทยได้ทำความรู้จัก แต่ความจริงแล้ว ชีวิตของเขาเติบโตมาคู่กับเสียงดนตรี เริ่มตั้งแต่วันที่เป็นเพียงคนฟัง คนเรียน คนร้อง คนทำเพลง คนทำค่าย ไปจนถึงคนจัดคอนเสิร์ต 

เตรียมเปิดหูฟัง เปิดสมองคิดกับคอนเสิร์ตเดี่ยวของ ‘ปูม-ปิยสุ’ ที่ไม่มีเสียงเพลงในครั้งนี้ แต่มีประสบการณ์คลุกตัวโน้ตกว่า 10  ปีมาเล่าให้ทุกคนฟัง

.

ก้าวแรกจากพี่ชาย

Seen Scene Space

ถ้าพูดถึงก้าวแรก ต้องย้อนไปถึงไหนดี เพราะนานมาแล้วเหมือนกันนะ (หัวเราะ) เอาเป็นตั้งแต่ตอนเด็กๆ เราเป็นลูกคนเล็กที่มีพี่ชาย 2 คน พี่คนหนึ่งฟังเพลงแบบหนึ่ง อีกคนฟังอีกแบบ เราที่ฟังเพลงตามพี่เลยได้รู้จักดนตรีหลากหลาย จนกลายเป็นคนชอบฟังเพลงทุกแนว พอโตมาอีกหน่อยก็ซื้อเทปเปล่ามาอัดเสียงตัวเองร้อง หรือเล่นกีตาร์ แล้วก็เริ่มเล่นดนตรีมาเรื่อยๆ รู้หรือเปล่าว่าตอน ม.ต้น สมัยยุค Modern Dog เราฟอร์มวงกับเพื่อน ทำเพลงแนว Alternative ส่งประกวด Hotwave Music Awards ครั้งที่ 1 ด้วย รอบเดียวกับ Bodyslam ที่สมัยนั้นยังใช้ชื่อว่าวงละอ่อนอยู่เลย แต่วงเราไม่โดนใจใคร ครั้งเดียวก็เลิกแล้ว”

.

ปูม Twice A Day

ช่วงที่เรียนนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ ได้ทำละครเวที เราอยู่ฝ่ายเสียง ทำเพลงอย่างเดียว ก็เหมือนได้เริ่มต้นเส้นทางดนตรีอย่างจริงจังจากตอนนั้น เริ่มศึกษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับทำเพลง ซึ่งระหว่างนั้นก็ยังทำเพลงอยู่กับเพื่อนอีกคนหนึ่ง ช่วยกันเขียน ช่วยกันคิด จนฟอร์มวงชื่อว่า Twice A Day

ตัวเราเองเล่นดนตรีได้เกือบทุกชิ้นนะ อย่างวันนี้ขอดีดกีตาร์ อีกวันตีกลอง บางวันไปจับเบส แต่ไม่เก่งสักอย่าง เป็นสายเป็ดเล่นดนตรี

“พอจบมหาวิทยาลัย เลยเลือกไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา สาขา Recording Art  ซึ่งเรียนทั้งกระบวนการทำเพลง ไม่ว่าจะเป็นโปรดิวเซอร์ แต่งเพลง คอมพิวเตอร์มิวสิก การเรียบเรียง แม้กระทั่งเรื่องการจัดแสงก็ต้องเรียนให้ครบ ซึ่งเราคิดว่ามันเวิร์กมากในการกลับมาทำงานด้านดนตรีครับ แล้วเราได้เห็นความแตกต่างเลยนะ ฝรั่งเขาจะไปสุดทุกทาง ถึงจะไม่ดังก็ขอไปให้สุด เราเคยได้ดู Jason Mraz เล่นสมัยยังไม่ดังด้วยนะ เวทีเล็กๆ ประมาณ 150 คน นั่งดูเขาแล้วก็รู้สึกว่า อืม เจ๋ง”

พี่ปูมเล่าให้ฟังต่อว่า ระหว่างที่เรียนอยู่ Black Sheep ค่ายย่อยของ Sony Music มีโปรเจกต์พิเศษชื่อ Black in USA นำทีมโดยคุณอาร์ต Vacation เพื่อรวบรวมคนไทยที่ทำเพลงอยู่อเมริกา ซึ่งวง Twice A Day ของพี่ปูมก็ร่วมทีมด้วย ส่งเพลง Cause of Monday เข้าอัลบั้มนั้นไป

Seen Scene Space

เมื่อ 15 -16 ปีที่แล้ว Cause of Monday ได้ขึ้นขาร์ต Fat Redio อันดับ 2 ด้วย โห ผ่านมานานมากเลยนะครับ (หัวเราะ) ซึ่งผู้ใหญ่เขาก็ชอบ เลยบอกให้ตะลุยทำอัลบั้มเต็มมาเลย ตอนนั้นเราแต่งเพลงอยู่อเมริกา เพื่อนเป็นนักร้องอยู่ไทย ก็ทำงานส่งกันข้ามทวีป ใช้เวลาปีกว่าถึงสองปีจนเรียนจบ เตรียมตัวแล้วว่ากลับมาไทยจะได้ปล่อยอัลบั้มเต็ม ปรากฏว่าพอมาถึงไทยปุ๊บ Black Sheep เปลี่ยนผู้บริหารปั๊บ (หัวเราะ) พอไปส่งเขาไม่โอเคกับงานเราแล้ว เลยคุยกับเพื่อนว่า เอาไงดีวะ เพลงเราเสร็จพร้อมปล่อยหมดแล้ว ก็เลยมาตกลงกันที่ทำค่ายเองเลย !”

.

ปริณาม มิวสิค

หากใครรู้จักวงปลานิลเต็มบ้าน ชื่อค่ายปริณาม มิวสิคคือนามสกลุต่อท้ายของพวกเขา ซึ่งตั้งแต่วันแรกที่เปิด ปริณามเฟ้นหานักร้องนอกกระแสดีๆ ให้เราฟังมาร่วม 14 ปีแล้ว

ปี 2550 เราตัดสินใจเปิดค่ายเพลงชื่อ ปริณาม มิวสิค (Parinam Music) เหตุผลที่เราทำค่าย คือเริ่มต้นจากการทำเพื่อซัพพอร์ตเพลงของวงเราเอง (หัวเราะ) โดยที่ไม่ตั้งใจนะ แต่พอวงตัวเองได้ปล่อยออกไปแล้ว ก็เริ่มมีความสนุกสนาน เริ่มเปิดห้องบันทึกเสียง ก็เลยประกาศรับศิลปินผ่านเว็บบอร์ด ชวนเพื่อน รุ่นน้องที่ทำเพลงมาทำงานด้วยกัน ตอนนั้นได้มาประมาณ 2 วงเองที่ตรงใจเรา จากนั้นก็คัดเข้ามาเพิ่มครับ”

Seen Scene Space

ตั้งใจให้เป็นค่ายสำหรับเพลงนอกกระแสตั้งแต่แรกเลยไหม ? เราถามกลับไป

ไม่เลยนะ ตอนแรกองค์ประกอบในค่ายไม่มีแพลนอะไรเลย เราปล่อยเพลงทุกแนว ทั้งฮิปฮอป ป็อป อินดี้ ร็อก มีครบหมด พอพูดแล้วย้อนคิดกลับไปไม่น่าทำเลยเนอะ ตัวตนไม่ชัด มันเลยไม่ดัง (หัวเราะ) แต่พอคิดได้ก็มาจบที่เพลงค่อนข้างนอกกระแส ซึ่งช่วงที่เราทำค่ายใหม่ๆ สัก 13 ปีที่แล้ว เพลงอินดี้ค่อนข้างบูมนะครับ มันเป็นยุคที่วงอพาร์ตเมนต์คุณป้ากำลังดังมาก Tattoo Color เพิ่งปล่อยอัลบั้มแรกเลย”

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เราเชื่อว่ามีนักร้องหลายวงที่ทุกคนคุ้นหูเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น ปลานิลเต็มบ้านที่พี่ปูมเล่าให้ฟังว่าเริ่มต้นจากการมาเช่าห้องอัด แล้วได้ยินว่าเพลงเจ๋งเลยชวนเข้าค่ายมาด้วยกัน Gym and Swim วงดนตรีที่ปล่อยเพลงสากลครองใจคนหลายเชื้อชาติทั่วโลก (เราก็เป็นหนึ่งในนั้น) จนได้ไปจัดคอนเสิร์ตที่ต่างประเทศบ่อยๆ หรือวงรุ่นใหม่อย่าง FOLK9 เจ้าของเพลงฮิต ‘แว่นกันแดด’

.

ผู้จัดอินดี้แห่ง Seen Scene Space

ย้อนกลับไปห้าปีที่แล้ว การพาวงดนตรีนอกกระแสต่างประเทศเข้ามาแสดงในบ้านเราค่อนข้างเป็นเรื่องยาก แต่การได้ไปดูเทศกาลดนตรีอินดี้ Hostess Club Bangkok ของผู้จัดจากญี่ปุ่น คือแรงกระตุ้นที่ทำให้พี่ปูมกล้าเสี่ยง ลองจัดคอนเสิร์ตอินดี้ที่มีทั้งวงบ้านเรา และต่างประเทศมาเล่นด้วยกัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องอยู่ในค่ายก็ได้ เพียงรวบรวมวงดนตรีอินดี้และสร้างซีนดีๆ ให้เกิดขึ้นจริง และนี่คือจุดเริ่มของ Seen Scene Space

Seen Scene Space

“ระหว่างที่ทำค่ายปริณาม ด้วยความที่เรามีแต่วงอินดี้ ทำให้บางทีไม่มีงานเล่น เลยจัดงานเล่นกันเอง เช่น ช่วงนี้ไม่มีงานเล่นเลยว่ะ เราก็ไปเช่าบาร์จัดปาร์ตี้ มีวงในค่าย เชิญวงเมืองนอกมาแจมกัน พอทำไปนานเข้ามันก็สนุกดี ประกอบกับสัก 5-6 ปีที่แล้ว เปิดร้านชื่อ ณ นครมินิบาร์ ตรงราชดำเนิน เป็นร้านแนว Life House เราก็คัดแต่วงอินดี้มาเล่น ซึ่งร้านมันเปิดได้แค่ 9 เดือนก็เจ๊งไปนะครับ (หัวเราะ) แต่มันเป็นช่วงเวลาที่เราจัดงานเยอะมาก เพราะเราเอาวงมาหลากหลาย แล้วตอนที่ทำมันต้องโปรโมท ขายบัตร เลยเข้าใจกระบวนการจัดงานมาบ้างเล็กๆ น้อยๆ ก็สะสมมาตลอดครับ จนสุดท้ายคลอด Seen Scene Space ออกมาเมื่อปี 2014 ที่เป็นอีกขาหนึ่งของปริณาม มิวสิค

Seen แรกคือการมองเห็น
Scene ที่สองคือการแสดง
Space คือพื้นที่
Seen Scene Space คือการสร้างพื้นที่ให้คนมาจอยกับคอนเสิร์ต

“ตอนนั้นในค่ายเรามีวง Gym and Swim, Seal Pillow และ Wave and So แล้วก็ชวน Safe Planet, Slur, Hariguem Zaboy, Summer Dress ฯลฯ มาแจม แล้วน้องในวง Wave and So ก็ทักขึ้นมาว่า ทำไมเราไม่เอาวงต่างปะรเทศมาเล่นด้วยล่ะพี่ นั่นแหละครับ เราเลยเชิญ The fin. มาสนุกด้วยกัน และผลตอบรับดีมากๆ จนเราตกใจ มีคนตั้งใจมาดูเยอะมากจนเรางง เราเลยเริ่มติดต่อศิลปินจากต่างประเทศเข้ามาเล่นแจมด้วยกันเรื่อยๆ”

.

ศิลปินแบบนี้แหละที่ใช่

“เอาตรงๆ การคัดเลือกเริ่มมาจากความชอบของเราก่อนเลย (หัวเราะ) ส่วนทีมหาศิลปินส่วนใหญ่คือศิลปินในค่ายครับ ทุกคนจะพร้อมใจกันเสนอแนะ เราก็เอามาฟังดู หรือบางทีไปเจอเองก็มีเหมือนกันครับ เราจะไปฟังว่าชอบหรือเปล่า ฟังจนกลายเป็นแฟนเพลงเขา จนรู้สึกว่า เฮ้ย ต้องเอามาว่ะ ! อย่างบางวงฟังแล้ว โห ฟังได้ทุกเพลงเลย ต้องเอามาเล่นแล้ว เหมือนทดลองเป็นผู้ฟังก่อนจะให้คนมาคอนเสิร์ตได้ฟัง

Seen Scene Space

“ซึ่งตอนแรกเราไม่ได้วางไว้ว่าจะต้องเป็นศิลปินเอเชียเท่านั้น แต่มันดันจับพลัดจับผลูมาจากสิ่งที่เราชอบ เริ่มตั้งแต่ The fin. วงอินดี้ร็อกจากญี่ปุ่น หลังจากนั้นก็เป็นวงเอเชียมาเรื่อยๆ ครับ จนเรามีคอนเนคชันเยอะ ซึ่งจริงๆ ไม่ได้ตั้งใจว่าจะยึดเอเชียเป็นหลักนะ เลยมีวง Prep หรือ Hippo Campus เข้ามาบ้าง”

Seen Scene Space

คอนเสิร์ตไหนที่รู้สึกว่า Seen Scene Space แตะจุดพีคจนชัดอยู่ในซีนดนตรีแล้ว ? 

“โห ต้องคอนเสิร์ต Prep ครั้งแรกเลยครับ มันเป็นการพิสูจน์จริงๆ ว่า Seen Scene Space มีแฟนแล้ว ซึ่งตอนนั้นวง Prep ยังไม่ดัง ในบ้านเขาเองยังไม่ค่อยมีคนรู้จักเลยด้วยซ้ำ อยู่มาวันหนึ่งเขาประกาศว่า อยากมาเล่นในเอเชียจังเลย โปรโมเตอร์เจ้าไหนก็ได้จ้างเขามาเล่นที เราเลยติดต่อไป เขาบอกว่าจะมาเลยภายใน 3 สัปดาห์ เราก็งงเลย แล้วก็ค่อนข้างตกใจมาก

“แต่เราชอบเพลงเขามาก เลยเริ่มโปรโมทที่หน้าเพจ โพสต์เพลง สร้างโปรไฟล์ให้เขา หลายคนที่มาตอนนั้นบอกว่า ไม่รู้จัก Prep แต่คิดว่าถ้าเป็น Seen Scene Space ต้องดีแน่ มันเหมือนเครื่องพิสูจน์ว่า เออ เรามีแฟนแล้วว่ะ เขาไว้ใจให้เราเป็น curator เลยตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด อุดรอยรั่วให้เหลือน้อย หยิบประสบการณ์การดูคอนเสิร์ตมาใช้ แล้วถ้าครั้งไหนมีคอมเพลนจุดผิดพลาดยังไง จะเก็บไปแก้ไข พยายามไม่ให้ครั้งต่อไปเกิดขึ้นอีก”

.

ซีน Seen Scene Space ในวันข้างหน้า

ยังคงเป็น Seen Scene Space ที่มีเป้าหมาย คือการอยากพาวงเจ๋งๆ ที่อยากให้คนไทยได้ดูมาเล่นคอนเสิร์ต แต่ไม่ได้อยากพาวงที่คนไทยอยากดูมา เราเลยไม่เคยคิดว่าต้องไปสู้กับใครเขา เราวางตัวเองอยู่เท่าที่เราเป็นครับ มีความสุขกับการได้ค้นพบวงใหม่ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ แล้วได้เห็นเขาโต เห็นคนไทยได้ฟังเพลงดีๆ ที่เราคัดเลือกมา

Seen Scene Space

ก่อนกลับจากการพูดคุยครั้งนี้ ในฐานะที่พี่ปูมคือหัวเรือใหญ่แห่ง Seen Scene Space เราจึงไม่พลาดให้เขาจัดเพลย์ลิสต์ที่คนตาม Seen Scene Space ต้องได้ฟังมาฝากกัน

.

  1. No Busses – Pretty Old Man : เป็นเพลงจากวงญี่ปุ่นครับ  จังหวะสนุกสนาน เมโลดี้สวย ฟังแล้วสนุกเลย คิดว่าคนไทยน่าจะชอบ และเราตั้งใจจะเอามาเร็วๆ นี้เหมือนกัน 
  2. Temp – Fortune Teller : วงไทยที่เราอยากให้ฟัง และเชื่อว่าหลายๆ คนรู้จักแล้ว รับรองว่าชอบแน่ๆ 
  3. MISO – Take Me : ศิลปินหญิงจากเกาหลี ที่พูดได้เลยว่า นี่แหละ เขาคือ Seen Scene Space สุดๆ เลย
  4. 92914 – Sunset : ชอบมากๆ ครับ เพลงดีมากเลย
  5. Prep – Line by Line : ไม่พูดถึง Prep คงไม่ได้ (หัวเราะ) 
  6. Tempalay – 大東京万博 : อีกหนึ่งวงญี่ปุ่นที่เพลงดีมากครับ กำลังจีบๆ เขามา
  7. Gym and Swim feat.Sunset Rollercoaster – Don’t Leave Me Behind : อยากให้คนไปลองฟังเขาดูครับ
  8. DIIV – Blankenship : อันนี้อาจจะเป็นเพลงออกแนว Have You Heard? นิดๆ แต่อยากให้แฟน Seen Scene Space เปิดใจฟังดู
  9. Lucky Tapes – Actor : คนคุ้นเคยกันดี กับเพลงใหม่ของเขาครับ
  10. SE SO NEON – Midnight Train : ศิลปินเกาหลีที่เพลงดีจริงๆ ครับ

Spotify Link : 10 เพลงที่แฟน Seen Scene Space ต้องฟัง

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.