เสวนา ‘เสียงจากคนรุ่นใหม่สู่สังคมที่ยั่งยืน’ - Urban Creature

เพราะประเทศไทยยังมีปัญหาและความท้าทายอย่างรอบด้าน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการพัฒนาภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) UNDP Thailand จึงจัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อ ‘ช้างทั้งตัว ใบบัวปิดไม่มิด เสียงจากคนรุ่นใหม่สู่สังคมที่ยั่งยืน’ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 บริเวณชั้น 3 ตึกสามย่านมิตรทาวน์

ภายในงานมีการจัดแสดงภาพถ่ายของเยาวชนผู้ชนะการแข่งขันเรียงความภาพถ่ายในหัวข้อเดียวกัน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความท้าทายสังคมไทยที่รู้ว่ามีอยู่ แต่กลับไม่แก้ไขอย่างตรงจุด

เสียงจากคนรุ่นใหม่สู่สังคมที่ยั่งยืน เสวนาชี้ปัญหาช้างๆ ในสังคมไทย ภายใต้โครงการ SDG Localization

ผู้ร่วมเสวนาครั้งนี้มาจาก 4 วงการ ได้แก่ ‘เชอร์รี่ เข็มอัปสร’ นักแสดงและนักขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมและธุรกิจเพื่อสังคม ‘ดร.เพชร มโนปวิตร’ นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ ‘ศุภณัฐ มีนชัยนนท์’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล และ ‘นันทกร วรกา’ เยาวชนผู้ชนะการแข่งขันเรียงความภาพถ่ายในหัวข้อ ‘ช้างทั้งตัว ใบบัวปิดไม่มิด’ เพื่อร่วมตีแผ่ประเด็นสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนต่อด้วยความหวัง โดยประเด็นที่ผู้ร่วมเสวนาแต่ละคนให้ความสำคัญ มีดังนี้

ดร.เพชร มโนปวิตร กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของการพัฒนาที่ยั่งยืนคือการประเมินตัวชี้วัดในการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศที่เหมาะสม เพราะประเทศกำลังพัฒนามักมองว่าต้องเริ่มพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ก่อนจะไปสนใจพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม แต่กลับลืมคิดไปว่าต้นทุนของสิ่งแวดล้อมจะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ทั้งยังก่อให้เกิดกลุ่มเปราะบางและชายขอบมากขึ้น ดังนั้นประเทศของเราควรจะพัฒนาทั้งสองมิตินี้ควบคู่กันไป

เสียงจากคนรุ่นใหม่สู่สังคมที่ยั่งยืน เสวนาชี้ปัญหาช้างๆ ในสังคมไทย ภายใต้โครงการ SDG Localization

เชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ ย้ำว่า SDGs เป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว แต่เรายังขาดการลงมือทำอย่างต่อเนื่อง การทำควบคู่กันอย่างบูรณาการ และประสานกันในทุกภาคส่วน เพราะเรากำลังจะเผชิญกับหายนะทางสภาพอากาศ (Climate Catastrophe) ที่จริงจังและรุนแรงมากขึ้น หากไม่ร่วมมือกันตอนนี้จะเป็นเรื่องยากมากที่จะหยุดยั้งผลกระทบได้ทัน

ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ เปิดเผยมุมมองหลังจากเข้ามาทำงานเป็นสภาผู้แทนราษฎรว่า ช้างตัวใหญ่ที่สุดคือการแก้ไขปัญหาเรื่องโครงสร้างในระยะยาว แต่การสื่อสารระหว่างประชาชนกับภาครัฐยังคงเป็นเรื่องยาก ถ้าวันนี้เรามีการกระจายอำนาจอย่างทั่วถึง (Localization) เพื่อรับฟังปัญหาจากประชาชนอย่างจริงจัง ปัญหาเรื่องโครงสร้างอย่างน้ำประปาไม่สะอาดก็จะถูกแก้ไขอย่างตรงจุดมากขึ้น

เสียงจากคนรุ่นใหม่สู่สังคมที่ยั่งยืน เสวนาชี้ปัญหาช้างๆ ในสังคมไทย ภายใต้โครงการ SDG Localization

นันทกร วรกา พูดถึงการสร้างสังคมที่ยั่งยืนในฐานะเยาวชนว่า เรามีโลกใบเดียว ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าประเทศไทยเปลี่ยนการกระจายอำนาจจาก Top-down เป็น Bottom-up กลุ่มเยาวชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกของเราได้มากขึ้น ใครที่สนใจเข้าไปชมผลงานภาพถ่ายของ นันทกร วรกา ได้ที่ bit.ly/40FkAK7

กิจกรรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ประเทศไทย’ หรือ ‘SDG Localization’ จากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับ UNDP โดยมีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และสหภาพยุโรป เป็นผู้สนับสนุนและร่วมดำเนินการ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าสู่เป้าหมายทั้ง 17 ข้อได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.