รออีกร้อยปี หรือ พรุ่งนี้ก็มา ? จากล้ำสมัยเป็นร่วมสมัย เมื่อพล็อตหนัง sci-fi กลายมาเป็นชีวิตประจำวัน - Urban Creature

ครั้งหนึ่งในอดีต สมัยที่เรายังใช้ชีวิตอยู่ในถ้ำหรือในกระท่อมที่สร้างขึ้นง่าย ๆ จากไม้และใบฟาง เมื่อเราหิว ทางเลือกเดียวที่เรามีก็คือการเสี่ยงชีวิตออกจากบ้านเพื่อไปหาอาหารในป่า อาจเป็นการล่าสัตว์หรือขุดหาพืชผักกินประทังชีวิต เมื่อมีกิน ก็ต้องกินจนอิ่มท้องที่สุด เพราะเราไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าเราจะสามารถหาอาหารได้ในการหิวครั้งต่อไป ตัดกลับมาที่ปัจจุบัน ทุกวันนี้เมื่อเราหิว เรามีทางเลือกมากมายนับร้อยพันในการออกไปหาอาหารกิน หรือแทบไม่ต้องออกจากบ้านก็มีอาหารมาส่งจากบริการมากมายใน Application ที่อยู่ในโทรศัพท์ สิ่งเหล่านี้ใช้เวลาวิวัฒนาการผ่านเวลานับพัน ๆ ปี ผ่านกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นผลผลิตอันวิเศษที่สุดของมนุษย์ เราอาจจะไม่ใช่เผ่าพันธุ์ที่งดงามหรือยิ่งใหญ่อะไร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราได้เดินทางมาไกลจากการหาของป่า ล่าสัตว์ ในสมัยที่ยังเป็นมนุษย์ถ้ำมาก

ซึ่งจินตนาการของมนุษย์ คือตาน้ำแห่งความเป็นไปได้อันไร้ขอบเขตในโลกวิทยาศาสตร์ นอกจากนักวิทยศาสตร์ เจ้าของทฤษฏีและสิ่งประดิษฐ์ผู้โด่งดังและได้รับการยกย่องทั้งหลาย เรายังมีนักวิทยาศาสตร์อีกแขนงหนึ่ง ที่งานของพวกเขาคือการจิตนาการความเป็นไปได้เหล่านั้น และสร้างมันออกมาเป็นผลงานทางงานเขียน ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ส่วนมากก็ได้รับแรงบันดาลใจจากงานเขียนแนววิทยาศาสตร์ และที่น่าตื่นเต้นก็คือ สำหรับผู้คนในยุคสมัยเราก็โลกอ้าแขนรับเทคโนโลยีดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ ทุกวันนี้ เราแทบจะแยกไม่อกแล้วว่า เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในโลกจริง หรือในหนังไซไฟกันแน่ ? เหล่านี้เป็นตัวอย่างของเทคโนโลยีอันน่าตื่นตาจากภาพยนตร์และนิยายทางวิทยาศาสตร์ ที่สามารถพูดได้ว่า เข้าใกล้ความเป็นจริงขึ้นไปทุกวันในโลกปัจจุบันของเรา

A trip to the moon – ภาพยนตร์ที่เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจในการสร้างกระสวยอวกาศ

ภาพนิ่งจากเรื่อง a trip to the moon (1902) ภาพยนตร์แนวไซไฟเรื่องแรก ๆ ของโลกโดยจอร์จ เมลิเยส์ สร้างโดยได้รับแรงบันดาลใจจากนวนิยายแนววิทยาศาสตร์ของ จูลส์ เวิร์น ที่ว่าด้วยการผจญภัยของนักสำรวจอวกาศยุคเริ่มต้น นอกเหนือจากความสำเร็จทั้งด้านชื่อเสียงและรายได้ a trip to the moon ยังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับแนวคิดในการสร้างจรวด กระสวยอวกาศยุคเริ่มต้นอีกด้วย

ชีวิตประจำวันที่มีสมองกลช่วยดำเนินการ –  Her

Her หนังโรแมนติกไซไฟในดวงใจใครหลาย ๆ คน เรื่องราวของนักเขียนจดหมายหนุ่มผู้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกส่วนตัวแสนเหงา ที่ไปตกหลุมรักกับระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ล่าสุดของเขาเอง ตัวภาพยนตร์เล่าถึงความเหงาของคนเมืองและความอ่อนแอของผู้คนในยุคที่เทคโนโลยีกลมกลืนผสานไปกับชีวิตประจำวันได้อย่างน่าชื่นชม ซึ่งอีกสิ่งหนึ่งเราจะเห็นได้ในภาพยนตร์ก็คือ แทบจะทุกกิจกรรมของชีวิตประจำวันจะถูกดำเนินการผ่านระบบปฏิบัติการที่ใกล้ชิดกับมนุษย์และมีความเป็นมนุษย์อยู่สูงมาก ซึ่งแทบจะไม่ต่างอะไรกับทุกวันนี้ที่เราทุกคนมีผู้ช่วยที่สั่งการด้วยเสียงกันอยู่ใน Smartphone การตกหลุมรักระบบ OS ในภาพยนตร์อาจจะเป็นเรื่องที่เกินวิสัยของมนุษย์ปกติมากไปหน่อย แต่ก็คงจะเป็นในอนาคตอันใกล้นี้แหละ ที่เราอาจจะได้เห็นความสัมพันธ์รูปแบบนี้เกิดขึ้นจริง ๆ ในยุคที่ช่องว่างของคนเราถูกแทนที่ด้วยเสียง และบทสนทนาอันอ่อนโยนที่ไร้ที่มาของผู้พูด

ท่องอวกาศแบบ First Class – 2001 a space odyssey

นอกจากคำกล่าวขวัญในด้านความยิ่งใหญ่ของงานภาพและประสบการณ์สุดเหวอ ภาพยนตร์อภิปรัชญาไซไฟรุ่นคุณตาเรื่องนี้ยังทำนายอนาคตทางเทคโนโลยียุคปัจจุบันได้อย่างแม่นยำจนอดอมยิ้มไม่ได้ ภาพยนตร์พูดถึงอนาคตของมนุษยชาติในยุคที่การเดินทางในอวกาศไม่ใช่เรื่องที่ยากลำบากและจำกัดไว้เพียงสำหรับนักบินอวกาศและนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่การเดินทางในอวกาศได้กลายมาเป็นระบบขนส่งมวลชนแบบหนึ่ง คล้ายกับการขึ้นเครื่องบิน มีสถานีอวกาศ มีแอร์โฮสเตส มีตู้โทรศัพท์ที่โทรแบบ Face Time ได้ มีแม้กระทั่ง ipad ซึ่งก็ต้องยกเครดิตให้กับ Arthur C Clarke และ Stanley Kubric ที่แบ่งปันจินตนาการจนได้วิสัยทัศน์อันบรรเจิดในบทภาพยนตร์ออกมา

ซึ่งการเดินทางในอวกาศนี้ ดูจะใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นทุกวันเช่นกัน ปัจจุบันเรามีกระสวยอวกาศที่ประหยัดค่าเชื้อเพลิงลงได้มาก ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศและกลับลงจอดที่ฐานปล่อยได้เอง และสามารถใช้งานได้หลายครั้ง ทำให้การเดินทางในอวกาศมีต้นทุนที่ลดลง และความปลอดภัยที่เพิ่มมากขึ้น ภายในไม่กี่สิบปีหลังจากนี้ เราอาจจะเดินทางด้วยกระสวยอวกาศ ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเพื่อเดินทางกลับมายังจุดหมายบนโลก หรือนอกโลกได้โดยไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่อีกต่อไป

ให้จักรกลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน – iRobot

ไม่เพียงแต่ระบบปฏิบัติการ Software ที่ช่วยเราในด้านการบริหารและการจัดการสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ในด้านแรงงาน เรายังมี Hardware ซึ่งก็คือเหล่าหุ่นยนตร์ทั้งหลาย ที่คอยทำงานต่าง ๆ ให้เรา ไล่ตั้งแต่งานชิ้นใหญ่ที่ต้องใช้แรงงานมากอย่างการสต็อกสินค้าในโกดัง ไปจนถึงงานที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนอย่างการสร้างแผงวงจร การมีหุ่นยนตร์เป็นผู้ช่วย และเป็นอีกหนึ่งแรงงานในการผลิตไม่ใช่สิ่งใหม่ หากแต่เป็นวิธีซึ่งมีมานานมาก ๆ แล้วในประวัติศาสตร์ นับย้อนไปตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งนี่เป็นความจริงและเป็นความอันตรายอย่างมากที่หุ่นยนตร์จะมาแย่งงานของมนุษย์จริง ๆ ในสักวันหนึ่ง เป็น Dystopia ของแท้ที่มนุษย์ต้องเผชิญสักวันหนึ่งในอนาคต  ไม่แพ้ภัยอันตรายที่ตัวละครของ Will Smith ต้องเจอในภาพยนตร์เลยทีเดียว

ใช้ชีวิตในโลกเสมือนจริง – Matrix

ด้วยเทคโนโลยี VR โลกเสมือนจริงที่พัฒนาและเป็นที่นิยมขึ้นทุกวันแบบนี้ นอกจากจะสิ่งใหม่ที่มาเพิ่มสีสันด้านความบันเทิงแล้ว Virtual Reality ยังก้าวข้าม และมอบประโยชน์ให้กับวงการอื่น ๆ อีกมาก คอยเป็นแบบจำลองในการฝึกฝนทั้งวงการการแพทย์ และการกลาโหม และมีแนวโน้มที่จะพัฒนากลายเป็น Next Social media คือการพัฒนาไปเป็นสังคมย่อม ๆ อีกสังคมหนึ่งที่เราสามารถก้าวข้ามไปใช้ชีวิตภายในนั้นได้ ทำให้เรานึกถึงเรื่อง Matrix ที่ความเป็นจริงกับโลกเสมือนจริงแยกกันแทบไม่ค่อยออก จนคนบางคนเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ในโลกเสมือนจริงมากกว่าโลกแห่งความเป็นจริงที่กายเนื้อของเราดำรงอยู่

เลือกเก็บ หรือลบทิ้ง ความทรงจำในสมอง – Eternal Sunshine of the spotless mind

จะเป็นเรื่องดีแค่ไหน หากเราสามารถเลือกจำเพียงความทรงจำที่ดี และเลือกกำจัดความทรงจำที่กัดกินหัวใจเราให้สูญสิ้นไป

ความทรงจำเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นประสบการณ์ที่เราเก็บไว้สอนและบันดาลใจตัวเอง ตัวละครของ Jim Carrey ในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ตัดสินใจลบความทรงจำอันขมขื่นของตนเองเกี่ยวกับหญิงสาวผู้เป็นที่รักทิ้ง เพื่อที่จะใช้ชีวิตต่อไปโดยไม่มีเธอ ซึ่งในความเป็นจริง ณ ปัจจุบัน การลบความทรงจำที่เราไม่ต้องการทิ้งนั้น อาจเป็นไปได้เร็วกว่าที่เราจินตนาการไว้ จากการทดลองของนักประสาทวิทยาที่ New York University พบว่าเขาสามารถที่จะทำให้หนูทดลอง ‘ลบล้าง’ ประสบการณ์และความกลัวในอดีตได้ ด้วยการใช้ยาที่ไปสกัดกั้นการเปลี่ยนแปลงโปรตีนในสมอง ซึ่งเป็นการทำให้หนูทดลองลืมความกลัวนั้นไปเพียงชั่วขณะ แต่ความกลัวเหล่านั้นก็ยังตกค้างอยู่ในจิตใต้สำนึกอยู่ ไม่ใช่การลบล้างที่หมดจดสมบูรณ์ แต่ก็เป็นอีกก้าวหนึ่งที่น่าจับตาของวงการประสาทวิทยา

เหล่านี้เป็นเพียงความเป็นไปได้จำนวนหนึ่งของทฤษฏีทางวิทยาศาสตร์ในภาพยนตร์ ยังมีความเป็นไปได้อีกมากมายหลายอย่างที่มีแนวโน้มทีจะเกิดขึ้น ทั้งเรื่องที่เป็นประโยชน์กับมนุษย์ และเรื่องที่อาจต้องเฝ้าระวังภัยหากมันเกิดขึ้น แต่แท้จริงแล้วจุดประสงค์การเกิดขึ้นของทุกวิทยาการและทคโนโลยีก็เพื่อรับใช้ และทำให้การเป็นอยู่ของมนุษยชาติเป็นไปได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าเทคโนโลยีใดที่จะเกิดขึ้นจริงต่อไป เจตนาที่แท้จริงของมันก็เพื่อทำให้โลกนี้เป็นที่ ๆ ดีมากขึ้นสำหรับลูกหลานของเรารุ่นต่อไป

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.