#saveทับลาน ประเด็นปัญหาที่ดินทับซ้อน 2.6 แสนไร่ - Urban Creature

จากกรณีที่สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเรื่องการปรับปรุงแนวเขตพื้นที่อุทยานฯ กับปัญหาที่ดินทับซ้อน 2.6 แสนไร่ ผ่านช่องทางออนไลน์ภายในวันที่ 12 ก.ค. 2567 จนเกิดกระแสในโซเชียลมีเดียขึ้นช่วงที่ผ่านมา ทำให้หลายคนสงสัยว่า ‘#saveทับลาน’ คืออะไร

#Saveทับลาน

#saveทับลาน มาจากปัญหาที่เกิดขึ้นใน ‘อุทยานแห่งชาติทับลาน’ ป่าลานที่ขึ้นเองตามธรรมชาติแห่งสุดท้ายของประเทศไทย และเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติโดยยูเนสโก ตั้งแต่ปี 2548 ภายใต้ชื่อ ‘กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่’ ที่ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดนครราชสีมาและปราจีนบุรี 

แต่เมื่อวันที่ ​​25 มกราคม 2567 คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้รับมติ ครม. ที่เห็นชอบข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เรื่อง ‘การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (ONE MAP)’ คือการเสนอให้กำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานใหม่ ตามแนวเขตที่เคยทำการสำรวจไว้ในปี 2543 โดยแนวเขตที่ถูกเสนอมานี้จะส่งผลให้พื้นที่ของอุทยานฯ หายไปกว่า 265,286.58 ไร่

#Saveทับลาน

ประเด็นดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงของคนหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่อุทยาน ชาวบ้าน และประชาชนที่สนับสนุน-ไม่สนับสนุนการปรับแนวเขตใหม่ ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีเหตุผลสนับสนุนของตนเองที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนต่างกันออกไป

เพราะพื้นที่กว่า 2.6 แสนไร่นี้ เป็นพื้นที่ซ้อนทับกับแปลงที่กรมอุทยานฯ เคยดำเนินคดีรีสอร์ต ที่พัก และผู้บุกรุกกว่า 500 ราย และคดีส่วนใหญ่ยังไม่สิ้นสุดอายุความ ทำให้ใครหลายคนเกิดข้อกังวลว่า การตัดพื้นที่ซ้อนทับเหล่านี้ออกไปอาจทำให้คดีรุกป่าของกลุ่มทุนถูกยกฟ้อง ซึ่งในกรณีนี้ อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้ยืนยันว่า การกำหนดแนวเขตใหม่จะไม่มีผลต่อคดีรีสอร์ต 400 กว่าแห่ง เนื่องจากเป็นคนละประเด็นกับการเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ

#Saveทับลาน

ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ทับซ้อนจังหวัดนครราชสีมาและปราจีนบุรีมองว่า การปรับแนวเขตใหม่จะทำให้ชาวบ้านมีพื้นที่ทำกินที่จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต และเป็นการแก้ปัญหาเรื่องสิทธิถือครองที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่ทับซ้อนกับพื้นที่อุทยานฯ จึงเห็นด้วยกับการแบ่งพื้นที่ดังกล่าว

สอดคล้องกับฝ่ายสนับสนุนชาวบ้านที่เห็นด้วยกับการปรับแนวเขตใหม่นี้ เพราะมองว่าแนวเขตของอุทยานฯ เดิมเป็นผลจากนโยบายสมัยรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่ต้องการจัดการกับคนที่เข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ให้กลับออกมาเป็นผู้พัฒนาชาติไทย โดยประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลานปี 2524 ซึ่งทับซ้อนกับที่ดินทำกินของชาวบ้านที่ใช้ชีวิตร่วมกับป่ามาก่อน ดังนั้นการยึดตามแนวเขตปี 2543 จะเกิดประโยชน์กับชาวบ้านมากกว่า

#Saveทับลาน

ถึงอย่างนั้น ด้านมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ให้ความเห็นต่อประเด็นที่ดินของชาวบ้านในเขตป่าอนุรักษ์ว่า ปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้โดยการสำรวจที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของชุมชนทั้งกลุ่มที่อยู่อาศัยมาก่อนการกำหนดเขตอุทยานฯ ในปี 2524 และการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับประชาชนผู้ยากไร้อย่างถูกกฎหมาย โดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของบุคคล

ข้อเสนอของมูลนิธิสืบฯ อาจช่วยแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างที่อยู่อาศัยเดิมของประชาชนกับอุทยานฯ ให้อยู่ร่วมกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องแบ่งพื้นที่ป่าบางส่วนออก เพราะการจัดแนวเขตใหม่นี้ยังถูกมองว่าเป็นการแบ่งพื้นที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน และอาจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ส่งผลเชิงลบให้พื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ที่มีพื้นที่ทับซ้อนในลักษณะเดียวกันทั่วประเทศ

#Saveทับลาน

อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานได้ที่ t.ly/odog_


Sources :
Thai PBS | t.ly/UpDDC, t.ly/jCe9I, t.ly/PEri9
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร | t.ly/a8JzJ, t.ly/MXROs 

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.