ช่วงไม่กี่ปีมานี้ ‘การท่องเที่ยวชุมชน’ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการท่องเที่ยวที่คนไทยให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นการเดินทางที่ไม่ได้ให้แค่ความสนุกหรือการพักผ่อนหย่อนใจอย่างเดียว แต่ยังเป็นการพัฒนาท้องถิ่นและส่งเสริมความยั่งยืนให้กับสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมด้วย
ถึงอย่างนั้นความท้าทายสำคัญของการท่องเที่ยวประเภทนี้คือการออกแบบพื้นที่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับชุมชน ขณะเดียวกันก็ต้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรท้องถิ่น รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด
คอลัมน์ Urban Guide ขอชวนทุกคนล่องใต้ไปที่อำเภอละงู จังหวัดสตูล ร่วมกับมูลนิธิเอสซีจี (SCG Foundation) เพื่อสัมผัสอีกหนึ่งเมืองรองของไทยที่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการท่องเที่ยวชุมชนกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ที่สำคัญ การจัดการแหล่งท่องเที่ยวของดินแดนชายฝั่งทะเลอันดามันแห่งนี้ยังเกิดจากความร่วมมือระหว่างเครือข่ายท้องถิ่น และเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่กลับมาพัฒนาบ้านเกิด จนหลายๆ คนกลายเป็นต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในชุมชน
‘ต้นกล้าเป็ด’ จากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสู่นักจัดการท่องเที่ยวชุมชน
ความพิเศษของการเดินทางครั้งนี้คือ เรามีไกด์ท้องถิ่นที่พาไปสัมผัสธรรมชาติและวัฒนธรรมของสตูลตามแบบฉบับคนท้องถิ่น นั่นคือ ‘เป็ด-จักรกริช ติงหวัง’ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ที่ตอนนี้หันมาทำงานด้านการท่องเที่ยวชุมชนอย่างเต็มตัว โดยปัจจุบันเป็ดเป็นประธานกลุ่มการท่องเที่ยวชุมชนบ้านหลอมปืน
มากไปกว่านั้น เป็ดยังเป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง ‘ต้นกล้าชุมชน’ จากโครงการ ‘Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด’ แนวคิดจากมูลนิธิเอสซีจีที่ต้องการให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่เรียนรู้ ปรับตัว พร้อมรับมือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เน้นไปที่การเรียนรู้ตลอดชีวิตซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนเท่านั้น
เป็ดเล่าให้ฟังว่า ตัวเองเป็นลูกหลานชาวประมงที่เกิดและโตในพื้นที่อ่าวทุ่งนุ้ย บ้านหลอมปืน ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล เขาเริ่มทำงานชุมชนตามรอยพ่อในงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ระบบนิเวศเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพในระดับท้องถิ่น
“ผมเคยทำงานเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดตรังและประจวบคีรีขันธ์อยู่หลายปี หลังจากทำงานภาคสนามจนเริ่มรู้สึกอิ่มตัว ประกอบกับช่วงนั้นคุณแม่ป่วยเป็นมะเร็ง ผมเลยตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่บ้านหลอมปืน และหันมาทำงานเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนอย่างเต็มตัว เพราะมันคือความฝันที่ผมอยากจะทำอยู่แล้ว” เป็ดเล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำงานท่องเที่ยวชุมชนให้เราฟังพลางยิ้ม
เรียนรู้เชิงนิเวศที่ชุมชนหลอมปืน
สถานที่แรกที่เป็ดพาเราไปคือ ‘แหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศน์ ชุมชนบ้านหลอมปืน’ เริ่มด้วยกิจกรรมการเดินดูป่าชายเลนขนาด 85 ไร่ที่คนท้องถิ่นปลูกขึ้นมาใหม่ โดยมีวิทยากรจากแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศน์ ชุมชนบ้านหลอมปืน พาเราเดินสำรวจและคอยให้ความรู้เกี่ยวกับป่าชายเลนและพันธุ์ไม้ในพื้นที่
หลังจากนั้นเราก็มีโอกาสพายเรือคายักผ่านผืนป่าชายเลน เพื่อเดินทางไปสัมผัสเสน่ห์ของชาวประมงบริเวณ ‘อ่าวทุ่งนุ้ย’ ซึ่งเป็นฐานทัพทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของที่นี่ ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ทำให้เราได้เห็นวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น รวมถึงธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของสตูลไปพร้อมๆ กัน
“ในอดีตชาวบ้านใช้ประโยชน์จากอ่าวในช่วงฤดูฝนด้วยการนำวัวควายมาเลี้ยงบริเวณริมคลองตีโร๊ะ คลองแป๊ะสน รวมถึงมีการเลี้ยงปลานิล ปลาดุก ปลาสวาย เลี้ยงกุ้งในบ่อเลี้ยง ส่วนคนนอกพื้นที่มักเข้ามาจับสัตว์น้ำอยู่เสมอ แต่หลังเหตุการณ์สึนามิปี 2547 อ่าวทุ่งนุ้ยกลายเป็นที่โล่ง ไม่มีต้นไม้ และมีสภาพอากาศร้อน ทางผู้นำชุมชนจึงปลูกป่าร่วมกับนักเรียน นักศึกษา และคนในชุมชน ทำให้ป่าเริ่มกลับมาเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชาวบ้าน” เป็ดเล่าถึงความเป็นมาของอ่าวทุ่งนุ้ยให้ฟัง
“แต่หลังจากป่าเริ่มฟื้นตัว บริเวณชายหาดทุ่งนุ้ยกลับกลายเป็นสถานที่มั่วสุมของวัยรุ่นที่มักมานั่งดื่มของมึนเมาและก่อเหตุทะเลาะวิวาท ชุมชนจึงพัฒนาพื้นที่แหล่งทุ่งนุ้ยให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศสำหรับคนภายในและภายนอกชุมชน เพื่อสร้างรายได้และเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรของชุมชนไปในตัว”
ดูผ้ามัดย้อมสกัดสีดินท้องถิ่นที่ปันหยาบาติก
ในวันถัดมา เราเริ่มต้นวันกันที่ ‘ปันหยาบาติก’ สถานที่ผลิตผ้ามัดย้อมที่ใช้สีจาก ‘ดินหินปูนผุ’ หรือ ‘ดินเทอร์ราโรซา’ ซึ่งพบในเขตพื้นที่อุทยานธรณีโลก จังหวัดสตูลเท่านั้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่เป็ดจะพาลูกทัวร์มาเยือนอยู่เสมอ
สีสันที่ได้จากดินเทอร์ราโรซาคือสีกาบมะพร้าว ดูสบายตา ไม่ฉูดฉาด อีกหนึ่งข้อดีของสินค้าจากปันหยาบาติกคือความปลอดภัย เพราะที่นี่ใช้ทั้งวัตถุดิบและกระบวนการที่มาจากธรรมชาติและทำมือทุกชิ้น โดยระหว่างที่เราสำรวจร้านก็มีโอกาสเห็นตัวแทนจากปันหยาบาติกกำลังวาดลวดลายบนผ้าบาติกอย่างประณีตบรรจง
เสน่ห์บนผืนผ้าของปันหยาบาติกคือลายฟอสซิล ที่ดึงดูดความสนใจจากลูกค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะลวดลายฟอสซิลหอยหรือแอมโมไนต์ ที่หลังจากพิมพ์ลายออกมาแล้ว ผ้าจะดูสวยและมีคุณค่ามากขึ้น
“ความพิเศษของปันหยาบาติกไม่ได้มีแค่ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ใช้สีธรรมชาติในการย้อมผ้า แต่ที่นี่ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนหลอมปืนมานาน การทำงานระหว่างเราจึงไม่ได้นึกถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เราเป็นมิตรที่ดีต่อกัน เราเป็นเหมือนครอบครัวใหญ่ เหนือสิ่งอื่นใด ผมมองว่าปันหยาบาติกมีความน่าสนใจและมีคุณค่า นั่นคืออีกเหตุผลที่ผมอยากนำเสนอสถานที่แห่งนี้ให้กับทุกคน”
นั่งเรือไปพักผ่อนและชมธรรมชาติที่เกาะลิดี
เสร็จสิ้นจากปันหยาบาติก เราก็มุ่งหน้าไป ‘อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา’ เพื่อข้ามฝั่งไปยัง ‘เกาะลิดี’ ซึ่งเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ในเขตของอุทยานฯ
เกาะลิดีมีลักษณะเป็นเกาะคู่แฝด (ลิดีเล็ก-ลิดีใหญ่) ซึ่งมีเกาะบริวารเล็กๆ ล้อมรอบอีกประมาณ 3 – 4 เกาะ ลิดีเป็นภาษามลายูแปลว่า ‘ไม้เรียว’ เป็นเกาะที่มีนกนางแอ่นชุกชุม มีธรรมชาติที่หลากหลาย ได้แก่ หาดทราย ป่าไม้บนภูเขา ป่าชายเลน และโขดหินที่มีรูปร่างประหลาดตามริมหาด
จากการไปเดินเล่นบริเวณชายหาดและพายเรือคายักบริเวณรอบๆ ทำให้เห็นว่าเกาะลิดีคือเกาะที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ และสิ่งที่ทำให้เกาะคู่แฝดแห่งนี้แตกต่างจากเกาะอื่นๆ ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ชอบไปกันคือบรรยากาศแสนเงียบสงบ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการพักผ่อนอย่างแท้จริง
“ถึงแม้ว่าหาดทรายของเกาะลิดีอาจไม่ได้สวยเท่ากับเกาะอื่นๆ แต่ผมมองว่าจุดเด่นของที่นี่คือบรรยากาศที่ชวนให้พักผ่อนและอยู่ใกล้กับวิถีชีวิตของชาวบ้าน มันคือสิ่งที่ผมชอบและอยากนำเสนอให้ทุกคน ผมอยากให้เกาะลิดีเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ที่เลือกมาเที่ยวสตูล” เป็ดพูดเชิญชวน
ศึกษาหินสองยุคที่สะพานข้ามกาลเวลา
ในวันสุดท้าย เราปิดทริปนี้ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา แต่วันนี้เราไม่ได้นั่งเรือข้ามไปเกาะไหน แต่จะเดินรอบๆ อุทยานผ่านเส้นทางศึกษาธรรมชาติอย่าง ‘สะพานข้ามกาลเวลา’
สะพานข้ามกาลเวลาเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติริมทะเล มีลักษณะเด่นเป็นหน้าผาริมทะเลที่สูงชัน มีทางเดินริมทะเลทอดยาวเลียบภูเขาที่เรียกว่าเขาโต๊ะหงาย ช่วงหนึ่งของหน้าผามีสีสันของชั้นหินที่แตกต่างกัน พบรอยสัมผัสของหิน 2 ยุค ได้แก่ หินทรายสีแดงยุคแคมเบรียน (อายุประมาณ 541 – 485 ล้านปี) และหินปูนยุคออร์โดวิเชียน (อายุประมาณ 485 – 444 ล้านปี)
หินทั้งสองมีอายุต่างกันมากกว่า 400 ปี โดยรอยสัมผัสของหินทั้งสองยุคเกิดจากรอยเลื่อนของเปลือกโลกที่ชัดเจนและหาดูได้ยาก ราวกับว่าเราสามารถก้าวข้ามกาลเวลาจากยุคแคมเบรียนไปสู่ยุคออร์โดวิเชียนได้แค่เพียงก้าวผ่าน
นอกจากจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์แล้ว สะพานข้ามกาลเวลายังมีมุมถ่ายรูปที่หลากหลาย เพราะฉากหลังมีทั้งเกาะเขาใหญ่ เกาะตะรุเตา เกาะลิดี ถ้าจังหวะดีๆ จะมีเรือประมงแล่นผ่าน เป็นพื้นที่ที่บอกเล่าเรื่องราวของเส้นทางจีโอพาร์ก (Geopark) ควบคู่กับความเป็นชุมชนของจังหวัดที่เต็มไปด้วยหมู่เกาะแห่งนี้
ใครที่ได้มาท่องเที่ยวชุมชนในสตูล รับรองว่าจะได้สัมผัสวัฒนธรรมและธรรมชาติที่แท้จริง ซึ่งเป็ดมองว่าสถานที่เหล่านี้เปรียบเสมือนจิตวิญญาณของชาวสตูลที่รอให้ทุกคนมาสัมผัสกัน
“สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกภูมิใจและประทับใจที่สุดจากการทำการท่องเที่ยวชุมชนคือ รอยยิ้มที่จริงใจและมีความสุขของคนที่มาเยือน แต่ก็มีหลายครั้งที่ผมรู้สึกเครียดเพราะให้บริการได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากสภาวะทางธรรมชาติหรือเกิดเหตุการณ์ที่เราควบคุมไม่ได้
“มันทำให้ผมทุกข์ทรมาน เพราะเรารู้ว่าตรงไหนคือสิ่งที่ดีที่สุด เราอยากพาทุกคนไป แต่บางครั้งไปไม่ได้ หรืออาหารที่เราอยากเสิร์ฟให้ทุกคนได้ลิ้มลอง แต่บางครั้งก็ไม่ได้กิน เรารู้สึกห่อเหี่ยวใจและเป็นทุกข์จริงๆ เพราะอยากให้ทุกคนที่มาเที่ยวสตูลมีความสุขกลับไป” เป็ดพูดทิ้งท้ายก่อนจะส่งพวกเราขึ้นรถ และเฝ้ามองพวกเราเดินทางกลับจนสุดสายตา
ใครที่อยากไปสัมผัสธรรมชาติและวิถีชีวิตของชาวสตูล ติดตามและสอบถามรายละเอียดได้ที่ bit.ly/3tg7lmK