โรงเรียนสาธิตพัฒนาฝ่ายมัธยมฯ ร่วมมือกับ OnDemand - Urban Creature

ย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว มีเรื่องเล่าของนักเรียนมัธยมปลายคนหนึ่ง เธอเรียนสายวิทย์คณิตเพราะมีคนแนะนำแบบเข้าใจผิดๆ ว่าเป็นสายที่เลือกคณะในมหาวิทยาลัยได้หลากหลาย แต่ผ่านมาจนกระทั่งเธออยู่ ม.6 ก็ยังไม่แน่ใจอยู่ดีว่าชอบอะไรกันแน่ แต่ก็ตั้งหน้าตั้งตาเรียนหนังสือในโรงเรียนที่จัดเวลามาให้มากกว่า 8 ชั่วโมง/วัน ใช้วันหยุดหรือเวลาว่างทุ่มเทกับติวพิเศษอย่างหนักหน่วง เพื่อเก็บคะแนนทุกวิชาคว้าเกรด 4 ให้มากที่สุด

ในระหว่างเรียนอยู่นั้น สังคมรอบข้างเชียร์ให้เธอเข้าคณะดัง เช่น แพทย์ วิศวะ บัญชี และอักษรฯ หรือไม่ก็บอกว่าเลือกคณะไหนก็ได้ขอให้เป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังสิ โคตรเจ๋ง แน่นอนว่าเธอเองก็เลือกตามกระแสเหล่านั้น จนถึงเวลาเรียนจริงกลับไม่เป็นอย่างที่ฝัน เพราะค้นพบว่าสิ่งที่เลือกมานั้น ไม่ใช่สิ่งที่ชอบและต้องทนฝืนเรียนให้จบ พร้อมกับเวลาที่สูญเสียไป 4 ปีกับสภาพจิตใจที่หดหู่ และสร้างปมที่รู้สึกไร้คุณค่าในชีวิต เพราะทุกวันนี้ไม่รู้จริงๆ ว่าตัวเองชอบอะไร

โชคร้ายที่เรื่องดังกล่าวไม่ใช่นิทานเตือนใจแต่เป็นเรื่องจริงของคนใกล้ตัว ที่ตอนนี้อายุค่อนจะไปเลขสาม เราเคยถามว่า หากสามารถย้อนกลับไปแก้ไขจะทำอะไร เธอตอบ คงอยากมีเวลาลองทำกิจกรรมที่สนใจ เช่น เล่นกีตาร์ เรียนภาษาญี่ปุ่น หรือฝึกเต้นคัฟเวอร์ อย่างน้อยควรจะได้รู้ว่าตัวเองชอบอะไรสักอย่าง ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกคณะ โดยไม่ต้องรู้สึกเสียดายเวลาภายหลังเหมือนตอนนี้

เชื่อว่าเรื่องของเธอเมื่อสิบปีที่แล้วแทบไม่ต่างจากชีวิตของเด็กทุกวันนี้ ที่ยังคงรายล้อมไปด้วยค่านิยมทางการศึกษาเหล่านี้อยู่ สิ่งที่น่าสนใจคือ พวกเขาจะสามารถเลือกใช้ชีวิตตามที่หวังไว้หรือไม่ คงต้องย้อนไปหาคำตอบตั้งแต่ก่อนเลือกแผนการเรียนที่ โรงเรียน พื้นที่ที่ส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้และลองผิดลองถูกกับสิ่งต่างๆ ไม่ใช่พุ่งเป้าแค่ให้สอบติดมหาวิทยาลัย แต่ต้องทำให้เขาค้นพบตัวเองว่าเหมาะสมกับอะไร และส่งเสริมเขาไปเจอเส้นทางที่ใฝ่ฝัน ซึ่งนั่นเป็นแนวคิดหลักของโรงเรียนสาธิตพัฒนา ฝ่ายมัธยม ที่จับมือกับสถาบันกวดวิชา OnDemand ช่วยกันออกแบบโมเดลการศึกษาของโรงเรียนสาธิตพัฒนา ฝ่ายมัธยม แก้ไขปัญหาที่ทำให้เด็กไม่มีเวลาค้นพบตัวเอง และตอบโจทย์ชีวิตเด็กไทยรุ่นใหม่

| สถาบันกวดวิชาในโรงเรียน

ผู้ชายท่าทางสุขุมสองคนตรงหน้าฉัน ที่กำลังเล่าเรื่องโรงเรียนให้ฟังคือ แบงค์-เศรษฐพล ไกรคุณาศัย ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตพัฒนา ฝ่ายมัธยม ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงการศึกษามาทั้งชีวิต เนื่องจากที่บ้านทำโรงเรียนมานานกว่า 70 ปี และโหน่ง-สุธี อัสววิมล ผู้ก่อตั้ง OnDemand สถาบันกวดวิชาออนไลน์ชื่อดัง ที่เด็กเกือบทั้งประเทศเคยมาเรียนเพื่อแข่งขันสอบเข้าในมหาวิทยาลัย ซึ่งทั้งคู่ต่างเป็นคนที่อยู่ในโลกของระบบการศึกษา เห็นการเปลี่ยนแปลงมาทุกสมัย


เดิมทีโรงเรียนสาธิตพัฒนา ฝ่ายมัธยม เปิดมานานประมาณ 10 ปี เมื่อถึงวันหนึ่งที่โหน่งได้มีโอกาสชวนเข้ามาทำโรงเรียน ซึ่งในมุมของติวเตอร์สถาบันกวดวิชาเองก็มีความสนใจในการทำโรงเรียนเช่นเดียวกัน จากประสบการณ์การสอนมานานกว่าสิบปี ทำให้เขามีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาเด็กให้ตรงจุด นั่นคือพวกเขาสนใจเรียนกวดวิชาเพราะโรงเรียนไม่สามารถตอบโจทย์ในสิ่งที่ต้องการ เมื่อพูดถึงการทำโรงเรียนสำหรับเด็กจำนวนหลักพัน จึงเป็นที่มาทำให้โหน่งชวนแบงค์ ผู้ที่มีประสบการณ์ในเรื่องระบบการศึกษาในโรงเรียนมาเนิ่นนานเข้ามาจับมือทำงานร่วมกัน

โหน่ง-สุธี อัสววิมล (ซ้าย)
แบงค์-เศรษฐพล ไกรคุณาศัย (ขวา)

ในสายตาของคนภายนอก อาจจะมองเป็นเรื่องแปลกใหม่ ที่สถาบันกวดวิชามาจับมือกับโรงเรียน แต่ในมุมของโหน่ง เชื่อว่ามันเป็นไปได้ ถ้าคิดถึงเด็กให้เรียนมีคุณภาพมากกว่าเดิม “ถึงแม้ว่าเราทำการศึกษานอกห้องเรียนแต่เราไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นสถาบันกวดวิชา เพราะมันแปลว่า การไล่ตาม จริงๆ มันคือการช่วยเด็กให้มีโอกาสและสร้างความเป็นไปได้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ตรงและดีกับเขามากที่สุด

“แต่ก่อนพอทำไปสักพักเรากลับพบว่า มันไม่พอครับ ถ้าเราต้องการให้เด็กมีโอกาสทำตามเป้าหมายที่หวัง มันควรเริ่มตั้งแต่แรกว่า เด็กตัดสินใจเรียนอะไรที่เหมาะกับเขา เพราะส่วนใหญ่เด็กมาเรียนวิชาหลักๆ เพราะต้องการทำคะแนนให้ดี แต่สุดท้ายก็ยังเลือกไม่ได้อยู่ว่าตัวเองอยากเข้าคณะอะไร จนพอมีโอกาสได้ทำโรงเรียน เราก็มีหน้าที่ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กคนหนึ่งได้ทำตามเป้าหมายที่หวัง จากความชำนาญที่เรามีอยู่ใน Learn Corporation เทคโนโลยีระบบการศึกษาช่วยสนับสนุนโรงเรียนสาธิตพัฒนา ฝ่ายมัธยม อย่าง OnDemand คลิปออนไลน์สอนวิชาการต่างๆ ในเวลาเรียน Ignite by OnDemand แพลตฟอร์มให้คำปรึกษาสำหรับคนอยากเรียนภาคอินเตอร์ หรือ TCASter โปรแกรมทดลองทำข้อสอบก่อนลงสนามจริง มาเป็นเครื่องมือช่วยน้องๆ เรียนในโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

| หลักสูตรรู้ตัวเองให้เก่ง

หากพูดถึงการศึกษาในบ้านเรา มักจะได้ยินข่าวตัดพ้อจากเด็กจบใหม่อยู่เสมอ เช่น หลังเรียนจบมาก็ยังไม่รู้จักว่าตัวเองชอบอะไร หรือจะทำอาชีพอะไร รวมทั้งการมาของโควิดที่ทำให้เกิดอาชีพใหม่มากมาย ดังนั้นหลักสูตรในโรงเรียนยุคนี้ ไม่เพียงสอนให้รู้จักตัวเองแต่ก็ต้องปรับวิชาต่างๆ ให้ทันสมัยด้วย

โหน่งบอกว่า รู้ไหมสิ่งที่เราเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยตอนนี้ ถูกแบ่งอาชีพตามยุคอุตสาหกรรม 2.0 พอโควิดเข้ามาดิสรัปทุกอย่าง จนเกิดการแปลงร่างอาชีพใหม่มากมาย “ประเด็นคือมีอาชีพเพิ่มขึ้น แต่หลายคนก็ยังไม่รู้ตัวอยู่ดีว่าควรเข้าอะไร เช่น อยากเป็นเจ้าของธุรกิจออนไลน์ ควรจะเข้าวิศวะหรือบริหารดีกว่า บางคนอาจเผลอไปเรียนบัญชี ซึ่งไม่ได้สอนทำธุรกิจเลย

“ที่น่าห่วงมากเป็นโศกนาฏกรรมของเด็กเก่งๆ เพราะถูกต้อนให้เป็นหมอหมดเลย มีข้อมูลจากอาจารย์หมอจุฬาลงกรณ์พบว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของนิสิตแพทย์ปี 5 มีแนวโน้มไม่อยากเป็นหมออีกต่อไป เพราะเขาไม่เจอโลกอย่างที่ฝันไว้ จากข้อมูลตัวเลขความอึดอัดนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มันทำให้เรารู้เลยว่าการค้นหาตัวตนให้ชัดคือสิ่งสำคัญมาก ซึ่งมันเป็นหน้าที่ของโรงเรียน ที่ไม่ได้สอนให้เสร็จๆ ไป แต่ต้องทำให้เด็กได้รู้ตัวเองและพาเขาไปในสิ่งที่หวังอย่างมีความสุขในการใช้ชีวิตด้วย

“เราไม่ได้เผชิญว่า เด็กจะได้เกรดเท่าไหร่ 
เรากำลังเผชิญกับอนาคตของเด็กที่ต้องสร้าง”

แผนการสอนในโรงเรียนสาธิตพัฒนา ฝ่ายมัธยม จึงต้องทำให้เด็กได้ค้นหาตัวเองให้สำเร็จเรียกว่า IDP หรือ Individual Development Plan ก็จะมีการประเมินก่อนว่าสนใจอะไรและมีแนวโน้มเหมาะกับอาชีพไหนมากที่สุด 

สมมติว่าน้องสนใจแพทย์ ตารางสอนของเด็กก็จะถูกออกแบบเป็นรายบุคคล แต่ละคนมีเป้าหมายสอบเข้าให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ เช่น แพทย์มี 2 แบบ บางคนอยากเข้าภาคไทย ตารางสอนก็จะแบ่งตามหลักสูตรวิชาการไทยที่ต้องเรียนอยู่แล้ว เช่น ชีววิทยา เคมี หรือภาษาอังกฤษที่มาจากหลักสูตรมาตรฐานนานาชาติ Cambridge Assessment International Education (CAIE) แต่ถ้าอยากเข้าแพทย์ภาคอินเตอร์ก็ต้องมี B-MAT การสอบเฉพาะสำหรับคนเรียนแพทย์ภาคอินเตอร์ วิชาต่างๆ ก็ปรับเป็นภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้อง

เมื่อด้านวิชาการมีแล้ว อีกด้านที่ต้องเติมเต็มคือการค้นหาตัวเอง ก็จะมีเหล่าวิชาเสริมต่างๆ ให้เหมาะกับอาชีพที่อยากเป็น เช่น คนเรียนแพทย์ ก็ต้องเรียนความถนัดทางแพทย์ ต้องทำข้อสอบเชาวน์ปัญญา หรือวิชาคลินิกทดลองวิทย์ก็มีให้ จะได้ไม่ต้องไปเรียนข้างนอกอีก ที่นี่สอนจนถึงการทำแฟ้มสะสมผลงานยื่นเข้าสัมภาษณ์ ที่เด็กส่วนใหญ่เด็กไม่รู้ว่าต้องเตรียมตัวอะไร บางคนอาจจะคิดว่าการทำความดีในโรงเรียนเก็บมาใส่ในพอร์ตได้ เช่น เก็บขยะหรือเดินรณรงค์ต่างๆ ทั้งที่จริงควรใส่แต่เรื่องที่เกี่ยวข้องมากกว่า

แบงค์เสริมต่อ “เด็กทุกคนจะมีตารางสอนไม่เหมือนกันตามอาชีพที่ชอบ และมีคาบว่างให้เด็กได้เลือกมันเป็นวิชาการและทักษะในศตวรรษที่ 21 หากเขาสนใจก็หยิบมาใส่ในตารางสอนของตัวเองได้ ซึ่งทางโรงเรียนร่วมมือกับสถาบันที่เชี่ยวชาญ เช่น น้องสนใจเรียนดนตรี เราก็ไปเอาครูดนตรีจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลสอน อยากเรียนภาษาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เราก็จับมือกับ OKLS โรงเรียนกวดวิชาสอนภาษาชื่อดังในด้านนั้น หรือภาษาเยอรมันจาก Goethe สถาบันด้านวัฒนธรรมของเยอรมันเลย รวมไปถึงวิชารอบตัว เช่น ด้านการเงินการลงทุนก็มี Money Class จาก Learn Corporation มาสอนให้ รวมทั้งของคุณครูในโรงเรียนเองก็มีกฎหมายธุรกิจเบื้องต้น การเขียนโค้ดดิ้ง หรือจิตวิทยาในชีวิตประจำวัน”

หลังจากแบงค์เล่าวิชาเสริมมากมายต่างกันลิบกับหลักสูตรธรรมดาที่เราคุ้นเคย จนชวยสงสัยว่าแล้ววิชาไหนกันที่เด็กชอบเรียนมากที่สุด เจ้าของสถาบันกวดวิชาออนไลน์อย่างโหน่งบอกว่าต้องยกให้ วิชาโคนัน 

“เป็นแล็บวิทยาศาสตร์คิดโดยคุณครูในโรงเรียน ที่ให้เตรียมหัวใจหมูมาพร้อมกับแจกโจทย์ให้เด็กสืบ เช่น มีคนตายด้วยสาเหตุหนึ่ง แล้วพบร่องรอยมีพิรุธแบบนี้ ในฐานะที่ทุกคนเป็นโคนัน คนคนนี้ตายเพราะอะไร คุณครูก็จะเอาสารพิษไปใส่ในหัวใจหมู เด็กก็อยากสืบสวนละ ว่ามันเกิดอะไรขึ้น นักเรียนก็จะได้เรียนรู้เรื่องอวัยวะ เคมี และการแพทย์แทรกเข้าไปในบทเรียน”

ไม่ใช่แค่เรื่องหลักสูตรที่ปรับตัวให้เข้ากับเด็ก เรื่องคุณครูก็จัดเต็มด้านการสอนตามความชำนาญ อย่างครูกวดวิชาเก่งในการสอนวิชาเฉพาะด้าน ครูชาวต่างชาติเน้นเรื่องภาษาช่วยแบ่งเบาภาระครูไทยที่ควบตำแหน่งครูประจำชั้นต้องแบ่งเวลาไปโฟกัสกับเด็กนอกเหนือจากเรื่องวิชาการ ต้องเป็นทั้งครูแนะแนวแผนการเรียนและสอนหนังสือให้กับเด็กทุกคนในห้อง ยิ่งไปกว่านั้นสภาพแวดล้อมของโรงเรียนก็ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับชีวิตเด็กสมัยนี้ที่ทุกอย่างทำได้ในระบบออนไลน์ 

อย่างการเรียนวิชาของ OnDemand สอนผ่านคลิปในแท็บเล็ต ที่สามารถเลือกดูเวลาไหนหรือสถานที่ไหนก็ได้ ช่วยให้เด็กวางแผนการเรียนได้คล่องตัว และแก้ปัญหาเรียนตามเพื่อนไม่ทันในห้องเรียน เช่น บางคนไม่เข้าใจบทนี้ก็กลับไปเรียนซ้ำ หรือบทนี้เข้าใจแล้วก็ข้ามไปเรียนบทอื่นได้ทันที แต่ถ้ามีข้อสงสัยก็ถามครูประจำวิชาในคาบได้อีกด้วย ดังนั้นถึงแม้ว่าสถานการณ์โควิดทำให้เด็กต้องอยู่บ้าน แต่ก็ปรับตัวง่าย เพราะโรงเรียนใช้ระบบออนไลน์เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

| ความสุขเกิดจากสิ่งที่รัก

แค่คิดถึงเวลาไปโรงเรียน ต้องเรียนหนังสือและส่งการบ้าน เชื่อว่าเด็กบางคนได้ยินก็อ้าปากหาวอยากจะนอนซะแล้ว ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนทั้งสองจะทำอย่างไรให้เด็กยุคนี้รู้สึกมีความสุขในการเรียนต่อไปเรื่อยๆ “อย่างแรกต้องเข้าใจก่อน อะไรที่เป็นหน้าที่และต้องทำประจำมักจะน่าเบื่อ ซึ่งเด็กจะรู้สึกมีความสุขตอนที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ ได้กินขนม ได้วาดการ์ตูนที่อยากวาด ได้สืบปริศนาที่สงสัย คือมนุษย์ทุกคนชอบทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้ดี ถ้าเด็กคนนี้ตีกลองเก่ง ก็ตีกลองแหลกเลย แถมโชว์เพื่อนด้วย เขาก็ยิ่งอยากเรียนอีกเพราะทำได้ดี”

“เราเชื่อว่าทุกคนเป็นที่สุดในแบบตัวเองได้”

“แต่สุดท้ายแล้วไม่ใช่ว่าเราสปอยล์เด็กนะ ให้ไปเรียนแต่สิ่งที่ชอบ เด็กไม่ชอบอะไรก็อย่าทำ เราแค่นำมาใช้หาตัวตนให้กับเขา ซึ่งเส้นทางที่เด็กเลือกมันมีทั้งสิ่งที่ชอบและไม่ชอบต้องฟันฝ่า โรงเรียนก็ต้องช่วยกันหาทางแก้ไข อย่างเด็กมัธยมต้นเป็นตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจน พอเจอวิชาที่ไม่ถนัดแล้วทำได้ไม่ดี ก็จะเริ่มตั้งกฎแล้วว่าไม่ชอบ ครูทุกท่านก็ต้องรีบเข้าไปจัดการเลยว่า อย่าพึ่งไม่ชอบนะ ลองนี่ก่อนไหม ที่ทำไม่ได้เพราะอันนี้หรือเปล่า แล้วพอเขาทำสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยทำไม่ได้ แล้วสุดท้ายเขากลับมาทำได้จากคุณครูมาช่วย โอโห พลังมันมาเต็ม จะชอบขึ้นมาทันทีเลยนะ แล้วมีความสุขไปกับมันด้วย”

| ความเศร้าเกิดจากความไม่เข้าใจ

เมื่อความสุขในการเรียนเป็นสิ่งที่สร้างได้ ขณะเดียวกันความเสียใจของเด็กก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในขณะเดียวกัน คนที่ทำร้ายไม่ใช่ใครที่ไหน แต่มาจากคนใกล้ตัว ทั้งพ่อแม่ ครอบครัว หรือคุณครู คนที่สร้างรอยบาดแผลลึกในหัวใจให้กับเด็ก จากความคาดหวังของผู้ปกครองที่สูงลิบ ต้องเรียนเก่งทุกวิชา ได้คะแนนติดอันดับของห้อง หรือจะเป็นการไม่รับฟังเหตุผลเด็กและตัดสินโทษอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าในสายตาผู้ใหญ่จะมองเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่กลับละเอียดอ่อนและฝังใจมากสำหรับพวกเขา

“ผู้ใหญ่ที่คาดหวังให้เด็กคนหนึ่งต้องเก่งทุกอย่างและทุกเรื่อง ต้องจูนกันก่อนนะครับ อันนี้เรียกว่าโลภเกินไปแล้ว มันเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าจะให้ลูกเก่งทุกด้าน เราควรเริ่มต้นจากการค้นหากันหน่อยไหมว่า ลูกเก่งอะไรแล้วเราก็ช่วยดันเขาให้เก่งที่สุดในเส้นทางนั้น เช่น อยากเป็นวิศวะ ก็ต้องทำให้เขาเก่งในวิชาที่ต้องสอบเข้าวิศวะ เช่น คณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์ มันก็จะแฟร์กับลูกหน่อย ในสมัยนี้ในโลกการทำงานต้องการคนที่เก่งจริง รู้จริง ถึงจะอยู่รอดในสังคม แต่การรู้เยอะมันไม่ได้อยู่เหนือคนอื่นเลย
เพราะใครๆ ก็เสิร์ชหากูเกิลได้หมดเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว” ผู้อำนวยการแบงค์เล่าถึงความคาดหวังเรื่องลูกที่เจอกันมาทุกสมัย

ความคาดหวังไม่ใช่เรื่องผิด แต่สำคัญกว่าคือความเข้าใจ โหน่งจึงแชร์ประสบการณ์ตอนสอนนักเรียนคนหนึ่งให้ฉันฟังต่อว่า “น้องเป็นเด็กเก่งอยู่ค่ายฟิสิกส์โอลิมปิกระดับประเทศ โดนที่บ้านโน้มน้าวให้เป็นหมอ แต่ตัวน้องชอบวิชาฟิสิกส์นะครับ สุดท้ายเรียนหมอได้สองปีกระโดดตึกตาย ผมว่าการให้ค่าความเก่งหรือไม่เก่ง หรือการชื่นชมในการสอบวัดคะแนนหรือการแข่งขัน เป็นเรื่องสำคัญและต้องแก้ปัญหามากที่สุด ว่าเราจะรับมือกันไปในทิศทางไหน เช่น สุดยอดเลยลูก หรือต่อไปคว้าเหรียญทองโอลิมปิกมาให้ได้นะ

“จริงๆ แล้วผู้ใหญ่ต้องมองว่า ถ้าเขาเก่งคณิตศาสตร์ แต่มีนิสัยไม่ชอบเข้าสังคม ไม่ชอบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ได้เช้าจรดเย็นตรงตามคุณสมบัติหมอ ก็ไม่ควรฝืนเด็กให้ทำในสิ่งที่ไม่ชอบ แต่กลับมามองดีกว่าว่า การที่เขาเก่งคณิตศาสตร์ มันจะไปทางไหนได้บ้าง แล้วจะทำให้เก่งในแนวทางนั้นได้อย่างไร เพื่อไม่ให้เขาพลาดความสุขส่วนที่เหลือในชีวิตระยะยาว ที่ถูกทำลายด้วยค่านิยมรอบข้าง

“คำว่า เก่ง ของพี่ คือ
เขาได้ทำในสิ่งที่ชอบและทำได้ดี
เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นและไม่เบียดเบียนใคร”

ยิ่งในยุคนี้ เรามักจะเห็นข่าวมากมายที่เด็กทั้งที่อายุยังน้อย แต่กล้าแสดงออกทางความคิดเห็นต่างๆ ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โหน่งมองว่าประเด็นที่สำคัญคือ ผู้ใหญ่จะแสดงออกกับเด็กอย่างไร

“ผมว่าผู้ใหญ่ในสมัยนี้ควรเปิดรับฟังความคิดเห็นเด็กๆ ด้วยสังคมตอนนี้มีความขัดแย้งเยอะ เรามักจะเห็นเด็กมีอิสระในการแสดงออกมากขึ้น ถามว่าเด็กมีความคิดเป็นของตัวเองดีหรือไม่ บางทีก็ดี บางทีก็ไม่ดีแล้วแต่เรื่อง แต่ประเด็นคือเรื่องไม่ดีไม่ใช่ความผิดของเด็ก ถ้าเข้าใจผิดก็ต้องมีคนที่มีประสบการณ์ด้านนั้นๆ คอยไกด์เขาเมื่อสงสัย ทั้งรับฟังและสอนเขาด้วยซ้ำ ไม่ใช่กล่าวโทษเด็กเพียงอย่างเดียว ประเด็นนี้สำคัญเพราะถ้าไม่เริ่มรับฟังตั้งแต่ระดับโรงเรียน ก็จะไม่เข้าใจกันต่อไปเรื่อยๆ จนลามเป็นปัญหาใหญ่โต 

“ประเทศเราต้องใช้พลังและความคิดสร้างสรรค์ของหนุ่มสาว ถ้าเราดูประเทศที่พัฒนาแล้วจะเจอคนรุ่นใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศ เพราะมีพื้นที่รับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและไม่รีบร้อนกล่าวโทษเด็ก ก็จะทำให้เกิดการปรับความเข้าใจกันและส่งเสริมพวกเขา ในมุมโรงเรียนคุณครูก็ต้องรับฟังมากเป็นพิเศษ เพื่อรู้เท่าทัน เข้าใจเด็ก และเป็นประตูเปิดให้เขาเดินต่อไปข้างหน้าได้”

| สารจาก ผอ. ถึงนักเรียน

หลังจากแบงค์และโหน่งเข้ามาดูแลโรงเรียนสาธิตพัฒนา ฝ่ายมัธยม ได้ประมาณ 2 ปีแล้ว ทั้งคู่ยังมีแพลนว่าในอนาคตอยากจะพัฒนาหลักสูตรการค้นหาตัวตนของเด็กให้ดียิ่งขึ้น โดยใช้การเก็บข้อมูลที่ผ่านมา นำมาวิเคราะห์และต่อยอดให้ตรงจุด รวมทั้งปรับระบบการเรียนทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ให้มีคุณภาพมากกว่าเคย แถมยังตั้งเป้าหมายส่งเด็กไปเรียนต่างประเทศในมหาวิทยาลัยติดอันดับโลก ตามที่นักเรียนวางแผนไว้ให้สำเร็จ

ทุกครั้งที่แบงค์และโหน่งพูดถึงหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียน ทุกขั้นตอนของการออกแบบจะมีคำว่า เด็ก เป็นตัวตั้งต้นอยู่ในสมการเสมอ และผลลัพธ์ของโจทย์ที่ตั้งไว้คือ เส้นทางที่พวกเขาได้ค้นพบตัวเองก่อนที่จะตัดสินใจเรียนในมหาวิทยาลัยในฝัน เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงอยากให้โรงเรียนเป็นเหมือนสนามเด็กเล่น ได้เรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ ลองบ้าง ล้มบ้าง เจ็บบ้าง หรือสนุกบ้าง รวมทั้งมีวันหยุดไว้ใช้ชีวิตแบบที่ต้องการ ได้ไปกินข้าวกับครอบครัวหรือแฮงเอาต์กับเพื่อนเป็นสีสันของวัยเด็กที่ควรจะเป็น โดยมีโรงเรียนและผู้ปกครองที่คอยสนับสนุนพวกเขาให้เดินตามฝันได้สำเร็จ หากคาดหวังให้เด็กโรงเรียนสาธิตพัฒนา ฝ่ายมัธยม จบมาเป็นอย่างไร ทั้งสองตอบเป็นความหมายเดียวกันว่า…

“เราอยากเห็นเขารู้จักตัวเอง รู้ว่าเขาถนัดอะไรไม่ถนัดอะไร
เราเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความเก่งและความชำนาญในสิ่งที่เขาถนัด
สามารถไปในสิ่งที่ต้องการและมีความสุขในการใช้ชีวิต

สุดท้ายคือต้องไม่กลัวความผิดพลาด มันจะทำให้แกร่งขึ้น
ขอให้เขาได้เรียนรู้จากมัน และโรงเรียนจะเป็นพื้นที่สอนให้เขาเอง”

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.