หากสังเกตจิตรกรรมฝาผนังโบราณล้านนา เราจะพบว่าบริเวณขาของชายทุกคนจะมีลวดลายจากการสักอยู่ นี่คือหนึ่งในอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมล้านนาที่เรียกกันว่า ‘การสักขาลาย’ ซึ่งเกิดมาจากความเชื่อในอดีตของชาวล้านนาว่า เด็กผู้ชายเมื่อจะก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ทุกคนต้องผ่านพิธีการสักขาลายเสียก่อน
นอกจากจะพิสูจน์ความกล้า ความอดทน ยังเชื่อกันว่าเป็นการแสดงความนอบน้อมต่อครอบครัว แสดงความกตัญญูทดแทนพระคุณแม่ และพร้อมที่จะเป็นหัวหน้าครอบครัวต่อไป ถึงขั้นมีจารึกบันทึกไว้เลยว่า หากหญิงใดจะดูว่าชายนั้นเหมาะเป็นคู่ครองหรือไม่ ส่วนหนึ่งคือให้ดูว่าชายนั้นสักขาลายแล้วหรือยัง ด้วยเหตุนี้ผู้ชายชาวล้านนาในอดีตทุกคนจึงสักขาลายกันทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตามตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ค่านิยมการสักขาลายก็ถูกลดทอนลงจนใกล้จะสาบสูญเต็มที เหลือหลักฐานให้ได้เห็นอยู่บ้างบนเรือนร่างของผู้เฒ่าต่างๆ โชคดีที่ยังมีคนจำนวนหยิบมือหนึ่งยังเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมการสักขาลาย และเข้ามาช่วยอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรมนี้ให้คงอยู่ต่อไป
หนึ่งในคนจำนวนนั้นก็คือ อ๊อด-ศราวุธ แววงาม ช่างสักอดีตเด็กพังก์ (Punk) ที่ผันตัวมาศึกษาวัฒนธรรมการสักขาลายอย่างจริงจัง โดยเดินทางไปศึกษากับอาจารย์ชาวปกาเกอะญอที่ยังคงสักอยู่ และสืบทอดวิชาการสักขาลาย รวมถึงอนุรักษ์การสักขาลายด้วยการบันทึกรอยสักนั้นไว้ลงบนเรือนร่างของผู้ที่สนใจ
อะไรที่ทำให้เด็กพังก์ ไว้ทรงโมฮอว์ก สวมเสื้อหนัง ห้อยโซ่ รองเท้าบูตติดหนาม ถึงผันตัวมาสวมใส่เสื้อม่อฮ่อม กางเกงสะดอ และเปลี่ยนจากสักลายร่วมสมัยด้วยเครื่องสัก มาจับเข็มสักโบราณ รับแต่งานสักขาลายโดยเฉพาะ
The Professional คราวนี้เราจึงขอนำเสนอเรื่องราวของชายผู้นี้
อ๊อดเริ่มต้นการเป็นช่างสักตั้งแต่อายุ 18 ปี พร้อมๆ กับการหันมาสนใจวัฒนธรรมพังก์
“เราสนใจความเป็นพังก์ เพราะว่าตอนนั้นยังไม่เป็นที่นิยมในสังคมไทย คนไม่ค่อยแต่งตัวแบบนี้ พังก์น่าสนใจตรงที่การทำสีผม ทรงผม การแต่งตัว มันดูแรง มันรู้สึกสะใจ ซึ่งวัยรุ่นมันคือวัยขบถ และการแต่งตัวแบบพังก์มันแสดงออกมาได้อย่างเต็มที่ เวลาเห็นชาวพังก์เราไม่ต้องถามเลยว่าเขารู้สึกยังไง มันแสดงออกมาผ่านการแต่งตัวของเขาหมดแล้ว
“ทีนี้พังก์ก็มาคู่กับการสัก ตอนนั้นเราก็เลยเริ่มสนใจการสักขึ้นมาด้วย ก็เริ่มจากการซื้อหนังหมูมาหัดสัก แล้วก็ลองสักกับผิวหนังของเพื่อนๆ พังก์ด้วยกัน เรามองว่าการสักทำเป็นอาชีพได้ หารายได้ให้กับเราได้
“แต่ทีนี้สมัยก่อนเครื่องสักยังเป็นของหายาก มีราคาแพง เราวัยเท่านั้นก็ไม่มีตังค์ไปซื้อเครื่องหรอก ไม่มีที่ไหนขายด้วย ก็เลยลองประดิษฐ์ขึ้นมาเอง ต้องเสียเวลาลงทุนนั่งรถจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ เพื่อไปหาซื้อสื่อต่างๆ พวกหนังสือสักมือสองที่กรุงเทพฯ กลับมาเชียงใหม่ เพื่อที่จะได้เห็นว่าตัวเครื่องสักมันเป็นยังไง แล้วก็อาศัยถามพี่ๆ ที่เขามีประสบการณ์สัก หรือเคยประดิษฐ์เครื่องสักมาก่อน”
อายุ 18 อ๊อดประดิษฐ์เครื่องสักของตัวเองได้สำเร็จ และเริ่มต้นประกอบอาชีพเป็นช่างสักมาตั้งแต่นั้น เริ่มเปิดร้านสักของตัวเองโดยชวนเพื่อนฝูงมาเปิดบาร์พังก์อยู่ข้างๆ กัน ยาวนานมาตลอด 17 ปี โดยไม่เคยคิดเปลี่ยนแปลงอาชีพ
กระทั่ง 7 ปีที่แล้ว โชคชะตาก็ได้เปลี่ยนชีวิตช่างสักคนนี้ตลอดไป…เมื่อวันหนึ่งขณะที่เขากำลังทำงานอยู่ในร้านสักเหมือนเช่นทุกวัน จู่ๆ ก็มีพระรูปหนึ่งเดินเข้ามา…
“ตอนนั้นผมเปิดร้านสักอยู่ที่ถนนวัวลาย จู่ๆ ก็มีพระรูปหนึ่งเดินเข้ามาในร้าน ท่านอยากจะขอซื้อหมึกสักจากผม บอกผมว่า ไปสักมาแล้วหมึกไม่ดำ ที่ที่ไปสักหาหมึกยาก เลยจะเอาหมึกไปสักให้เสร็จ ผมก็เกิดความสงสัยขึ้นมา เลยถามท่านไปตามตรงว่าท่านไปสักอะไรมา”
พระรูปนั้นไม่ได้พูดอะไร และตอบคำถามของเขาด้วยการถกชายจีวรขึ้นมาจนถึงหน้าขา
ภาพที่อ๊อดเห็นตรงหน้าทำให้เขาตกใจ เพราะลายสักที่พระรูปนั้นได้สักคือ รอยสักขาลาย
“เราเห็นแล้วตกใจเลย เราเป็นช่างสัก เราดูออกว่านี่ไม่ใช่ฝีเข็มจากเครื่องสัก ไม่ใช่เข็มแบบการสักยันต์ด้วย แต่เป็นการสักมือแบบโบราณ แล้วรูปแบบที่ท่านสักมาก็เป็นลายสักขาลาย ซึ่งเราเคยเห็นแต่ในภาพถ่าย เราไม่เคยเห็นการสักขาลายเต็มๆ บนขาคนจริงๆ มาก่อน ไม่คิดว่ายังมีคนสักได้อยู่ สิ่งที่ผมเห็นมันประทับในใจมาก ตั้งแต่ตอนนั้นผมก็เกิดความต้องการที่จะไปสักขาลายให้ได้ ต้องไปเจอคนที่สักให้ได้ คือตอนนั้นไปแล้วจะได้สักหรือไม่ผมไม่สนแล้ว ขอแค่ได้ไปก็พอแล้ว”
ภาพรอยสักบนหน้าขาของพระรูปนั้นยังคงวนเวียนอยู่ในความคิดของอ๊อดอยู่ทุกวัน โชคดีที่วันนั้นเขาได้ขอเบอร์ติดต่อและที่อยู่ของช่างสักจากพระรูปนั้นไว้ หลังจากจัดการคิวงานสักที่คั่งค้างไว้จนหมดสิ้น เขาก็ตัดสินใจเก็บกระเป๋าวางบนเบาะหลังมอเตอร์ไซค์ และควบมอเตอร์ไซค์เดินทางไปตามหาลายสักขาลายตามลายแทงที่เขาได้ขอไว้ทันที เป้าหมายของเขาก็คือ หมู่บ้านตะพิโจ ตำบลแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก
“ผมเอามอเตอร์ไซค์เดินทางไป โดยต้องแวะพักที่แม่สะเรียงก่อนหนึ่งคืน จากนั้นก็ขี่ไปอีกเกือบสองร้อยกิโลจนถึงอำเภอท่าสองยาง แวะถามคนใน อบต. ว่ามีหมู่บ้านไหนบ้างที่ยังมีการสักขาลายอยู่ เขาก็ไม่แน่ใจ บอกว่าคุ้นๆ ที่หมู่บ้านหนึ่ง แล้วก็แนะนำให้เข้าไปถามต่อที่บ้านแม่โพ เราก็เลยขับเข้าไปเรื่อยๆ เจอคนก็ถามทาง จนมาถึงบ้านแม่โพก็พบว่าเคยมีคนสักแต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ชาวบ้านก็บอกให้เราขับเข้าไปอีก ลึกไปเรื่อยๆ จนเกือบจะถอดใจอยู่แล้ว เพราะมันเป็นเส้นทางขึ้นดอย ทางก็ไม่ดี เป็นดินล้วนๆ เขาจะซ่อมถนนกันทีก็ตอนที่ชาวบ้านจะเก็บผลผลิตไปขายจึงลงแขกกันซ่อมถนน
“ช่วงที่ผมกำลังสองจิตสองใจว่าจะกลับแล้วดีไหม ก็ไปเจอชาวบ้านที่กำลังเดินกลับจากไร่เพราะมันเย็นมากแล้ว พอถามเขาก็ถลกกางเกงขึ้นให้เห็นลายบนขา ตอนนั้นกำลังใจเราถึงได้กลับมา ในที่สุดเราก็เจอเบาะแสแล้ว และเขาก็แนะนำให้เราไปบ้านที่ยังมีช่างสักอยู่จนได้
“พอเราไปถึง คนในหมู่บ้านมารุมดูผมกันเต็มไปหมดเลย เพราะว่าผมมีรอยสักเยอะ บนคอก็มี แต่ทั้งหมู่บ้านเขาสักขาลายกัน เราเหมือนเป็นตัวแปลกประหลาด แต่ในที่สุดผมก็ได้เจอจุดหมายของผม นั่นก็คืออาจารย์ละดา”
ละดา ศรีอุเบท คือชาวปกาเกอะญอ ช่างสักขาลายที่ยังคงรับสักขาลายอยู่ถึงปัจจุบัน ซึ่งต่อมาอ๊อดยกให้เขาเป็นอาจารย์
“ค่ำวันนั้น หลังอาจารย์ละดาตกลงจะสักให้ เราล้อมวงกินข้าวและพูดคุยกันก่อน ตกลงกันว่าพรุ่งนี้จะเอาเงินใส่พานเท่าไหร่ ใช้เวลาสักกี่วัน ต้องทนให้ได้วันละขานะ ถ้าทนไม่ได้ไม่คืนเงินนะ แล้วก็ตื่นตอนตีห้ากินข้าว และเริ่มสักกันตั้งแต่ตอนหกโมงเช้า เพราะว่ามันใช้เวลานาน ถ้ามืดจะสักต่อลำบาก หมู่บ้านยังไม่มีไฟฟ้า”
ทุกครั้งก่อนจะมีการสักขาลาย จะมีพิธีการขึ้นพานก่อนเสมอ เป็นสิ่งที่ทำสืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยในพานจะมียาเส้น ลูกหมาก ใบพลู ข้าวที่หุงแล้วหรือขนม เกลือ พริก น้ำ หรือ เหล้าจอก ซึ่งถือกันว่านี่คือพานไหว้ครู เป็นการแสดงถึงความนอบน้อมต่ออาจารย์ที่เขาสักและถ่ายทอดวิชาต่อกันมาเรื่อยๆ ให้ช่างสักได้เอาไว้ใช้หาเลี้ยงชีพ และให้โอกาสเราได้สักถึงวันนี้ ปัจจุบันเวลาที่อ๊อดสักที่ร้านของเขาภายในเมืองก็ได้นำพิธีกรรมยกพานมาใช้เช่นเดียวกัน
“วันนั้นที่ขึ้นพานผมตกลงกับอาจารย์ละดาว่าจะสักสองขา แต่สุดท้ายก็ทนได้แค่ขาเดียว พอกลับมาสักอีกครั้ง อาจารย์ละดาก็ไม่ได้เรียกราคาเหมือนครั้งแรก เขาเห็นความตั้งใจ รู้ว่าเราอยากจะให้อาจารย์สักให้เสร็จจนได้ อาจารย์เองก็อยากให้เราสักเสร็จ อาจารย์เคยพูดไว้ว่าก่อนที่เขาจะตาย เขาไม่อยากให้มีงานค้างที่ขาใครเลย หมายความว่าเขาไม่ได้จะเอารัดเอาเปรียบ จะใจดำไม่คืนตังค์
“เหตุผลที่ไม่คืนตังค์ เพราะการสักขาลายเดิมคือการพิสูจน์ความอดทนที่ทำกันมาตั้งแต่โบราณ เราตกลงแค่ไหนก็ต้องทำให้ได้ตามข้อตกลง เพราะคนสักก็ไม่สามารถมานั่งรอเราไปตลอดชีวิต มันก็จะไม่ได้งานสักที โบราณเขาทำกันสามวันสักเสร็จเป็นกางเกงเลย ทนไม่ได้ก็ออกไป เพราะมีคนรอสักอยู่อีกเยอะ ผู้ชายทุกคนต้องทนให้ได้ แต่ปัจจุบันเราจะขึ้นพานขาหนึ่งก่อนก็ได้ มาคราวหน้าก็ค่อยขึ้นพานอีกขา เขาไม่ได้ใจร้ายขนาดนั้น มาคราวหน้าเขาก็ช่วยลดให้ เพราะว่าช่างสักทุกคนอยากให้งานสักของเขาเสร็จ ไม่อยากให้มีงานที่ไม่เสร็จอยู่บนขาใคร”
การสักขาลายที่เป็นการสักด้วยมือเจ็บกว่าการสักด้วยเครื่องทันสมัยแบบปัจจุบันแค่ไหน ทั้งที่อ๊อดก็เคยสักจนเต็มตัวมาแล้วทำไมถึงทนไม่ได้ เขาให้คำอธิบายไว้เช่นนี้
“มันเจ็บเหมือนกัน แต่ระยะเวลาในการสักขาลายกินเวลานาน หนึ่งขาใช้เวลา 12 ชั่วโมง ซึ่งปกติปัจจุบันเวลาเราสักอย่างมากก็ไม่เกิน 6 ชั่วโมง มันจึงเกินขีดจำกัดของร่างกายจะทนไหว เพราะร่างกายเราไม่เคยโดนสักนานๆ คนโบราณในอดีตเขาจึงใช้การสูบฝิ่นช่วยบรรเทาความเจ็บขณะที่สัก”
ขณะที่ถูกอาจารย์ละดาสักที่ขา นอกจากการทนความเจ็บปวดให้ได้ ภายในใจของอ๊อดก็เต็มไปด้วยความรู้สึกดีใจ ทุกเข็มที่จิ้มลงไปจนเกิดเป็นลวดลายขึ้นมาก็ได้สร้างความเลื่อมใสในตัวอาจารย์ละดาให้กับอ๊อดเช่นกัน
“ครั้งแรกที่ไปสัก ผมตอบตัวเองได้เลยว่า เราจะต้องสักตาม จะต้องศึกษาการสักแต่ละลายจากอาจารย์ละดาให้ได้ และที่สำคัญที่สุด ผมจะต้องกลับบ้านไปเรียนรู้เรื่องการทำเข็มครั้งใหญ่”
เรื่องเข็มสักเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับช่างสักขาลาย ซึ่งเข็มที่อาจารย์ละดาใช้นั้นก็มีอายุมากกว่าร้อยปีแล้ว เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ช่างสักขาลายหลายคนไม่ได้สักต่อ ก็เพราะว่าหาเข็มมาสักไม่ได้ เนื่องจากความนิยมที่ลดลง ช่างที่ทำเข็มก็เลิกทำกันไปหมด อันที่ชำรุดก็ถูกขายให้นักสะสมในฐานะของโบราณราคาแพง
“ผมเข้ามาเจออาจารย์ละดาในรอยต่อที่สำคัญพอดี เข็มที่อาจารย์กำลังใช้ก็เริ่มจะเก่าจนใกล้จะใช้ต่อไม่ได้แล้ว ถ้าผมไม่ทำอะไรกับเรื่องนี้ ก็จะไม่มีใครได้สักขาลายต่อไปอีกแล้ว เพราะถ้าไม่มีเข็มก็ไม่ได้สัก พอไม่ได้สักอาจารย์ก็จะลืมลาย พอลืมลายก็ไม่เกิดการสานต่ออีกต่อไป
“อาจารย์ละดาคือฟางเส้นสุดท้ายที่เราได้เจอ เราต้องทำ เพราะเราได้เข้ามายืนอยู่ในจุดข้อต่อระหว่างโลกใหม่กับโลกเก่าที่กำลังจะหายไป ที่ผ่านมาเราไม่เคยคิดจะทำอะไรเลย ไม่เคยสนใจในอาชีพการงาน ก็เฮฮาไปตามประสาวัยรุ่น แต่พอมีภารกิจนี้เกิดขึ้น เรามีโอกาสแล้ว ถ้าเราทำได้แล้วไม่ทำ เราจะต้องเสียใจไปจนตายแน่นอน เรามีประสบการณ์เคยทำเครื่องสักมาก่อน เรารู้เรื่องราวการสักของโลกใหม่ที่จะช่วยพัฒนาให้การสักขาลายมีความปลอดภัย มีมาตรฐานยิ่งขึ้นได้
“มันเหมือนเป็นโชคชะตา และมีอะไรบางอย่างข้างในตัวเราบอกว่า เราไม่ทำไม่ได้ มันเป็นโอกาสของเรา และเป็นการตอบแทนบุญคุณอาชีพการงานของเราที่หล่อเลี้ยงเรามาตลอดหลายปี ถ้าเราไม่ทำตรงนี้ มันเหมือนเราไม่ได้ทำประโยชน์อะไรฝากไว้กับโลกเลย นี่คือภารกิจที่เราทำได้ เพื่ออาจารย์ละดา เพื่อตัวเรา และเพื่อให้คนรุ่นหลังที่อยากจะสืบสานการสักขาลายต่อไป”
อ๊อดกลับมาบ้านและลงมือประดิษฐ์เข็มสักขาลาย ลองผิดลองถูก นำเข็มแบบต่างๆ ที่ได้ลองสร้างไปให้อาจารย์ละดาทดลองสัก ผลที่ได้เป็นอย่างไรจะปรากฏบนเนื้อหนังของเขาที่เต็มใจยื่นให้อาจารย์ได้ใช้ทดลอง
หลังทดลองอยู่เป็นเวลานาน ยื่นผิวหนังให้อาจารย์ได้ทดลองเข็มอยู่มากกว่าสิบครั้ง ในที่สุดเขาก็สร้างเข็มขึ้นมาสำเร็จ ยังคงเอกลักษณ์ลวดลายแบบสมัยก่อน และยังได้ผสมมาตรฐานสมัยใหม่เข้าไป นั่นคือการถอดเปลี่ยนหัวเข็มได้ ไม่ต้องใช้ซ้ำ ไม่ต้องกลัวจะหาไม่ได้อีก เพราะทำขึ้นใหม่ได้แล้ว
แถมเขายังได้แนะนำเรื่องความสะอาดต่างๆ ให้อาจารย์ละดา รวมถึงเป็นผู้นำกระดาษทิชชู แอลกอฮอล์ และหมึกสักแบบปัจจุบัน ไปให้อาจารย์ได้ใช้แทนหมึกจากดีไก่ ดีปลา
เข็มต่างๆ ที่ใช้แล้ว เขาก็ขอให้อาจารย์ช่วยรวบรวมไว้ในภาชนะสักอัน พอเต็มแล้วเขาจะขึ้นมาเอาไปทำลายที่โรงพยาบาลภายในตัวเมืองให้ เพราะนี่คือหลักที่ถูกต้องของช่างสักทุกคน ที่ไม่ควรทิ้งเข็มไว้กับกองขยะอื่นๆ เนื่องจากเป็นแหล่งบ่มเพาะเชื้อโรคได้
ขณะพัฒนาเข็ม อ๊อดก็มีโอกาสได้ศึกษาการสักขาลายลายต่างๆ จากอาจารย์ละดา จนสามารถที่จะสักเอง
“เราแสดงให้อาจารย์ละดาเห็นว่าเราอยากจะสักให้เป็นจริงๆ อาจารย์ก็บอกว่า ไม่ได้รับสอน และบอกกับเรามาแค่คำเดียวให้ ‘ดูเอา’ เพราะอาจารย์ก็ทำแบบนี้มา มันไม่มีใครมานั่งสอน แต่ต้องสังเกตและลองสักดูสักสามสี่คนก็จะเป็นแล้ว เราก็พยายามศึกษา พยายามจำการขึ้นลายต่างๆ ว่าต้องขึ้นจากจุดไหนไปจุด จากการถูกสัก เอารูปที่ถ่ายมาดู ดูลายที่ขาตัวเอง แล้วก็เอาเข็มที่เราพัฒนานั้นแหละมาฝึกฝีมือ ลองเอาไม้มาเหลาเพื่อจะเลียนแบบเข็มที่อาจารย์เคยใช้ ทดสอบ หาความรู้เพิ่มจนทำได้
“ถึงแม้วันนี้ผมจะสักขาลายได้แล้ว แต่ผมก็ยังไม่อาจเทียบกับอาจารย์ละดาได้ สำหรับผมวันนึงอย่างมากเต็มที่ก็สักเสร็จได้หนึ่งขา แต่อาจารย์ละดาสามารถทำเสร็จทั้งสองขาภายในหนึ่งวันได้ นี่คือพละกำลังและความชำนาญของคนที่ทำงานสักขาลายมาตลอดชีวิต และน้ำหนักมือของแกในการลงเข็มแต่ละครั้ง มันไม่ต่างอะไรกับเครื่องจักรเลย มันพอดีเป๊ะ ละเอียดอ่อนกว่าเครื่องจักรด้วยซ้ำ ผมยังต้องพัฒนาต่อไป สักวันนึงจะเป็นตะมะย่อ หรือ สล่าหมึก ช่างสักขาลายในภาษาปกาเกอะญอ ให้ได้เช่นอาจารย์”
ทุกวันนี้อ๊อดและเพื่อนๆ คือกลุ่มคนที่ยังคงเคลื่อนไหวช่วยอนุรักษ์การสักขาลายอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเขาได้ช่วยกลุ่มช่างฟ้อนดาบให้เหมือนสมัยโบราณยิ่งขึ้น โดยการออกแบบกางเกงที่เขาวาดลวดลายลงไปให้ช่างฟ้อนได้สวมขณะรำดาบ ให้ความช่วยเหลือผู้ที่สนใจศึกษาการสักขาลายอย่างเต็มที่แบบไม่หวงวิชา และพาการสักขาลายไปให้โลกได้รู้จักมากขึ้นด้วยผลงานที่อยู่บนเนื้อตัวของทั้งคนไทยและต่างชาติ
“ผมเชื่อว่ามีหลายคนที่ชื่นชอบงานสักขาลาย แต่เขาไม่มีโอกาสได้ไปเจออาจารย์ละดาแบบผม ผมโชคดีที่ได้เจอ นี่เป็นอีกภารกิจที่ผมต้องทำ นั่นคือพาอาจารย์ละดาไปเห็นว่า การที่เขาไม่ยอมขายเข็ม ยังคงยืนหยัดที่จะสักอยู่ ลายในความทรงจำของเขามันมีคุณค่ามาก มันคือสุดยอด มันคือระดับโลก
“ผมเคยพาอาจารย์ละดามาแสดงตัวที่งาน Tattoo Festival อยู่สามปี ให้คนทั่วโลกได้เห็นความสุดยอดของวัฒนธรรมนี้ของเรา เราจะพยายามให้ไม่มีลายไหนหายไปมากกว่านี้ ถ้าอาจารย์ละดาไม่ได้สักลายไหนนานแล้ว เราจะยื่นเข็ม ยื่นร่างกายของเราให้อาจารย์ได้ลองสักทันที เพื่อไม่ให้อาจารย์ลืมลวดลายนั้นไปโดยเด็ดขาด เพราะทุกลายของเขามีค่ามาก เป็นสิ่งที่ควรจะได้รับการสืบสานต่อไป”
ความพยายามและการให้ความร่วมมือในการเผยแผ่เรื่องราวของอ๊อดและเพื่อน ทำให้การสักขาลายมีโอกาสได้ออกสู่สายตาคนจำนวนมาก จนในที่สุดคนรุ่นใหม่ทั้งที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์และไม่ใช่ เมื่อพวกเขาได้เห็นการสักขาลายบนสื่อ ถูกจัดเป็นนิทรรศการต่างๆ ก็เกิดความรู้สึกภูมิใจและกลับมาสักกันเยอะกว่าเดิมมาก ช่างสักอีกหลายคนที่เลิกสักไปแล้วก็เริ่มมาขอให้เขาช่วยทำเข็มให้ เพื่อที่จะได้กลับมาสัก
สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่ช่างสักและอยากจะอนุรักษ์วัฒนธรรมนี้ของประเทศเอาไว้ ผิวหนังบนร่างกายของคุณคือบันทึกชั้นดีที่จะทำให้ลายสักนี้ปรากฏสู่สายตาโลกต่อไป
เพราะแบบนี้เอง เขาถึงเรียกการสักว่าเป็น ความเจ็บปวดแต่งดงาม
ติดต่อได้ที่
Facbook | Oddy Lannatattoo
Instagram | Oddylannatattoo
โทร | 08-5107-3356
ภาพ : ศราวุธ แววงาม