เล่าเรื่อง ‘สะพานควาย’ ผ่านมุมมองเจ้าบ้าน - Urban Creature

สะพานควาย ที่เราคุ้นเคยในทุกวันนี้ เมื่อก่อนคือพื้นที่ที่เรียกว่า ‘ทุ่งศุภราช’ ทุ่งนากว้างใหญ่ไพศาลทางทิศเหนือของทุ่งพญาไท เมื่อถึงช่วงฤดูแล้ง นายฮ้อยจากแดนอีสานก็จะนำฝูงควายมาให้ชาวนาแห่งทุ่งศุภราชได้จับจองเป็นเครื่องมือในการทำนา และบริเวณจุดเชื่อมถนนพหลโยธินกับถนนประดิพัทธ์ ก็มีสะพานไม้ที่ชาวบ้านสร้างเอาไว้เป็นทางสัญจร เพื่อให้ทั้งคนและควายได้ใช้เดินทางข้ามคูคลองกันอย่างสะดวก พื้นที่นี้จึงถูกเรียกว่า ‘สะพานควาย’ มาจนถึงปัจจุบัน

สองเท้าก้าวออกจากรถไฟฟ้า สถานีสะพานควาย ไม่เหลือกลิ่นอายท้องทุ่งให้ได้สัมผัสเลยแม้แต่น้อย ผมเดินผ่านสถานบันเทิงที่เหลือแค่เพียงร่องรอยของความคึกคักในช่วงเวลาหนึ่งเอาไว้ อย่างโรงหนังเก่าที่ไม่มีใครกล้าที่จะเหยียบเข้าไป หรือห้างยุคเก่าที่รอวันรื้อทิ้ง และร้านรวงส่วนใหญ่ก็เป็นร้านเก่าแก่ที่ผมสามารถเรียกเจ้าของร้านว่าคุณตาคุณยายได้แล้ว

ผมมุ่งหน้าสู่ถนนประดิพัทธ์ และได้มีโอกาสพูดคุยกับ พี่วิทย์ สุวรรณนภาศรี เจ้าของร้าน Coffee Model ร้านกาแฟที่ถูกตกแต่งด้วยของสะสมชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ และเพลงเพราะ ๆ จากเครื่องเล่นแผ่นเสียงสุดคลาสสิก ซึ่งตั้งอยู่ในซอยประดิพัทธ์ 18 พี่วิทย์เกิด เติบโต และใช้ชีวิตอยู่ที่ย่านนี้มากว่า 50 ปี เรียกได้ว่า เป็นผู้ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของย่านสะพานควายมาโดยตลอด

สะพานควาย ไหนล่ะควาย

“คนเฒ่าคนแก่ที่ยังมีลมหายใจอยู่ตอนนี้ ยังแทบจะไม่ทันยุคที่เขาขายควายกันเลย (หัวเราะ) ผู้ใหญ่เคยพาไปชี้ตำแหน่งว่าตรงนี้ คือตรงสี่แยก แถวตึกศรีศุภราช เมอร์รี่ คิงส์ มันเป็นแค่สะพานอันเล็ก ๆ ให้ควายข้ามแค่นั้นเอง และพอบ้านเมืองเราเริ่มเจริญเติบโต เทคโนโลยีมันก็เข้ามาแทนที่สัตว์พวกนี้ ชาวนาก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ควายในการทำนาอีกต่อไป ควายมันก็ถูกไปอยู่ในฐานะสัตว์อนุรักษ์ เราคงไม่ไปทำร้ายมันอีกแล้ว”

แหล่งบันเทิงชั้นดี

ในช่วงชีวิตวัยรุ่นของพี่วิทย์ สะพานควายเคยเป็นแหล่งบันเทิงชั้นดี และเป็นสถานที่ไนท์ไลฟ์แห่งหนึ่งของวัยรุ่นยุคนั้น ใครจะพบปะ สังสรรค์ ย่านนี้จะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของทุกคนได้ เพราะมีทั้งห้างเมอร์รี่ คิงส์ ศรีศุภราช และโรงหนังสแตนอโลนให้เลือกเข้าไปชมมากมาย

แต่เมื่อการแข่งขันทางธุรกิจสูงขึ้น โรงหนังบางโรงก็เลือกที่จะเอาตัวรอดด้วยการฉายหนังติดเรท ทำให้เกิดเป็นแหล่งมั่วสุม และต้องปิดตัวตามกันไป อีกทั้งการเกิดของโรงหนังแบบ Cinema Complex ในห้างสรรพสินค้า ก็ดึงดูดความสนใจของผู้คน จนทำให้โรงหนังสแตนอโลนต้องมาถึงตอนอวสาน

“ยุคที่รุ่งเรืองที่สุด คงป็นยุคที่มีโรงหนังนิวยอร์ค โรงหนังเฉลิมสิน พหลโยธินรามา มงคลรามา ประดิพัทธ์เธียเตอร์ นี่คือยุคของโรงหนัง ซึ่งเราบอกความเจริญของย่านนั้นผ่านโรงหนังก็ได้”

ย่านการค้าเบอร์รอง

“แน่นอนว่าจะซื้อทองคำ แว่นตา นาฬิกา คนก็นึกถึงเยาวราช หรือไปที่อื่นที่ไม่ใช่สะพานควาย จะซื้อผ้า ซื้อชุดนักเรียนก็นึกถึงพาหุรัด แต่ทั้งหมดนี้ สามารถหาได้ที่สะพานควาย แต่ก่อนร้านพวกนี้เยอะมาก ซึ่งตอนนี้ก็ทยอยหายกันไป หรือขึ้นไปอยู่บนห้างกันหมด ตรงนี้ มันบ่งบอกได้ถึงฐานะ การศึกษา และเป็นจุดชี้ถึงความเจริญของย่านนี้ เราก็เป็นแหล่งดี ๆ แหล่งหนึ่ง ไม่โตเท่า ไม่ใหญ่เท่า แต่เรียกว่าเป็นหัวแถวของเบอร์รองก็ยังได้”

พี่วิทย์เล่าถึงยุคเฟื่องฟูของสะพานควาย ที่มีทั้งห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ และร้านค้าที่บ่งบอกถึงสถานะของผู้คน แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะค่าเช่าที่ปรับราคาสูงขึ้น การแข่งขันด้านธุรกิจที่สูงขึ้นตาม ความเจริญรุ่งเรืองไร้ขีดจำกัดก็ได้กลืนกินย่านสะพานควาย จนทำให้ตัวชี้วัดเหล่านั้น ค่อย ๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา

เสน่ห์แห่งความเหงา

“ถ้าจะบอกว่าย่านนี้มันเงียบเหงาก็ไม่ผิด ทำเลการค้าตอนนี้ สะพานควายไม่ใช่ทำเลทองเหมือนในอดีต ซึ่งตรงจุดนี้มันคือเสน่ห์ที่ใครต่างก็หันกลับมามอง เรามีทั้งรถไฟฟ้า มีพื้นที่ดี ๆ ค่าที่ไม่แพงมาก เราอยู่ตรงกลางระหว่างอารีย์กับจตุจักร ความเจริญมันก็กำลังหลั่งไหลเข้ามาเรื่อย ๆ

พี่เชื่อว่ายุคสแตนอโลนมีโอกาสกลับมา สะพานควายจะเติมเต็มด้วยร้านอาหารและร้านกาแฟเด่น ๆ ทุกคนไม่จำเป็นต้องไปห้างก็สามารถมีความสุขกับย่านนี้ได้ ถ้าสังเกต เราเริ่มเห็นร้านกาแฟเล็ก ๆ โฮสเทลเกิดขึ้นมากมาย หากรู้สึกว่าย่านอื่นคนเยอะแล้ว ก็แวะเวียนมาพักใจที่สะพานควายได้”

ตอนนั้น ตอนนี้ อะไรที่เหมือนกัน

“ย่านทุกย่านมี ‘คน’ และแน่นอนว่า ‘การค้าขาย’ ย่อมตามมา เป็นเหมือนตัวขับเคลื่อนให้ชุมชนนั้นๆ มันเดินหน้าต่อไป สมัยก่อนอาจจะแลกเปลี่ยนซื้อขายควายกัน หรือยุคหนึ่งก็มีทั้งโรงหนัง มีห้าง ถ้าเรามองดี ๆ มันไม่ต่างอะไรกับตอนนี้เลย ที่มีร้านค้า มีตลาดให้คนได้มาแลกเปลี่ยนสินค้าบริการกัน ความไม่หวือหวาและความอิสระเสรีของพื้นที่นี้นี่แหละ มันเป็นสิ่งที่ย่านอื่น ๆ จะต้องหันกลับมามองเรา”

“ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทอง ค้า”

Writer & Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.