‘ปอดกรุงเทพฯ’ คำนี้มักจะเลือนลางในสายตาของใครหลายๆ คน เพราะกว่าจะได้คำนี้มาครองคงต้องมีพื้นที่สีเขียวกว้างขวาง แต่หากอยู่ในเมืองแล้วล่ะก็… แทบจะหาได้ยาก เราเลยออกเดินทางไป ‘ตามหาปอดกรุงเทพ ฯ แห่งใหม่’ ที่อยู่ละแวกสรงประภา ดอนเมือง ไม่ไกลจากใจกลางเมืองมากนัก
| ชุมชนนิเวศน์สันติวนา ‘พื้นที่แห่งการรักษาดิน น้ำ ป่า’
ตอนที่ขับรถมาถึงเสมือนหลุดเข้ามาอีกโลก อดไม่ได้ที่จะต้องเปิดกระจกรถรับลมเย็นปะทะตัว และแสงแดดอ่อนๆ ยามเช้า เพลินขนาดขับรถเลยทีเดียว รู้ว่ามาถูกทางก็เมื่อเจอป้ายติดไว้ริมรั้วว่า ‘สันติวนา’
เมื่อกวาดสายตามองไปรอบๆ ก็เกิดคำถามขึ้นในใจว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นของใคร ทำไมอุดมสมบูรณ์ มีทั้งต้นไม้ใหญ่ แปลงผัก นาข้าว และนกนานาชนิดมารวมกันอยู่ที่นี่ ว่าแล้วก็ไม่อยากปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป เราเดินดุ่มๆ เข้าไปหาและทักทาย ‘พี่ฝ้าย-กรชชนก หุตะแพทย์’ ที่เป็นผู้ประสานงานชุมชนนิเวศน์สันติวนา (Santiwana Eco Community) แห่งนี้
ไม่นานพี่ฝ้ายก็เริ่มเผยคำตอบออกมาให้เราฟังทีละนิดทีละน้อย โดยพี่ฝ้ายเล่าให้ฟังว่าย้อนกลับไปในช่วงแรกๆ พื้นที่กว่า 33 ไร่ที่เรานั่งและเห็นอยู่นี้ เจ้าของพื้นที่คือ มูลนิธิอุร์สุลินเพื่อการศึกษา ซี่งมีบาทหลวงวิชัย โภคทวี เป็นผู้เข้ามาบุกเบิกพื้นที่ ทำให้คนที่นี้เรียกติดปากว่าคุณพ่อ
คุณพ่อมาเจอพื้นที่ตรงนี้ตั้งแต่ยังเป็นป่ารกทึบ ตั้งใจทำให้เป็นพื้นที่กิจกรรมเข้าเงียบของชาวศาสนาคริสต์ เนื่องจากบรรยากาศสงบ หากเข้ามาแล้วจะได้อยู่กับตัวเองและฝึกจิตใจ เมื่อบาทหลวงมีอายุมากขึ้นจะดูแลที่นี่ต่อเห็นท่าจะไม่ไหว ทำให้ทางทีมงานมูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา ที่มีอุดมการณ์เดียวกันเข้ามาร่วมมือ รักษาพื้นที่ตรงนี้ไว้
พี่ฝ้ายอธิบายง่ายๆ คือ เมื่อคุณพ่อแก่ตัวลงกิจกรรมทางศาสนาก็ต้องถูกยกเลิก แต่ยังคงรักษาระบบนิเวศ ดิน น้ำ ป่า ให้เป็นพื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง ทางทีมมูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา จึงเป็นผู้จัดการและพัฒนาพื้นที่ตั้งแต่นั้นมา
| ทำด้วยความตั้งใจ เพื่อให้คนรู้จัก ‘เกษตร พลังงาน อาหาร’
เมื่อได้ทำความรู้จักมูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนาผ่านคำบอกเล่าของพี่ฝ้าย ทำให้รู้ว่ากว่า 30 ปี ทางมูลนิธิตั้งใจที่จะอบรมให้ความรู้ทั้งเรื่องการปลูกผัก พลังงานธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งการทำของใช้ในครัวเรือน โดยเน้นการพึ่งพาตนเอง จึงหยิบความรู้ที่มีอยู่ในมือมาผูกเข้ากับพื้นที่ที่อยู่ตรงหน้านี้ เมื่อต้องบริหารจัดการพื้นที่ จึงไม่รีรอที่จะตั้งเป้าหมายหลักๆ คือ
“รักษาพื้นที่ระบบนิเวศน์ไว้ ดิน น้ำ ป่า ให้มันอยู่ใจกลางเมืองได้ และคงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน”
ตั้งแต่เข้ามาตอนเช้า พี่ฝ้ายแนะนำให้เราสังเกตว่า พื้นที่แห่งนี้อุดมสมบูรณ์อย่างไรบ้าง ที่เห็นได้ชัดคือมีนกบินมาอาศัย เสมือนเป็นแหล่งอพยพของนกนานาชนิดแถมยังมีพืชพันธุ์กว่า 20 ชนิด ที่ขึ้นสูงแข่งกันบดบังแสงแดดแทนร่มคันใหญ่ให้กับเราระหว่างพูดคุยกัน
พี่ฝ้ายเล่าต่อว่าอีกอย่างคือเน้นเรื่อง ‘การพึ่งพาตัวเอง’ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกษตร พลังงาน อาหาร ล้วนเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะลึกลงไปบางคนยังขาดความมั่นคงในการพึ่งพาตัวเอง ยิ่งในช่วงวิกฤตทางธรรมชาติหรือโรคระบาด หากมีความรู้ติดตัวก็จะช่วยเหลือตัวเองได้
พื้นฐานง่ายๆ ที่พูดแล้วเห็นภาพมากขึ้น เช่น ปลูกผักกินเองได้ เอาพลังงานธรรมชาติมาใช้ในครัวเรือนได้ เป็นการเพิ่มสกิลเพื่อสู้วิกฤตต่างๆ เพื่อให้มั่นใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น และนำความรู้ที่มีไปช่วยเหลือหรือแบ่งปันให้กับคนอื่นๆ บ้าง
ส่วนเรื่องจิตอาสาเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย หากเข้ามาในพื้นที่นี้แล้วการได้ร่วมทำงานจิตอาสา นอกจากจะได้ทำเพื่อผู้อื่นมากขึ้น ยังเป็นการได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้นด้วย
| เป็นเกษตรกร 1 วัน ลุยแปลงตัดผักด้วยมือของตัวเอง
แสงแดดใกล้ออกอย่างเต็มที่แล้ว เพื่อไม่ให้มันไล่เราจนรู้สึกร้อนเกินไป หันดูนาฬิกาตอนนี้ก็จะ 9 โมงแล้ว ได้เวลาลองเปลี่ยนตัวเองจากมนุษย์ออฟฟิศที่งานแสนจะยุ่ง มาเป็นเกษตร 1 วัน เดินลุยลงแปลงไปตัดผักกัน ! ต้องยอมรับก่อนว่าพวกเราไม่มีใครเป็นมืออาชีพสักคน เพราะแทบไม่เคยทำมาก่อน จึงมีพี่ฝ้ายคอยเป็นเทรนเนอร์ให้เรา
ความหวังที่ตั้งใจจะหอบถุงผักสลัดออร์แกนิกขนาดใหญ่กลับบ้าน แต่เมื่อเห็นแปลงที่ว่างเปล่าอยู่ตรงหน้า พร้อมเสียงพี่ฝ้ายที่เดินมาบอกเราว่า “ทางชุมชนได้เปิดให้คนทั่วไปรวมถึงชาวบ้านใกล้เคียง เข้ามาตัดผักไปแล้วเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา” ใจที่พองโตเมื่อครู่ก็ค่อยๆ หดลง แต่ไม่เป็นไร เพราะวันนี้เหลือแต่ผักกวางตุ้งฮ่องเต้ที่พอจะติดไม้ติดมือกลับไปได้บ้าง
ผักที่นี่ถูกเลี้ยงดูแบบออร์แกนิก จะเห็นได้ว่าผิวพรรณของมันจะไม่ได้ดูสวย 100% แต่ทุกครั้งที่ทางชุมชนนิเวศน์สันติวนา ประกาศให้คนเข้ามาตัดผักล่ะก็ ไม่เคยถูกปฏิเสธแม้แต่ครั้งเดียว จึงพอจะรู้ได้ว่ายังมีคนที่อยากกินผักที่สะอาด ปลอดภัย
แถมขายให้ราคากันเองเพียงกิโลกรัมละ 100 บาทเท่านั้น มีทั้งสลัดเรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค คอสเขียว และคอสแดงให้เลือกตามใจชอบ แทบจะใช้คำว่าใครตัดได้เท่าไหร่ก็ขนไปเท่านั้น แต่ทุกครั้งคนที่มาก็มักจะซื้อแบบพอดีเพื่อเหลือให้คนอื่นที่ยังเดินทางมาไม่ถึงด้วย
ส่วนกิจกรรมในอนาคตทางทีมและพี่ฝ้ายเอง ตั้งใจจะจัดกิจกรรมเวิร์คชอป และค่ายเยาวชนให้กับกลุ่มคนทั่วไป โรงเรียน และหน่วยงานถึงเรื่องเกษตร พลังงาน สิ่งแวดล้อม และการทำของใช้ในครัวเรือน อีกทั้งสิ่งที่ตั้งใจคือการเป็นแหล่งผลิตอาหารของคนเมือง
“เรายังอยากผลิตผักออร์แกนิกต่อไป เพื่อให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งผลิตอาหารหนึ่งในใจของคนกรุงเทพฯ โดยเน้นให้คนมาตัดผักเองเพื่อที่จะได้สื่อสารกันอย่างเข้าใจ และเป็นการเข้ามาทำความรู้จักพื้นที่ไปในตัวอีกด้วย”
| พื้นที่ที่ไม่ได้มีดีแค่ผัก
การก้าวเข้ามาพื้นที่แห่งนี้ เรากล้าสูดอากาศเข้าไปเต็มปอดมากขึ้น มันเป็นมากกว่าพื้นที่ที่มีแค่ต้นไม้ บึง และสวนผักเท่านั้น แต่เป็นระบบนิเวศน์ที่มีกลุ่มคนที่ตั้งใจให้ทุกคนได้เข้ามาเห็น และอยากเก็บรักษาทั้งดิน น้ำ และป่า ให้อยู่ร่วมกันได้
ตลอดเวลาที่พี่ฝ้ายพาเดินดูตามมุมต่างๆ ทั่วชุมชน เราได้เห็นทั้งพื้นที่ที่จะเตรียมนำไก่ไข่มาลง แผงโซลาเซลล์สำหรับจัดการน้ำ นาข้าวไรซ์เบอร์รี่ ปุ๋ยชีวภาพหมักเอง ทั้งหมดนี้คือระบบนิเวศที่หมุนเวียนกันอยู่ในที่แห่งนี้ วันนี้ ‘ชุมชนนิเวศน์สันติวนา’ เรียกตัวเองได้ว่าเป็น ‘ปอดของกรุงเทพฯ’ แห่งใหม่ได้อย่างเต็มปาก
อย่างไรก็ตามแม้ตอนนี้ทางชุมชนนิเวศน์สันติวนา ไม่ได้เปิดอย่างเป็นทางการ แต่ยังมีกิจกรรมจัดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ทุกคนสามารถเข้าไปติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Facebook : Santi Wana Eco Community ชุมชนนิเวศน์สันติวนา
และการกินผักของคุณจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะผักที่ตัดด้วยมือของเรามันจะหวาน กรอบ และอร่อยกว่าที่เคย