เดี๋ยวนี้เวลาพูดถึงสามย่าน หลายคนคงคิดถึงบรรทัดทอง หมาล่า หรือเขตอาหารที่คึกคักตลอดคืน แต่จริงๆ พื้นที่ตรงนี้ได้ชื่อ ‘สามย่าน’ จากจุดตัดถนน 3 สาย คือ ถนนพระรามที่ 4 ถนนพญาไท และถนนสี่พระยา ซึ่งไม่เพียงแต่จุดตัดของถนนสามสาย ที่นี่ยังมีสามความเชื่อ สามรูปแบบความศรัทธาที่ปรากฏตั้งแต่อดีตกาลยาวนานมา
ยามบ่ายของวันเสาร์ที่ผ่านมา TEDXChulalongkornU ได้ชวน Urban Creature ไปเดินสำรวจหลากหลายความเชื่อ ความศรัทธาในพื้นที่สามย่าน ในธีม How to train your jargon ที่มีไกด์ทัวร์ท้องถิ่นของแต่ละสถานที่ และนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มาดำเนินกิจกรรม


ศาลเจ้าปึงเถ่ากงม่า สถานที่แห่งความศรัทธาที่ไม่อาจรักษาสัญญา
“เขาขอเข้ามาปรับปรุง มีแพลนมาให้ดูว่าจะสร้างนู่นสร้างนี่ ย้ายเรามาตรงนี้ให้มีพื้นที่มากขึ้น สะดวกขึ้น แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นอย่างที่บอก” เจ้าหน้าที่ศาลเจ้าปึงเถ่ากงม่าเล่าให้ฟัง
สถานที่นี้คือศาลเจ้าที่เดิมเป็นศูนย์กลางทางจิตใจของคนในชุมชน ด้วยความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ของเทพทีกงและทีม่า ที่เล่าขานกันว่า ในวันที่เกิดเหตุไฟไหม้โดยรอบ ถึงแม้ศาลเจ้านี้สร้างด้วยไม้ทั้งหมดแต่พวกเป็ดไก่ที่วิ่งพากันเข้ามาหลบไฟในศาลเจ้ากลับมีชีวิตรอดกันทั้งหมด
แต่ตอนนี้ศาลเจ้าปึงเถ่ากงม่าได้ย้ายเข้ามาตั้งอยู่ภายในโครงการ Dragon Town ซึ่งเป็นโครงการที่มีร้านค้า ร้านอาหาร ด้วยข้อต่อรองในการปรับปรุงพื้นที่ โดยสถานที่ที่เปลี่ยนแปลงไป ควบคู่กับคนในชุมชนเดิมได้ย้ายออกไปจากพื้นที่นี้ ก็เลยทำให้ผู้คนไม่ได้เข้ามามากเท่าเดิม

ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ศาลศักดิ์สิทธิ์ท่ามกลางการก่อสร้าง
ชื่อนี้คงเป็นที่คุ้นหูของผู้ที่ติดตามข่าวสารอยู่เป็นประจำ เพราะคดีความระหว่างศาลเจ้าแม่ทับทิมกับ PMCU หรือสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังคงดำเนินอยู่
“เราไม่เชื่อจริงๆ นะว่าเขาจะไล่เรา ตอนมีคนบอกว่ายังไงก็โดน เราเถียงหัวชนฝา เพราะคิดว่าอยู่คู่กันมานาน เวลาจัดงานอะไรก็อนุเคราะห์กัน” เสียงจากหนึ่งในผู้ที่อยู่คู่ศาลเจ้ามาเป็นระยะเวลานาน
เรื่องราวการถูกไล่ที่อันโด่งดังอาจไม่ใช่เพียงการพูดถึงความเชื่อและสายใยของศาลเจ้า ชุมชน และเจ้าของพื้นที่ แต่ยังนำพาความสนใจของผู้คนให้มาไหว้กันมากขึ้นหลังเกิดคดีความ เนื่องจากวันเสาร์ที่มีการจัดทัวร์นี้ เราเห็นผู้คนหลากหลายวัยตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงวัยเกษียณแวะเวียนเข้ามาไหว้ไม่ขาดสาย
ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างโดยชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งมีตำนานเล่าว่า ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 มีกลุ่มคนจีนพบวัตถุลอยทวนน้ำมาที่จุดน้ำวน และพบว่าเป็นรูปปั้นขององค์เจ้าแม่ทับทิม จึงนำมาตั้งที่บ้านแล้วเกิดทำมาค้าขายดี เลยตั้งเป็นศาลเจ้าแม่ในพื้นที่สะพานเหลืองและมีคนมากราบไหว้บูชาจนถึงปัจจุบัน
“หยิบส้มไปได้นะครับ” เป็นเสียงตะโกนเรียกให้หยิบส้มติดไม้ติดมือกลับบ้านดังขึ้นตลอดการเดินทัวร์ จากเหล่าคนของศาลเจ้าที่อยากแบ่งปันทั้งคำอวยพรและผลไม้เสริมมงคล
ถึงแม้ว่าศาลเจ้าแม่ทับทิมตอนนี้จะมีภาพจำในเรื่องข้อพิพาทและความขัดแย้งในเชิงพื้นที่ แต่เชื่อว่าคนในชุมชนหรือผู้เข้ามาเยี่ยมเยียนยังคงได้รับประโยชน์ทั้งในเชิงมูฯ และการแบ่งปันที่เป็นความสำคัญหลักของศาลเจ้าคู่ชุมชน

วัดหัวลำโพง ศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธ คู่มูลนิธิร่วมกตัญญู
บ่ายคล้อยมาอีกหน่อย ชาวทริปเดินสามย่านพาเรามาที่วัดหัวลำโพง อีกหนึ่งรูปแบบความเชื่อ ความศรัทธาของชาวพุทธ ด้วยตัววัดที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนมาอย่างยาวนาน โดยเมื่อก่อนวัดแห่งนี้มีชื่อว่า ‘วัดวัวลำพอง’ ก่อนรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ มาเปิดทางรถไฟหัวลำโพงจึงพระราชทานชื่อให้คล้องจองกันเป็นวัดหัวลำโพง
นอกจากเป็นสถานที่ของคนพุทธและสถาปัตยกรรมอันสวยงามทรงคุณค่าแล้ว ที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของมูลนิธิร่วมกตัญญูที่คนมักแวะเวียนเข้ามาทำบุญซื้อโลงศพ บริจาคโลงศพ เพื่อเสริมดวงชะตา ต้านเคราะห์ภัยกันเป็นประจำ

คริสตจักรที่สอง สามย่าน ที่เป็นมากกว่าเพียงสถานที่สอนศาสนา
เรียกได้ว่านี่คือครั้งแรกที่เรามีโอกาสได้เดินเข้าไปในโบสถ์ หรือสถานที่ประกอบพิธีกรรมของชาวคริสต์ ทั้งที่พื้นที่นี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2421 หรือเป็นร้อยปีก่อนเราจะเกิดขึ้นมาลืมตาดูโลกเสียอีก
ที่นี่เป็นคริสตจักรนิกายโปรเตสแตนต์ที่มีกิจกรรมแน่นตลอดทั้งสัปดาห์ ทั้งวันอาทิตย์ที่เป็นการนมัสการพระเจ้าและทานอาหารร่วมกันเหมือนโบสถ์ทั่วๆ ไป ส่วนความพิเศษคือ โบสถ์แห่งนี้มีการเปิดสอนพิเศษให้กับเด็กช่วงเลิกเรียน ทั้งวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ดนตรี หรือแม้กระทั่งฟุตบอล โดยไม่ว่าจะเป็นผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์หรือไม่ก็เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมได้
ตลอดเส้นทางที่เดินไปยังแต่ละสถานที่ของความเชื่อนั้น เรายังแวะจุดต่างๆ ของพื้นที่สามย่านเป็นระยะ ทั้งอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ตลาดสามย่าน หรือหอยูเซ็นเตอร์ที่เห็นการอยู่อาศัยและวิถีชีวิตของคนแถวนี้ นอกจากนั้นยังมีข้อมูลน่าสนใจจาก ‘เฮง-ภูมิยศ ลาภณรงค์ชัย’ และ ‘กอหญ้า-สิริอักษร มะธิปะโน’ นิสิตคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 ที่เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่สามย่าน

พวกเขาเล่าว่า สามย่านอยู่ในแขวงวังใหม่ ซึ่งเคยเป็นพื้นที่การค้าขายเซียงกง แต่เนื่องจากการพัฒนาพื้นที่ที่ได้ปรับประโยชน์ใช้สอยจากชุมชนเซียงกงเก่าเป็นสวนร้อยปี หรือห้างสรรพสินค้าต่างๆ ทำให้พื้นที่ที่เคยมีคนอยู่อาศัยหลักหมื่น หรือ 90,000 คนในแขวงวังใหม่ ปัจจุบันเหลือเพียง 12,000 คนในเขตนี้ ด้วยคอนโดมิเนียมที่กำลังก่อสร้างหรือที่สร้างเสร็จแล้วยังไม่มีคนเข้าอยู่มากเท่าที่ชุมชนเคยอาศัยอยู่
คงเป็นไปไม่ได้ที่พื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดจะคงไว้ซึ่งภาพหรือวิถีชีวิตเพียงแบบเดียวตลอดกาล เพราะพลวัตของการเปลี่ยนแปลงก็หมุนเข้ามาตลอด ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่ยืนยันได้อย่างหนึ่งคือ การเดินทัวร์ศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านความเชื่อที่ยังหลงเหลืออยู่ เป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิต ชุมชน การอยู่อาศัยที่สอดคล้องกับพื้นที่ และคงน่าเสียดายน่าดูถ้าผู้ที่เข้ามาใช้ชีวิต ท่องเที่ยว หรือศึกษาแถวนี้ ไม่มีใครรู้สักคนว่าที่แห่งนี้เคยมีคนอยู่มากมายแค่ไหนและพวกเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร