พิธีไล่ ‘ห่า’ โรคระบาดหนักยุค ร.2 - Urban Creature

“ไอ้ห่า” เชื่อว่าหลายคนต้องเคยได้ยินคำด่านี้กันใช่ไหม

มันมีที่มาจากคำว่า โรคห่า เป็นคำที่ชาวบ้านใช้เรียกโรคระบาดที่เกิดขึ้นในอดีต พอเห็นว่าโรคระบาดใดๆ ก็ตามที่คร่าชีวิตผู้คนไปเยอะ ชาวบ้านก็จะเรียกว่า ห่าลง มันซะเลย เพราะแต่ก่อนยังไม่มีเทคโนโลยีและการแพทย์ที่ดี อีกทั้งชาวสยามยังเข้าไม่ถึงความรู้ด้านสุขอนามัย

อันที่จริงบ้านเมืองเราต้องเจอกับโรคระบาดมานับครั้งไม่ถ้วน หากย้อนกลับไปในช่วงโรคระบาดยุคพระเจ้าอู่ทอง ก็มีนักประวัติศาสตร์วิเคราะห์กันว่าโรคห่าในตอนนั้น แท้จริงแล้วคือกาฬโรค หรือในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ก็คาดกันว่าเป็นไข้ทรพิษ

จนมาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ก็เกิดห่าลงอีกครั้ง โดยห่าในครั้งนี้ คือ อหิวาตกโรค ซึ่งหนักเอาการถึงขนาดทุกตารางนิ้วบริเวณวัดสระเกศเต็มไปด้วยซากศพและฝูงแร้งนับร้อย จนเป็นที่มาของวลีที่เราคุ้นเคยอย่าง แร้งวัดสระเกศ

วิถีชีวิตริมน้ำของชาวสยามในอดีต / Photo Credit : Thaprajan Blogspot

อหิวาต์ ทำห่าลงสยาม

โรคห่าในยุครัชกาลที่ 2 คือ อหิวาตกโรค เป็นโรคระบาดประจำถิ่นของประเทศในแถบเอเชียที่จะเวียนมาในทุกฤดูแล้งและหายไปช่วงฤดูฝน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Vibrio Cholerae ที่มักเจอในของสุกๆ ดิบๆ และมีพาหะคือแมลงวัน ซึ่งเชื้อโรคนี้จะถ่ายทอดผ่านทางอุจจาระของผู้ป่วย โดยจะมีอาการท้องร่วงเป็นน้ำและอาเจียน ทำให้ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต 

ยิ่งวิถีชีวิตริมแม่น้ำของคนสมัยก่อน ก็ยิ่งทำให้เสี่ยงติดเชื้อโรคและป่วยเป็นอหิวาตกโรคนี้ได้ง่าย เมื่อผู้คนขับถ่ายลงแม่น้ำ ความแย่ก็เกิดกับคนที่ต้องกินต้องใช้น้ำต่อๆ กันจนไม่รู้เลยว่าใครป่วยหรือไม่ป่วยกันแน่

แร้งวัดสระเกศ / Photo Credit : มติชนออนไลน์

จากบันทึกของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ผู้แต่ง และผู้ตีพิมพ์หนังสือไทยเล่มแรกที่อธิบายความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และศาสนาที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น ได้เล่าถึงความรุนแรงของโรคห่าว่า ในปีมะโรง พ.ศ. 2363 การระบาดเริ่มมาจากอินเดียสู่ไทย ผ่านทางปีนัง และหัวเมืองฝ่ายตะวันตก จนเข้ามาถึงสมุทรปราการและพระนคร

ห่าลงครั้งนี้ระบาด 2 สัปดาห์ แต่ลองคิดดูว่าระยะเวลาเพียงไม่เท่าไร ก็มีประชาชนล้มตายเป็นจำนวนราว 30,000 คนเลยทีเดียว ซากศพของผู้ป่วยโรคห่าก่ายกันเหมือนกองฟืน และมีศพลอยในแม่น้ำลำคลองเกลื่อนกลาดไปทุกหนแห่ง จนพระสงฆ์ต้องหนีออกจากวัด ถนนหนทางก็ไม่มีคนเดิน น้ำในแม่น้ำก็เอามาใช้กินดื่มไม่ได้ ต่างคนต่างประทังชีวิตด้วยปลาแห้งกับเกลือเท่านั้น

ภาพจิตรกรรม ณ วัดท่าข้าม ศพลอยน้ำโดยมีทั้งอีกาและปลามากินซาก / Photo Credit : ศิลปวัฒนธรรม

พิธีไล่ห่ายุค ร.2 จึงเกิดขึ้น

สมัยนั้นยังไม่รู้วิธีการรักษาและป้องกัน รัชกาลที่ 2 จึงโปรดฯ ให้จัด พระราชพิธีอาพาธพินาศ เพื่อปลอบประโลมจิตใจราษฎร และเป็นการปัดรังควานแก่พระนคร เพราะคนในสมัยนั้นจะเชื่อว่า ห่าคือผีปีศาจที่ทำให้เกิดโรคระบาดจนผู้คนต้องตายเป็นจำนวนมาก

โดยพระราชพิธีนี้จัดขึ้นในวันจันทร์ เดือนเจ็ด ขึ้น 11 ค่ำ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีการยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืนยันฟ้าสว่าง มีการอัญเชิญพระแก้วมรกต และพระบรมสารีริกธาตุออกแห่รอบพระนคร พร้อมพระภิกษุที่ได้รับสถาปนาให้มีสมณศักดิ์ทำการโปรยพระพุทธมนต์ตลอดทางทั้งทางบกและทางเรือ

ภาพจิตรกรรม ณ วัดราชประดิษฐ พระสงฆ์กำลังขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อเตรียมขึ้นสวดอาฏานาฏิยปริตร ที่เชื่อว่าสามารถป้องกันภัยจากอมนุษย์ / Photo Credit : ศิลปวัฒนธรรม

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงรักษาศีล สละพระราชทรัพย์ไถ่ชีวิตสัตว์ และปล่อยตัวนักโทษให้กลับไปดูแลรักษาชีวิตกับครอบครัว รวมถึงออกประกาศห้ามประชาชนฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและให้อยู่แต่ในบ้าน ซึ่งก็ทำให้โรคห่าเริ่มลดการระบาดลง คล้ายกับการรับมือโรคระบาดในยุคนี้ที่ให้ทุกคน work from home และห้ามออกจากที่พักอาศัยเพื่อลดการแพร่เชื้อ

แต่การจัดพิธีนี้กลับไม่ได้ทำให้โรคระบาดหายแต่อย่างใด ราษฎรและพระภิกษุที่เข้าร่วมพิธีบ้างก็สิ้นใจกลางทาง บ้างกลับบ้านมาแล้วเสียชีวิตก็มี ซึ่งชาวบ้านบางส่วนก็มีความเชื่อกันว่า ผีห่านั้นมีกำลังแกร่งกล้ากว่าพิธีนี้ และในเมื่อไม่เห็นผลที่ดีจากการจัดพิธี ในการระบาดครั้งต่อไปจึงยกเลิกการจัดพระราชพิธีนี้อย่างถาวร

ประตูผี ใกล้กับวัดสระเกศ (ภูเขาทอง) เป็นทางนำศพออกจากเขตเมือง / Photo Credit : Wikipedia วัดสระเกศ

แร้งวัดสระเกศ

ไม่ใช่แค่ยุครัชกาลที่ 2 ที่มีอหิวาตกโรคระบาด ด้วยการแพทย์ยังเข้าไม่ถึงประชาชน ห่าก็กลับมาระบาดอีกครั้งในยุครัชกาลที่ 3 จนถึงรัชกาลที่ 5 อย่างสมัยรัชกาลที่ 3 ปี พ.ศ. 2392 ผู้คนเรียกกันว่า ห่าลงปีระกา ซึ่งมีผู้คนล้มตายราว 40,000 คน และยังตรงกับการระบาดทั่วโลกครั้งที่ 2

ในสมัยนั้นมีวัดที่สามารถใช้เผาศพได้ไม่กี่แห่ง เพราะมีกฎห้ามเผาศพในเมือง บริเวณที่สามารถนำศพผ่านได้ก็มีอยู่ที่เดียวนั่นคือประตูผีที่อยู่ใกล้กับวัดสระเกศ ซึ่งเป็นประตูที่ใช้เป็นทางนำศพออกจากเขตกำแพงเมืองนั่นเอง

พอมีศพจำนวนมาก วันละกว่า 600 ศพ เจ้าหน้าที่ที่ดูแลไม่สามารถเผาและจัดการศพได้อย่างทันท่วงที ฝูงแร้งนับพันตัวก็แห่กันไปรุมทึ้งซากเหล่านั้นจนเจ้าหน้าที่ไม่อาจต้านได้ เลยต้องยอมให้ศพกลายเป็นอาหารอันโอชะของเหล่าแร้งที่หิวโหย

ก๊อกประปารุ่นแรกข้างถนน และสำนักประปาแห่งแรกที่แม้นศรี / Photo Credit : ผู้จัดการออนไลน์

พอมาในสมัยรัชกาลที่ 4 อหิวาตกโรคได้ระบาดขึ้นอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2403 ซึ่งตรงกับการระบาดทั่วโลกครั้งที่ 3 โดยเกิดขึ้นที่เมืองตากก่อนจะระบาดมาถึงกรุงเทพฯ ซึ่งการระบาดครั้งนี้ไม่รุนแรงมากนัก

สมัยรัชกาลที่ 5 มีการระบาดในปี พ.ศ. 2416 ตรงกับการระบาดทั่วโลกครั้งที่ 4 ทำให้รัชกาลที่ 5 นำหลักวิชาการมารับมือกับอหิวาตกโรค ด้วยการจัดตั้งกรมสุขาภิบาลขึ้นเพื่อจัดทำน้ำประปาให้ประชาชนใช้เมื่อ พ.ศ. 2440 ซึ่งทำให้ประชาชนไม่ต้องไปกินดื่มใช้น้ำจากแม่น้ำลำคลองที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่

สินค้าตัวแรกจากโอสถสภา เป็นตำรายาจีนที่ช่วยบำบัดอาการท้องร่วง / Photo Credit : กิเลน เต๊ก เฮง หยู

หลังการระบาดของอหิวาตกโรค ช่วง พ.ศ. 2501 – 2502 บ้านเรายังคงพบผู้ป่วยอยู่แต่มีจำนวนเบาบางลงมาก เมื่อประชาชนเข้าถึงการแพทย์ที่ดี และเริ่มรู้วิธีการรับมือกับเจ้าโรคนี้ ประเทศไทยได้ยกเลิกการรายงานอหิวาตกโรคในปี พ.ศ. 2532 โดยเปลื่ยนชื่อเป็นโรคอุจจาระร่วงอย่างแรงแทน

ไม่ใช่แค่ภาครัฐ แต่บริษัทผลิตยายุคแรกๆ อย่างห้างขายยาเต๊ก เฮง หยู หรือที่เรารู้จักกันในนามโอสถสภา ก็มีการผลิตยาบรรเทาอหิวาตกโรค นั่นคือยากฤษณากลั่นตรากิเลน และมีการออกโฆษณายาปราบเชื้ออหิวาต์บนสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ในยุคนั้นอีกด้วย

คนไทยผ่านความเชื่อ พิธีกรรม และการลองผิดลองถูกกับโรคระบาดมามากมาย แม้โรคระบาด COVID-19 ในยุค 2020 นี้จะใช้โรคห่าในยุคก่อนมาเป็นบทเรียนไม่ได้ แต่นี่คือความท้าทายใหม่ของวงการสาธารณสุข ผู้นำประเทศ และประชาชน ที่ต้องเผชิญหน้ากับความจริงและผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้เหมือนครั้งก่อน เพราะเราไม่รู้เลยว่าในอนาคตอันใกล้ไกล โลกของเราอาจต้องเจอกับอะไรที่โหดร้ายกว่านี้


SOURCE
ศิลปวัฒนธรรม
ศิลปวัฒนธรรม
มติชนออนไลน์
ไทยโพสต์
คลังปัญญา ม.สงขลานครินทร์
การประชาส่วนภูมิภาค
ผู้จัดการออนไลน์

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.